บทความ
ประเทศใต้ ร่องรอยที่หายไป
วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11445 มติชนรายวัน
ประเทศใต้ ร่องรอยที่หายไป
เป็นคำที่ผุดขึ้นมาท่ามกลางกระแสคลื่นของความหวั่นวิตกที่ว่า "วรรณกรรมไทยกำลังจะตาย" ซึ่งกำลังถาโถมความรู้สึกของคนทำงานสร้างสรรค์ทางตัวอักษรหลายต่อหลายคน
และมีความหมายไม่น้อยต่อลมหายใจที่กำลังรวยริน
เจ็ดสัปดาห์นับจากนี้ (ถ้าไม่มีเหตุปัจจุบันทันด่วน) คือ ความพยายามที่จะให้วรรณกรรมสร้างสรรค์ ถูกอ่านครั้งแล้วครั้งเล่า และไม่ใช่เพียงเล่มที่หยิบยกมา แต่หวังถึงทุกเล่มของวรรณกรรมสร้างสรรค์ไทย
"ประเทศใต้" โดย "ชาคริต โภชะเรือง" จากสำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้ คือเล่มแรกที่จะมาแลกเปลี่ยนกัน
ชาคริต โภชะเรือง ไม่ใช่ชื่อใหม่ในบรรณพิภพ บัณฑิตจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรคนนี้ เริ่มหันเหเส้นทางชีวิตจากเดิม ขณะทำงานเขียนบทรายการโทรทัศน์ เพราะนั่นคือจุดที่ทำให้เขาศึกษาวรรณกรรมอย่างจริงจัง และกลายเป็นนักเขียนหนุ่มจากเมืองพัทลุง
ผลงานที่ผ่านตาจากเขานับแต่ปี พ.ศ.2535 เป็นงานเรื่องสั้นและสารคดี และเรื่องสั้น "แมงคาเรือง" เคยได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี 2549 จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย
"ประเทศใต้" คือนวนิยายเล่มแรกจากปลายปากกา
นวนิยายขนาดสั้นเล่มนี้ มีกลิ่นอายของความเป็นชาคริตลอยวนอยู่ในบรรยากาศ เป็นกลิ่นอายของเรื่องเล่าแฝงมุมมองจริงจังที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในท้อง ถิ่นใต้
กลิ่นอายที่ว่าสื่อสารถึงคนอ่านอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการเปิดเรื่อง เห็นชัดถึงคุณค่าและความงดงามที่สูญหายไปจากทั้งชีวิตและจากสังคมโดยรวมหรือ ท้องถิ่น และยังสะกิดใจให้ต้องชั่งถึงน้ำหนักและคำนวณถึงแรงปะทะของคำสองคำ ที่คล้ายจะเป็นหนึ่งในคำถามของวิถีชีวิต ในวันที่วงล้อแห่งกาลเวลาหมุนวนอย่างรวดเร็ว พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่ไหลบ่า คำถามที่ว่าด้วย "ความกลมกลืนหรือยืนหยัดในตัวเอง"
โดยเลือกใช้ "มโนราห์" เป็นสัญลักษณ์ของความสูญเสียและการตั้งคำถามดังกล่าว
มโนราห์ในเชิงรูปธรรม เธอคือหญิงสาวดวงตากลมโต ใบหน้าหวานซึ่งที่ "ผม" ในชื่อขอ "สุธน" เฝ้าตามหา
เป็นสุธน-มโนราห์ ในโลกยุค 2009 ไม่ใช่ตำนานอย่างที่เล่าลือกันมานาน
ทว่าในอีกนัยหนึ่ง มโนราห์ คือ อีกสัญญะแห่งจิตวิญญาณท้องถิ่นใต้ โดยไม่ได้มีความหมายเพียงการร่ายรำของนักฟ้อนเท่านั้น ทว่าในทุกๆ จังหวะของท่วงท่า เปี่ยมไปด้วยความลึกซึ้งและขรึมขลัง สะท้อนความลี้ลับและความไร้ขอบเขตของห้วงคิด
เป็นอีกความภาคภูมิของภูมิภาค ที่แนบแน่นอยู่ในวิถีชีวิตของคนใต้
และเมื่อ "มโนราห์" หนีจาก "สุธน" ไป นั่นจึงไม่ได้มีความเพียงแค่ผู้หญิงคนหนึ่ง หายไปจากชีวิตของผู้ชายอีกคนหนึ่งเท่านั้น
ในเชิงนามธรรม "จิตวิญญาณแห่งท้องถิ่นใต้" ต่างหากที่หายไป
