บทความ
บทเพลงที่ไร้เสียงและการแสดงตัวของผู้ก่อการ
บทเพลงที่ไร้เสียงและการแสดงตัวของผู้ก่อการ
รายงานโดย :จรูญพร ปรปักษ์ประลัย:
วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2552 โพสต์ทูเดย์
เมื่อปี พ.ศ. 2549 ศิริวร แก้วกาญจน์ ส่งเรื่องสั้น “กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด” และบทกวี “การปะทะของแสงและเงา”
เข้า ประกวดรางวัลวรรณกรรมการเมือง “พานแว่นฟ้า” ปรากฏว่าเกิดกรณีตัดสิทธิผลงานที่ท่านประธานฯ เห็นว่าไม่เหมาะสม อาจสร้างความขัดแย้ง หรือชี้นำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และผลงานของ ศิริวร (ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาว่าสมควรจะได้รางวัล) ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เข้าข่ายถูกตัดสิทธิด้วย
ต่อ มา ศิริวร ได้ขยาย “กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด” ตีพิมพ์ในรูปแบบของนวนิยาย ปรากฏว่าด้วยความโดดเด่นของเนื้อหา และกลวิธีการเล่าแบบ “ให้ปากคำ” ของตัวละครมากมาย ทำให้นวนิยายเรื่องนี้เข้าตากรรมการคัดเลือกวรรณกรรมซีไรต์ จนกลายเป็นหนึ่งในสิบเล่มที่เข้ารอบในปี 2549
นี่เป็นบทพิสูจน์ว่า “กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด” มีดี และไม่ใช่แค่ดีธรรมดา แต่ดีชนิดติดอันดับเลยทีเดียว
แต่ ศิริวร ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ ปีต่อมา เขาส่งบทกวีสองบท ได้แก่ “จดหมายของแม่” และ “เพลงละเมอของเด็กชายและเพลงกล่อมของแม่” เข้าประกวดรางวัลพานแว่นฟ้าอีกครั้ง ปรากฏว่าบทกวีทั้งสองได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ ตามลำดับ โดยคณะกรรมการไม่รู้เลยว่า บทกวีสองชิ้นนี้เป็นผลงานของคนคนเดียวกัน และเป็นของ ศิริวร แก้วกาญจน์ เพราะเขาใช้นามปากกาที่ต่างกันในการส่งเข้าประกวด
ศิริวร เก็บเรื่องนี้เป็นความลับ เป็นความสะใจเฉพาะตัว ที่สามารถพิสูจน์ฝีมือให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ปัญหาก็คือ การส่งผลงานประเภทเดียวกันมากกว่า 1 ผลงาน เข้าประกวดรางวัลพานแว่นฟ้า เป็นการกระทำที่ผิดกติกาของการประกวด เขาจึงไม่อาจแสดงตัวในวันรับรางวัลได้
ความ ลับที่รู้เห็นเฉพาะในกลุ่มเพื่อนสนิท ถูกปิดเงียบมากว่า 2 ปี จนเมื่อปลายปีที่ผ่านมานี้เอง ศิริวร ได้พิมพ์รวมบทกวีชุดใหม่ชื่อ “ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง” โดยมีบทกวีที่ได้รับรางวัลทั้งสองชิ้นรวมอยู่ด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ท้ายของบทกวีดีเด่นที่เป็นปัญหา ยังมีการเขียนหมายเหตุพาดพิงถึงรางวัล “พานแว่นฟ้า” ไว้ด้วย
ท้าย บท “จดหมายของแม่” เขาชี้แจงว่า “เนื่องจากเรื่องสั้น ‘กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด’ และบทกวี ‘การปะทะของแสงและเงา’ ถูกตัดสิทธิ์จนไม่ได้รับรางวัล ‘พานแว่นฟ้า’ ในปี 2549 ผู้เขียนจึงจงใจพิสูจน์ ‘บางสิ่งบางอย่าง’ กับรางวัลนี้อีกครั้งในปีถัดมา ด้วยการส่งผลงานชิ้นนี้เข้าประกวดในนาม ‘ปัณณ์ เลิศธนกุล’ ซึ่งผลปรากฏว่าได้รับรางวัลชนะเลิศ” (หน้า 22)
ส่วนท้ายบท “เพลงละเมอของเด็กชายและเพลงกล่อมของแม่” เขาเสริมทับไปอีกว่า “กรณีเดียวกับ ‘จดหมายของแม่’ (หน้า 22) หากใช้นาม ‘อันวาร์ หะซัน’ ซึ่งผลปรากฏว่าได้รับรางวัลรองชนะเลิศในปีเดียวกัน” (หน้า 53)
