บทความ
“นพ.มารุต เหล็กเพชร” หมอสุดติสต์...แห่งเกาะยาวใหญ่
ด้วยความรักทะเล หมอมารุตถึงตัดสินใจมาทำงานที่เกาะยาวใหญ่
จะมีหมอสักกี่คน...ที่ต้องทำงานอยู่บนเกาะ แต่กลับคิดว่า เหมือนได้พักร้อน
จะมีหมอสักกี่คน...ที่บอกว่าตัวเองเป็นแค่คนเห็นแก่ตัวที่ได้ทำงานที่มีความสุขแล้วทำให้คนอื่นมีความสุขไปด้วย
จะ มีหมอสักกี่คน...ที่มีอารมณ์ศิลปิน ขนาดเขียนหนังสือ ทำหนังสั้น ส่งประกวดจนได้รับรางวัล แถมเปิดร้านหนังสือเล็กๆ ที่อบอวลกลิ่นกาแฟแทนที่จะเปิดคลินิกรักษาคนในวันหยุด
...ทว่า นั่นคือ เรื่องจริงและชีวิตจริงของ “นพ.มารุต เหล็กเพชร” ผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ชุมชนพรุใน เกาะยาวใหญ่ หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากอย่างคนมักคุ้นว่า “หมอนิล” หมอหนุ่มไฟแรงชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช วัย 31 ปี ซึ่งถือเป็นขวัญใจชาวบ้านเกาะยาวใหญ่ ด้วยความที่หมอไม่ใช่เป็นเพียงหมอที่รักษาโรคเท่านั้น แต่เป็นหมอที่รักษาคน ทั้งร่างกายและจิตใจ
ชีวิตหมอบนเกาะมีแต่ความสุข
สำหรับต้นสายปลายเหตุ ที่ “นพ.มารุต” ตัดสินใจมาทำงานบนเกาะนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาแพทย์ กล่าวคือด้วยความที่เป็นคนชอบท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ ทำให้ได้สัมผัสถึงชีวิตของชาวบ้านเกาะที่ไม่มีหมอดูแล ประกอบกับได้เห็นสภาพความเป็นจริงทางการแพทย์ว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในโรงพยาบาลใหญ่เครื่องไม้เครื่องมือพรั่งพร้อม นั้น จะต้องแบกรับภาระการดูแลรักษาผู้ป่วยในแต่ละวันเป็นจำนวนมากทั้งหนักและ เหนื่อย ซึ่งหมอไม่แฮปปี้ และผู้ป่วยเองก็ไม่แฮปปี้
“มี อยู่ครั้งหนึ่งแพทย์ได้ผ่าตัดมะเร็งเป็นผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทุกคนต่างดีอกดีใจ แต่ไม่นานจากนั้นผู้ป่วยก็ต้องกลับมาทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยอีก และต่อมาคนไข้ก็เสียชีวิต สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมเห็นว่าหมอนอกจากจะรักษาคนแล้ว ควรต้องดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมคือ ทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างกรณีผู้ป่วยมะเร็ง บางรายหมออาจไม่จำเป็นต้องยืดชีวิตของผู้ป่วยไว้ แต่ก็ช่วยให้ชีวิตในปั้นปลายของเขามีความสุขได้”
ด้วยแนวคิดเหล่านี้เอง หมอนิลจึงตั้งใจไว้ว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะไม่อยู่ในที่แบบนั้น และเลือกมาทำงานอยู่ในชุมชนเพราะช่วยให้ชีวิตมีความสุขกับงาน และมีเวลาเล็กๆน้อยๆ ได้ทำอะไรอย่างอื่นด้วย ดังนั้น จึงตัดสินเลือกมาเป็นแพทย์ใช้ทุนที่เกาะยาวใหญ่ โดยในอนาคตอันใกล้คุณหมอเตรียมจะศึกษาอบรมด้านเวชศาสตร์ครอบครัวซึ่งถือว่า เหมาะกับการทำงานใกล้ชิดกับคนในชุมชนเป็นอย่างมาก
