บทความ

กระซิบของคำตอบที่ลอยผ่านติ่งหู

by kai @July,04 2009 19.37 ( IP : 222...218 ) | Tags : บทความ

กระซิบของคำตอบที่ลอยผ่านติ่งหู

จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

บทวิจารณ์หนังสือ "ประเทศใต้" ของ ชาคริต โภชะเรือง ตีพิมพ์ในนิตยสาร "สีสัน" ฉบับที่ 11 พศ. 2552

ช่วงเวลายาวนานกับเหตุการณ์ไม่สงบ ณ ดินแดนใต้สุดของประเทศ ปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนติดล็อคอะไรบางอย่าง ไม่มีใครให้คำอธิบายที่ตรงเผง ไม่มีใครชี้ทางออกที่แน่ชัด ไม่มีใครสามารถคลี่คลายปัญหาให้ทุเลาลง ทุกคนทำได้แค่เฝ้ามอง และรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

น่าสังเกตว่า หลายปีนับแต่เหตุการณ์รุนแรงอุบัติขึ้น มีงานวรรณกรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาเขียนอย่างจริงจัง ที่นับเป็นชิ้นเป็นอันหน่อยก็ "กรณีฆาตกรรม โต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด" ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ซึ่งมองเหตุการณ์แบบแจกแจงรายละเอียด ผ่านมุมมองของตัวละครที่หลากหลาย ครบทุกแง่มทุกมุมของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ควบคู่ไปกับกลวิธีการเขียนที่แยบยล ซ่อนนัยให้ต้องตีความ และภาษาที่งดงามราวกวีนิพนธ์

นอกเหนือจากนวนิยายเรื่องนี้แล้ว ก็มีเพียงเรื่องสั้นที่มีออกมาแบบกะปริบกะปรอย โดยเกือบทั้งหมดไม่ได้ให้แง่มุมที่แปลกใหม่ หรือเนื้อหาที่ลงลึกไปกว่าที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์เลย ในจำนวนเรื่องสั้นอันน้อยนิด มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นบางที่มาของปัญหาชัดเจนขึ้น ได้แก่ "แมงคาเรือง" ของ ชาคริต โภชะเรือง ซึ่งได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี 2549 จาก สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย

ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ชาคริต มิได้เขียนถึงปัญหาแบบบอกเล่า อย่างที่นักเขียนส่วนใหญ่ชอบทำกัน แต่กลับหันไปเล่นกับสัญลักษณ์ที่ต้องตีความแทน

แมงคาเรืองเป็นแมงประหลาดที่ชอบเข้าไปในหูคน และทำให้คนเหล่านั้นมีพฤติกรรมที่แปลกเปลี่ยนไป ผู้คนในสามจังหวัดใต้ส่วนหนึ่งถูกแมงชนิดนี้แหละเล่นงาน จนในที่สุดก็หันเหตัวเองไปเข้ากับกลุ้มผู้ก่อการไม่สงบ และลงมือกระทำในสิ่งที่แม้แต่เจ้าตัวก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าในชีวิตนี้จะกล้าทำ

แน่ละ แมงคาเรืองไม่มีจริง หากแต่มันเป็นตัวแทนของข้อมูลข่าวสารที่ส่งถึงกัน หลายคนไม่ได้คำนึงถึงความผิดเพี้ยนของข้อมูลที่ได้รับ จึงปล่อยมันเข้ามาอาศัยอยู่ในตัวโดยไม่ขัดขืน และนี่เองที่ทำให้ปัญหายิ่งบานปลายออกไป

ในปีนี้ ชาคริต มีผลงานชิ้นใหม่ที่พูดถึงปัญหาภาคใต้ได้คมคายไม่แพ้กัน "ประเทศใต้" เป็นนวนิยายขนาดสั้น ความยาวเพียงร้อยหน้ากว่าๆ แต่ภายในกลับอัดแน่นด้วยประเด็นความคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งสั่งสมมาเป็นเวลาหลายร้อยปี และการตามหาความสงบสุขที่หายไปจากดินแดนแห่งนี้

เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า

"ประเทศใต้" เป็นนวนิยายซ้อนนวนิยาย เล่าถึงชายคนหนึ่งที่เดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดอันห่างไกล และได้พบกับชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของงานเขียนที่มีชื่อว่า "ชายผู้ตามหามโนห์รา" ทั้งคู่พูดคุยทำความรู้จักกันในช่วงเวลาสั้นๆ จนเมื่อชายคนแรกเดินทางกลับ ไม่นานต่อมา เขาก็ได้รับนวนิยายที่ชายอีกคนส่งให้ มันเป็นเรื่องเล่าแปลกๆที่ทำให้เขารู้สึกว่ามัน "...ช่วยให้การลาพักร้อนของผมสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์"(หน้า 15)

