บทความ
รายงานการสัมมนานักเขียนสี่ภูมิภาค ครั้งที่ ๒ (ภาคใต้)
อ่านพบรายงานการสัมมนานักเขียนสี่ภูมิภาค ครั้งที่ ๒ (ภาคใต้) ที่เว็บไซต์ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อ...
รายงานการสัมมนานักเขียนสี่ภูมิภาค ครั้งที่ ๒ (ภาคใต้)
รายงานการสัมมนานักเขียนสี่ภูมิภาค ครั้งที่ ๒ (ภาคใต้) ในหัวข้อ “สถานการณ์นักเขียนไทยวันนี้ : คุณภาพหรือปริมาณ” ณ ห้องพรหมโยธี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช วันเสาร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เวลา ๘.๓๐-๑๗.๐๐ น. โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
………………………………………………………………
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดยการสนับสนุนของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จัดการสัมมนานักเขียนสี่ภูมิภาค ครั้งที่ ๒ (ภาคใต้) มีรายละเอียดดังนี้
๑. รองศาสตราจารย์วิมล ดำศรี รองอธิการบดีกล่าวต้อนรับ
รองศาสตราจารย์วิมล ดำศรี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กล่าวต้อนรับคณะนักเขียน ด้วยความภาคภูมิใจที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนานักเขียนระดับประเทศในส่วนภาคใต้ครั้ง นี้ โดยกล่าวเปรียบเทียบว่า โดยปกติช้างเหยียบนาพญาเหยียบเมืองถือว่าเป็นสิริมงคลสูงสุดแล้ว แต่วันนี้มีนักเขียนมาเหยียบสถาบันแห่งนี้ นับเป็นสิริมงคลสูงสุดเช่นกัน
งาน ครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏจัดเป็น “เทศกาล เปิดขุมกำลังนักเขียนใต้” จัดรวมทั้งหมด ๓ วัน คือวันที่ ๒๗–๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐ โดยมีรายละเอียดคือ
๒๗ กรกฎาคม หัวข้อ การเขียนชนบทในวรรณกรรมภาคใต้ เนื่องในวาระ ๒๕ ปี กลุ่มนาคร
๒๘ กรกฎาคม หัวข้อ สถานการณ์นักเขียนไทยวันนี้ : คุณภาพหรือปริมาณ
๒๙ กรกฎาคม หัวข้อ ประชุมความร่วมมือนานาชาติ ระหว่างนักเขียนไทย-มาเลเซีย
๒. นายกสมาคมนักเขียน (ชมัยภร แสงกระจ่าง) ชี้แจงความเป็นมาของการจัดงาน
ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นได้เพราะสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้สนับสนุน โดยคาดหวังถึงการพบปะแลกเปลี่ยนประเด็นความรู้ ปัญหา ของนักเขียนแต่ละภาคร่วมกัน ซึ่งแต่ละแห่งจะมีลักษณะการจัดงานที่แตกต่างกันไป แต่ไม่ทิ้งแกนหลัก คือสถานการณ์นักเขียนไทยในปัจจุบัน
นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้กล่าวชื่นชมความพร้อมในการจัดงาน ของภาคใต้ ที่มีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชเป็นหน่วยงานกลาง ซึ่งให้ความสำคัญต่อวรรณกรรม และนักเขียน เพราะงานในครั้งนี้จัดเป็น “เทศกาล เปิดขุมกำลังนักเขียนใต้” นับเป็นการระดมความคิดเป็นครั้งใหญ่ ทำให้คาดหวังว่างานสัมมนาครั้งนี้จะเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งการแสดงพลังความ คิดอย่างเข้มข้นดังชื่องาน และนายกสมาคมนักเขียนได้มอบบทกวี “ถนนนักเขียน” แทนการกล่าวเปิดงานในครั้งนี้