สำหรับผม นี่ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ศิริวร จงใจพิสูจน์บางอย่าง และการจงใจนี้นำไปสู่การฝ่าฝืนกฎ แต่น่าแปลกที่กลับไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ในแวดวงวรรณกรรมเลย
กว่า 2 เดือนที่ “ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง” ตีพิมพ์ออกมา ไม่มีใครสักคนที่พูดถึงกรณีนี้ แม้แต่ในเว็บบอร์ดปากจัดทั้งหลายก็เงียบสงบ ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ออกมาสักแอะ
แน่ละ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือคุณค่าของงาน บทกวีสองชิ้นนี้สะท้อนความรู้สึกของผู้อยู่ ณ จุดเกิดเหตุ ของเหตุการณ์ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้เป็นอย่างดี
“จดหมายของแม่” เล่าผ่านตัวละครหญิงชรา ผู้ไม่ปรารถนาจะหลีกหนีไปจากแผ่นดินถิ่นเกิด
“...จะให้แม่ลาร้างไปอย่างไร
แม่ไม่ได้ก่อไฟ แม่ไม่ผิด
เพียงเวทมนตร์ซาตาน โปรยหว่านพิษ
เงาทุกเงาเบี้ยวบิด ผิดรูปรอย...” (หน้า 22)
ส่วน “เพลงละเมอของเด็กชายและเพลงกล่อมของแม่” เด่นที่รูปแบบซึ่งเล่นล้อกับขนบการแต่งเพลงกล่อมเด็ก โดยเปลี่ยนให้เป็นเด็กกับแม่ผลัดกันร้องเพลงกล่อม เพื่อปลอบโยนกันและกัน หลังเหตุการณ์ร้ายที่ทำให้ลูกต้องสูญเสียพ่อ และภรรยาต้องสูญเสียสามี
เนื้อหา ส่วนใหญ่ของ “ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง” เล่นกับความรู้สึกของผู้คนที่ต้องทุกข์ยากจากเหตุการณ์ความขัดแย้ง พร้อมทั้งตั้งคำถามต่อผู้ที่ลงมือเข่นฆ่าผู้อื่น ว่าจิตใจทำด้วยอะไร ถึงไม่รู้สึกรู้สากับความทุกข์โศกของผู้อื่น
แม้เมื่อเทียบกับ “กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด” มุมมองและน้ำเสียงที่มีต่อเหตุการณ์ในรวมบทกวีชุดนี้ จะดูไม่ค่อยสมมาตรสักเท่าไรนัก เพราะเอียงไปทางผู้เสียหายที่เป็นชาวพุทธด้านเดียว ไม่มีบทที่เขียนผ่านมุมมองและน้ำเสียงของชาวมุสลิมเลย
หนำซ้ำ บางบทยังจงใจที่นำพระเจ้าของพวกเขามาเสียดสี ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นพระประสงค์ของพระองค์เช่นนั้นหรือ?
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเนื้อหาของรวมบทกวีชุดนี้จะพูดถึงอะไร ความจงใจนำบทกวีที่มีปัญหามารวมพิมพ์ไว้ด้วย ก็เป็นจุดที่ไม่อาจมองข้ามได้
โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่า ศิริวร ไม่ได้นำงานสองชิ้นนี้มาตีพิมพ์ในผลงานรวมเล่ม เพียงเพราะเห็นคุณค่าของงานเพียงอย่างเดียว
แต่ ศิริวร จงใจที่จะพิสูจน์ “บางสิ่งบางอย่าง” อีกครั้ง ด้วยการตบหน้าวงการวรรณกรรมไทยแรงๆ แล้วถามว่า รู้สึกอะไรหรือเปล่า? มีน้ำยาจะจัดการอะไรเขาไหม?
การแสดงตัวให้จับของเขาในครั้งนี้ ไม่ว่าจะส่งผลอย่างไร ถือเป็นกรณีที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง
ในมุมมองของผม นี่เป็นเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ ซึ่งแรงกว่าเนื้อหาอื่นใดในเล่ม
หากมองในจุดนี้ ชื่อหนังสือ “ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง” แฝงบางอย่างที่น่าตีความอยู่ไม่น้อย “ฉัน” คือใคร? เด็กน้อยที่อยากร้องเพลง ท่ามกลางเปลวไฟแห่งความรุนแรง อย่างที่ปรากฏในบทชื่อ “บทสนทนาทางโทรศัพท์ของเด็กหญิงฟาติมะ”
หรือ “ฉัน” คือตัวผู้เขียนเอง ที่อยากร้องเพลงให้กับวงการวรรณกรรมไทย แวดวงของปัญญาชน ผู้รักความสงบเรียบร้อยและประนีประนอม จนไม่กล้าขยับทำอะไรทั้งสิ้น
ถ้าเป็นอย่างหลัง ป่านนี้ ศิริวร คงได้ร้องเพลงสมใจอยากแล้ว