บทความ
คือตัวตนของคนนี้
คือตัวตนของคนนี้
รวมกวีนิพนธ์ของพ่อพิมพ์กวีนาม “บัวกันต์ วิลามาศ” เป็นการตกผลึกทางความคิดจากการเดินทางสายกลอน/กวีนิพนธ์มายาวนาน แม้ไม่อาจเรียกว่าสมบูรณ์ที่สุด แต่ก็ถือว่า เป็นบันทึกยุคสมัยผ่านสายตานักกลอน/กวีซึ่งได้สวมอาภรณ์ฉันทลักษณ์ตามแบบขนบอย่างสอดคล้องลงตัว ซึ่งคอนักกลอน/กวีไทย ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง
โดยเนื้อหาผู้เขียนได้แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือ
ความนัยที่ ๑ ภาวะแห่งรัก
เป็นการรวบรวมเอาความรู้สึกพื้นฐานที่มนุษย์ปุถุชนเผชิญ นั่นก็คือ อารมณ์รัก แต่ทว่าความรักที่กวีถ่ายทอดออกมานั้น เป็นลักษณะ
เธอจงอ่านหนังสือเถิดที่รัก
เหนื่อยมากนักเชิญแวะพักร้านหนังสือ
ร้านนี้นามระบือ
เชิญแวะซื้อไปอ่านสราญใจ
(จากบทกวี หนังสือคือขุมคลังทางปัญญา)
หรือ
รุ้งจูบพื้นยืนตระหง่านโค้งผ่านฟ้า
สวยงามตาสายใยให้ประสาน
จากสวรรค์ดาวดึงถึงบาดาล
เป็นสะพานรุ้งโยงโค้งเชื่อมใจ
(จากบทกวี ตามรุ้ง)
ฯลฯ
มีท่านมหาคุรุทางกวีนิพนธ์กล่าวไว้ว่า ‘กลอนรักเขียนง่าย แต่เขียนให้ดียาก’ คำๆ นี้เป็นที่ยอมรับกันในแวดวงคนเขียนกลอน/กวีแล้วว่า สมจริงโดยประการทั้งปวง แต่สำหรับ คือตัวตนของคนนี้ ในส่วนของความนัยที่ ๑ ผู้อ่านสัมผัสได้ถึงความสวยงามในรัก...ซึ่งเป็นรักตามแบบฉบับของ ผู้รู้รักอย่างถ่องแท้ หาใช่ นักหัดรัก นักพร่ำเพ้อรัก จนทำให้ ‘เลี่ยน’ ไม่
ความนัยที่ ๒ ภาวะแห่งโลภ เมื่อมีรักก็มีความอยากได้เป็นเจ้าของ อยากครอบครอง เกิดมมังการ อหังการ มิรู้จบรู้สิ้น คือภาวะกิเลสสามัญที่จิตใจมนุษย์ยากสลัดพ้น ปรากฏอยู่ในชิ้นงานเช่น
อยากให้คนเป็นคนบนมนุษย์
อยากให้มนุษย์รักมนุษย์สมานฉันท์
อยากให้มนุษย์ทุกมนุษย์รู้แบ่งปัน
อยากให้มนุษย์มอบรางวัลให้กับคน
(จากบทกวีชื่อ เพียงความต้องการ)
ถือว่าเป็นความ อยาก หรือ โลภ ที่น่าสรรเสริญยิ่งนัก
หรือ
มันเป็นความตั้งใจแต่ในท้อง
อยากเรียกร้องความเป็นจริงสิ่งปรารถนา
อยากให้การเมืองไทยมีการพัฒนา
อยากให้รัฐสภามีแต่คนดีดี
(จากบทกวีชื่อ ใฝ่)
ฯลฯ
นี่คือตัวอย่างโลภะในแบบฉบับตรงกันข้ามกับความปรารถนาลามก (ปาปิจาฉา) อย่างสิ้นเชิง ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าในเนื้อสารที่กวีต้องการสื่อ เป็นการตระหนักร่วมรับผิดชอบต่อพฤติกรรมทางเสื่อมที่มนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์พิเศษที่ซุบตัวทองอยู่ในรัฐสภาไทยตอนนี้กำลังกระทำกันอยู่ ซึ่งการนำเสนอมิใช่เป็นการตีขลุมแต่อย่างใด เพราะ “ภาพฟ้อง” พฤติกรรมประชาชนเห็นอยู่ทนโท่
และในส่วนความนัยที่ ๓ ภาวะแห่งโกรธ และความนัยที่ ๔ ภาวะแห่งหลง ( โลภ โกรธ หลง) พลังอารมณ์ผ่านมุมมองที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาสวมอาภรณ์ฉันทลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ แล้วสื่อออกมาอย่างมีเชิง จัดว่าเปี่ยมเสน่ห์ยิ่งนัก
เนื้องานกวีเจือกลิ่นไอท้องถิ่นอีสานไว้อย่างให้หวนระลึกถึงสำหรับผู้รักบ้านเกิด แต่กระนั้นสำหรับผู้เค้นสาระในการอ่านกลอน/กวี ก็มิผิดหวังกับเนื้อหาที่สื่อออกมา และหากนักฉันลักษณ์จ๋าหยิบอ่านก็ไม่บริภาษทักษะแบบแผน หรือภูมิภาษาไทยของนักเขียนผู้นี้เป็นแน่
ดังนั้น คือตัวตนของคนนี้ จึงได้รวมรสไว้ทุกรส แล้วแต่ผู้เสพต้องการจะเสพรสไหน เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม
คนไทย ไม่ส่งเสริมนักเขียนกลอน/กวีไทย แล้วจะให้ไปยกย่องนักเขียนกวีเทศ กระนั้นหรือ...
จากใจบก.เฉพาะกิจ
ธารา ศรีอนุรักษ์