บทความ
อุทิศ เหมะมูล นักเขียนเมืองแก่งคอย คว้าซีไรต์ฯ ปี 52
หนังสือที่ได้รับรางวัล
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ได้จัดแถลงข่าวประกาศผลรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2552 ว่า รางวัลตกเป็นของนวนิยายเรื่อง"ลับแล,แก่งคอย" ของอุทิศ เหมะมูล
โดยนางกุสุมา รักษมณี ประธานคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า เทียบกับการตัดสินในหลายปีที่ผ่านมา ครั้งนี้ง่ายมาก เพราะกรรมการทุกคนมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยเห็นว่าผู้เขียนสามารถเสนอมิติอันซับซ้อนของมนุษย์ที่แยกไม่ออกจากราก เหง้าและชาติพันธุ์ผ่านกลวิธีอันแยบยล สร้างตัวละคร ฉาก และบรรยากาศได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวา ใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง แสดงถึงจินตภาพอันกระจ่างและงดงาม
ขณะที่นางสรณัฐ ไตลังคะ หนึ่งในคณะกรรมการ กล่าวว่า "ลับแล,แก่งคอย"เป็นนวนิยายไทยเรื่องแรกในรอบหลายปีที่อ่านแล้วสนุกจนวางไม่ ลง และแม้เนื้อหาจะเป็น การเล่าเรื่องของครอบครัวแต่ก็สะท้อนประวัติศาสตร์ของชุมชนและท้องถิ่น โดยผู้เขียนให้ตัวละครเล่าเรื่องผ่านสายตาของตัวเอง ซึ่งมีการมองโลกและวิธีคิดน่าสนใจ
ส่วนคุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ หรือ"ว.วินิจฉัยกุล" ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการตัดสินเช่นกัน กล่าวว่านอกจากกลวิธีการเล่าเรื่องแล้ว การสร้างตัวละครก็โดดเด่น เพราะเรื่องนี้มีตัวละครทั้งที่มีความสมจริงอย่างมนุษย์ มีเลือดเนื้อจิตใจ และตัวละครที่ไม่มีตัวตน เกิดจากจิตใต้สำนึก ซึ่งสร้างได้อย่างมีชีวิตจนผู้อ่านจะแทบไม่รู้ถึงนัยยะในการมีอยู่ของตัว ละครลักษณะนี้เลย หากไม่เฉลยในช่วงท้ายของเรื่อง ถือเป็นความคิดที่สร้างสรรค์อย่างยิ่งในการเขียนนวนิยายชีวิต
ด้านนายธเนศ เวศร์ภาดา กรรมการตัดสินอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ภาษาในเรื่องนี้นอกจากจะมีชีวิตชีวา ยังซ่อนนัยยะให้ตีความ ซึ่งอาจสวนทางกับวัฒนธรรมการอ่านของคนยุคนี้ ที่ไม่ชอบการอ่านที่ละเอียดอ่อน แต่อยากชักชวนให้อ่านกัน
ขณะที่นายอุทิศ เหมะมูล ให้สัมภาษณ์ว่า ดีใจมากที่ได้รางวัลนี้ อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวถือเป็นการประสบความสำเร็จในขั้นหนึ่ง แต่ไม่ใช่ขั้นสูงสุดของชีวิต โดยนอกจากรางวัลซีไรต์แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊คส์ อะวอร์ดด้วย
"รางวัลเป็นบทพิสูจน์พัฒนาการงานของผม และเป็นกำลังใจให้ผมได้ทำงานชิ้นอื่นต่อไปในเส้นทางที่ผมเลือกเดิน" นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์รายล่าสุด กล่าว
สำหรับอุทิศ เหมะมูล เป็นบัณฑิตจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งผลิตงานเขียนหลากหลายประเภท เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น ตลอดจนบทวิจารณ์ภาพยนตร์ มาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวเปิดเผยว่า ในขั้นสุดท้ายของการตัดสินนั้น มีหนังสือเข้ารอบมา 3 เล่มคือ "ลับแล,แก่งคอย","โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก" และ "เงาฝันของผีเสื้อ" ของเอื้อ อัญชลี จากสำนักพิมพ์มติชน ก่อนที่คณะกรรมการทั้งหมดจะเทคะแนนให้ "ลับแล,แก่งคอย" เป็นผู้ชนะไป
สำหรับเรื่องนวนิยายเรื่องนี้ แบ่งโครงเรื่องทั้งหมดออกเป็น 5 ภาค คือ
- ภาคหนึ่ง กำเนิดจากเรื่องเล่า,
- ภาคสอง ประวัติศาสตร์ที่เริ่มสร้าง,
- ภาคสาม ในป่าหิมพานต์,
- ภาคสี่ ฌาปนกิจความจริง
- ภาคห้า เถ้าอังคารของความลวง
อุทิศ เหมะมูล
ประวัติของ อุทิศ เหมะมูล
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2518
ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนแก่งคอย จ.สระบุรี
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เอกวิชาจิตกรรม จากคณะจิตกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร
ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ และยังคงทำงานเขียนอย่างต่อเนื่องอาทิ ผลงานรวมเล่มที่ผ่านมาคือ ผลงานเรื่องสั้น ปริมาตรรำพึง ของ สำนักพิมพ์ หวีกล้วย และ ผลงานเรื่องไม่ย้อนคืน จากแพรวสำนักพิมพ์ ส่วนนวนิยาย ได้แก่เรื่อง ระบำเมถุน จากสำนักพิมพ์ สเกล และกระจกเงา / เงากระจก จากสำนักพิมพ์ หวีกล้วย และบทความ ได้แก่ 151 CINEMA จากสำนักพิมพ์ open books และ OUPSIDER IN CINEMA จาก open book เป็นต้น
ทั้งนี้นวนิยายทั้ง 7 เรื่อง ที่ส่งเข้าประกวดประกอบด้วย
- เงาฝันของผีเสื้อ ของเอื้อ อัญชลี
- ทะเลน้ำนม ของชัชวาลย์ โคตรสงคราม
- ประเทศใต้ ของชาคริต โภชะเรือง
- โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก ของฟ้า พูลวรลักษณ์
- ลับแล, แก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล
- โลกใบใหม่ของปอง ของไชยา วรรณศรี
- วิญญาณที่ถูกเนรเทศ ของวิมล ไทรนิ่มนวล