บทความ
ประเทศใต้ “ใต้ความเวิ้งว้างอันไร้ขอบเขตจำกัด...เราต้องคิดถึงปัญหาที่สะสมในประเทศแห่งนี้”
ประเทศใต้ “ใต้ความเวิ้งว้างอันไร้ขอบเขตจำกัด...เราต้องคิดถึงปัญหาที่สะสมในประเทศแห่งนี้”
สกุล บุณยทัต เขียน ตีพิมพ์ในหนังสือสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับที่ 42 กรกฏาคม 2552
“แง่มุมของโลกและชีวิต ณ ปัจจุบันมักจะสอดผสานคาบเกี่ยวกันด้วยอุบัติการณ์ทางความคิดและอาการแห่งความรู้สึกที่เป็นไปด้วยความขัดแย้งไร้ระเบียบ ทั้งหมดกลายเป็นความคลุมเครือทางจิตวิญญาณที่ตอกย้ำฝังจำเป็นรอยเหยียบย่ำที่มืดดำในภาวะสำนึก ก่อเกิดเป็นลมหายใจที่ติดขัดวกวน ไร้ซึ่งทางออกในวิถีทางแห่งเจตจำนงอันจริงแท้และมั่นคง เหตุนี้จึงไม่แปลกอะไรเลยที่บุคคลแห่งโลกและชีวิต ณ วันนี้จะต้องจมปลักอยู่กับชะตากรรมอันขมขื่น...เดือดร้อนดิ้นพล่านอยู่กับการติดตามค้นหาจุดบรรจบอันแท้จริงของตนเองอย่างสิ้นหวังไร้ทิศทาง”
“ประเทศใต้” นวนิยายของนักเขียนหนุ่มชาวใต้ “ชาคริต โภชะเรือง” ที่ออกแบบรูปรอยงานเขียนเขาให้ทบซ้อนกันอยู่ระหว่างมิติเรื่องราวของอดีตกับปัจจุบัน... ความจริงแท้ที่ปรากฏกับนัยสำนึกทางจิตวิญญาณและมายาคติของสถานการณ์ที่คาบเกี่ยวกันในบทจองจำอันซับซ้อนของโชคชะตาที่ถูกกระหน่ำโบยตีอย่างน่าเวทนา...
“เรื่องของเรื่อง” เหลี่ยมซ้อนกันอยู่ระหว่างชายหนุ่มคนหนึ่งกับชายหนุ่มอีกคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสพบปะกันโดยบังเอิญ ณ เกาะกลางทะเลลึกในบรรยากาศของการพักผ่อน พวกเขาสัมผัสกันครั้งแรกด้วยบรรยากาศและท่าทีของความแปลกหน้า ความเคยคุ้นในวันต่อๆมาทำให้เรื่องราวของพวกเขาถูกคลี่คลายออกมาด้วยท่าทีของความหวาดระวังของเขาคนนั้น...ดูแปลกแยกจมปลักอยู่กับการอ่านหนังสือและความเป็นตัวตนอันคลุมเครือของเขา... เขาพูดน้อย... แต่เมื่อพูดออกมาก็มักจะเป็นประโยคคำถามถึงภาพกว้างแห่งความเป็นไปของสังคม “เศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลใหม่ตกต่ำจริงหรือเปล่า... แล้วชนชั้นกลางมีความเห็นต่อรัฐบาลใหม่อย่างไร... เราจะแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติเราได้อย่างไร” คำถามของเขาเป็นดั่งปริศนาของความอยากรู้ในคำตอบที่ไม่มีใครสามารถจะบอกได้อย่างเต็มปากเต็มคำ... แต่จากตรงนี้ก็พอจะบอกได้ถึงความเป็นตัวตนผ่านรอยประจักษ์ของสายตาได้ว่าเขาเป็นคนจริงจังกับชีวิต “เขากำลังต้องการความสัมพันธ์กับผู้คน” ซึ่งคนชนิดเขาก็ถูกระบุว่ามีอยู่มากเหลือเกินบนโลกใบนี้ คนที่หมกมุ่นอยู่กับปัญหา... คนที่ดูเหมือนจะอาสาแบกโลกไว้จนหนักอึ้ง... คนที่ไม่รู้จักแม้แต่จะวางภาระอันหนักหน่วงของชีวิตลงเพื่อผ่อนคลายตัวเอง...