บทความ
ประเทศใต้...เรื่องของชายผู้ตามหาโนราห์
รายงานโดย :อินทรชัย พาณิชกุล:
วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2552
ชาคริต โภชะเรือง ชื่อนี้มิใช่หน้าใหม่ในวงการวรรณกรรมแต่อย่างใด
นาน 18 ปีแล้วที่นักเขียนจากบ้านดอนประดู่ ต.ห้วยลึก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ผู้นี้ จรดปลายปากกาสร้างสรรค์ผลงานการเขียนออกมาเป็นเรื่องสั้น บทกวี และสารคดีทั่วไป ลงตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารต่างๆ จนทำให้ชื่อของเขาได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างมากในฐานะมือเขียนเรื่องสั้น คุณภาพอีกคนหนึ่งของภาคใต้
แล้วเมื่อนวนิยายเล่มแรกในชีวิตที่ชื่อว่า ประเทศใต้ จากสำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้ ผ่านทะลุเข้าสู่รอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ประจำปี 2552 นั่นจึงทำให้ชาคริต โภชะเรือง ถูกจับตามองอีกครั้ง พร้อมกับผลงานเล่มล่าสุดของเขาเล่มนี้ “ประเทศใต้” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการตามหาสิ่งมีค่าที่สูญหายไปจากชีวิตและท้องถิ่น โดยใช้ “มโนราห์” เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งที่สูญหาย อันสื่อนัยถึงคุณค่าที่เคยมีพลังแนบแน่นอยู่ในวิถีชีวิต และร้อยรัดผู้คนกับสรรพสิ่งต่างๆ ให้ยึดโยงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
“เป็นเรื่องของการตามหาคุณค่าทางจิตวิญญาณที่หายไป โดยใช้โครงเรื่องของวรรณคดีเก่าแก่เรื่องพระสุธนมโนราห์ ซึ่งในแง่เรื่องราววรรณคดี เราจะเห็นว่าตัวละครเอกพระสุธนออกตามหานางเอก นั่นก็คือนางมโนราห์ พอเข้าไปในป่าหิมพานต์ก็พบเจอด่านปัญหาอุปสรรคต่างๆ นานาคอยขวางกั้น จนสุดท้ายก็ได้พบนางมโนราห์...มันเหมือนกับคนที่ตามหาอะไรบางอย่าง แล้วเจออุปสรรคต่างๆ ก็ฟันฝ่าจนผ่านพ้นไปได้ สุดท้ายเขาก็จะเจอในสิ่งที่กำลังค้นหาในที่สุด” ชาคริต กล่าว
ทั้งนี้ ผู้เขียนตั้งใจสร้างความคลุมเครือให้มโนราห์ เป็นคุณค่าทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม โดยใช้กลวิธีในการประพันธ์ให้ผู้อ่านต้องขบคิด ตีความ และร่วมรับรู้ไปกับการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาท้องถิ่นภาคใต้อยู่ตลอดเวลา ชี้ให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผู้คนในท้องถิ่นยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่มักจะหวนกลับมาซ้ำรอยเดิมอยู่ เสมอ ผ่านการเล่าเรื่องที่เดินไปข้างหน้า ทว่ากลับหวนคำนึงถึงอดีตที่ผ่านเลยอยู่ตลอดเวลา
“ประเด็นดังกล่าวทั้งหมดข้างต้นปรากฏอย่างชัดเจน ผ่านสารพัดปัญหาที่ ‘สุธน’ ตัวเอกของเรื่อง พบเจอขณะเดินธรรมยาตรา ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ชุมชน ปัญหาความขัดแย้งในการยึดครองทรัพยากร ปัญหาแบ่งแยกที่ดินทำกินที่เรื้อรังมาทุกยุคทุกสมัย ปัญหาทางสังคมและการเมือง ตั้งแต่ยุคถีบลงเขาเผาลงถังแดงมาจนถึงปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน
เมื่อตัวละครเจอปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ก็เหมือนเป็นการตั้งคำถามและค้นหารากเหง้าว่าเราจะเริ่มต้นแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งสุดท้ายตัวละครก็พบว่าสิ่งที่ตัวเองพอจะทำได้ก็คือพยายามทำความเข้าใจ กับมัน เรียนรู้กับมัน โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง ไม่ใช่จากคนอื่น”
