บทความ
มนุษย์= ตัวตนที่ซับซ้อน
มนุษย์= ตัวตนที่ซับซ้อน
วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
สาย ตาคนวรรณกรรมจึงอดมองอย่างเพ่งพินิจไม่ได้ว่า หรือนี้จะเป็นงานชิ้นโบแดงที่เต็มไปด้วยรายละเอียดทางความคิด และมุมมองที่ศิลปินผู้ใช้วรรณกรรมเป็นสื่อศิลปะรังสรรค์ขึ้นมาให้กับโลก?
ความจริง “โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก” ไม่ใช่งานใหม่เอี่ยมถอดด้าม เมื่อ 5 ปีก่อน ฟ้า พูลวรลักษณ์ เคยมีหนังสือเล่มบางๆ ออกมาชื่อว่า “ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก” มันเป็นเหมือนบันทึกผลลัพธ์ของสิ่งที่เขาเรียกว่า “ปฏิบัติการ” ซึ่งเขาทำขึ้นสมัยที่ยังเป็นหนุ่ม
ในวัยที่เขามีอายุ 27 ปี เขาได้สร้างห้องเรียนห้องหนึ่งขึ้นมา ในนั้นมีโต๊ะเก้าอี้ 8 ชุด แต่มีเขาเป็นนักเรียนเพียงคนเดียว จากคนหนึ่งคน เขาได้แตกตัวเองออกเป็นแปด ฟ้า น้ำ ลม ดิน ไฟ บึง ภูเขา และฟ้าร้อง คือชื่อของนักเรียน 8 คนที่เขาสร้างขึ้นในโรงเรียนนี้ โดยทุกคนล้วนมีความแตกต่างในเรื่องของเพศและอายุ
มันเป็นห้องเรียนที่ไม่มีครู ไม่มีการสอนในห้องเรียน นักเรียนแต่ละคนจะมาเวลาไหนก็ได้ บางครั้งพวกเขามาแค่คนเดียว บางครั้งสอง บางครั้งสาม แต่เป็นไปได้ยากเหลือเกินที่ทั้งหมดจะมาครบ
พวกเขาทั้งแปดมีบุคลิกที่แตกต่างกัน และมีความสัมพันธ์กันในแบบต่างๆ มีทั้งชอบและไม่ชอบ บ้างก็หลงรักกันและกัน บ้างก็ชิงชังและตั้งแง่เอาชนะ
เราอาจมองได้ว่านักเรียนทั้ง 8 คน เป็นแค่จินตนาการฟุ้งฝัน แต่เราก็มองได้เช่นกันว่า ที่แท้พวกเขาเป็นคนคนหนึ่ง ซึ่งมีบุคลิกที่แตกต่างซ่อนอยู่ภายในถึง 8 แบบ เขาชื่นชอบบางตัวตนของเขา ในขณะเดียวกันก็กลับเกลียดชังบางตัวตน บางครั้งเขาอยากกอดรัดตัวเองไว้ทั้งวัน แต่บางหนก็กลับอยากเดินหลีกหนีไปให้ไกลๆ
ดูเผินๆ เหมือนห้องเรียนนี้ไม่มีกิจกรรมใดๆ นักเรียนบางคนนั่งอ่านหนังสือทั้งวัน บางคนพูดคุยกับเพื่อน บางครั้งพวกเขาก็ตั้งวงเล่นไพ่ หรือไม่ก็นอนหลับใหลอยู่ในห้องเรียนนั้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันก็ดูซ้ำๆ คล้ายไม่มีอะไรใหม่ มักเริ่มจากมีใครสักคนมาที่ห้องเรียน เขาอาจนั่งอยู่คนเดียวโดยที่ไม่มีใครมาเพิ่ม หรืออาจมีคนอื่นมา ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทรรศนะ บอกเล่าความรู้สึก หรือไม่ก็ปะทะคารมแบบคนที่ต่างก็มีความคิดเป็นของตัวเอง
แต่ถ้าเราพิจารณาดีๆ ทั้งหมดคือการเรียนรู้ด้านลึกของตัวเอง ห้องเรียนที่ไม่มีกำหนดเวลาตายตัว จะเข้าจะออกเมื่อไรก็ได้ ชี้ให้เห็นว่าคนเราสามารถเรียนรู้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในทุกช่วงเวลานาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ การรู้จักตัวเอง ห้องเรียนนี้ไม่มีครูและตำราเรียน เพราะบทเรียนที่แท้จริงคือตัวเราเอง เมื่อเราแตกแขนงตัวตนออกไป และศึกษาทำความเข้าใจถึงความแตกต่าง เราก็จะเห็นถึงความซับซ้อนภายในจิตใจ ยิ่งเพ่งพินิจลงไปเท่าไร เราก็จะยิ่งเห็นรายละเอียดแยกย่อยมากขึ้นเท่านั้น
การที่นักเรียนมาห้องเรียนนี้ไม่พร้อมกัน เนื่องจากจิตของคนเรายากที่จะควบคุม บางอารมณ์ ตัวตนภายในของเราเป็นแบบหนึ่ง แต่ในอีกอารมณ์ ตัวตนของเรากลับเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบ ยิ่งกว่านั้นในบางห้วงขณะ ตัวตนภายในของเราอาจซับซ้อนขึ้นไปอีก โดยมีหลายตัวตนออกมาถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิด และแสดงความรู้สึกต่อกัน
