บทความ
สิงห์ฯ สอนมวย 'คนข่าววรรณกรรม' อัด มารยาท 'กรรมการซีไรต์'!?
อ่าน "สิงห์สนามหลวงสนทนา" ในเนชั่นสุดสัปดาห์ฉบับล่าสุด (ฉ.900) ได้กล่าวถึงในเรื่องการทำงานข่าวของนักข่าวววรรณกรรม กับบทบาทของคณะกรรมการซีไรต์ ในการประกาศผลรางวัลครั้งที่ผ่านมาล่าสุด นั่นเอง
ลองอ่านดูครับ..
โดยเฉพาะประเด็นที่คนใช้นามปากกาว่า "มิตรร่วมชาติ" จากกรุงเทพฯ เขียนมาถามสิงห์ฯ
(ถ) สิงห์ฯ คิดอย่างไรบ้างที่ผู้สื่อข่าววรรณกรรม รวมทั้งกรรมการรอบคัดเลือกบางคน ทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้หนังสือเล่มที่ตัวเองคัดเลือกให้เข้ารอบ
ไม่ถูกต้อง
เสียมารยาท เนื่องจากทำให้เกิดภาวะที่เรียกกันว่า 'ชี้นำ'
(ถ) ผมเห็นผู้สื่อข่าววรรณกรรมในหน้าวรรณกรรมฉบับวันเสาร์ของ นสพ.ฉบับหนึ่ง ใช้วิธีประเมินนักเขียนที่ 'เข้ารอบ' [short list] บางคน เช่นภาษาใช้ไม่ได้ เนื้อหาค่อนข้างธรรมดา วิธีประเมินทำนองนี้ไม่น่าจะเหมาะ เพราะเป็นการให้คุณให้โทษอย่างไม่ตั้งใจ (หรือจะตั้งใจก็ไม่ทราบได้) ถ้าเป็นเล่มที่ไม่ได้ 'เข้ารอบ' ก็ไม่มีปัญหา จะมีความเห็นสุดกู่อย่างไรก็ได้ กรรมการรอบคัดเลือก [selected committee] เองก็ควรต้องสงบปากสงบคำเช่นเดียวกัน แม้จะร้อนวิชาสักเพียงใด หรือเชื่อถือในความมั่นคงของคณะกรรมการตัดสินมากแค่ไหน แต่ในแง่ของการมีมารยาทแล้ว ถือว่าไม่เหมาะ ไม่ทราบว่าสิงห์ฯ มีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร
ผมเคยให้ข้อสังเกตเรื่องนี้มาจนเบื่อแล้ว ผู้ สื่อข่าววรรณกรรมใน นสพ.ฉบับนั้นคงไม่ได้ตั้งใจจะให้คุณให้โทษ แต่ก็น่าแปลกเพราะแทบทุกครั้งที่ผ่านมา เขาและเธอเหล่านั้น มักให้ความสนใจแต่เฉพาะหนังสือเล่มที่ถูกประกาศให้ 'เข้ารอบ' เท่านั้น แต่หาได้สนใจภาพรวมของเล่มอื่นๆ ที่ถูกคณะกรรมการคัดออกแต่ประการใด พูดกันตรงไปตรงมาก็คือมันง่ายดีที่จะ 'เอา' เพียงแค่นั้น และไม่ยอมทำการบ้านหนังสือเล่มอื่นๆ ในรอบวาระนั้น เช่น 1.หนังสือที่ไม่ได้ส่งเข้าประกวด 2.หนังสือที่ 'ตกรอบ' และ 3.หนังสือที่ 'ส่งประกวด' ทุกเล่ม ไม่ว่า 'เข้ารอบ' หรือ 'ตกรอบ' มีภาพรวมที่แสดงพัฒนาการด้านคุณภาพของวรรณกรรมประเภทนั้นๆ ในปีนั้นๆ อย่างไรบ้าง การบ้านเหล่านี้ถ้ามีการตั้งประเด็นในแง่การประเมินและการวิพากษ์วิจารณ์ให้ เห็นภาพรวมในแต่ละปี ค่านิยมการอ่านก็จะหลากหลายมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องทิ้งน้ำหนักไปอยู่ที่เล่มเดียว