หากมองในแง่โครงสร้างของเรื่อง เหมือนส่วนนำเรื่องที่เล่าถึงที่มาของนวนิยายเรื่อง "ชายผู้ตามหามโนห์รา" ไม่ได้มีความสลักสำคัญอันใดเลย หากตัดออกไปเราก็อ่านนวนิยายเรื่องนี้ได้เข้าใจเท่าเดิม ทว่าส่วนนำร่องที่เพิ่มเข้ามานี้ กลับสะท้อนถึงมุมมองที่ผู้คนในภูมิภาคอื่นมีต่อปัญหาภาคใต้ได้อย่างคมชัด

เรื่องราวใน "ชายผู้ตามหามโนห์รา" ที่เปิดเปลือยจิตวิญญาณตัวละคร ฉีกชี้ให้เห็นถึงเลือดเนื้อของคนใต้ ไม่ได้สร้างความสะเทือนให้แก่คนบางคนมากไปกว่า "ช่วยให้การลาพักร้อนของผมสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์" นี่คือการเสียดเย้ย เหน็บแนมแบบไม่ก้าวร้าวว่า สุดท้ายปัญหาภาคใต้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ "คนอื่น" จะสนใจมากไปกว่ารับรนู้สิ่งที่เกิดขึ้นไปวันๆ โดยไม่คิดจะทำอะไรมากไปกว่านั้น หรือเชื่อว่าตนเองจะมีส่วนช่วยอะไรได้

ยิ่งกว่านั้น หลายคนอาจมองว่าเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้น เต็มไปด้วยสีสันที่จัดจ้านนี้ เป็นเพียงมหรสพรายวัน ที่ช่วยแก้ความเรียบเฉยในชีวิตพวกเขาไปได้บ้างเท่านั้น

จิตวิญญาณของคนใต้

คนส่วนใหญ่รู้ดีว่า โนราเป็นศิลปะการแสดงของคนใต้ แต่ที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือ ท่วงท่าลีลาการร่ายรำของมโนห์รา พ้องเข้ากับลักษณะท่าทางของพระพุทธรูปปางต่างๆมาตั้งแต่อดีต ความสวยงามอ่อนช้อย ขณะเดียวกันก็สะท้อนความสงบและมั่นคงของผู้ทรงธรรม เป็นสิ่งที่ทำให้โนราไม่ได้เป็นเพียงการแสดงเพื่อความสนุกสนาน แต่ยังเป็นการร่ายรำอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อจิตใจของผู้ชมด้วย

โนรายังไม่ใช่แค่การแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ประจำภาค แต่มันเป็นส่วนหนึ่งในจิตวิญญาณของคนใต้ เป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่า "ฉันคือใคร" ที่อยู่ที่ยืนของ "ฉัน" อยู่ตรงไหน

ชาคริต นำประเด็นนี้มาใส่ไว้ โดยที่ไม่ได้บอกกับผู้อ่านตรงๆ แต่ได้สอดแทรกไว้ตลอดทั้งเล่มแบบแนบเนียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างตัวละคร มโนห์รา หญิงสาวผู้สืบทอดศิลปะการแสดงนี้มาจากคนรุ่นก่อน เธอเป็นหญิงสาวที่เหมือนก้าวข้ามกำแพงเวลามาจากโลกอดีต แต่ในบางขณะเธอก็กลับกลายเป็นผู้หญิงธรรมดาในโลกปัจจุบัน เธอใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งนี้ แต่ก็ไม่อาจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว เธอป่วยไข้เพราะความเลวร้ายที่ได้เผชิญ สุดท้ายเธอก็เลือกที่จะหลบหน้าหนีหายไป

เราอาจตีความได้ว่าการหายไปของมโนห์รา ก็คือการสูญเสียจิตวิญญาณ ซึ่งในมุมมองที่แตกต่าง การหายไปนี้มีผลต่อแต่ละคนไม่เท่ากัน

