บทความ

เพื่อชีวิตคืออะไร

by จู พเนจร @November,03 2009 18.15 ( IP : 118...223 ) | Tags : บทความ

(เห็นบทความที่น่าสนใจเลยเอามาฝากครับ)

เพื่อชีวิตคืออะไร โดย ธรรมเทพ

1) “เพื่อชีวิต” แปลตรงตามตัวภาษาอังกฤษว่า FOR LIFE

ไม่ว่าจะในกรอบของคำว่า “เพื่อชีวิต”โดดๆ หรือ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” หรือในกรอบของ “เรื่องสั้นเพื่อชีวิต”ก็ตาม เราคงไม่ย้อนไปไกลถึงเรื่อง “นายจิตรกับนายใจสนทนากัน”ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือดรุโณวาท ปี 2417 หรือเมื่อสมัย 135 ปีที่แล้ว ดังที่บรรณาธิการช่อการะเกด (สุชาติ สวัสดิ์ศรี) ให้ข้อสังเกตไว้ว่านับเป็นเรื่องสั้น(เพื่อชีวิต)เรื่องแรกของไทยเราก็ได้

มาจนถึงวลีที่ว่า “เพื่อชีวิตคนสุดท้าย”ดังที่กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประกาศตนเองไว้ทีเล่นทีจริงเมื่อไม่กี่ขวบปีที่ผ่านมา

รวมทั้งเรื่องสั้นที่นัยว่าจะเป็นหมุดหมายใหม่ของวรรณกรรมเพื่อชีวิตหน้าใหม่ ที่บรรณาธิการตั้งข้อสังเกตว่าไปได้ไกลกว่ารุ่นพี่หลายๆคนอย่าง “แม่ทัพตายแล้ว”ของ จเด็จ กำจรเดช ในช่อการะเกด 48 (เมษายน-มิถุนายน 2552) ก็ตาม

แต่ความหมายนัยคำของคำว่า “เพื่อชีวิต”ที่ว่านี้น่าจะเป็น “ปากคำประวัติศาสตร์”ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา,6 ตุลา 19 ระเรื่อยมาจนกระทั่งถึงช่วง “ป่าแตก” และการประกาศใช้นโยบาย 26/23 สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในขณะนั้นต่างหาก

กล่าวคือมีการใช้ “อาวุธทางปัญญา”ต่อสู้กับ “ความไม่เป็นธรรม”ในห้วงเวลาดังกล่าวขึ้น โดยอาวุธที่ใช้ต่อกรก็คือศิลปะวรรณกรรม อันได้แก่ วรรณกรรม และบทเพลง (อันเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิผลในการเข้าถึง “มวลชน”มากที่สุด พร้อมๆกับการเข้าป่า-จับปืน) ซึ่งเราเรียกขานว่า “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” และ “บทเพลงเพื่อชีวิต”ในเวลาต่อมา

สิ่งใดที่เกิดขึ้นก่อน หรือหลังจากนี้ไม่น่าจะอยู่ในข่ายของคำว่า “เพื่อชีวิต”อย่างที่เรารับรู้หรือเข้าใจตรงกัน!

2) ถ้าเราพิจารณา “กรอบ”คำว่าเพื่อชีวิตในแง่เวลาข้างต้น เราก็ไม่ต้องมาถกเถียงกันในเรื่องของ สกุล หรือสไตล์

ส่วนเพื่อชีวิตในขณะนั้นจะสร้างสรรค์ หรือไม่สร้างสรรค์อย่างไรก็เป็นเรื่องของตัวเนื้อหาต่างๆกันไป

คำว่า เพื่อชีวิต ไม่ว่าจะหยิบยืม หรือแปลมาจากไหน หรือแปลมาจากอะไร ก็น่าจะมีนัยยะว่า...เพื่อชีวิตใหม่ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่ไม่อยู่ภายใต้ความไม่เป็นธรรม ทำให้เสมือนไม่มีสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค เสมือนว่ามีชีวิตอยู่ก็เหมือนไม่มีชีวิตอยู่ เพราะถูกกดขี่ ข่มเหงรังแก กวาดล้าง ยัดข้อหา เข่นฆ่า จับกุม ฯลฯ

จึงตะโกนก้องออกมาเป็นคำว่า FOR LIFE หรือเพื่อชีวิตที่ดีกว่า (โว้ย!) อะไรทำนองนั้น!