แน่นอนว่าเขาเป็น “คนที่น่าเวทนา” แต่จากความจริงที่ปรากฏโดยคนอื่นบอกต่อๆกันมา คือเขาทำงานเป็น “เอ็นจีโอ” และปรารถนาที่จะเป็นนักเขียน... ด้วยท่าทีที่เงียบขรึมของเขา... เขาได้ปรารภกับมิตรใหม่ด้วยนัยคำถามที่แม้อาการทางอารมณ์และความรู้สึกจะผ่อนคลายมากขึ้นแต่มันก็ยังตกอยู่กับมิติแห่งปริศนาที่ชวนใคร่ครวญอยู่อย่างนั้น “เป็นธรรมดาเหลือเกินที่คนเรามองไมเห็นตัวเอง” นั่นเป็นปริศนาสำคัญข้อหนึ่งที่ตอกย้ำและบ่งชี้ว่าแท้จริงเราต่างมีชีวิตอยู่ แต่เราจะมองเห็นสภาวะรอบข้างในความเป็นโลกและชีวิตหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“ผมอยากจะบอกคุณว่าผมอิจฉาคุณ เพราะว่าชีวิตของคุณกลมกลืนกับโลกที่คุณอยู่ ผมไม่รู้หรอกว่าคุณทำได้อย่างไร” คำถามถึงความกลมกลืนดังกล่าวคือบทอำลาก่อนการลาจาก...และกลายเป็นเสมือนที่มาแห่งนวนิยายที่เขาได้เขียนขึ้นและส่งย้อนกลับมาให้มิตรใหม่คนนั้นได้อ่าน... เป็นการจำเพาะเจาะจงเลือกส่งถึงเขา อาจด้วยความกลมกลืนของมิตรภาพหรือด้วยสำนึกแห่งความวางใจที่หาได้ยากแสนยากจากโลกของวันนี้... นวนิยายเล่มนี้หน้าปกเป็นสีแดงขนาดรูปเล่มบาง...มีรูปหญิงสาวหน้าตาคมขำสวมชุดโนรากำลังรำ... นวนิยายเล่มนี้มีชื่อว่า “ชายผู้ตามหามโนห์รา”
“ชาคริต”...เปิดมิติความเป็นนวนิยายของเขาด้วยชั้นเชิงทางการประพันธ์ที่ตัดแทรกภาพแสดงเชิงซ้อนผ่านเข้าไปในการดำเนินบทตอนของเขาในฐานะของการเล่าเรื่องซ้อนเรื่องที่นับแต่นี้ทั้งหมดใจความของเรื่องจะอยู่ที่ “งานเขียนและเรื่องเล่า” ของชายคนนั้นในคราบเงาของผู้ตามหามโนห์รา ที่อิงอยู่กับตำนานทางด้านนาฏศิลป์ของดินแดนใต้.... ที่ความเป็นไปแห่งการตามหามโนห์ราของพระสุธนได้ถูกเล่าขานและผูกแต่งเป็นเรื่องราวของการแสดงโนราอันงดงามวิจิตรและลึกซึ้งไปด้วยสุนทรียรสทางด้านความคิด จิตใจและอารมณ์...เป็นเนื้อหาจากชาดกเพียงเรื่องเดียว เป็นแก่นแกนของการแสดงที่สอดรับกับอิทธิพลตำนานการแสดงดั้งเดิมที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากอินเดียตอนใต้ในนาม “ยาตรา” การแสดงละครเร่ที่พเนจรไปในดินแดนต่างๆด้วยวิสัยของการแสวงหาอันบริษุทธิ์ เรื่องราวของ “มโนห์รา” ถูกเลือกมาเป็นปฐมบทของการแสดงละครรำที่มีเนื้อหาเป็นเรื่องเป็นราว มันมีฉากที่ดูเหมือนจะออกแบบมาอย่างเรียบง่าย แต่กับความเรียบง่ายนี้กลับแฝงเร้นไปด้วยความลี้ลับอันไร้ขอบเขตของจินตนาการ... ในป่าหิมพานต์อันแสนมหัศจรรย์... มีหลายสิ่งให้ได้เฝ้ามองและประจักษ์ในเชิงอารมณ์... ความงามของ “นางมโนห์รา” ผู้เลอโฉมที่ถูกลักพาจับตัวไปโดยพรานบุญสร้างความถวิลเทวษให้เกิดแก่พระสุธนจนต้องออกตามหาและท่องไปในดินแดนที่อัศจรรย์ล้ำลึก...ท่ามกลางธรรมชาติอันงดงามแต่ก็เต็มไปด้วยแง่มุมอันน่าสะพนรึงกลัว... ไร้ทิศไร้ทางในความมุ่งหวัง
