บทความ

3 ทศวรรษซีไรต์ เปิดมุมมองใหม่นิยายไทย

by kai @July,04 2009 00.15 ( IP : 222...218 ) | Tags : บทความ

พ.ศ.2552 รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์ ก็กำลังก้าวล่วงสู่ทศวรรษที่ 3

และเป็นคราของนวนิยาย ที่จะมาโลดแล่นบนเวทีนี้

เงา ฝันของผีเสื้อ โดย เอื้อ อัญชลี จาก สนพ.มติชน, ทะเลน้ำนม โดย ชัชวาล โคตรสงคราม จาก สนพ.หนังสือแม่น้ำโขง, ประเทศใต้ โดย ชาคริต โภชะเรือง จาก สนพ.ก๊วนปาร์ตี้, โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก โดย ฟ้า พูลวรลักษณ์ จาก สนพ.ใบไม้สีเขียว, ลับแล, แก่งคอย โดยอุทิศ เหมะมูล จากอมรินทร์พริ้นติ้ง และวิญญาณที่ถูกเนรเทศ โดย วิมล ไทรนิ่มนวล

ทั้ง 7 ชื่อข้างต้น คือผลการพิจารณาจาก 76 เล่ม ของกรรมการรอบแรก ซึ่งนำโดย "รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ และอีก 6 ท่านคือ จรูญพร ปรปักษ์ประลัย, อ.ฐนธัช กองทอง, ผศ.ประทีป เหมือนนิล, รักษ์มนัญญา สมเทพ, อ.ไศลทิพย์ จารุภูมิ และ ผศ.ดร.เสาวณิต จุลวงศ์"

เสียงสะท้อนที่ดังมาหลังจากสิ้นคำประกาศ แม้จะมีน้ำเสียงประหลาดใจอยู่บ้าง ที่รุ่นเก๋า-รุ่นใหญ่หลายรายหลุดโผไปอย่างผิดคาด

แต่ก็เป็นความประหลาดใจที่แฝงความยินดี (ในระดับหนึ่ง)

ด้วยประเด็นดังที่รักษ์มนัญญากล่าวไว้ว่า "เป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ"

อย่างไร?

จรูญ พร ปรปักษ์ประลัย อธิบายมาว่า ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า แต่ละเล่มจะมีภาษา ชั้นเชิงที่น่าติดตาม กลวิธีในการวางโครงเรื่อง การเล่าเรื่อง และกระบวนการสร้างสรรค์แตกต่างจากขนบเดิมที่คุ้นเคยของนิยายไทย ซึ่งเล่าเรื่องเรื่อยๆ ตามลำดับ 1-2-3-4 อย่างง่ายๆ และมองวรรณกรรมในแง่ของสัจนิยม

(จาก ซ้ายไปขวา) รักษ์มนัญญา สมเทพ,จรูญพร ปรปักษ์ประลัย,เสาวณิต จุลวงศ์,สรณัฐ ไตลังคะ,ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัฒน์,ประทีป เหมือนนิล,ไศลทิพย์ จารุภูมิ ,ฐนธัช กองทอง

อาจเป็น เพราะเนื้อหาในแต่ละเรื่องนั้น ล้วนเล่นกับสภาวะจิตของคนที่สับสนในสังคมที่ซับซ้อน เป็นความเป็นปัจเจกเชิงลึกที่ชี้ให้เห็นถึงสังคมโดยรวม แม้จะไม่ได้กล่าวถึงโดยตรงก็ตาม

"นอกจากจุดเด่นอย่างความแปลกใหม่ ในกลวิธีแล้ว ยังมีความยอกย้อนของเรื่องมากขึ้น ต้องตีความกันอย่างหนักถึงสารของเรื่อง ไม่ใช่อ่านแล้วรับแบบกระดาษทิชชู คือซึมหายไปเลย"

จรูญพรยังมองอีกว่า นิยายหลายเล่มในปีนี้ แม้จะเป็นเล่มที่ไม่ได้เข้ารอบก็ตาม ไม่ได้เป็นเพียงบันทึกปรากฏการณ์เท่านั้นอีกแล้ว แต่ยังมีความพยายามค้นหาคำตอบของบางสิ่งที่ผู้เขียนตั้งคำถามแก่ตัวเองผ่าน ตัวอักษรอีกด้วย

