บทความ
รายงานพิเศษ: "วาระการอ่านแห่งชาติ" = หายนะแห่งหนังสือวรรษกรรม?
คอลัมน์: รายงานพิเศษ: "วาระการอ่านแห่งชาติ" = หายนะแห่งหนังสือวรรษกรรม?
Source - เว็บไซต์เนชั่นสุดสัปดาห์ (Th)
ภาวินี อินเทพ : เรื่อง / อิสรีอิน : ภาพ
นับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จวบจนกระทั่งปีนี้ 'วาระการอ่านแห่งชาติ' เป็นประเด็นที่คนในแวดวงวรรณกรรม จะหยิบยกมาถกพูดคุยกันต่อเนื่องทั้งปี
เพราะเรื่องนี้จะมีเม็ดเงินจาก งบไทยเข้มแข็ง เข้ามาในวงการหนังสือ ประมาณ 1,900 ล้านบาท
โดยเฉพาะ 380 ล้านบาท ที่ผ่านมาทาง กศน. หรือ 'สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย' คือ เงินที่ให้จัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดอย่างเดียว
แต่ละครั้งมียอดถึง 450,000 บาท
และต้องจัดซื้อให้หมดภายในครั้งเดียว
โดยทั่วประเทศมี กศน. 850 แห่ง แต่ละอำเภอมีเอกสิทธิในการจัดซื้อหนังสือด้วยตนเอง
เรื่องนี้ส่งผลให้มีการยื่นซองประมูลจัดซื้อหนังสือกันขนานใหญ่ และต้องแยกเป็นรายอำเภอด้วย (ตามเงื่อนไข)
ในบรรดาคนทำหนังสือที่ยื่นซองประมูล จึงมีทั้งรายใหญ่ และรายย่อย ที่เป็นการรวมตัวของคนทำหนังสือรายเล็กๆ หลายแห่ง
ครั้นไถ่ถามไปทาง กศน.ส่วนกลาง ว่า ทางต้นสังกัดจะรู้ได้เช่นไรว่า ห้องสมุดแต่ละแห่งนั้น สำนักพิมพ์หรือกลุ่มใดจะเป็นผู้จัดส่งหนังสือในท้ายที่สุด
"ทำไม กศน.ส่วนกลางจะต้องรู้ด้วยล่ะ เพราะมีคณะกรรมการแต่ละจังหวัดคอยดูแลกันอยู่แล้ว กศน.ส่วนกลางขอแค่มีหนังสือ และเป็นหนังสือดีก็พอ... เป็นเสียงจากข้าราชการคนหนึ่งในสังกัดของ กศน.ส่วนกลาง ให้ความกระจ่าง หลังจากที่มีการโอนโทรศัพท์ไปหลายหน่วยงาน
ข้อสงสัยที่ว่า งบไทยเข้มแข็ง จะทำให้ การอ่านของคนไทย เข้มแข็งได้มากน้อยเพียงใด ยิ่งชัดเข้าไปทุกที
แม้ว่า งานนี้จะทำให้คนทำหนังสือต้องลดหนังสือกันครั้งใหญ่ แต่นั่นคงไม่ใช่ปัญหาของคนทำหนังสือวรณกรรม เพราะปกติก็ (จำเป็น) ต้องลดราคากันได้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว ทว่า สิ่งที่เป็นห่วงกันในเหล่าบรรดาคนทำหนังสือเล็กๆ อันดับแรกๆ คือ ความเหมาะสมกับวัย และท้องที่นั้นๆ ต่างหาก
ในบรรดาผู้ยื่นซองประมูลแต่ละรายเองย่อมต้องคำนึงถึงจุดคุ้มทุนเป็นที่ตั้ง
อย่างไรก็แล้วแต่ งาน 'วรรณกรรม' ที่จะส่งเสริมชีวิต ความคิด และจินตนาการ ดูท่าจะห่างไกลไปทุกที ไม่ต่างจากที่เคยเป็นตลอดมา มิตรน้ำหมึกจึงต้องช่วยกันหาคำตอบและที่อยู่ที่ยืนกันต่อไป เมื่อมีการจัดเสวนาในงาน ชุมนุมช่างวรรณกรรม 'ช่อการะเกด' จึงมีการหยิบยกเรื่องนี้มาคุยกันอย่างกว้างขวาง