๓. ปาฐกถานำ “พลังอำนาจและสิ่งสร้างสรรค์วรรณกรรม สู่ทศวรรษใหม่” โดย สถาพร ศรีสัจจัง ผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ และศิลปินแห่งชาติ
สถาพร ศรีสัจจัง กล่าวว่าหากถูกถามว่า ‘พลังอำนาจและสิ่งที่มากำหนดให้การสร้างสรรค์วรรณกรรมที่จะก้าวสู่ทศวรรษ หน้าเป็นอย่างไร?’ นั้น คิดว่านักเขียนทั้งหลายคงประจักษ์รับรู้กันอยู่ว่า มีเงื่อนเหตุอะไรบ้าง โดยทัศนะส่วนตัวเห็นว่างานวรรณกรรมเป็นเหมือนเสียงกลอง เสียงกลองจะดังได้ต้องมีคนตี แล้วเบื้องหลังของคนต้องมีสังคมรองรับอยู่ เสนีย์ เสาวพงศ์ เห็นว่าการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมก็เช่นเดียวกับการตีกลอง ไม่ว่าเงื่อนไขจะเปลี่ยนไปอย่างไร ตัวกระบวนการก็จะยังดำรงอยู่ ซึ่งประกอบปัจจัยด้วย ๒ ส่วน
หนึ่ง ปัจจัยที่เป็นเงื่อนเหตุภายนอก ที่จะมากำหนดให้นักเขียนสร้างสรรค์งานอย่างไร
สอง ปัจจัยชี้ขาด คือ ปัจจัยทางอัตวิสัยของนักเขียนหรือวงการนักเขียนเอง
เงื่อนไขกระแสหลักของระบบความสัมพันธ์ทางการผลิต กระแสหลักของโลก คือกระแสเศรษฐกิจแบบทุนนิยมบริโภค เมื่อกระแสความสัมพันธ์ทางการผลิตเป็นตัวกำหนดว่า นักเขียนต้องสร้าง ต้องเป็นอะไร ซึ่งไปความสัมพันธ์ทางการผลิตทุนนิยม วรรณกรรมซึ่งเป็นผลิตผลหนึ่งของมนุษย์ก็จะต้องถูกโปรแกรมเหมือนระบบทุนนิยม โปรแกรมให้สรรพสิ่งในจักรวาลหรือเอกภพนี้กลายเป็นสินค้าหรือสิ่งที่มีมูลค่า งานวรรณกรรมในกระแสทุนนิยม จึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่ออกสู่ตลาด เพื่อเก็งกำไรสูงสุด โดยระบบไม่ว่าผู้สร้างจะคิดอย่างไร โปรแกรมเมอร์ผู้อยู่เบื้องหลังการกำหนดนี้คือทุนนิยม อันเป็นกระแสหลักของโลก สามารถใช้เครื่องมือทุกประการโปรแกรมมายังนักเขียนซึ่งเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เหมือนคนในสังคมทั่วไปที่จะต้องสร้างผลิตผลของตนเองขึ้นมา
ภาพปรากฏของงานที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่จะถึงนี้ จึงไม่น่าจะแตกต่างจากภาพปรากฏที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันมากนัก คือจะมีงานใน ๒ ลักษณะ ตามเจตนาการผลิต ลักษณะแรก เป็นงานproductionแท้ๆ ที่ต้องการผลิตเป็นสินค้าออกมารับความต้องการของท้องตลาด เป็นวรรณกรรมกระแสหลัก เหมือนกับที่เคยเป็นมาทุกยุคสมัย แต่มีลักษณะหลากหลายมากขึ้น เช่นในอดีตเราไม่มีวรรณกรรมที่นำเสนอแบบแฟนตาซีมากนัก ก็จะมีวรรณกรรมแฟนตาซีมากขึ้น ในอดีตเรายังขาดตัวเงื่อนเหตุปัจจัยของสังคมแบบดิจิตอล ยังเป็นสังคมอะนาลอกอยู่เกือบทั้งหมด ถึงห้วงเวลาทศวรรษหน้าวรรณกรรมดิจิตอลที่มีการประมวลผลแบบสำเร็จรูปน่าจะ เกิดมากขึ้น เป็นวรรณกรรมสำเร็จรูปที่ไม่มีความต่าง ถ้าเป็นสีก็เป็นสีที่มีเกรนเรียบสนิท