"เป็นความงุนงงสงสัยของสิ่งที่สังคมกำลังเป็นอยู่ ผู้คนในสังคมต่างมีคำถามของตัวเองและก็นำความคิดตรงนี้ออกมา นักเขียนก็เช่นกัน การเขียนคือความพยายามคลี่คลายของเขา"

อีกประเด็น ที่น่าสนใจคือ หากลองไล่เรียงรายชื่อดู จะเห็นได้ว่าหลายคนไม่ได้เป็นนักเขียนนิยายโดยอาชีพ บ้างผันมาตัวมาจากนักเขียนเรื่องสั้น บ้างไม่เคยเขียนนิยายมาก่อนเลย และล้วนแต่มีความสนใจรวมถึงความชำนาญเฉพาะด้านที่แตกต่างกัน

ซึ่งจรูญพรมองว่า นี่ล่ะคืออีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มุมมองแตกต่างเกิดขึ้น

"วรรณกรรมคือเรื่องของงานศิลปะ เป็นเรื่องดีที่คิดอะไรมากกว่ากรอบเดิม"

ด้าน รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ ก็เห็นด้วยในประเด็นที่ว่า กลวิธีคือความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดผ่านผลงานที่ส่งเข้า ประกวด โดยเฉพาะในผลงานที่ผ่านเข้ารอบ เพราะที่ผ่านมามักจะเน้นที่ตัวสาร สาระเชิงปรัชญามากกว่า

"ความซับซ้อนที่ว่าส่วนหนึ่งเป็นแนวโน้มหรือเทรนด์สัจนิยมมหัศจรรย์ในแวดวงวรรณกรรมโลก"

โดยกลวิธีที่โดดเด่นนี้ ก็ไม่ได้ยอกย้อนขึ้นมาอย่างลอยๆ ทว่า สามารถสอดประสานกับสารที่ต้องการสื่อ และทำให้สารโดดเด่นขึ้นมาได้

" เป็นความพยายามคิดค้นว่าจะใช้ศิลปะอย่างไรในการเล่าเรื่องให้สอดคล้องและ สนับสนุนเนื้อหา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หลายเล่มโครงสร้างดีเด่นแต่สารไม่ได้นำเสนอปัญญาก็จะถูกตัดออกไป เพราะเป็นเพียงการเล่นเทคนิค แต่ความคิดไม่มีพลังพอ"

แต่ละความคิด ที่มีพลังนั้น รศ.ดร.สรณัฐบอกว่า เป็นข้อมูลที่แน่น ซึ่งเป็นผลจากการค้นคว้าอย่างหนักจนได้แง่มุมที่หลายคนอาจไม่เคยรับรู้ นับเป็นอีกพัฒนาการที่น่ายินดี แม้จะต่างไปตามแต่ละมุมมอง แต่สิ่งหนึ่งที่เกือบทั้ง 7 เล่มมีร่วมกัน คือคำถามแห่งยุคสมัย อย่างความซับซ้อนของคนและสังคม ที่ไม่สามารถแยกขาว ดำ ซ้าย ขวา ได้อย่างชัดเจนอีกต่อไป

"โดยธรรมชาติแล้วคนมีแนวโน้มเข้าใจสังคมแบบ แยกส่วน เกือบทุกเล่มจะมีการโยงใยปัญหาประเด็นต่างๆ อดีต ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ เข้ากับสิ่งที่นำเสนอ ทำให้รู้สึกว่าตัวตนในสังคมไม่สามารถแยกออกจากบริบทรายล้อมได้ จะเข้าใจตัวเองหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ก็ต้องเข้าใจสิ่งอื่นก่อน มีการเชื่อมโยงตัวตน ชุมชน สังคม ให้เห็นถึงความสัมพันธ์กัน บางเล่มก็พยายามชี้ชัดให้เห็นถึงปัญหาจริงๆ ที่เราเคยมองเลือนๆ เป็นจุดๆ ให้เด่นชัดขึ้นมา เนื้อสารแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆ"

ลีลาของเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าเหล่านี้ จึงกลายเป็นความท้าทาย ที่คนอ่านต้องค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง

และเป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้นิยายไทย ที่น่าจับตามอง

ที่มา มติชนรายวัน ปีที่ 32 ฉบับที่ 11438 วันที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

แสดงความคิดเห็น

« 9648
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