3) ส่วนคำว่า “เพื่อชีวิตตายแล้ว”หรือไม่ ในที่นี้

ตอบอย่างสั้นๆแบบกำปั้นทุบดินที่สุดแทรกไว้นิดนึงก็คือ ถ้ามันยังมีชีวิตอยู่มันก็ยังไม่ตาย ถ้ามันยังไม่ตายมันก็เป็นศิลปะวรรณกรรม

ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยใด!

4) สำหรับเรื่อง สกุล หรือสไตล์ แบบกว้างๆไม่ว่าจะ “เพื่อชีวิต”หรือไม่ จึงน่าจะพิจารณาตามกรอบตัวเนื้อหาที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลักๆ 2 อย่าง คือ “ช่วงเวลา” กับ “รูปแบบ” เท่านั้นเอง ว่ามีความสร้างสรรค์หรือไม่อย่างไร

กล่าวอีกอย่าง เพื่อชีวิตก็น่าจะเป็นทั้ง “สกุล” และ “สไตล์”ก็ได้...

ถ้าเห็นว่า...เนื้อหามันคือการเป็นศิลปะวรรณกรรมที่สะท้อน “การกดขี่ทางชนชั้น” ก็เป็นสกุลหนึ่ง และก็มีสไตล์ (รูปแบบ,เนื้อหา) ต่างๆกันไป

ถ้าเห็นว่า...เป็นเรื่องของ “สายลมแสงแดด” ก็เป็นสกุลหนึ่ง และก็มีสไตล์ (รูปแบบ,เนื้อหา) ต่างๆกันไป

ถ้าเห็นว่า...เป็นเนื้อหาวรรณกรรมประเภท “พาฝัน” หรือ “แม่ผัวลูกสะใภ้ ” ก็เป็นสกุลหนึ่ง และก็มีสไตล์ (รูปแบบ,เนื้อหา) ต่างๆกันไป

รูปแบบและเนื้อหา “เพื่อชีวิต”ประเภทต่างๆ ก็เป็นทั้งสไตล์และสกุลที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนเวลาหนึ่งที่แน่นอน ในการพิจารณา-นั่นเอง!

5) ทีนี้คำว่า “เพื่อชีวิต”หรืออื่นใด ถ้าหากเราเอากรอบคำว่า “สร้างสรรค์”เข้าไปจับแล้วไซร้ ไม่ว่าจะด้วย “รสนิยมส่วนตัว”หรือ “หมู่คณะ”ก็ตาม ก็คงจะ “จบ”ตั้งแต่ยังไม่ได้ “เริ่มต้น”กันเสียทีแน่นอน

ดังนั้นทั้งนี้เราต้องพิจารณาคำว่าเพื่อชีวิต ในแง่ที่ว่ามันเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งก่อน ไม่ว่าจะเป็นสกุล หรือสไตล์ หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะเพื่อชีวิตนั้นมี “ที่มา”ที่แน่นอนอยู่ ผิดแต่ว่าจะมี “ที่ไป”อย่างไรเท่านั้นเอง

แต่ถ้าพูดกันแบบแคบๆ หรือกว้างๆก็ตาม คำว่า “เพื่อชีวิต”ก็น่าจะอยู่ในข่ายของคำว่า “สังคม” แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพูดถึงเรื่อง “ปัจเจก”มิได้

ทั้งนี้มันย่อมขึ้นอยู่กับ “บริบท”เป็นหลักใหญ่ กล่าวคือถ้าสภาพการณ์ในขณะนั้นสังคมมีการ “กดขี่ทางชนชั้น”เป็นบริบท คำว่าเพื่อชีวิตก็ไม่ผิดที่จะหมายถึงบริบทดังกล่าว

แต่ เช่นเดียวกันนั้นยกตัวอย่างเช่นในปัจจุบัน ถ้าบริบทมันคือ “การเมือง”เช่นกรอบการพิจาณารางวัลวรรณกรรม “พานแว่นฟ้า” ทว่าเลยเถิด-เปิดกว้างไปถึงเนื้อหาทางด้าน “สังคม”และอื่นๆนานาด้วย หรือการยกเอา “สารคดี”เข้ามากองประกวด “ซีไรต์” หรือวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน เป็นต้น คำถามก็คือว่าสุดท้ายเราก็จะเอากรอบคำว่า “สร้างสรรค์” โดยอาศัย “ทฤษฎีเชื่อมโยง”อะไรก็ได้เข้าไปชี้นิ้ว “ตัดสิน”เสียทั้งหมด

กระนั้นแล้วอะไรคือมาตรฐานกฎเกณฑ์

เพราะว่า วรรณกรรมก็ย่อมมีบริบทของวรรณกรรม การเมืองก็ย่อมมีบริบทของการเมือง ย่อมไม่นำมาปะปนกัน อาทิเช่นเดียวกันนั้นก็เช่น เพลงเพื่อชีวิตแท้ๆก็น่าจะไม่ใช่ลูกทุ่ง หรือลูกทุ่งเพื่อชีวิต หรือเพลงประเภทให้กำลังใจกว้างๆ หรือเพลงรักเพลงอะไรก็ได้ ขอให้สำนวนใต้แต่งตัวสไตล์เพื่อชีวิตเป็นพอ

ประเด็นก็คือ เราจะพิจารณาแยกแยะและตัดสินคำว่า เพื่อชีวิต กันอย่างไรแน่!