ลักษณะที่สอง พลังอำนาจอัตวิสัย ยังมีพลังอีกตัวหนึ่งเป็นพลังอำนาจที่ภาษาปักษ์ใต้เรียกว่า ครูหมอ คือน่าจะยังมีครูหมอของศิลปินอยู่ พลังอำนาจทางอัตวิสัยของความเป็นศิลปินที่มีเจตนามุ่งในการสร้างงานศิลปะ เป็นกระแสทางเลือกที่อาจจะหลุดพ้นจากด้านหลักในการถูกโปรแกรมจากกระแส เศรษฐกิจทุนนิยม คิดว่าพลังอัตวิสัยตรงนี้ก็จะเป็นอีกกระแสหนึ่ง ที่เข้ามาทัดทานกัน ถ้าลองหวนกลับพิจารณาในกระแสวรรณกรรมของโลกเท่าที่เคยมีมา พบว่าในขณะที่มีกระแสหลักซึ่งถูกกำหนดโดยเงื่อนไขของภาวะวิสัยห้วงเวลานั้น ๆ มันก็จะมีกระแสทางเลือก ที่เรียกว่า ออลเทอร์เนตีฟ เกิดขึ้นคู่กัน งานวรรณกรรมในลักษณะนี้จะเป็นวรรณกรรมที่ทวนกระแส เป็นงานศิลปะที่มีดุลยภาพทางอัตวิสัยของตนเอง
ขนบของวรรณคดีไทยทุกครั้งที่มีการเขียนเรื่องขึ้นมาจะมีการไหว้ครู การไหว้ครูของขนบในวรรณคดีทุกครั้งที่อ่านรู้สึกไม่มีความสุข ไม่สนุก ไม่รู้ว่าทำไปทำไม แต่เมื่อได้อ่านการไหว้ครูของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ในกวีนิพนธ์ขนาดยาวอย่าง ลำนำภูกระดึง ตอนไหว้พระพิฆเนศจากศรัทธาความเชื่อ รับรู้นี่คือนวัตกรรมของการไหว้ครู เพราะมันได้ส่งผ่านพลังทางอัตวิสัยของกวีที่มีลักษณะแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับ การสร้างงานแบบขนบที่เคยอ่านมา ทั้งที่เป็นการไหว้ครูด้วยกลอน และเป็นกลอนที่มีจังหวะที่เราไม่คุ้นชิน คือมีจังหวะ ท่วงทำนองหรือเสียง ...กราบพิฆเนศวิเศษกายสิทธิ์ นิรมิตสิงกาพย์แก้ว วรพักตรกุญชรประเสริฐเพริศแพร้ว แววรุ้งรัศมีศรีอาทิตย์... ทำให้รู้สึกถึงพลังบางอย่าง สิ่งอย่างนี้มันอาจจะเกิดขึ้นในเงื่อนไขกระแสหลัก
วรรณกรรมในช่วงทศวรรษหน้าจะเป็นอย่างไร ปัจจุบันนี้มีความซับซ้อน แน่นอนมันส่งผลถึงการกำหนดและแสวงหารูปแบบของการสร้างสรรค์งานศิลปะมากขึ้น ต้องแสวงหาเนื้อหาที่ใหม่ขึ้น พลังวิริยภาพของนักเขียนที่เป็นพลังอัตวิสัย ก็คือการที่สามารถจะประมวลข้อมูล แล้วมองนำเพื่อก่อให้เกิดรสนิยมใหม่ เพราะมีแต่รสนิยมใหม่เท่านั้นที่จะก่อให้เกิดจินตนาการใหม่ๆ ได้ ความรู้ที่ถูกประมวลขึ้นมาเพื่อก่อรสนิยมสร้างสรรค์จินตนาการใหม่ๆ ให้กับสังคม จึงเป็นการประสานที่ต้องแนบแน่น ต้องมีการแมทชิ่ง(Matching)กันอย่างแท้จริง ระหว่างพลังข้อมูลการรับรู้ทางภาวะวิสัยอันหมายถึงเรื่องทางสังคม กับพลังทางอัตวิสัยอันหมายถึงเรื่องราวเฉพาะตัว ตัววรรณกรรมเป็นชิ้นงานหลักที่ผู้รับสารจะรับนั้นนักเขียนจะต้องประมวลหลอม ๒ เงื่อนไขนี้เข้าด้วยกันจึงจะสามารถที่จะไปบรรลุความสำเร็จของงานวรรณกรรมใน ช่วงทศวรรษนี้หรือทศวรรษหน้าได้
ภายใต้เงื่อนเหตุภาวะวิสัยเช่นนี้ เกียรติภูมิของนักเขียนจะเป็นอย่างไร จะยังมีอยู่หรือไม่ ถ้างานเขียนเป็นโพรดักชั่นเป็นผลิตภัณฑ์จากอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันจะมีคุณค่า มันจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความรัก เหมือนที่คาลิล ยิบราน เคยกล่าวไว้ว่า การงานมิใช่อะไรอื่น คือความรักที่สำแดงตัวเป็นรูปร่าง ถ้างานเขียนคือการงานของนักเขียน งานเขียนคือนักเขียนที่มีเกียรติภูมิ นักเขียนซึ่งสามารถจะสำแดงความรักที่ตนเองมีอยู่ ต่อชีวิต ต่อมหาชน หรือต่อจักรวาลอะไรก็แล้วแต่ออกมาเป็นรูปร่าง อย่างที่ตนเองเชื่อ คิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้มันจะมีพลัง จะมีอำนาจ