ออกตรวจคนไข้ถึงบ้าน
“คนอื่นอาจจะไม่ โชคดีแบบผม แม้ว่าครั้งแรกที่มาทำงานที่นี่จะลำบากมากเพราะไม่มีไฟฟ้าใช้ โทรศัพท์ก็ใช้ไม่ได้เพราะไม่มีสัญญาณ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เป็นอุปสรรค เพราะชาวบ้าน บรรยากาศ และทะเลทำให้ผลมีความสุข ส่วนโรงพยาบาลอยู่แล้วคุณภาพชีวิตดีมีน้อย ซึ่งผมมองว่าที่เป็นแบบนี้ไม่ได้ผิดที่คน แต่ผิดที่ระบบมากกว่า หลายคนวางแผนชีวิตหลังจากเรียนจบแพทย์ไปตามระบบที่วางไว้ตามอย่างสหรัฐ อเมริกา ทั้งที่ควรเน้นแพทย์ครอบครัวหรือแพทย์ประจำบ้านมากกว่านี้ แต่กลับไม่ค่อยมีใครสนใจ อย่างในประเทศอังกฤษทุกบ้านต้องมีแพทย์ประจำครอบครัว ซึ่งหากจะส่งเสริมให้ไทยมีแพทย์ประจำบ้านเพิ่มขึ้น รัฐต้องให้ความสำคัญ โดยมีรายได้ที่เหมาะสมและมีศักดิ์ศรี”
เมื่อถามถึงปรัชญาในการใช้ชีวิต หมอนิลยกชื่อของ “อัลแบรต์ กามูร์” (Albert Camus) ซึ่งให้หลักการใช้ชีวิตที่มีความสุข 4 ข้อ คือ 1.ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ 2. ไม่ทะเยอทะยาน 3.รู้จักรักคนอื่น 4.อยู่ในที่โล่งสะอาดบริสุทธิ์ รวมถึงข้อดีของนักคิดแต่ละคนมารวมกัน โดยคุณหมอยึดหลักใช้ชีวิตประจำวันให้มีความสุข แต่ข้อสำคัญ คือ ต้องหาให้เจอก่อนว่าจะมีความสุขกับอะไรก็ได้ เงินก็ได้ แต่คงต้องถามตัวเองก่อนว่าจริงหรือเปล่า?
“จริงๆ แล้วไม่ใช่คนที่มีอุดมการณ์ อุดมคติ แต่ชอบใช้ชีวิตที่เรียบง่ายไปวันๆ เรียกว่าเห็นแก่ตัวก็ได้เพราะทุกอย่างเราทำเพื่อความสุขของตัวเอง แต่คนอื่นมีความสุขด้วยก็เป็นผลพลอยได้ ส่วนการทำเพื่อคนอื่นเป็นแค่คำพูดที่มาทีหลังเท่านั้น ที่สำคัญความสุขไม่ได้มาด้วยเงินแต่ความสุขง่ายๆ มักเกิดจากการแบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างการรักษาผู้ป่วยในรพ.เอกชนที่รักษาคนรวยแต่เรารักษาคนจน ความภาคภูมิใจมันต่างกันเพราะชาวบ้านรักเรา ชาวบ้านจะชวนกินข้าว ช่วยทาสีบ้านบ้าง จะทำอะไรก็ช่วย บางทีมากกว่าที่เราทำให้เขาอีก 6 ปีที่ได้อยู่ที่นี่เหมือนกับได้เรียนปริญญาตรีกับปริญญาโท”
สำหรับวันนี้ศูนย์แพทย์ชุมชนพรุใน หรือในอีกชื่อหนึ่งคือโรงพยาบาลเกาะยาวสาขาสถานีอนามัยตำบลพรุใน หรือเดิมคือสถานีอนามัยตำบลพรุใน ไม่ว่าจะใช้ชื่อไหนก็ตาม โรงพยาบาล 5 เตียง เล็กๆ แห่งนี้ ได้ให้บริการดูแลสุขภาพของชุมชนของชาวเกาะยาวใหญ่ 2 ตำบลคือ พรุในและเกาะยาวใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ช่วยให้ทุกคนมีความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