การกำหนดเงื่อนไขของฉากหลักผ่านมิติของความเป็นสาระเนื้อหาในเรื่องราวของตัวละครอันเป็นตำนานเช่นนี้... คือวิถีสร้างสรรค์ในการทำงานที่ย่อยลงไปสู่รายละเอียดด้านลึกเชิงการประพันธ์เป็น “ลูกเล่นลูกหา” ที่ขับเน้นให้ตัวบทประพันธ์ดูโดดเด่นขึ้นโดยเฉพาะเมื่อตัวละครเอกของเรื่องต่างก็ชื่อ “สุธน” กับ “มโนห์รา” ชาคริตนำเสนอเรื่องของเขาด้วยนัยสำนึกและสัญญาณแห่งโลกอันลี้ลับในชีวิตมนุษย์ที่ผูกโยงด้วยโลกแห่งความหมาย (The World of Meaning) ซึ่งเต็มไปด้วยเงื่อนปมของปริศนาอันสลับซับซ้อนจากป่าหิมพานต์ที่เป็นดั่งกับดักล่อหลอกให้ต้องหลงทาง...ภาวะของป่าดิบอันแท้จริงของแผ่นดิน รวมทั้งป่าเมืองอันร้อนระอุไปด้วยภยันตราย บรรยากาศของสภาพแวดล้อมในแผ่นดินถิ่นเกิดของเรื่องราวเหล่านี้ยังคงคล้ายเหมือนกับตำนานปรัมปราแห่งการร่ายรำ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มันก็ยังคงมีการร่ายรำนัยความหมายเช่นนี้อยู่ ผ่านภาพแสดงของความรัก ความเกลียดชัง การรุกล้ำกล้ำกลืน... ความโหดร้ายดิบเถือน การเฝ้าติดตามค้นหา ตลอดจนการเอาตัวรอด ความตายของคนในสังคมทั้งเรื่องส่วนตัวและส่วนรวมยังคงถือกำเนิดอยู่ท่ามกลางความมืดดำแห่งจิตสำนึก...ความตายจากอุดมการณ์...ความตายจากการแย่งชิงผลประโยชน์ของอำนาจกลายเป็นภาพสะท้อนของความเข้าใจที่ไม่เข้าใจอยู่ในทุกอณูเนื้อของสังคมและความรู้สึก
“มีบางสิ่งระหว่างผมกับแม่ที่ผมไม่สามาถเข้าถึงได้ แม่ไม่เคยไว้ใจใคร... แม่เติบโตมาอย่างโดดเดี่ยว แม่ไม่รู้จักความรัก แม่ไม่เคยได้รับความรักจากใคร นั่นคือสิ่งที่แม่คิด ตลอดชีวิตแม่โหยหาความรัก แม่ไม่เคยสัมผัสความรัก ความทุกข์ที่เกาะกินหัวใจมาตลอดชีวิตทำให้แม่ไม่ไว้วางใจโลกใบนี้”
ทรรศนะต่อความเป็นปัจเจก... ถูกนำมาเสนอสลับกับข้อสงสัยทางสังคมที่เราทุกคนต่างมีชีวิตอยู่ แต่กลับยากที่จะเข้าใจถึงความเป็นไปของมัน นั่นคือมนต์มายาแห่งมิติเชิงปริศนาที่ตอกตรึงสำนึกรับรู้ของบุคคลให้ต้องแกะรอยต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับเรื่องราวของป่า... ที่ต้นไม้แต่ละต้นสูงและใหญ่ขนาดหลายคนโอบ รักษาความสดดิบและคงรูปธรรมชาติของป่าไว้...แต่ป่านี้ไม่ใช่หิมพานต์... ความสลับซับซ้อนของมันจึงมาอยู่ที่ความขัดแย้งอย่างถึงที่สุดในกระบวนการของเหตุและผลของการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน “กลุ่มหนึ่งแบกป้ายของความถูกต้องชอบธรรมในการอนุรักษ์ อีกกลุ่มหนึ่งถือสิทธิในความเป็นมนุษย์ยึดครองทรัพยากร... พวกเขากำลังเผชิญหน้ากัน เราจะถือหางข้างใด?”