ถามว่าถ้านักเขียนทำได้แค่นี้เกียรติภูมินักเขียนจะยังดำรงอยู่หรือ ไม่ คิดว่าสิ่งที่ เสนีย์ เสาวพงศ์ เคยกล่าวไว้ว่า นักเขียนเปรียบเสมือนวิศวกรทางจิตวิญญาณ เพราะนักเขียนคือวิศวกรผู้สร้างจิตวิญญาณของมนุษย์ ถ้าสิ่งที่เขาสร้างสรรค์ไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เลว เป็นวิศวกรซึ่งออกแบบเรื่องราวที่จะไปหล่อหลอมจิตวิญญาณให้มนุษย์หมกมุ่นกับ สิ่งที่ชั่วร้ายสามานย์ เขาก็ไม่มีคุณค่าใดๆ เสนีย์ เสาวพงศ์ กล่าวว่า วิศวกรที่เขาออกแบบบ้านสร้างตึกทั้งหลายถ้าออกแบบผิด อย่างมากตึกก็พังลง แต่ถ้าวิศวกรทางจิตวิญญาณออกแบบไปหล่อหลอมจิตวิญญาณ มอมเมาจิตวิญญาณของมนุษย์ให้ลงต่ำ เร่ลงไปหามิจฉาทิฐิ ก็แน่นอนว่า เขาจะเป็นอาชญากร
ฉะนั้น เกียรติของคนสร้างสรรค์งานศิลปะ แท้จริงดำรงอยู่แล้ว โดยปรากฏการณ์ที่เป็นจริงของศิลปินคนนั้น เกียรติเหล่านี้ทางสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยหรือองค์กรทางวัฒนธรรม อาจจะช่วยเชิดชูเกียรติได้บ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้ว ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องทางอัตวิสัย ไม่ว่าคุณจะถูกแต่งตั้งให้เป็นศิลปินแห่งชาติ หรือว่าคุณถูกแต่งตั้งให้เป็นนักเขียนมือหนึ่งของประเทศไทย หรืออะไรก็แล้วแต่ การตระหนักรู้ของความมีเกียรติของคนสร้างสรรค์งานศิลปะดำรงอยู่แล้วโดยตัว เอง
อย่างไรก็ตามงานศิลปะนั้น เป็นงานที่ถูกสร้างสรรค์โดยพลังวิริยภาพอัตวิสัย นักเขียนจึงจะโดดเดี่ยวต่อไป!!! นักเขียนจึงจะยังต้องอยู่กับตัวเอง ถึงแม้เขาจะเป็นนักเขียนของมหาชน ถึงแม้เขาจะเป็นนักเขียนเบสเซลเลอร์หรืออะไรก็แล้วแต่
ในความมีเกียรติเหมือนกับคนทั่วไปในสังคมนี้ ถ้ายกย่องเงิน นักเขียนที่จะมีเกียรติก็คือนักเขียนที่ขายได้มาก ไม่ว่าเบื้องหลังของนักเขียนคนนั้นจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าเบื้องหลังของนักเขียนคนนั้นจะสามานย์ขนาดไหน ก็เหมือนกับคนรวยในสังคมถ้ามีเงินมากแล้วก็คล้ายจะถูกยกย่องเชิดชู มโนธรรมและความตระหนักรู้ในความเป็นตัวของตนเองต่างหาก ที่ท้ายที่สุดจะยังคงดำรงอยู่ นักเขียนจะประสบความสำเร็จมีเงินแค่ไหน เป้าหมายนั้นน่าจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถ้านักเขียนคนนั้นยังอยู่ในฐานะศิลปินผู้สร้างสรรค์งานเพื่อมหาชนอย่างแท้ จริง
การเตรียมตัวเพื่อสร้างสรรค์งานวรรณกรรมในทศวรรษหน้า คือการเตรียมจิตวิญญาณ การเตรียมทางมโนธรรม การเตรียมเพื่อที่จะไปตอบคำถามสังคมที่ยิ่งซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะมีแนวโน้มบ่อนเซาะทำลายโลกจักรวาลและเอกภพนี้มากขึ้น ในวันเวลาเช่นนั้น วรรณกรรมที่มีนัยคล้ายๆ กับวรรณกรรมของแจ็ค ลอนดอน ไม่ว่าจะ??