หมอนิล เล่าว่า ปัจจุบันที่ศูนย์แพทย์ชุมชนพรุใน มีแพทย์ประจำ 1 คน พยาบาล 5 คน และเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขอื่นๆ อีก 2 คน รวม 8 คน มีการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพโดยให้การดูแลทั้งผู้ป่วยทั่วไปและฉุกเฉินตลอด 24ชั่วโมง รวมถึงออกไปเยี่ยมบ้าน 3 วันใน 1 สัปดาห์ ดูแลให้คำปรึกษาในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังกับสถานีอนามัย 2 แห่งคือ สถานีอนามัยโล๊ะโป๊ะ และสถานีอนามัยเกาะยาวใหญ่
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ป่วยมารับการรักษา วันละ 30-40 คน ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน หากต้องเอ็กซเรย์หรือใช้เครื่องมือวินิจฉัยโรคสำคัญๆ จะต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาล ปีละ 400-500 ครั้ง หรือเฉลี่ย 6 ครั้งต่อเดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อเติมศูนย์การแพทย์ชุมชนฯ เป็นอาคาร 2 ชั้น เพื่อให้บริการสำหรับดูแลเด็กเล็กและห้องสมุด
จนกระทั่งถึงวันนี้ หลายคนสงสัยและมักถามว่า ทำไมหมอถึงอยู่ได้ ไม่ลำบากหรอกหรือ?
หมอนิล ให้คำตอบที่ไม่มีใครคาดคิดว่า “ถ้าคุณหยุดพักร้อนแล้วมาเที่ยวเกาะ ก็เหมือนกัน ผมเหมือนได้พักร้อนทุกวัน ได้ทำงานบนเกาะ แล้วไม่สบายหรอ ขณะเดียวกันคนก็บ่นเบื่อกทม.แต่ก็ยังอยู่กทม.ไม่ไปที่ชอบๆ กัน”
ส่วนครอบครัว “เหล็กเพชร” นั้น หมอนิลบอกว่า ตอนแรกครอบครัวก็อยากให้ย้ายมาประจำอยู่ใกล้บ้าน แต่พออยู่ๆ ไป เขาได้อ่านบทสัมภาษณ์บ้าง งานเขียนของเราบ้าง ก็ดีใจและยอมให้ทำหน้าที่หมอที่เกาะยาวใหญ่ต่อไป ซึ่งอีกไม่นานพ่อกับแม่จะย้ายมาอยู่ที่ภูเก็ต ทำให้ใกล้กันมากขึ้น
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม วันนี้หมอนิลกลายเป็นที่รักของของคนบนเกาะและเป็นเหมือนคนในครอบครัวที่มี ความผูกพัน จนลุงป้าน้าอาย่ายายไม่อยากให้คุณหมอจากเกาะนี้ไปเสียแล้ว
ลุงสยาม บุญสบ อายุ 66 ปี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ป๊ะหมอ ประธานชมรมผู้สูงอายุ พรุใน ประธานโครงการจริยธรรมเข้าค่ายผู้สูงอายุ พูดความในใจว่า ตอนแรกที่รู้จักกับหมอนิล เห็นว่าเป็นคนหนุ่มคงจะอยู่ที่เกาะไม่นาน ต้องทำใจไว้ก่อนแต่กลับอยู่ยาว ไม่อยากเชื่อ ทุกวันนี้อยู่กันเหมือนญาติพี่น้อง รู้จักกันทั้งหมู่บ้าน รู้จักทั้งครอบครัวถึงลูกหลาน
“หมอ ไม่ได้ปรุงแต่ง มีแต่ความกันเอง มีอะไรก็บอก ตรงไปตรงมา พูดตรงๆ นะ หาหมอที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ บางทีชาวบ้านไม่กล้า อย่างคันที่ลับ ถ้าหมอกันเอง ไม่ถือ ฉันให้ดูเลย”