ประเด็นที่ว่าปรากฏอย่างชัดเจน ผ่านสารพัดปัญหาของท้องถิ่นที่สุธนพบเจอขณะธรรมยาตรา ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ชุมชน แรงปะทะระหว่างกลุ่มที่แบกป้ายถึงความชอบธรรมในการอนุรักษ์และอีกกลุ่มที่ ถือสิทธิในความเป็นมนุษย์ เพื่อยึดครองทรัพยากร ปัญหาแบ่งแยกที่เรื้อรัง และส่งผลกระทบแม้แต่กับคนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวด้วย เหตุและผลแห่งความคิดฝังรากที่ประชาชนมีต่อรัฐ
จะว่าไปแล้วสารดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรนัก แต่ด้วยสถานะหนึ่ง ชาคริตทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน จ.สงขลา จึงกลายเป็นเหมือนข้อได้เปรียบ ซึ่งช่วยให้ข้อมูลที่ถ่ายทอดมีความเป็นจริงที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แม้ในบางแง่มุมจะมีน้ำเสียงเชิงเข้าข้างหรือเห็นด้วยกับบางฝ่ายบางกลุ่มอยู่ บ้างก็ตามที
แต่ในความสมบูรณ์ของข้อมูลนี้ ในบางจังหวะกลับสร้างความรู้สึกแปร่งแปลก ราวกับกำลังอ่านสารคดีชุมชน โดยเฉพาะในระหว่างการโต้ตอบของตัวละคร ข้อมูลที่นำเสนอเจืออรรถรสทางวรรณศิลป์ และความสมจริงของคำพูดหรือการกระทำน้อยไปหน่อย เลยเกิดความลักลั่นทางความรู้สึกในบางครา
ที่น่าสนใจจริง ๆ ของประเทศใต้คือกลวิธีในการเล่าเรื่องผ่านสัญลักษณ์
เป็นความกระจ่างใสของเนื้อหาผ่านความคลุมเครือแห่งกลวิธี ที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ ใคร่คิดตีความไปพร้อมกับการธรรมยาตราของสุธน
เริ่มกันตั้งแต่ ทำไมต้องธรรมยาตรา?
อาจเพราะธรรมยาตราคือ ความหมายหนึ่งของการคิดใคร่ครวญ นึกย้อนถึงการกระทำ ทบทวนสติ และนำสู่ความสงบ เรียนรู้สิ่งที่เกิดบนโลกใบนี้ด้วยตัวเอง อย่างไม่จำเป็นต้องแสวงหาจากคนอื่น หรือโทษว่าเป็นความผิดของใคร
ระหว่างการก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมขบวนธรรมยาตรา และเผชิญหน้ากับปัญหาปัจจุบันของท้องถิ่น ซึ่งก็เป็นปัญหาที่เวียนวนไปมาและซ้ำรอยเดิมของวิถี ในห้วงคำนึงของสุธนก็ย้อนนึกถึงปัญหาเดิมคือ มโนราห์หายไป และช่วงเวลาที่เดินทางตามหาเธอในสถานที่ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
ความซ้ำซากของปัญหาซ้ำซ้อนของเหตุการณ์ และซ้อนทับของกาลเวลา ที่หวนกลับมาทับร่องรอยเดิม ราวกับทุกเหตุการณ์และทุกความรู้สึกไม่เคยห่างหายไปไหน ผ่านสัญลักษณ์ของมโนราห์นี้เอง เป็นกลวิธียอกย้อนที่ทำให้เรื่องราวธรรมดา กลับกลายเป็นเรื่องเล่าที่น่าสนใจ (พอสมควร)
ที่ว่าพอสมควรเพราะกลวิธีการเล่าเรื่องสลับฉากและสลับห้วงกาลเวลาอย่างนี้ น่าจะเหมาะกับการเล่าเรื่องในศิลปะภาพยนตร์ที่สัมผัสได้ด้วยสายตามากกว่า เนื่องจากหากลำดับความคิดได้ไม่สมดุล อาจก่อเกิดสภาวะสับสนต่อปมที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจของตัวละคร ซึ่งประเทศใต้ก็มีหลุดๆ บ้างในบางครั้ง
แต่โดยภาพรวมแล้วก็ยังนับว่าเป็นกลวิธีที่โดดเด่นและดึงดูดใจให้คนอ่านต้องตั้งสมาธิ เพื่อตอบคำถามที่โยงใยไปถึง "กฎแห่งความเปลี่ยนแปลง" ถึงสิ่งเดิมที่เคยร้อยรัดพันผูกวิถีชีวิตมา
ว่าแท้จริงแล้วนั้นสิ่งที่หายไปจนต้องตามหา คืออะไรกันแน่?
....ร่องรอยของ "ภายนอก" หรือ "ภายใน"