แม้ชาคริตจะบอกว่าเขาสร้างนวนิยายเรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องราวของปัญหา ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ แต่ผู้อ่านก็ประหวัดถึงท้องถิ่นภาคใต้ของประเทศไทยได้ไม่ยากเย็นนัก นวนิยายเรื่องประเทศใต้นี้จึงเป็นนวนิยายที่สะท้อนปัญหาสังคมท้องถิ่นภาคใต้ ได้อย่างมีชั้นเชิงยิ่ง
กลับ มาที่เส้นทางบนถนนวรรณกรรมของนักเขียนหนุ่มใหญ่จากพัทลุงคนนี้ ชาคริต โภชะเรือง เกิดบนดินแดนถิ่นหนังและโนราห์ วัยเยาว์ผ่าน การเติบโตในครอบครัวที่รักการอ่าน จบปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มสนใจศึกษางานวรรณกรรมอย่างจริงๆ จังๆ ขณะเขียนบทรายการโทรทัศน์ จนปี 2535 มีผลงานตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารลลนา ในเรื่องสั้นชื่อ “อัปสรา...เทวี” ก่อนจะได้รับการประดับช่อการะเกดในเรื่องสั้นลำดับที่ 2 ชื่อ “บ่วง” จากนั้นมีผลงานบทกวี สารคดี และเรื่องสั้น กระจัดกระจายตามหน้านิตยสารต่างๆ มีรวมเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “กาหลอ” โดยแพรวสำนักพิมพ์ ก่อนจะมาสร้างชื่ออีกครั้งในเรื่องสั้น “แมงคาเรือง” โดยได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี 2549 ของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันยังชีพด้วยการทำงานเป็นนักวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเขียนหนังสือหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ
“ประเทศใต้เล่มนี้ ผมใช้เวลาเขียนไม่ต่ำกว่า 5 ปี วิธีเขียนไม่ได้ใช้พล็อตเป็นตัวนำ แต่ใช้วิธีบ่มเพาะความคิดไปเรื่อยๆ ปล่อยให้มันเติบโตไป ไม่อยากเขียนเยอะ พยายามแสดงออกให้น้อย จึงได้เล่มบางๆ อย่างที่เห็น แต่ถึงอย่างนั้นภายใต้ความน้อยของมันมีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ ซึ่งมันเปิดพื้นที่จินตนาการให้ผู้อ่านให้เข้ามาร่วมกันตามหาบางอย่างที่หาย ไปพร้อมๆ กับผู้เขียนด้วย” ชาคริต กล่าว
สำหรับรางวัลซีไรต์ รางวัลที่เรียกได้ว่าอาจจะเปลี่ยนแปลงสถานะนักเขียนธรรมดา ให้เป็นนักเขียนผู้มีชื่อเสียงได้ในชั่วข้ามคืน ชาคริตนักเขียนจากพัทลุง บอกว่า
“ชีวิตคนเรามีทั้งสิ่งที่เราควบคุมได้กับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ อะไรที่ควบคุมได้ เช่นผลงาน เราก็ต้องต่อสู้กับมัน เอาชนะมันให้ได้ ที่เหลือต่อจากนั้นคือการคว้าซีไรต์ เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าการเข้ารอบสุดท้ายครั้งนี้ช่วยเติมกำลังใจให้เราได้เยอะ ทำให้เรามั่นใจในแนวคิดในการทำงานมากขึ้น
ถามว่าหากได้รับรางวัลขึ้นมาจะมีผลต่อการทำงานไหม รางวัลไม่ได้กำหนดการทำงานของผมเพียงอย่างเดียว แรงขับข้างในมากกว่าที่ทำให้ผมรู้ว่าจะเขียนหนังสือไปเพื่ออะไร ถ้ารางวัลอย่างเดียวเป็นแรงขับ เรื่องก็จะไม่มีพลัง สิ่งที่เราควรคิดมากกว่าว่าทำอย่างไรให้หนังสือเราออกมาสมบูรณ์ที่สุด ถ้ามันไปถึงจุดที่เราพอใจ รางวัลก็จะตามมาเอง”
ชาคริต โภชะเรือง 1 ใน 7 นักเขียนที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2552 กล่าวไว้อย่างนั้น