อย่างไรก็ตาม หากวันหนึ่งถึงคราวที่คุณหมอคงต้องจากเกาะยาวไป ลุงสยาม บอกว่า “ไม่อยากคุย ดูตาดูใจกันไป ไม่อยากตั้งคำถาม เพราะถ้ามีคำถามก็ต้องมีคำตอบ ถ้าหมอไม่อยู่จะเป็นยังไง ไม่อยากคิดเลย ถ้าจากไปจิตใจมันไม่สบายเป็นความเห็นแก่ตัวที่ไม่อยากให้หมอไปไหน แต่ชาวบ้านเข้าใจว่าเราผูกขาดหมอไม่ได้ แต่อยากให้ให้คนที่มาอยู่ ไม่ว่าแพทย์ท่านใด ถ้ามาอยู่ที่นี่ไม่ใช่แค่เดินแต่ต้องออกวิ่ง อย่างที่คนเก่าเขาทำเอาไว้”
***ร้านหนัง (สือ) กาแฟและหนัง
อย่างที่บอกไว้ในตอนแรกว่าหมอนิลไม่ใช่หมอธรรมดา แต่เป็นหมอที่ติสต์มากมาย หมอนิลบอกความในใจที่ใครๆ ก็คงรู้กันหมดแล้วว่า “ชีวิตมีความสุขกับการทำงานศิลปะ”
หมอนิลเล่าย้อนกับไปถึงสาเหตุที่ชอบศิลปะหนักหนาว่า เป็นคนชอบอ่านหนังสือมากแต่เด็กอยู่แล้ว บางเล่มอาจแล้วความคิดเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน ครั้งแรกอ่านหนังสือของนพ.ประเวศ วะสี เรื่อง “สาธารณสุข สาธารณทุกข์” ทำให้อยากเรียนหมอ แต่จริงๆ แล้วชอบนิเทศศาสตร์มากว่า
สุดท้ายก็สรุปว่า ถ้าอยากเรียนหมอต้องเรียนหมอถึงจะเป็นหมอได้ แต่การเขียนหนังสือไม่ต้องเรียนนิเทศศาสตร์ก็เขียนได้ ไม่ต้องจบศิลปากรก็วาดรูปได้ ที่สำคัญ คือ สิ่งที่ชอบไม่ควรนำมาทำเป็นงานประจำ เพราะหากทำเป็นงานจะเครียดมาก ขณะเดียวกันสิ่งที่ชอบไม่ควรจะเครียด
ดังนั้น ใน 1 สัปดาห์ จะทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล 5 วัน โดยในช่วงบ่ายจะออกไปตรวจเยี่ยมชาวบ้าน สัปดาห์ละ 3 วัน ส่วนวันเสาร์- อาทิตย์ จะใช้เวลาแบบชนชั้นกลาง คลุกอยู่กับ “ร้านหนัง(สือ)๒๕๒๑” ที่ตั้งอยู่ที่ถนนถลาง จ.ภูเก็ต ร้านหนังสือเล็กๆ ที่หุ้นร่วมกับเพื่อนๆ หลายหลายสาขาอาชีพ ทั้งนักเขียน สถาปนิก เภสัชกร
ที่นี่หมอนิลบอกว่า เขากลายเป็นคนชั้นกลางที่เหมือนหลุดมาอีกโลกหนึ่ง
หมอนิล เล่าว่า เขาจะใช้เวลาที่นี่อ่านหนังสือ นั่งจิบกาแฟ บางครั้งลงมือปรุงกาแฟด้วยตัวเอง ด้วยการทำ “เพอเฟ็กซ์ช็อต” นั่งลุ้นระทึกกับผลงานของตัวเองเมื่อลูกค้าแวะเวียนมาเยี่ยมชิม ซึ่งหมอนิลบอกว่า ช่วยทำให้สมาธิดีและลดอัตตาของตัวเองได้อย่างดี
“ชีวิต ผมมีหลายด้านมีร้านหนังสือที่หุ้นกับเพื่อนๆ ได้เขียนหนังสือ ได้ทำหนังสั้นแนวทดลอง ซึ่งสนใจและทำมา 1 ปี แล้วมีผลงาน 5 เรื่องแรกถ่ายผ่านมือถือ เรื่องหนึ่งในนั้นคือ เรื่องแมวสามสี ได้ไปฉายที่รอสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ อีกเรื่อง Burmese Man Dancing เป็นสารคดีแรงงานพม่า นำไปฉายเทศกาลหนังสั้นที่เยอรมันเมื่อปี 2008 โดยเป็นหนังสารคดีสั้น 6 นาที ซึ่งด้านบนของร้านหนังสือที่หุ้นกับเพื่อนมีการจัดเสวนา นักเขียนมาคุยกัน มีห้องฉายหนังเป็นที่ที่ให้คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งในมาดูหนังพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดกัน”