6) ถ้าเราพิจารณาว่า เพื่อชีวิตตายแล้ว ตามยุคสมัยที่ผ่านพ้นไป ทุกอย่างก็จบไม่ยาก แต่ทุกวันนี้เพื่อชีวิตยังไม่ยอมตาย เราจะให้สถานะเพื่อชีวิตอยู่ตรงไหน

ถ้าจะพิจารณาคำว่า “เพื่อชีวิต”ในแง่สืบเนื่องหรือสืบทอดมานั้น “บทเพลงเพื่อชีวิต”น่าจะมี “บริบท”ตัวอย่างที่ยกให้มองเห็นได้ชัดเจนและง่ายกว่า “วรรณกรรมเพื่อชีวิต”

หากทว่าเนื้อหานัยความก็ไม่ได้แตกต่างกัน

ยกตัวอย่างเช่นพี่เอื้อยในแวดวงเพื่อชีวิตอย่างน้าหงา-คาราวาน นั้น หมดแรงกำลังที่จะผลิตงานเพื่อชีวิตยุคใหม่ไปแล้ว (แต่ของเก่ายังขายได้ตลอดกาล)
ขณะที่แอ๊ด-คาราบาว นั้นผลิตงานเพลงเพื่อชีวิตออกมาได้คลั่กๆไม่ขาดสายทั้งคุณภาพและปริมาณ (คงจะมีเครื่องดื่มอะไรบางอย่างชูกำลัง)
ส่วนน้องเล็กอย่างปู-พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ เพลงเด่นและแทบทุกเพลงของเขามีความชัดเจนในเรื่องการใช้บริบทของปัจเจกสะท้อนสังคม และสังคมสะท้อนปัจเจก สม่ำเสมอไม่หลุดไปจากนี้นัก กระทั่งปัจจุบัน เช่น ผีโลงเย็น,โรงเรียนของหนู,ถามยาย,สัตว์รักสัตว์,เรียนและงาน,ทองดีทองเค,ไถ่เธอคืนมา,โยโกฮาม่า,ยอดชาย ฯลฯ

ว่าที่จริงเพื่อชีวิตยังมีอีกมากหน้าหลายตา นับระดับคละรุ่นลงมาตั้งแต่ น้าหมู-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ,คนด่านเกวียน ,โฮป ,แฮมเมอร์ ,ซูซู ,นิรนาม ,โคมฉาย ,คุรุชน ,คีตาญชลี ,กรรมมาชน ,กงล้อ ,คันไถ ,ประจัญบาน ,ฟุตบาท,ด้ามขวาน,ฌามา,กระทั่งบุคคลอย่าง เทียรี่-เล็ก –เขียว- คาราบาว ,ฤทธิพร ,แสง-ธรรมดา,อัสนี-วสันต์ ,อารักษ์ อาภากาศ,อิทธิ พลางกูร ,เสือ ธนพล ฯลฯ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งที่ห่างหายไป และสร้างงานสืบเนื่องมาแบบระเรื่อย เป็นทั้งเพลงเพื่อชีวิตที่ไม่ตึงมากนัก ค่อนข้างจะหย่อนยานและซบเซาไปในที่สุด

กระทั่งมาถึงยุคของ “มาลีฮวนน่า”ที่ทำให้วงการเพลงเพื่อชีวิตดูเหมือนจะระเบิดเถิดเทิงขึ้นอีกครั้ง (ว่ากันว่าในยุคแรกๆสร้างรายได้ให้กับต้นสังกัดถึงปีละ 40 ล้าน ก่อนจะวงแตกแยกย้ายกันไปตามเส้นทาง) กล่าวสำหรับมาลีฮวนน่านั้นขณะที่ความเป็นปัจเจกแบบ “บุปผาชน”มีสูง เนื้อหาเพื่อสังคมก็มี โดยภาพรวมก็คือมีแนวทางการแสวงหาและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นชัดเจนในด้านสำนวนสำเนียง กระทั่งเป็นต้นแบบของ “เพลงใต้” และ “ลูกทุ่งเพื่อชีวิต”ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดป่าหน้าฝนในคาบเวลาต่อมา