สำหรับ สุธน เขารักและหวงแหนมโนห์ราเป็นอย่างยิ่ง แน่ละ นี่ชี้ให้เห็นว่าเขาให้คุณค่ากับจิตวิญญาณที่เสียไปนี้อย่างมาก เขาพยายามตามหา แต่มันก็ไม่เป็นผล นับวันคำถามต่างๆ ยิ่งอัดแน่นเข้ามาในหัวเขา เขาทำผิดอะไรอย่างนั้นหรือ? ทำไมมโนห์รา ถึงได้หนีเขาไปอย่างไม่มีวันกลับ? เขาไม่เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลยจริงๆ

แต่กับคนอื่น มโนห์รา เป็นเพียงอดีตที่ควรลืมไปได้แล้ว คำแนะนำของ ทันรบ ผู้เป็นน้องชายที่ว่า "คนเราไม่ควรจมปลักอยู่กับอดีต..." (หน้า 66) ฟังดูดีถ้าไม่คิดอะไรให้ซับซ้อน แต่หากเราพิจารณาจากความเป็นจริง การมองข้ามอดีตไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหา เพราะการไม่นึกถึงปัญหาไม่ได้ทำให้ปัญหานั้นละลายหายไป มันยังอยู่ แม้เราจะหลับตาไม่มองมันก็ตาม แถมขณะหลับตา มันก็ยังไม่ยอมหยุดทำร้ายเราด้วย

ที่ถูกต้องคือ เราต้องมองทุกอย่างอย่างเท่าทัน ใช้สติในการพินิจพิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน หรือที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตก็ตาม

เพราะเหตุนี้เอง ตลอดทั้งเรื่องตัวละครอย่าง สุธน จึงได้มองย้อนไปในอดีตเพื่อหาคำตอบให้กับปัจจุบัน ว่าทำไมความรุนแรงมากมายจึงเกิดขึ้น ความสงบสุขและจิตวิญญาณของคนใต้หายไปไหน และทำอย่างไรจึงจะนำสิ่งเหล่านั้นกลับมาได้

ชาคริต เขียนถึงประเด็นนี้โดยซ่อนไว้ในเรื่องรักอิงเรื่องเล่าเกี่ยวกับ "พระสุธน-มโนห์รา" ที่ฝ่ายหลังบินหนีไปหลังจากครองคู่อยู่ด้วยกันได้ไม่นาน แต่ด้วยความรักเต็มหัวใจของ พระสุธน เขาจึงออกเดินทางฝ่าอันตรายนานับประการ เป็นเวลาถึง 7 ปี 7 เดือน  7 วัน จนได้พบกับ มโนห์รา อีกครั้ง

จากเรื่องเล่าในนาฏกรรม เหตุการณ์หลักของเรื่องเกิดขึ้นกับ สุธน และมโนห์รา ยุคใหม่ มันเป็นเรื่องราวความรักและการตามหา หากแต่การเดินทางของสุธนในโลกปัจจุบัน ไม่ได้ฝ่าอุปสรรคแบบในนิทาน สิ่งที่เขาต้องผ่านพ้นไปให้ได้ก็คือ อคติในใจตนเอง

อดีตที่ไม่ใช่ปลักโคลน

คำพูดของ ทันรบ ที่บอกว่า "คนเราไม่ควรจมปลักอยู่กับอดีต" นอกจากจะเป็นการแสดงวิธีคิดแก้ปัญหาแบบง่ายๆ แล้ว ยังสะท้อนมุมมองที่คนรุ่นใหม่มีต่อดีต เขามองอดีตเป็นแค่ปลักโคลน ทั้งๆที่ในความเป็นจริง อดีตคือรากเหง้าของทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตัวตนของคนในปัจจุบัน รวมถึงที่มาของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น

หากไม่มองอดีต เราจะไม่มีวันเข้าใจตนเอง และไม่มีทางเข้าถึงปัญหา หลายคนตัดสินว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแค่ชะตากรรม มันอุบัติโดยที่เราไม่อาจขัดขืน แต่จริงๆแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาลอยๆ สรรพสิ่งในโลกมีเหตุผลในตัวเอง ทุกเหตุการณ์ล้วนมีเหตุและปัจจัยทำให้มันเกิดขึ้น

ครั้งหนึ่ง สุธน เคยคิดว่า การที่มโนห์รา หนีไปจากชีวิตเขานั้น เป็นเพราะชะตาฟ้าลิขิต แต่เมื่อเขาได้หยุดพิจารณาก้อนความคิดในหัวเขาก็เปลี่ยนไป