ยิ่งเกือบครบทั้งห่วงโซ่ของวงการหนังสือ การคุยกันภายใต้หัวข้อ 'วาระการอ่านแห่งชาติ และ หายนะแห่งหนังสือวรรณกรรม' จึงสมวัย สมวาระที่สุด
เพราะพร้อมหน้า ทั้ง มกุฏ อรฤดี สำนักพิมพ์ผีเสื้อ ผู้คาดหวังให้ประเทศนี้มีสถาบันหนังสือแห่งชาติอย่างเป็นระบบ
จรัล หอมเทียนทอง สำนักพิมพ์แสงดาว ผู้จัดพิมพ์ 'สามเกลอ' วรรณกรรมคลาสสิกของไทยได้อย่างครบชุด
เรืองเดช จันทรคีรี สำนักพิมพ์รหัสคดี ที่ค้นพบทางธรรม และทางทำด้วยตลาดเฉพาะ เล็กๆ แต่มั่นคง
และ วินัย ชาติอนันต์ แห่ง สายส่งศึกษิตเคล็ดไทย ศูนย์รวมหนังสือหลากหลายและยาวนานกว่า 30 ปี อีกทั้งเป็นพี่เป็นน้องที่รักใคร่ของนักเขียนทุกระดับ
โดยมี เวียง-วชิระ บัวสนธ์ แห่งสำนักพิมพ์สามัญชน (และบรรณาธิการดำเนินการช่อการะเกด รุ่นสาม) ถามอย่างตรงไปตรงมา ทั้งในฐานะเถ้าแก่และคนทำหนังสือเหมือนกัน เปิดซอง
"ดีๆ ชั่วๆ ในวงการหนังสือเที่ยวนี้ คนทำหนังสือก็ยังพอขายหนังสือได้บ้าง...คนที่ได้ไปกลายเป็นรายใหญ่ รายอย่างเราๆ นี่คงจะได้บ้าง..." จรัล หอมเทียนทอง คาดการณ์ ในฐานะคนทำหนังสือขายที่มีประสบการณ์มายาวนาน
เหตุที่กล่าวเช่นนั้น เพราะยึดตามคำของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ระบุว่า งบประมาณที่ให้มานั้น สำหรับ 'ซื้อหนังสือ' เท่านั้น 'ห้ามสร้างห้องสมุด' โดยเด็ดขาด
จากห้องสมุด กศน. 850 แห่งทั่วประเทศ จึงอาจพอมีความหวังบ้าง สำหรับการรวมตัวของ รายย่อย เพราะเชื่อมั่นว่า 32 พันธมิตรที่มารวมตัวกัน ล้วนเป็น 'กรุหนังสือคุณภาพ' ทั้งสิ้น
นอกจาก สำนักพิมพ์แสงดาว เป็นตัวตั้งตัวตีแล้ว ยังเสริมทัพด้วย เคล็ดไทย ซึ่งเป็น สายส่งคุณภาพ หนังสือหลากหลาย เมื่อรวมกับที่เหลือ หนังสือที่จะให้ กศน.แต่ละอำเภอได้คัดสรร อย่าง 'ตรงใจ สมวัย' จึงไม่น่าจะต่ำกว่าหมื่นรายการ
เรื่องความหลากหลายจึงไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจนัก หากแต่ 'โครงสร้างการจัดซื้อหนังสือ' ต่างหากที่กวนใจ แม้ทางส่วนกลางจะโอนให้ท้องถิ่นจัดการเปิดซองประมูลและจัดซื้อเองทั้งหมดก็ ตาม แต่หลายฝ่ายกล่าวเสียงเดียวกันว่า ยากที่จะเชื่อว่า 'ตรงไปตรงมา'
ด้วยที่ผ่านมา (ไม่นานนัก) จรัล ไปประสบพบเห็นงานหนึ่งที่ระดมบรรณารักษ์จากทั่วประเทศมาสัมมนา พร้อมแนะวิธีจัดซื้อหนังสือและรายชื่อหนังสือให้ทั้งหมด เถ้าแก่สำนักพิมพ์แสงดาวถึงกับบอกว่า ไม่ต่างจาก 'การเช็คหัวคะแนนคนซื้อหนังสือ' แต่อย่างใด
"ผมว่าเรื่องคอร์รัปชันเป็นมหากาพย์ พูดยากกว่ากี่เปอร์เซ็นต์ แต่ผมคิดว่า เรื่องคอร์รัปชันหนังสือ คอร์รัปชันก็คอร์รัปชันไป แต่ว่า ให้คนซื้อหนังสือดีๆ หรือมีหนังสือดีๆ เข้าไปบ้าง.."