“ชาคริต” สื่อสารนัยความหมายของสังคมสมัยใหม่ด้วยกลไกการประพันธ์ที่เป็นข้อเปรียบเทียบเชิงลึกให้คู่ขนานกันไปอย่างนี้... ด้านหนึ่งมันสามารถนำเสนอแก่นความจริงของสังคมออกมาได้อย่างเปิดเผย... เป็นรูปธรรม ส่วนอีกด้านหนึ่งมันสามารถตอกย้ำถึงความเป็นนามธรรมอันสมบูรณ์และน่าขบคิด “เรามันจนสิ้นไร้ไม้ตอก จึงต้องทำผิดกฎหมาย มีชีวิตอยู่ไปวันๆ”
ขณะเดียวกันกับที่... ความเป็นไปแห่งบทบาทลีลาของธรรมชาติก็ยังคงดำเนินไปด้วยอาการอันสืบเนื่องและเป็นชีวิตชีวาไปเช่นนั้น “ดาวแจ่มจรัสเต็มฟากฟ้า แข่งกันขีดแสงวิบวับ ความมืดความเงียบคล้ายม่านผืนใหญ่ โอบคลุมและซึมลึกเข้ามาถึงก้นบึ้งของหัวใจ ไม่มีใครอยากเป็นวีรบุรุษ ไม่มีใครอยากเป็นพระเอกขี่ม้าขาว เพราะนั่นเป็นจินตนาการ ใต้ความเวิ้งว้างอันไร้ขอบเขตจำกัด... ผมคิดถึงปัญหาที่สะสมในป่าแห่งนี้” ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมดินแดนใต้ถูกพินิจพิเคราะห์ด้วยเงื้อมเงาของความไม่แน่นอน ทั้งหมดเต็มไปด้วยกระแสของข่าวลือ การเข่นฆ่าล้มตาย การสูญหายของผู้คน การพรากจากแผ่นดินถิ่นเกิดล้วนอุบัติขึ้นอย่างไร้จุดจบและไร้ขอบเขตจำกัด เรื่อยเรียงมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
การเล่าเรื่องเชิงซ้อนของ “ชาคริต” ทำให้เขาสามารถเก็บงำหัวใจของจิตวิญญาณแห่งนัยสำนึกเอาไว้ได้อย่างแยบยล... ทุกอย่างจ่ะค่อยๆเผยตัวออกจากจุดโน้มข้ามไปจุดนี้... แล้ววกกลับไปตรงนั้น เป็นอาการของความไร้ระเบียบ ที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจต่างๆนานารอบด้าน จนทำให้สำนึกคิดไม่สามารถปะติดปะต่อถึงกันเป็นผืนเดียวกันได้... มันต้องแยกพูดเป็นบทตอน... ไล่เรียงกันไปดุจลายแทงที่ขาดวิ่นของชีวิต... แน่นอนว่าชีวิตไม่ได้มีแผนที่อันตายตัวที่จะจัดวางโครงสร้างชีวิตให้ดำเนินไปโดยไม่มีอุปสรรคขวางกั้น...มันกระจัดกระจายแยกส่วนกันออกไปอย่างยากจะควบคุม ประเด็นตรงส่วนนี้ถูกแปรออกมาเป็นบทตอนในการนำเสนอความหมายของเรื่องราวผ่านนวนิยายที่ถูกลีลาการประพันธ์สรรสร้างขึ้นมาได้ถึง 73 บทตอน... ต่างบท... ต่างมีนัยแห่งบทตอนนั้นๆขมวดปมซ้อนทับกันอยู่ดุจก้อนกระดาษที่เก็บงำความลับเอาไว้ แล้วถูกห่อหุ่มด้วยกระดาษชิ้นอื่นๆ พอกหนาขึ้นเรื่อยๆ... เป็นส่วนที่ปิดซ่อนความจริงอันแท้จริงไม่ให้เผยโฉมออกมาได้โดยง่าย... ปริศนาแห่งการกระทำดังกล่าวจึงเต็มไปด้วยมิติของคำถามที่ตอกย้ำถึงคำตอบที่ทุกคนจำเป็นต้องค่อยๆบรรจงคลี่คลายเปิดเผยความรับรู้แห่งความเป็นตัวตนของตนออกมา แน่นอนเหลือเกินว่า “ชีวิตมีบางสิ่งที่เร้นลับ บางครั้งก็เปิดเผย บางครั้งก็หลบเร้นอยู่ในมุมมืด แล้วแต่ใครจะมองเห็น”