ในบ้านเรา นั้น คุณภาพของผู้สื่อข่าววรรณกรรมมักมีปัญหา กล่าวคือ พวกเขาไม่ค่อยคิดหาวิธีทำการบ้านให้ได้มุมมองที่หลากหลาย แต่ชอบอะไรก็ตามที่ถูกจัดการ ถูกป้อน หรือถูกทำให้สำเร็จแล้ว ตัวอย่างเช่นซีไรต์ปีนี้ เท่าที่ทราบข้อมูลจากหน้าวรรณกรรมของ 'วรรณฤกษ์' ก็มีนวนิยายส่งเข้าชิงซีไรต์ในปี 2552 รวมทั้งหมด 77 เล่ม (อ้างจาก นสพ.คม ชัด ลึก : 5 เมษายน 2552) เท่าที่เห็นผ่านตาจากรายชื่อทั้งหมด ก็เข้าใจว่าน่าสนใจทั้งนั้น เพราะผู้สร้างแต่ละคนมีทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ในฐานะผู้เฝ้าติดตามพัฒนาการด้านคุณภาพของคำว่า 'วรรณกรรมร่วมสมัย' ผมก็อยากทราบภาพรวมของหนังสือทั้ง 77 เล่มดังกล่าวว่ามี 'น้ำเสียง' เป็นเช่นใด ผู้สื่อข่าววรรณกรรมควรพยายามทำหน้าที่ของตนให้พ้นไปจากรสนิยมของกรรมการซี ไรต์รอบคัดเลือก เช่น จะประเมินอย่างไรกับนวนิยายเล่มที่ 'ตกรอบ' ไม่ว่าจะเป็น อนุสรณ์ ติปยานนท์ กนกวลี พจนปกรณ์ ปริทรรศ หุตางกูร งามพรรณ เวชชาชีวะ ศิลา โคมฉาย ประชาคม ลุนาชัย ชัญวลี ศรีสุโข สิริมา อภิจาริน ชาติวุฒิ บุ
และหรือเล่มที่เป็น 'หน้าใหม่' เช่น ชัยกร หาญไฟฟ้า ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง สาคร พูลสุข เกริกศิษฎ์ พละมาตร์ วิเชียร ไชยบัง ปราชญา ปารมี จักษณ์ จันทร วิภู ชัยฤทธิ์ จัตวาลักษณ์ ฯลฯ และอีกหลายนามที่ต้องขออภัยว่าเอ่ยชื่อได้ไม่ครบ คือผมอยากทราบว่าชิ้นงานต่างๆ ของผู้สร้างทั้งเก่าและใหม่ เอาเฉพาะที่ลงลู่ 'ซีไรต์' ในรอบปีนั้นๆ มีภาพรวมเชิงคุณภาพเป็นอย่างไร ผู้สื่อข่าววรรณกรรมที่มีคุณภาพ (ย้ำ-ที่มีคุณภาพ) ควรต้องทำหน้าที่สืบเสาะชิ้นงานอื่นๆที่ไม่ได้ 'เข้ารอบ' มานำเสนอแบบ 'เอ็กซ์คลูซีฟ' เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพกว้างๆได้ โดยไม่จำเป็นต้องรีบประเมินก็ได้ แต่ถ้าจะประเมินก็สามารถทำได้เพราะไม่อยู่ในฐานะที่จะ 'ให้คุณให้โทษ' ชิ้นงานเหล่านั้นแต่ประการใด พวกเขาน่าจะช่วยชี้ให้เห็นภาวะแบบองค์รวมของชิ้นงานเหล่านั้นได้ โดยไม่จำต้องผูกติดอยู่กับ the Winner เพียงเล่มเดียว แต่อย่างว่าแหละครับ บรรดาผู้ทำหน้าที่เช่นนั้นส่วนหนึ่งมักถูกตอกติดอยู่กับการทำหน้าที่เป็น กรรมการชุดต่างๆ ดังนั้นพวกเขาจึงมองได้แค่เล่มที่ตนเองเลือกและมีส่วนในการตัดสิน
การสร้างพื้นที่ให้หลากหลายมากขึ้น น่า จะเป็นวิธีหนึ่งของการพัฒนา 'คุณภาพของวรรณกรรม' เช่นมีพื้นที่แบบวารสาร อ่าน ให้หลากหลาย 'สำนักคิด' มากขึ้น และปล่อยให้โลดแล่นไปอย่างเสรีโดยไม่จำเป็นต้องติดยึดกับรสนิยมของใครคนใดคน หนึ่ง งานสร้างพื้นที่เป็นงานคนละแบบกับการทำโครงการวิจัย และในบ้านเรานั้นผู้คนมักนิยมระบบ 'เหมาโหลถูกกว่า' ดังนั้น จึงมี 'ดอกเตอร์' เกิดขึ้นมากมาย แต่แทบไม่มีอะไรกับ 'การสร้างพื้นที่' ให้ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏส่วนใหญ่มักเป็นชิ้นงานขอเลื่อนตำแหน่งเกียรติคุณมากกว่าเป็น