บทความ

โอ้โห...ประเทศใต้ น่าทึ่ง ๆ

by kai @July,25 2009 16.03 ( IP : 222...56 ) | Tags : บทความ

โดย นายยืนยง

ชื่อหนังสือ : ประเทศใต้ ผู้เขียน : ชาคริต โภชะเรือง ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้

ข้อเด่นอย่างแรกที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องประเทศใต้ หนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ คือ วิธีการดำเนินเรื่องที่กระโดดข้าม สลับกลับไปมา อย่างไม่อาจระบุว่าใช้รูปแบบความสัมพันธ์ใด ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรืออย่างที่สกุล บุณยทัต เรียกในบทวิจารณ์ว่า "ไร้ระเบียบ" แต่อย่าลืมว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มต้นที่ "ชื่อ" ของนวนิยาย ซึ่งในบทนำได้บอกไว้ว่า "ผม" ได้รับต้นฉบับนวนิยายเรื่องหนึ่งจาก "เขา" ในฐานะที่เป็นคนรู้จักกัน มันมีชื่อเรื่องว่า "ชายผู้ตามหามโนห์รา" และเรื่องก็จบลงตรงที่ "พระสุธนใช้เวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ตามหามโนห์รา ผมใช้เวลาตามหามโนห์รา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แล้วเราก็จากกัน"

นี่แสดงให้เห็น ประเทศใต้ เขียนขึ้นโดยใช้เงื่อนเวลาที่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบตามแบบแผนอย่างนวนิยาย ทั่วไป แต่การลำดับเหตุการณ์ภายในเรื่องเป็นไปอย่างสลับกลับไปมา ฉะนั้นจึงไม่อาจตัดสินได้ว่า ประเทศใต้ เป็นนวนิยายที่เขียนอย่างแหวกขนบ ซึ่งโดยโครงสร้างของเรื่องแล้ว การสลับกลับไปมาของเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นความจงใจของผู้แต่งที่จะแปรคุณค่าของ "เวลา" ให้ก้าวพ้น "เวลา" อย่างที่เราเคยชินกัน อย่างตอนเริ่มเรื่องในตอน 1 ที่เขียนไว้ว่า

"ผมมีอายุครบ 39 ปี เมื่อสิ้นปี พ.ศ.2552

เช้าของวันใหม่ปี 2553 ผมลืมตาขึ้นมาดูโลกท่ามกลางแรงเหวี่ยงสีดำอันแปลกประหลาด"

นอกจากนี้ ในเรื่องยังมีการบรรยายถึงห้วงเวลาที่อดีต ปัจจุบัน เหลื่อมล้ำกันอยู่เป็นระยะ ๆ อย่างให้ความสลักสำคัญด้วย ฉะนั้นแล้ว เราจะมองเห็นชัดอีกครั้งว่า ผู้แต่งต้องการสื่อเรื่องราวที่อยู่เหนือกาลเวลา หรือเรื่องที่เป็น อกาลิโก เพราะโดยโครงสร้างแล้ว มีการจัดองค์ประกอบให้สอดรับกันอยู่ตลอดเรื่อง

ดูเหมือนว่า โครงสร้างของประเทศใต้มี กลไกที่สอดรับต่อกันอย่างสมเหตุสมผลในทุกกรณีและแทบทุกบทตอนเลยทีเดียว เช่นนี้แล้ว เราจะนับว่าเป็นวรรณกรรมที่ "ลงตัว" ในเชิงเป็นเหตุเป็นผลกันได้ถนัด แต่จะถือข้อดีแห่ง ความลงตัวเหล่านี้เป็นเครื่องประเมินคุณค่าวรรณกรรมเสียทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าย่อมมีคุณสมบัติพิเศษอื่นที่มากกว่าความเป็นกลไก ที่สอดรับกันอย่างแน่นอน หรือหากใครจะประเมินค่ากัน ตรงนี้ ฉันจะขอยกตัวอย่างข้อดีมาให้ชื่นชมกัน และขณะเดียวกันก็จะกล่าวถึงนัยยะเชิงคุณค่าของ "ปรัชญา" ที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงกลไกนั้นด้วย