น้ำเสียงสรุปแม้จะดูขึงขัง แต่ถ้อยคำดูจะอ่อนใจกับระบบไม่น้อยทีเดียว
"บ้านเมืองนี้ ผมว่า เราคงต้องหารองเท้าให้พอดีกับเท้าเรา เราคงไปตัดเท้าเพื่อให้เข้ารองเท้าเขาไม่ได้ คงทำได้แค่นี้"
คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
เมื่อได้ฟัง มกุฏ อรฤดี ถึงกับเศร้า กับการคิดง่ายเกินไปของรัฐบาล
"หนังสือไม่ใช่บะหมี่สำเร็จรูป ที่จะไปประมูลแล้วนำไปแจกที่โน่นที่นี่ หนังสือเป็นความต้องการเฉพาะแห่งเฉพาะที่ ฉะนั้น มันควรจะมาจากความต้องการของคนแต่ละแห่ง ห้องสมุดแต่ละท้องที่"
เป็นถ้อยคำอธิบาย แทนคำไม่เห็นด้วยได้ชัดเจนยิ่ง ด้วยเห็นว่า การประมูลจะทำให้เด็กและโรงเรียน ไม่ได้หนังสือตามที่ต้องการ (แต่ก็ไม่อาจพูดได้) อีกทั้ง เป็นหนังสือที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการอ่าน ซึ่งจากประสบการณ์ตรง สมัยเด็กๆ ตลอดจนทำวิจัยเรื่องห้องสมุดภายหลัง พบสภาพดังกล่าวจริง ที่มีหนังสือเฉพาะ 'สำนักพิมพ์บางแห่ง' ครองสมุดจนขาดความหลากหลาย และไม่สมวัย ท้ายที่สุด การอ่านก็ไม่บังเกิด
"การจัดหนังสือเข้าห้องสมุด ด้วยวิธีการประมูล เป็นวิธีที่ผิดที่สุดในโลก เพราะท้ายที่สุดเราจะได้ขยะไปให้กับเด็ก กับห้องสมุด แล้วเราก็มีขยะที่ไม่มีคนอ่าน จากนั้น เราก็ต้องตั้งงบปีแล้วปีเล่า แต่เราไม่ได้นึกว่า หัวใจสำคัญของห้องสมุดมันอยู่ตรงไหน"
เป็นอีก 'สาร' ที่ มกุฏ เจ้าสำนักผีเสื้อ ต้องการ 'ส่ง' ไปถึงกระทรวงศึกษาธิการให้รับทราบเป็นที่สุด
รวมถึงเรื่อง 'การซื้อหนังสือบริจาคเพื่อเป็นส่วนลดทางภาษี' นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เขาไม่เห็นด้วย เพราะนำมาซึ่งหนังสือที่ไม่ต่างจากหนังสือที่ได้มาจากการประมูลหรือขายตรง เลย
"รัฐบาลไม่เคยนึกว่า กระบวนการหนังสือที่สำคัญที่สุด คือ บรรณารักษ์"
"...เมื่อไม่มีบรรณารักษ์จะสนับสนุนกระตุ้นให้เด็กอ่านหนังสือได้อย่างไร ทำไม่ได้ ต่อให้เอาหนังสือไปกองเป็นภูเขาเลากา เด็กก็ไม่อ่านหนังสือ เพราะว่าไม่มีใครไปกระตุ้น"
เจ้าสำนักผีเสื้อจึงได้แต่เสียดายที่ รัฐบาลมีแต่ทุ่มงบและฝากหวังไว้กับ กระทรวงศึกษา ทั้งที่ผ่านมา แค่หน้าที่ทำให้เด็กชั้นประถมอ่านออกเขียนได้ ก็ยัง 'เอาไม่อยู่' แต่รัฐบาลก็ยังฝากหวังเรื่องการอ่านอีก