“ประเทศใต้” นับเป็นนวนิยายที่โดดเด่นอย่างยิ่งในวิธีการนำเสนอ... มันคือการออกแบบในเชิงศิลปะที่ขัดเกลาความคิดในการสร้างสรรค์ของผู้ประพันธ์ให้มองเห็นถึงความเป็นเอกภาพในองค์ประกอบโดยรวมของเรื่องราวที่มุ่งนำเสนอ...ด้วยสัดส่วนที่ค่อนจะพอเหมาะพอดี... และด้วยวิธีการที่สามารถขยายจุดศูนย์กลางทางความคิดของเรื่องที่นำเสนอในรายละเอียดโดยปราศจากโครงเรื่อง(No Plot) ให้เกี่ยวร้อยกันไปสู่ด้านลึกที่ต้องขุดลงไปในก้นบึ้งของการตีความและต้องแผ่กระจายข้อเท็จจริงแห่งปรากฏการณ์ต่างๆ ให้ขยายกว้างออกไปต่อการสร้างบริบทที่ไร้ขอบเขต... มิติแห่งการกระทำตรงส่วนนี้ถือเป็นนัยทางศิลปะที่ดำเนินบทบาทของมันไปทั้งด้วยถ้อยคำ ภาษาแห่งการสื่อแสดงและข้อมูลดิบทางสังคมที่ปรากฏออกมาอยู่หลายส่วน การจัดวางกลไกการประพันธ์เช่นนี้ทำให้ชาคริตสามารถผลักดันเรื่องราวของตัวให้หลุดพ้นไปจากกรอบเกณฑ์แห่งการสื่อสารเล่าเรื่องทางการประพันธ์เดิมๆ ที่อาศัยเหตุและผลเป็นเครื่องรองรับในการกระทำแต่ละส่วน แต่สำหรับเนื้องานชิ้นนี้มีวิถีทางเชิงกาประพันธ์ที่เปิดช่องในการสร้างสรรค์อยู่เหนือเหตุ เหนือผล และตรงนี้เองที่วิธีการนำเสนอเรื่องราวได้ถูกทดลองใช้ทั้งในแง่ของตำนาน ประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์ ข่าวสาร คำบอกเล่า ตลอดจนมิติทางการประพันธ์ล้วนๆ
“เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า... ที่นี่น่ะไม่ได้เงียบสงบอย่างที่คิดหรอก มันอยู่ด้วยความขัดแย้งอันเต็มไปด้วยเงื่อนปมที่สางไม่ได้มากมาย...” “ชาคริต” ผูกเรื่องของความเลวร้ายให้คาบเกี่ยวอยู่กับมิติของความดีงาม อยู่ในทุกๆช่วงตอนของการอธิบายความหมาย ที่สำคัญ...มันเป็นสัญญะที่บ่งบอกถึงแนวทางแห่งความเป็นศานติที่ย่อมเริ่มต้นเกิดขึ้นได้ด้วยตัวบุคคล...นับแต่การเข้าร่วม “ธรรมยาตรา” เพื่อสันติสุขของแผ่นดินใต้ของสุธน และเพื่อค้นหาแนวทางอันงดงามแห่งโลกและชีวิต... การสร้างบทตอนให้มโนห์ราถูกลักพาตัวไปในวัยเด็กและถูกตามหา ค้นพบได้ด้วย “สายตาของคนบ้าคนหนึ่ง” ผมถือว่านัยของความแปลกต่างเชิงซ้อนเช่นนี้คือสิ่งสำคัญที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้... เพิ่มความน่าสนใจยิ่งขึ้น ด้วยกลไกที่ถูกจัดวางให้เป็นตัวของมันเอง “ไม่มีชีวิต แต่ก็คล้ายกับว่ามีชิวิต” โดยแท้จริง... “พระสุธนใช้เวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ตามหามโนห์รา” แต่สำหนับความสุขที่จะเกิดขึ้นได้จริงๆในแดนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแบ่งแยกเช่นนี้... “ระยะเวลา7 ปี 7 เดือน 7 วัน ที่ตามหา... ก็น่าจะได้มาแค่ความพลัดพรากหรือไม่ก็เป็นความมืดมนที่ไม่รู้ตื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่เช่นนั้น”