" ผม" หรือ "สุธน" ร่วมเดินธรรมยาตรา เพื่อแสวงหาความสุขสงบหรือความหมายที่แท้จริงของชีวิต และขณะร่วมขบวนธรรมนั้น สุธนก็เฝ้าคิดถึงแต่มโนห์รา และค่อย ๆ บอกเล่าเรื่องราวการตามหามโนห์ราหลายครั้งครา ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวันที่รักเลิกร้างอย่างยอมจำนน

มโนห์รา ในเล่มนี้มีการอธิบายคำโดยนิรุกติกำกับมาให้ด้วย ซึ่งคัดมาจากผลงานเขียนของเขมานันทะ

มโนห์รา หมายถึง การนำมาซึ่งใจ (มโน-ใจ, หร-นำมา)

จึงสรุปได้ชัดเจนอีกว่า การเดินเพื่อแสวงหาความหมายที่แท้จริงของชีวิต ที่สุธนใช้ธรรมยาตราเป็นตัวตั้งต้นนั้น แท้แล้วคือ "การเดินทางภายในใจ" นั่นเอง อีกข้อหนึ่ง สุธน กับ มโนห์รานั้น เป็นคนคนเดียวกัน อีกด้วย

นี่คือ "สาร" ที่ได้จากการอ่านประเทศใต้ ซึ่งผู้แต่งใช้วิธีบอกเล่าผ่านการเล่าแบบไม่ยึดอึงกับกรอบของเวลา หรือเรียกว่าเป็นการเล่าแบบไม่ยึดกรอบ จนบางครั้งคล้ายเป็นงานทดลอง แต่ก็ไม่ใช่เพราะนวนิยายเรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นและจุดจบตามแบบแผนของนวนิยายอย่างลงตัว ฉะนั้น รูปแบบการเล่าที่ดูหวือหวา หรือไม่ว่าจะเป็นความลงตัวที่สอดรับ สมเหตุสมผล ยังไงก็ไม่ใช่ "ของใหม่" อยู่นั่นเอง

ยก ตัวอย่างอีกตอนหนึ่ง เป็นตอนที่มโนห์ราในวัยเด็กถูกจับตัวไป เป็นการครั้งแรกที่สุธนรู้สึกว่าต้องออกตามหาหล่อน ตอนนั้น คนที่ตามหามโนห์ราพบเป็นคนแรก คือ ชายบ้า และชายบ้าก็คือสัญลักษณ์ของดวงตาที่มองเห็นธรรม อย่างไม่อาจเป็นอื่นได้ หรือใครจะว่านี่เป็น "ของใหม่"

นอก จากนั้น ความเป็นนิทานพื้นบ้านของเรื่องพระสุธนมโนห์ราก็เทียบเคียงได้กับชาดกที่สอด รับกับพุทธประวัติ และเน้นว่าเขมานันทะก็ได้เปรียบเทียบเข้ากับหลักพุทธธรรมเป็นที่เรียบร้อย แล้วด้วย ไม่เท่านั้น สุธนกับมโนห์ราก็คือ คนเดียวกัน เพราะสิ่งที่สุธนตามหานั้น แท้แล้วไม่ใช่มโนห์รา แต่เป็นความสุขสงบภายในใจอย่างที่ค้นหาได้จากพุทธธรรมนั่นเอง

ข้อนี้ก็เป็นหนึ่งในกลไกของเรื่องที่ผู้แต่งเน้นย้ำเป็นพิเศษ ถึงกับกล่าวผ่าน "เสียง" ของตัวละคร (พ่อ) อยู่หลายครั้งว่า "เป็นพระสุธนมันต้องตามหามโนห์ราอยู่วันยังค่ำแหละวะ" และในตอน 62 ผู้แต่งยังใช้เสียงของตัวเองกล่าวย้ำว่า

"ฉันบอกแกว่า ความรัก! - มัน ไม่ใช่แค่สองคนมาอยู่ด้วยกัน หากแต่เป็นการประสานความรู้สึกส่วนที่ลึกที่สุดในใจของมนุษย์ซึ่งไม่อาจหา สิ่งใดมาทดแทนได้ เพราะนั่นคือการเชื่อมประสานของจิตวิญญาณ..."