จึงไม่น่าแปลกใจที่ 'การประมูลหนังสือ' จึงเป็นตัวเลือกสุดท้าย คงเพราะเป็นสิ่งเดียวที่เคยเห็นมาตลอดนั่นเอง
"..แล้วใครจะไปช่วยเด็ก ไม่มี ประเทศไทยจึงอยู่ไกลมากจากการอ่านหนังสือ"
เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ยังคงล่องลอยอยู่ในสายลม
เรื่องเล่าในหนังสือปกขาว
หากจะให้แนะนำวิธีการแก้ปัญหาเรียงเป็นข้อๆ ไปนั้น คงไม่ใช่ มกุฏ อรฤดีแน่ งานนี้มีเพียงยกกิจกรรมที่เคยทำมาแล้วสามารถยกระดับการอ่านได้ นั่นคือ 'ระบบหนังสือหมุนเวียน' ที่ได้ทำมา และสามารถเพิ่มสถิติการอ่านจากศูนย์เป็น 37% ได้
โครงสร้างตัวอย่างนี้ รัฐบาล หรือหน่วยงานราชการสามารถศึกษาและทำได้เช่นกัน
แต่มากกว่านั้น ก่อนลงมือทำ มกุฏ วาดหวังว่า รัฐบาลจะมีการมองปัญหาอย่างเป็นระบบ เพราะทุกวันนี้ ปัญหาใหญ่ไม่ใช่เรื่อง 'เงิน'
"ถ้าเราไม่เริ่มทำ เราไม่พยายามแยกแยะปัญหาว่า ปัญหานี้ต้องแก้ แล้วมองดูปัญหาว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันสัมพันธ์กัน ไม่เช่นนั้นเราก็จะเป็นเช่นนี้แหละ เราก็มานั่งพูดกันที่นี่ แล้วก็หายไปกับสายลม พูดแล้วพูดเล่าๆ ผมเห็นการพูดในปัญหา พูดมาตั้งแต่ผมยังเด็ก จนกระทั่งบัดนี้ผมแก่ แล้ววันหนึ่งผมก็ตายไป ผมเชื่อว่าเมื่อผมตายไป ก็ยังมีคนพูดปัญหานี้อีก เพราะอะไร เพราะรัฐบาลเราไม่เคยเข้าใจว่าหนังสือนั้นคืออะไร"
มกุ"ยังพูดถึงอีกหลายปัญหาที่เห็นในวงการหนังสือ ซึ่งยิ่งฟัง ก็ยิ่งมืดมน
"เวลาที่ผมไปพูดที่ไหน ผมก็จะไปพูดให้เป็นทุกข์วิตกกังวลอย่างนี้แหละ มันไม่มีทางอื่น มันไม่เห็นทางอื่นเลย เว้นเสียแต่ว่า เราจะต้องค่อยๆ คิด.."
เป็นอีกครั้งที่คำกล่าวของพี่ใหญ่ที่สุดในวงพูดคุยทำให้คนฟังทั้งห้องฮาครืน
แต่ดูเหมือน มกุฏ จะไม่ได้เอ่ยถึงคำว่า 'สถาบันหนังสือแห่งชาติ' ด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ถือว่า การมีสถาบันแห่งนี้ จะเป็นเหมือน ยาขนานเอก ที่จะช่วยแก้ปัญหาคาราคาซังในวงการหนังสือบ้านเราได้ทุกทาง
คำร้องขอในวันนั้น มีเพียงให้ช่วยกลับไปอ่าน 'หนังสือปกขาว' ที่แจกหน้างานก็พอ
"อย่างน้อยๆ ก็จะพอรู้แล้วว่า ปัญหาอยู่ตรงไหนแล้วคุณแก้ถูกหรือเปล่า" มกุฏท้าทาย