น่าจะมีการพิสูจน์อักษรผิดพลาดหรือไม่...จึงทำให้เวลาของเหตุการณ์ในเรื่องคลาดเคลื่อนออกจากไปจากความน่าจะเป็น ในบางบทบางตอนอย่างกรณีเหตุการณ์ที่ “ท่าหาดทรายใหญ่” ซึ่งนั่นเป็นข้อสังเกต...(หมายเหตุ หมายถึงเวลา 2514 ความจริงคือ 2414) ที่สำคัญผมรู้สึกถึงว่าแม้ชาคริตจะใช้การสร้างสรรค์ออกแบบการประพันธ์ของเขาออกมาได้อย่างค่อนข้างลุ่มลึกและลงตัว... แต่มันก็ดูเหมือนจะขาดความหมายสำคัญแห่งนัยของชื่อเรื่อง “ประเทศใต้” ไปในบริบทของการประพันธ์... ด้านหนึ่งดูเหมือนว่าชื่อ “ชายผู้ตามหามโนห์รา” จะโดดเด่นและกลบกลืนบทบาทแห่งการรับรู้และรู้สึกในสัมผัสของนวนิยายเรื่องนี้ไปค่อนข้างมาก... อำนาจแห่งตำนานดั้งเดิมดูมีสีสันกว่าคำเรียกขานโดยกว้างๆ ของ “ประเทศใต้” แน่นอนว่าความหมายบางความหมายที่ตอกย้ำอยู่กับตัวอันจำเป็นต้องมีส่วนขยายของเจตจำนงให้ปรากฏออกมาไม่ว่าจะด้วยท่าทีของการอธิบายความ (Explication)ในรูปรอยของนามธรรมหรือรูปธรรมก็ตาม... ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นผมคิดว่า “ประเทศใต้” เปิดเรื่องในบทเริ่มต้นได้อย่างน่าสนใจ... และดำเนินเรื่องไปตามแนวทางกำหนดของผู้ประพันธ์ได้ตามมิติการประพันธ์ที่มุ่งหวัง... แต่กับตอนปิดเรื่องอันเป็นเสมือนบทส่งท้ายกลับถูกปล่อยให้หลุดออกไปจากห้วงความคิดของการสร้างสรรค์... แน่นอนว่าเรื่องราวนั้นจบลง... แต่กระบวนการสร้างสรรค์ที่ซับซ้อน ยืดยาวเช่นนี้ย่อมไม่จบ... และเชิงชั้นอันเป็นบทสรุปสุดท้ายเชิงการประพันธ์นี่แหละคือจุดสูงสุดของการสร้างสรรค์เรื่องราวที่ไม่มี... และไม่ต้องอาศัยโครงเรื่องในการเล่าเรื่อง... ใดๆมารองรับ
นี่คือนวนิยายแห่งการทดลองความจริงในการสื่อแสดงเจตจำนงอันบริสุทธิ์ ทั้งด้วยรูปแบบและเนื้อหา... มันคือเรื่องราวของชีวิตและความจริงที่กลับไปกลับมา... บางครั้งเหมือนใช่ แต่กลับไม่ใช่... เหตุนี้ชีวิตจึงเป็นปริศนาแห่งเงื่อนงำที่แปลกอย่างยิ่งในบริบทแห่งความเป็นโลกนี้ และโดยเฉพาะในดินแดนที่ถูกเรียกว่า “ประเทศใต้”
“ชีวิตเป็นเรื่องแปลกราวกับว่าในแต่ละห้วงเวลาจะมีจุดเปลี่ยนผันอันนำไปสู่ทางใหม่ได้เสมอ และราวกับว่าวงล้อแห่งเวลาได้หมุนวนไปข้างหน้าเรื่อยๆ ชีวิตพานพบสิ่งใหม่ๆ จนผมไม่อยากเชื่อว่ามันจะทำให้ผมเปลี่ยนแปลงตัวเองจนแทบจำไมได้...ที่แน่ๆ มันทำให้ผมหนีห่างจากอดีต ข้ามพ้นจากป่าลึกแห่งชีวิต ราวกับว่ามโนห์ราได้ตายไปจากหัวใจของผม แม้แต่ความฝันก็ไม่เคยพบพาน”.