และในตอนที่สุธนกับมโนห์รานอนด้วยกัน หน้า 90 เขียนไว้ว่า "หล่อนนำทางผมไป" นี่ก็สอดรับกับเรื่อง "จิตนำกาย" อย่างพุทธธรรมอีกด้วย หนำซ้ำยังแถมท้ายฉากรักด้วยว่า

"เราเป็นคน ๆ เดียวกันแล้วนะ" หล่อนพูด

ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำ ความเป็นคนเดียวกันของสุธนกับมโนห์รา  แล้วใครจะปฏิเสธได้ว่า นี่ไม่ใช่ความประสานกลมกลืน ความสอดรับอย่างสมเหตุสมผลอันชื่นชมอีกเล่า

แต่โปรดสังเกตนิดหนึ่ง โดยเฉพาะฉากรักดังกล่าวนี้ เนื่องจากมันมี "พิธีกรรม" อย่างหนึ่งด้วย

"ผมบรรจงสวมแหวนให้หล่อน สัญญาว่าจะรักและดูแลหล่อนตลอดไป.. "

เป็น พิธีกรรมก่อนการร่วมรัก กระทั่งได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในขั้นตอนของพิธีกรรมนี้เองที่ขัดแย้งกับโครงสร้างของเรื่องที่ผู้แต่งมี พยายามก้าวข้ามไปให้พ้นจากขนบของนวนิยายแบบเดิม แต่กลับ "ก้าวไม่พ้น" เพราะพิธีกรรมก็คือขนบ หนำซ้ำ พิธีกรรมยังเป็นจุดสำคัญอันจะนำพาผู้อ่านไปสู่แก่นเรื่องอีกด้วย

นี่ อาจเป็นความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจลดทอนเจตนารมของวรรณกรรมที่พยายามจะก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยสักนิดเดียว แต่มันก็ชำแรกลงมาได้อย่างไม่น่าให้อภัย

ซึ่ง หากเรานำมันมาต่อเข้ากับ "ข้อมูลดิบที่แปรรูปมาอย่างดี ที่ปรากฏเป็นฉากเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ของการเดินธรรมยาตรา ข้อมูลดิบดังกล่าวนั้นได้แก่ ปมปัญหาอันรวมถึงต้นสายปลายเหตุของปัญหาที่ดำรงอยู่ในทุกย่างก้าวของชีวิต เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ป่าและรุกล้ำเขตป่าสงวนของชาวบ้าน ปัญหาความรุนแรงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัญหาระหว่างชาวบ้านกับรัฐ กับนายทุน เรื่องการกดทับเอกลักษณ์ประเพณีวัฒนธรรมของคนใต้ การบิดเบือนซ่อนเร้นข้อเท็จจริงกรณีถังแดง หรือเรื่องคอมมิวนิสต์บนขุนเขา รวมเป็นความขัดแย้งที่ฝังลึกถึงขั้นจิตวิญญาณและคอยหลอกหลอนมนุษย์เช่นเดียว กับความอลวนของป่าหิมพานต์ ที่เป็นฉากท้องเรื่องของพระสุธนมโนห์รา ข้อมูลดิบเหล่านั้นถูกแปรสภาพมาให้กระชับรัดกุม รวมทั้งเสนอทางออกของปัญหาไปในตัวบท มีการสรุปใจความสำคัญให้เสร็จสรรพด้วย

ช่างเป็นการแปรรูปที่น่าทึ่ง เป็นการสรุปปมปัญหาที่อย่างชัดถ้อยชัดคำเหลือเกิน ไม่ต่างจากวรรณกรรมสัจนิยมหรืออัตถนิยมที่มุ่งเน้นจะฉายภาพความเป็นจริงในสังคมโดยเฉพาะส่วนที่เป็นปัญหา แต่เมื่อรวมทั้งสองข้อนี้แล้วก็ยังไม่เห็นว่า วรรณกรรมเล่มนี้จะก้าวไปข้างหน้าแต่อย่างใด

หากผู้แต่งไม่มีเจตนาจะก้าวข้าวหรือก้าวไปข้างหน้าอย่างที่ "ตัวบท" วรรณกรรมบอกกล่าวแก่เราแล้ว