สำหรับหนังสือปกขาวที่ว่านี้ จัดทำอย่างประณีตน่าอ่าน ชื่อเล่มยืนยันความตั้งใจและแนวคิด 'การอ่าน : ภาระของชาติ (ไม่ใช่วาระ หรือ เทศกาล)' เนื้อหาภายในประกอบด้วยบทสัมภาษณ์จากสารคดี ว่าด้วยเรื่องสถาบันหนังสือแห่งชาติ โครงสร้าง ตลอดจนบทความอื่นๆ ภายใต้แนวคิดเดียวกัน
ที่จริงแนวคิดชัดเจนตั้งแต่ภาพปกแล้ว ซึ่งมีเด็กชายสองคนยืนอ่านหนังสือ คนหนึ่งมีเสื้อผ้ารองเท้าครบชุด ขณะอีกคนไม่มีแม้กระทั่งรองเท้าจะสวมใส่ ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเพียงกางเกงปุปะ ทว่า สิ่งที่มีเหมือนกันคือ หนังสือ และอาจจะเป็นหนังสือเล่มเดียวกันด้วยซ้ำ
ข้อดีที่สุดของการมีสถาบันหนังสือแห่งชาติ ท้ายที่สุดแล้ว มิใช่อื่นใด นอกจาก ความเสมอภาคในการอ่านของคนทุกระดับ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ต่างมีสิทธิได้อ่านหนังสือดีๆ เหมือนกัน ซึ่งหวังว่า รัฐบาลคงมองเห็นอะไรบ้างจากเล่มนี้
โดยมิต้องเป็นห่วงว่า จะหายาก เพราะทางมกุฏ ได้ออกปาก จะจัดส่งไปยังโต๊ะเจ้ากระทรวง
"หนังสือไม่ใช่สิ่งเย็บเล่มแล้วก็จบ แต่หนังสือมีมากกว่านั้น หนังสือมันมีวิญญาณ มีความรู้ ความคิด มีจินตนาการอะไรเยอะแยะ แต่ว่า เวลาเราพูดถึงหนังสือ เราคิดแต่ประโยชน์อย่างเดียว ประเทศนี้ไม่ไปไหนหรอก เชื่อผมเถอะ"
มกุฏ กล่าว พร้อมบอกด้วยว่า เสียดายที่งานนี้ไม่มีคนในรัฐบาลที่เกี่ยวข้องมาฟังด้วย ทำให้ปัญหาลูกโซ่นี้ไม่ครบ 14 กลุ่มเสียที อย่างไรก็ตาม ยังจะมุ่งหน้าพยายามต่อไป โดยเฉพาะการบรรยายขยายแนวคิด ที่ปวารณาด้วยความยินดี
"....ไม่อยากบอกว่า ผมได้ทุ่มเทเรื่องนี้มากที่สุด ในประเทศไทยไม่มีใครศึกษาเรื่องนี้มากเท่าผม เชื่อเถอะ ผมตอบได้ ปัญหาตรงไหนรัฐบาลถามมาเถอะ ตอบได้ เพียงแต่ว่าอยากรู้จริงๆ หรืออยากแก้ปัญหาจริงๆ หรือเปล่าเท่านั้นเอง"
สำหรับ 14 ห่วงโซ่ปัญหาแห่งการส่งเสริมการอ่าน ได้แก่ นโยบายของรัฐและงบประมาณ, ระบบสังคมที่แตกต่าง, ระบบการศึกษา, นักเขียนและนักแปล, บรรณาธิการทุกสาขา, บรรณารักษ์และนักวิจารณ์, ผู้มีอาชีพในวงการพิมพ์และหนังสือ, ครู อาจารย์, พ่อแม่ ผู้ปกครอง, คนทำหนังสือและสำนักพิมพ์, สายส่งและร้านหนังสือ, เด็กเยาวชน และประชาชนทั่วไป, ระบบหนังสือสาธารณะ (ห้องสมุด) ของชาติ และโครงสร้างการจัดการเรื่องหนังสือและการอ่าน (รวมทั้ง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง)
อนาคตฝากไว้ในมือ-ใคร?