"...ทีแรกผมไม่รู้หรอกว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมไม่เห็นคำตอบ ได้แต่ก่นด่าสาปแช่งชะตากรรมที่เล่นงานเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า และส่วนใหญ่ก็หวดซ้ำตรงแผลเดิม ดังนั้นพอมาคิดดูอีกที ทำไมเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับคนอื่น ผมเริ่มสำเหนียกได้ว่า ทุกอย่างมีที่ไปที่มา หากได้เกิดขึ้นลอยๆ และนี่คือด่านสำคัญที่สุดที่ผมจะต้องฝ่าข้าม..." (หน้า 38)

ถูกต้อง นี่คือด่านสำคัญที่สุดที่ต้องฝ่าข้าม ไม่แต่ สุธน เท่านั้น แต่ทุกคนที่อยู่กับปัญหาและกำลังทุกข์ทนกับการกระทำของมัน เราต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เราต้องมองปัญหาโดยขุดอดีตไปให้ลึกที่สุด จนกระทั่งได้พบจุดเริ่มต้นของปัญหา และแก้มันจากจุดเล็กๆนั้น

ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ ไม่ได้เริ่มต้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ทุกอย่างมีที่ไปที่มา หาได้เกิดขึ้นลอยๆไม่

"...พัฒนาการของการเกลียดและกลัวนายของคนใต้ เป็นผลสืบเนื่องจากการปกครองของรัฐไทยแต่ในอดีต..." (หน้า 68)

"...เรื่องถังแดงก็เหมือนกัน มันเป็นเรื่องของการโค่นไม้ทำลายป่าของผู้มีอิทธิพลที่เขาบรรทัด พอชาวบ้านรู้กันเข้า เขาไม่ยอมให้มันทำกัน มันก็ว่าเป็นคอมมิวนิสต์แล้วก็เอาทหารมาปราบ..."(หน้า 87)

"...ชายวัยกลางคนถูกซ้อมจนน่วมไปทั้งร่าง คอหักพับ มีรอยถูกยิงที่ก้านคอ..."(หน้า 86)

"...ข่าวลือไปไกลว่าเกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดน ครูพร้อม พ่อของมโนห์ราส่วยหน้า ไม่น่าเป็นไปได้ ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นเราได้แต่จับตามองอย่างหวาดวิตก ข่าวร้ายเกิดขึ้นรายวัน...(หน้า 29)

"...พ่อถูกลอบฆ่าเพราะไปพัวพันกับบางสิ่งที่ผมไม่อาจเข้าใจ..." (หน้า 43)

ชาคริต ค่อยๆใส่ข้อมูลเหล่านี้เข้ามาในจังหวะที่พอเหมาะ อ่านเผินๆ เหมือนเป็นการสอดแทรกที่ไม่เป็นระเบียบนัก แต่การเล่าเรื่องแบบกระแสสำนึกผ่านตัวละครอย่าง สุธน ก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่กระจัดกระจาย ไร้การจัดสรรให้เข้าที่เข้าทาง คนเรามักมีข้อมูลในทำนองนี้อยู่เยอะแยะไปหมด แต่น้อยคนที่จะนำข้อมูลทั้งหมดมาคิดพิจารณา จนได้บทสรุปที่เป็นแนวทางไปสู่คำตอบ

สิ่งที่ ชาคริต ใส่ไว้ในนวนิยาย แม้ไม่ใช่ข้อมูลที่แปลกใหม่อะไร เราเคยผ่านตามาจากหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้มาแล้ว แต่สิ่งที่เขาบอกกล่าวกับเราก็คือ เราเคยขบคิดถึงข้อมูลเหล่านี้อย่างจริงจังหรือไม่?

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในดีต ซ่อนตัวอยู่เหมือนความลับในก้อนกระดาษที่ห่อหุ้มเป็นชั้นๆ กำลังกระซิบบอกอะไรกับเรา? และเราเคยนิ่งพอที่จะฟังมันให้เข้าใจไหม?

หรือเรามองว่ามันเป็นแค่ปลักโคลน ที่ต้องระวังไม่ให้ก้าวจมลงไปเท่านั้น

คำตอบอยู่ที่ตัวเอง

การมองด้วยสายตาคนนอกที่ไม่เข้าถึง และไม่ซาบซึ้งถึงจิตวิญญาณของคนใต้ การไม่ใส่ใจในตนเองของคนรุ่นใหม่ และละเลยต่อเรื่องราวในอดีต

รวมถึงการที่คนส่วนใหญ่ไม่สามาถเข้าใจ และมองไม่เห็นการเชื่อมต่อของสิ่งต่างๆ ที่โยงใยเข้าหากัน จนกลายเป็นก้อนความจริงที่ชัดเจน

ทั้งหมดนี้คือที่มาของปัญหาอันไร้ทางออก

จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา คือการมองเห็นปัญหานั้น คำถามก็คือทุกวันนี้เราเห็นปัญหาอย่างกระจ่างแจ้งหรือยัง? หรือเราไขว่คว้าหาคำตอบ ทั้งๆที่ยังไม่เข้าใจปัญหาลึกซึ้ง?