เหตุ ใดผู้แต่งจึงจงใจ "โละ" ความสำคัญของเงื่อนเวลาลง หรือจะเพื่อให้มันสอดรับกับความเป็นอกาลิโกเพียงข้อเดียว หรือจะเพื่อขยายขอบเขตของการแสวงหา "ความจริง" เพราะ "ความจริง" ที่กล่าวก็เป็นอกาลิโกด้วยเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ใครที่อยากเห็นว่าประเทศใต้เล่มนี้ มีลักษณะ "ภูมิประเทศ" แบบใด สมควรอย่างยิ่งที่จะอ่านอย่างไม่ควรปฏิเสธแต่แรก เนื่องจากเป็นนวนิยายขนาดทันใจ กะทัดรัดมากที่สุด สั้นอย่างน่าทึ่งว่าผู้แต่งสามารถบรรจุข้อมูลอย่างนักวิชาการหลายร้อยเล่ม เกวียนลงไปได้อย่างไร และสำคัญว่า ข้อมูลมหาศาลเหล่านั้นต่างอย่างสิ้นเชิงกับข้อมูลดิบแบบนักวิชาการริมาเขียน วรรณกรรม ที่ถนัดจะแปรสภาพ "ข้อเท็จจริง" ให้เป็น "ความจริง" โดยผ่านกรรมวิธีอย่าง "เรื่องอ่านเล่น" หรือนวนิยายนั่นเอง ซึ่งนอกจากจะไร้เสน่ห์แล้ว ยังรู้สึกอึดอัดเหมือนถูกยัดเยียดให้รับรู้ปัญหาไปด้วย

คราวนี้มาประเมินค่า "สาร" ที่มาในรูปปรัชญาซึ่งก็คือ พุทธปรัชญา อันนี้ไม่ต้องประเมินก็ไม่ผิด เพราะใครก็รู้ซึ้งในพุทธปรัชญา แต่ปัญหาอยู่ที่เป็นความรู้ซึ้งในระดับใด  ขณะ ที่ประเทศใต้เทศนาธรรมด้วยภาษาทางโลกนั้น รสธรรมที่ถ่ายทอดนั้นยังเป็นรสแห่งสมัยนิยมอีกด้วย เนื่องจากเป็นธรรมที่พยายามลงลึกถึงขั้นจิตวิญญาณ ไม่ใช่พุทธปรัชญาประยุกต์ผสมควอนตัม ไม่ใช่พุทธธรรมส่งเดชที่เน้นการตลาดที่เราเห็นกันเกร่อบนแผงหนังสือขณะนี้ แต่มีกลิ่นอายของมหายานหรือวัชระยานผสานเข้ามาด้วย ฉะนั้นจึงถือว่า "สาร" ที่แฝงอยู่เป็นเรื่องพอดีสมัย ไม่ล้าและไม่ล้ำสมัย

สุดท้ายนี้ หากเรียกประเทศใต้ว่า เป็นนวนิยายที่ใช้กลไกอย่างขนบของนวนิยายมาแปรรูปข้อเท็จจริงในสังคมกับหลัก การของพุทธธรรม ให้เป็นวรรณกรรม (เรื่องอ่านเล่น) แล้ว ผลผลิตที่ได้จากการแปรรูปนี้อาจเรียกว่า ผลิตภัณฑ์ ได้หรือไม่ หรือจะเรียกวรรณกรรมสำเร็จรูป หากเป็นเช่นนั้น ผู้แต่งจะดำรงอยู่ในฐานะอะไรได้อีก หากไม่ใช่ "เครื่องจักรวรรณกรรม" และหากผลิตภัณฑ์นี้ไม่ติดตลาด มีความเป็นไปได้ไหมว่าผู้ผลิตจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และจะพัฒนาไปทางใด

ท้ายจริง ๆ

ผู้ แต่งที่ทำงานอย่างหนัก แม้นสมควรจะได้รับผลตอบแทนที่ดีสมค่าเหนื่อย แต่หากผู้แต่งทำงานหนักแล้ว ยังขาดซึ่งเสน่ห์อย่างปุถุชนแล้ว คงถามหาผลตอบแทนได้ไม่ง่ายนัก อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้แต่งประเทศใต้จง ภาคภูมิใจกับผลของการทำงานหนักเฉกเช่นปุถุชนธรรมดามากกว่าผลตอบแทนในฐานะ "เครื่องจักรวรรณกรรม" เหมือนอย่างที่หลายคนก้มหน้าก้มตาเพียรรออยู่.

Comment #1
จรดล
Posted @August,01 2009 18.00 ip : 118...219

ประกาศผลเมื่อไรเนี่ยซีไรต์

แสดงความคิดเห็น

« 7137
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