ชิ้นงานแบบ 'เปลืองตัว' ที่กระโจนเข้าหาความริเริ่มใหม่ๆ ในชุมชนที่อยู่นอกค่ายกลของตน พัฒนาการของการอ่านจึงค่อนข้างจำกัดอยู่เพียง the Winner เท่านั้น และในแต่ละปีก็ไม่เคยมีการท้าทาย 'รสนิยมรวมหมู่' (แปลว่า 'มติเป็นเอกฉันท์') ของ the Winner เหล่านั้นแต่ประการใด คำว่า 'วัฒนธรรมการวิจารณ์' ในบ้านเรา ว่าไปแล้วจึงเป็นได้แค่ละครสลับฉากที่ไม่เคยเติบโตขึ้นมา 'มีชีวิต'
(ถ) เมื่อ 30 ปีก่อน ผมเห็นมีรางวัลวรรณกรรมอยู่แค่ 2-3 รางวัล เช่น 'ช่อการะเกด' 'ซีไรต์' และรางวัลในงานสัปดาห์แห่งชาติ แต่ในปัจจุบันนี้ สิงห์ฯ พอจะมีข้อมูลหรือไม่ว่าเรามีรางวัลวรรณกรรมทั้งหมดกี่รางวัล
(ต) ฟันธงว่า มีจำนวนมากกว่า 'นิตยสารวรรณกรรม' หลายเท่า!!
(ถ) การมีรางวัลวรรณกรรมจำนวนมาก สิงห์ฯ คิดว่าจะทำให้คุณภาพของงานวรรณกรรมมีมากขึ้นจริงหรือไม่
(ต) ไม่ทราบ ไม่ทราบจริงๆ ครับ เพราะยังไม่เคยมีใครทำวิจัยในเรื่องนี้
ใน ความเป็นจริง ผมเข้าใจว่ารางวัลวรรณกรรมน่าจะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพวรรณกรรมในภาพรวม และในบ้านเรา ตัวบ่งชี้คุณภาพวรรณกรรมบางทีมันขึ้นอยู่กับการบวกลบคูณหารของเงื่อนไขอีก หลายอย่าง เอาเป็นว่าอยากให้มองในแง่ดีไว้ก่อน คือ คุณภาพ ของกรรมการเป็นเช่นใด คุณภาพของวรรณกรรมก็เป็นเช่นนั้น ชิ้นงานใดก็ตามเมื่อยินดีเข้าไปอยู่ในการแข่งขัน อะไรต่อมิอะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น และมันก็ไม่มีทางเป็นอื่น นอกจากจะต้องให้ความนับถือในกฎ กติกา และมารยาทของการแข่งขันนั้น กรรมการตัดสินทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการตัดสิน 'มิสอัลคาซาร์' หรือ 'มิสเตอร์ซีไรต์' ทุกการแข่งขันย่อมต้องมีกฎ กติกา และมารยาทของตนเอง เช่นกรรมการในทุกระดับควรต้องระมัดระวังไม่ออกมา 'ให้คุณให้โทษ' เรื่องที่ตนมีส่วนในการตัดสิน
(ถ) ทำไมไม่เคยปรากฏชื่อของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เข้าไปเป็นกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์บ้างเลย
(ต) เขาบวกลบคูณหารแบบ 'รสนิยมรวมหมู่' ไม่ค่อยเป็น
(ถ) ขอถามอีกครั้ง สิงห์ฯ แอบเชียร์ศิษย์เก่า ช่อการะเกด คนไหนสำหรับซีไรต์ปีนี้บ้าง
(ต) ไม่ว่าผู้ใดได้รับรางวัลนี้ ก็ขอแสดงความยินดีมา ณ ที่นี้ด้วย
...
นั่น เป็นถ้อยคำบางส่วนจากคอลัมน์ "สิงห์สนามหลวงสนทนา" ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี อธิบายและแสดงทัศนะไว้ในเนชั่นสุดสัปดาห์ และยังมีรายละเอียดเกี่ยวเนื่องกันอีกหลายเรื่อง ลองหาอ่านดู
Posted by Nity , จาก ok nation
หมวด : วรรณกรรม/กาพย์กลอน