นอกจากนี้ หมอนิลยังมีนามปากกาที่คนในแวดวงน้ำหมึก รู้จักกันในนาม “นฆ ปักษานาวิน” โดยเขียนหนังสือนานแล้วตั้งแต่ตอนเรียน ชอบเขียนหนังสือแนวฟิคชั่น หรือ นิยายที่แต่งขึ้นใหม่ ขณะนี้มีผลงานเรื่องสั้นรวมเล่มสึนามิและกำลังรวมเล่มเรื่องสั้น 15 เรื่อง คาดว่าจะออกได้ปีหน้า
“การทำงานเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ชีวิต และมีเวลาคิดถึงความสุขของตัวเอง ไม่ใช่แค่ทำงานเป็นบันได การอยู่แต่บนเกาะก็อาจมีข้อเสีย เมื่อเปรียบเทียบกับแพทย์ที่อยู่ในเมือง ไม่รู้ว่าโลกไปถึงไหนไปเจอคนในวงการก็เป็นหมอบ้านนอกแต่ผมไม่รู้สึกอะไร แรกๆ ก็มีบ้าง แต่เรารู้ว่าความสุขของเราจริงๆ คืออะไร บางครั้งยังรู้สึกว่าเป็นคนในวงการศิลปะมากกว่าวงการแพทย์ด้วยซ้ำ”
หมอนิลยังมีความฝันอีกเพียบหนึ่งในบรรดาความฝันทั้งหลาย คุณหมอบอกว่า ที่ผ่านมาทำเพื่อความฝันของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หนัง ขณะนี้อยากให้นักศึกษาสัมผัสศิลปะ เชิญศิลปินมาทำงานร่วมกัน มีแกลอรี่ภาพ คอยอยู่เบื้องหลังคอยสนับสนุนความฝันของคนอื่น แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้ต้องเก็บเงินก่อน อยากเป็นผู้ดูแลกองทุนให้คนรุ่นใหม่ทำงานสร้างสรรค์
สำหรับผลงานของ นพ.มารุต เหล็กเพชร เจ้าของนามปากกา นฆ ปักษานาวิน มีผลงานบทกวีได้รับการตีพิมพ์ ครั้งแรกปี 2539 ในมติชนสุดสัปดาห์ ปี 2547 งานวรรณกรรม “เมฆเสกคลื่น” ซึ่งเป็นหนังสือทำมือ ได้รับรางวัลสร้างเสริมความฝันสร้างสรรค์ความคิดยอดเยี่ยม ประเภทบทกวี ได้รับรางวัล MBK Independent Book Award ปัจจุบันคือรางวัล Thailand Independent Book Award
นอกจากนี้ เรื่องสั้น “ตานะอูมีฮ์ –ดินแดนของแม่ที่กลายเป็นพระเจ้า” ชนะเลิศการประกวดวรรณกรรมการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้าปี 2547 เรื่องสั้น “โปรดจำเอาไว้ว่ามนุษย์ไม่ใช่ศัตรูของเรา” ชนะเลิศการประกวดเรื่องสั้นวาระ 30 ปี 6 ตุลา ปัจจุบันมีงานเขียนร่วมกับภานุ ตรัยเวช ที่ เว็บเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทยและโปรเจ็กต์ศิลปะ –คนหนุ่มในเมืองหนึ่งร่วมกับนักเขียนอื่นๆ อีกสามคนที่ http://lonesome-cities.exteen.com ทั้งนี้ สามารถติดตามของหมอนิตได้ที่ http://bookhemian.exteen.com/ ในอีกช่องทางหนึ่งด้วย
ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 มิถุนายน 2552 07:20 น.