เหตุการณ์ที่ดูซ้ำๆ ในแต่ละวัน บางคนอาจมองว่าน่าเบื่อ แต่การเรียนรู้ตัวเองเป็นสิ่งที่ต้องทำซ้ำๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า วิธีการของ ฟ้า พูลวรลักษณ์ แทบไม่ต่างจากการตั้งมั่นทำสมาธิ ซึ่งแต่ละครั้งที่ทำอาจดูคล้ายเดิม ทว่า ในความเป็นจริงกลับให้ประสบการณ์ใหม่ พร้อมเพิ่มความละเอียดลึกซึ้งของการมองเข้าไปในจิตใจ
จาก “ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก” เมื่อ 5 ปีก่อน ฟ้า พูลวรลักษณ์ ได้ทำให้เราเห็นผ่านนวนิยายอย่าง “โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก” ว่าการเพ่งมองเข้าไปในตัวเองนั้น ไม่มีจุดที่เรียกว่าสิ้นสุด ยิ่งมองเข้าไปเราก็ยิ่งเห็นรายละเอียดปลีกย่อยซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
ในนิยายเรื่องนี้ ห้องเรียนที่เคยมีเพียงห้องเดียวได้ขยายออกเป็น 8 ห้อง ได้แก่ ห้องโลก ห้องดวงจันทร์ ห้องวงแหวน ห้องหลุมดำ ห้องหมู่เมฆแห่งออร์ต ห้องใจกลางโลก ห้องดาวหาง และห้องดวงอาทิตย์
ส่วนนักเรียนที่มีอยู่เดิม 8 คน ก็ได้แตกตัวออกไปรวมเป็น 72 คน มีฟ้า 9 คน น้ำ 9 คน ลม 9 คน ดิน 9 คน ไฟ 9 คน บึง 9 คน ภูเขา 9 คน และฟ้าร้อง 9 คน
เหตุการณ์ในเรื่องที่ขยายขึ้น จนเป็นนวนิยายความยาวเกือบ 800 หน้า แทบไม่มีโครงสร้างอะไรที่ต่างไปจาก “ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก” เลย เรื่องราวทั้งหมดเป็นเรื่องของนักเรียนคนนั้นคนนี้ที่มาถึงโรงเรียนในช่วง เวลาที่ต่างกัน บางครั้งพวกเขาอยู่กับตัวเองตามลำพัง บางครั้งพวกเขาอยู่กับคนอื่น บางครั้งพวกเขาเล่นสนุกกัน บางครั้งพวกเขากอดรัดกัน บางครั้งพวกเขาก็มีประเด็นมาแลกเปลี่ยนถกเถียง
นวนิยายแบบ “โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก” หากอ่านแบบเอาเรื่อง เราอาจแทบไม่เห็นอะไรเลย แต่หากอ่านอย่างพิจารณาทุกคำ เราจะพบสิ่งต่างๆ อยู่ในนั้นอย่างมากมาย
เหมือนการตั้งสมาธิเพ่งเข้าไปในจิต ค่อยๆ เห็นถึงรายละเอียดที่ซับซ้อน ยิ่งมองก็ยิ่งซับซ้อน ละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายเราก็จะเห็นว่า เรามีตัวตนทุกแบบอยู่ในตัวเอง และถ้ามองให้ละเอียดถึงที่สุด ตัวตนที่มีอยู่มากมหาศาลนั้น แท้จริงกลับไม่มีอะไรเลย ทั้งหมดล้วนว่างเปล่า เป็นอนัตตาโดยแท้
การขยายเรื่องจาก “ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก” มาเป็น “โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก” จึงเป็นการต่อยอดทางความคิด จากจุดตั้งต้นที่น่าสนใจ มาสู่ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบ
นวนิยายเรื่องนี้ยังทำเราอดคิดไม่ได้ว่า ระบบการศึกษาที่สร้างคนให้เป็นแรงงานด้านต่างๆ ในปัจจุบัน ถึงที่สุดแล้วอาจเป็นแนวทางที่ล้มเหลว เพราะมนุษย์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องมาถึงศตวรรษนี้ ต่างเรียนรู้และสร้างวิทยาการต่างๆ ขึ้นมามากมาย ทว่า สิ่งที่เรากลับมองข้ามชนิดไม่เคยให้ความสำคัญก็คือ การเรียนรู้จักตัวเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความรู้ไหนๆ ก็ไม่อาจทำให้คนเราถึงจุดหมายของการมีชีวิตได้ ยกเว้นเพียงอย่างเดียว ได้แก่ การเรียนรู้จักตัวเอง แบบที่ ฟ้า พูลวรลักษณ์ ได้แสดงให้เห็นผ่านนวนิยาย “โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก” นี่เอง
พิมพ์จาก http://www.posttoday.com/lifestyle.php?id=54841 วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 22:14 น. โพสต์ ทูเดย์ - Post Today (http://www.posttoday.com)