การตามหา มโนห์รา ของ สุธน ที่เริ่มจากความไม่เข้าใจ คิดเพียงว่าทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องของชะตากรรม ค่อยๆปรากฏเป็นความจริงอีกแบบหนึ่ง นั้นก็คือ ที่แท้การที่ มโนห์รา ตัดสินใจจากไปนั้นเป็นเพราะตัวเขาเอง ครั้งหนึ่ง มโนห์รา เคยพูดกับเขาว่า "...ความรักไม่ใช้ทุกอย่างในชีวิต..." (หน้า 50) แต่สำหรับเขาแล้ว คำพูดนี้กลายเป็นเพียงลมผ่านซอกใบหู การยึดถือความรักเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นภาพฝันที่หลายคนติดยึด แต่แท้ที่จริง ยิ่งกว่าความรักคือความเข้าใจ

"...เปล่าประโยชน์ที่จะหาคนผิด มีแต่เราที่จะต้องเรียนรู้เพื่อให้อยู่อย่างเท่าทัน เข้าใจ และพร้อมจะรับมือกับทุกสิ่งที่ถาโถมเข้ามาอย่างสงบนิ่ง..."(หน้า 43)

การตัดสินใจของ มโนห์รา ไม่ได้เป็นเรื่องของอารมณ์ชั่ววูบ ทุกอย่างมีที่มาที่ไป แม้คำตอบจะไม่ได้ชัดชนิดฟันธง แต่เราก็พอมองเห็นได้ว่า ทั้งหมดเกิดจากความไม่เข้าใจ ชะตากรรมที่เกิดกับมโนห์รา ในสมัยเธอเป็นเด็ก ซึ่งทำให้ชาวบ้านหลายคนมองเธออย่างรังเกียจ เหตุการณ์นั้นสร้างแผลในใจ ที่ส่งผลต่อชีวิตที่เหลือของเธอ ครอบครัวของสุธน ไม่ให้การต้อนรับเธอ ทั้ง ๆที่เขายืนยันว่ารักเธอมาก พ่อของเธอถูกยิงตายต่อหน้าต่อตา (เช่นเดียวกับพ่อของสุธน) คนรักเก่าของเธอตายจากไป โดยที่เธอมีส่วนผลักเขาไปสู่จุดนั้น เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ มโนห์รา ไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ ยิ่งเมื่อ สุธน แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความไม่เข้าใจ เธอก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องทนอยู่อีกต่อไป

สุดท้าย สุธน ก็ได้คำตอบว่า "....ทุกอย่างที่ค้นหามันควรเริ่มต้นที่ตัวผมเอง หาใช่ไปแสวงหาจากคนอื่น..." (หน้า 112)

เริ่มต้นที่ตัวเอง นี่น่าจะเป็น "กุญแจ" ของปัญหา และเมื่อเรารู้แล้วว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากความไม่เข้าใจ วธีที่จะไขประตูแห่งปัญหา ก็คือการสร้างความเข้าใจนั้นเอง

เรื่องราวความรักและการตามหาที่ซ่อนนัยทางสังคมไว้อย่างลึกซึ้งนี้ จริงๆแล้วเราอาจตีความและเทียบเคียงไปกับปัญหาอื่นๆได้ เพราะทุกๆปัญหาย่อมมีลักษณะโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน คือเริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วบานปลายขยายออกไปเรื่อยๆ และปัญหาส่วนใหญ่ก็มักมีที่มาจาก "ความไม่เข้าใจ" และ "ไม่สามารถสื่อสาร" กันระหว่างมนุษย์นี่เอง

สำหรับผม "ประเทศใต้" นวนิยายที่ชื่อเรื่องบ่งบอกถึงการแบ่งแยกดินแดนชัดเจนเรื่องนี้ คืองานเขียนร่วมสมัยที่เหนือชั้น โดดเด่นที่สุดในรอบหลายๆปี

น่าเสียดายหากผลงานดีๆอย่างนี้จะถูกมองผ่าน และกลืนหายไปกับการเคลื่อนไปของกาลเวลา.

แสดงความคิดเห็น

« 9648
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