ไม่ว่าจะเป็นหลวงไก่ บ่าววี วิก-ไฮเปอร์ กระทั่งวงลูกคลัก จนมาถึงวงกระบือ ฯลฯ

7) ทว่าเพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ๆที่ว่านี้จะมีแต่เนื้อหาสาระประเภท แค่กิ๊กได้ม่าย...ไม่ได้หมายความว่าแควนนน ,อิทำพรื่อดี...ไอ้เรามันไม่ได้หล่อเหมือนฟิล์ม ,เปรียบกับพี่เป็นแค่...ขอนไม้ลอยน้ำ,มันเจ็บแปล๊บๆแสบในทรวง...หลงรักพี่หลวง, ฯลฯ

จริงอยู่ว่ามีบางเพลงที่แต่งออกมา “เบล่อๆ”แล้วสะท้อนถึงเรื่องราวของสังคมได้บ้าง ให้กำลังใจแบบกว้างๆบ้าง ในระดับฟังได้ แต่ส่วนใหญ่กว่า 90-95 เปอร์เซ็นต์ ทางด้านเนื้อหาสาระทั้งหมดกลับเป็นด้านตรงข้ามกับเพลงเพื่อชีวิตรุ่นก่อน (ทั้งที่ยังทำงานสืบเนื่องและห่างหายไป) ก็คือจะเป็นเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง และชู้สาว ตัดพ้อต่อว่าเรื่องความรักความรู้สึกและหัวใจของฉันและเธอ ด้วยท่วงทำนองแบบลูกทุ่งอย่างไม่ผิดเพี้ยน หากแต่มีเนื้อหาสาระที่ดูเหมือนว่าจะเฉิ่มเชยกว่าหรือไม่เท่านั้นเอง

ข้ออ้างและการกลับมาของกลุ่มเพลงเพื่อชีวิตแบบหนุ่มบาว-สาวปานเหล่านี้ซึ่งโน้มนำไปสู่คำว่า ลูกทุ่งเพื่อชีวิต คือ...ลูกทุ่งก็เพื่อชีวิตเหมือนกัน แต่ลูกทุ่งก็ไม่อยากเป็นเพราะดูเชยๆ ไม่เหมาะกับบุคลิกการแต่งเนื้อแต่งตัวและรสนิยมการใช้ชีวิต ครั้น...จะเรียกเพื่อชีวิตก็ไม่เต็มปากเต็มคำ เพราะเพลงที่ร้องก็มีแต่เนื้อหาฉันรักเธอล้วนๆ และทำนองออกจะลูกทุ่งๆ

สุดท้ายจะร้องเพลงอะไรก็ได้ขอให้มีสไตล์การแต่งตัว และสำเนียงแบบใต้ๆ ยิ่งดังก็ยิ่งเลียนแบบตามๆกัน

ไม่ใช่ว่าเพลงเหล่านี้ไม่ดี แต่มีมากๆไปมันก็เอียน พลพรรคแนวเพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ๆควรจะต้องตั้งคำถามกับตัวเอง และ “ปรับสัดส่วน”กันแล้วแหละครับว่าบทเพลงเหล่านั้นจะให้เนื้อหาสาระอะไรกับสังคมคนฟังบ้าง นอกจากความโด่งดังเป็นเพลงฮิตติดตลาดติดชาร์ทรายการไปทั่วบ้านย่านเมือง

คำตอบคงไม่ใช่การจัดคอนเสิร์ตการกุศลหรืออะไรทำนองนั้นเป็นแน่แท้...

ถ้าความเป็น “เพื่อชีวิต”ยังจะคงอยู่ และไล่เรียงลำดับมาตั้งแต่ “ตำนานเพลงเพื่อชีวิต”รุ่นเก่าก่อน กระทั่งถึง “การแจ้งเกิดรายวัน”ของพลพรรคเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ แล้วเทียบสัดส่วน- เนื้อหา-สาระที่พวกเขาสะท้อนผ่านบทเพลงทั้งหลายออกมาแล้ว ,ประทานโทษนะครับ นอกจากคำว่า “หนุ๊ก”กับ “หร๋อย”แล้ว

ก็คงจะต้องถามกันก่อนละครับว่านั่นละหรือ…เพื่อชีวิตของคุณ!

แสดงความคิดเห็น

« 5548
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