เมื่อได้ฟังถึง ระบบ ที่มกุฏฉายภาพให้เห็น ประเด็นปัญหาที่ได้คุยกันแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาสาเหตุว่า ทำไม 'วรรณกรรม' จึงขายช้า-หายาก เหลือเกิน เป็นเพราะการกระจายสายส่ง หรือว่า ร้านหนังสือ ฯลฯ เหล่านั้น ต่างตกเป็นรองไปทันที เพราะต่างเป็นหนึ่งใน 14 ห่วงโซ่ปัญหา ทั้งสิ้น
ทางเจ้าสำนักรหัสคดี ให้ทัศนะอย่างเข้าใจสัจธรรมว่า การแก้ปัญหาต้องแก้กันทั้งระบบ การที่วรรณกรรมขายช้า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ อะไรที่ไม่จำเป็น ย่อมต้องหายหรือเปลี่ยนสภาพไปในที่สุด การตายของวรรณกรรมหรือหนังสือ ไม่น่าวิตกเท่าวัฒนธรรมการอ่าน ในแง่การรู้จักแสวงหาความหมายและคุณค่าในชีวิตต่างหาก ที่สำคัญกว่า
ส่วนเรื่องร้านหนังสือนั้น จำเป็นที่คนทำหนังสือต้องหาทางกันไป อย่างตัวเขาเองถือว่า ได้ 'มองโลกตามความเป็นจริง' แล้ว อย่างน้อยๆ ก็ค้นพบทางเฉพาะของตนเอง และพยายามพึ่งหน้าร้านน้อยลง แต่เน้นการสั่งซื้อออนไลน์แทน รวมถึงงานสัปดาห์หนังสือปีละสองครั้ง จึงยืนระยะมีแฟนคลับระดับหนึ่ง
"ผมถึงบอกว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปท้อ คือเราเริ่มเข้าใจแล้วใช่ไหมครับว่า ประเทศนี้ มันเป็นอย่างนี้ ซึ่งเราไม่ควรพูดอีกแล้ว เป็นยังไงเราก็รู้กันทุกคน มานั่งก็บ่นๆ กัน 40 ปีแล้ว ทีนี้เมื่อมีปัญหาจะแก้ปัญหากันอย่างไร ก็เป็นปัญหาที่ต้องมาแก้กัน ก็มาดูตัวเอง ผมว่าถ้าเรามองตัวเอง ว่าเป็นใคร ทำหน้าที่อะไรได้ดีที่สุด แล้วควรทำในขอบเขตแค่ไหน ก็ไม่น่าจะมีปัญหา"
เจ้าสำนักรหัสคดีกล่าวพร้อมยืนยัน ไม่ได้ปลง แต่เป็นการมองโลกตามความเป็นจริง
ด้านจรัลเองก็ให้กำลังใจเพื่อนร่วมวงการว่า ท้ายที่สุด อาชีพทำหนังสือก็ยังมั่นคงและน่าทำที่สุดในบรรดาธุรกิจอื่นๆ ซึ่งได้รับการพิสูจน์มาแล้วคราววิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกปี 2540 ที่ระเนระนาด แต่หนังสือยังอยู่ได้มาถึงทุกวันนี้
"เป็นธุรกิจเดียวที่จะสร้างฐานะเราได้...ถ้าทำหนังสือดี ก็ต้องอดทนหน่อย แล้วก็อย่าเครียดครับ"
จรัลถือว่าหนังสือต่างๆ ยังมีตลาดอยู่เสมอ แม้แต่เรื่องสั้น เพียงแต่ต้องหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรเท่านั้นเอง
ขณะที่ เฮียวินัย แห่งเคล็ดไทยแนะนักเขียนปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอให้น่าสนใจ และทันรสนิยมของคนอ่านที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
"ผมเชื่อและมีความหวังว่า ในวงการหนังสือ ถ้ามีการคิด ทั้งระบบก็ช่วยกันแก้ไขได้" เฮียวินัยกล่าวสั้นๆ ประสาคนพูดน้อยแต่มากด้วยน้ำใจ
ทางด้านพี่ใหญ่ที่รุ่นน้องในวงยกให้เป็น 'เสาหลักแห่งความภูมิใจ' นั้น ได้สรุปสุดยอดหายนะว่า หนังสือที่อยู่ในท้องตลาด แม้มีมาก แต่หาใช่หนังสือที่จะพัฒนาสมองและพัฒนาชาติ
"ผมคิดว่า เป็นเรื่องใหญ่สำหรับนักเขียน ที่จะเรียนรู้ และพัฒนาวรรณกรรมของตัวเอง อย่าให้ถึงหายนะ เพราะคนรุ่นหลังกำลังรออยู่ เขาจะทำอย่างไร"
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ระบบการอ่าน ช่วยได้ เพราะจะทำให้นักเขียนได้เติบโตและเรียนรู้จากสิ่งที่ดีที่สุด งานจึงออกมามีคุณภาพด้วย อย่างน้อยๆ ก็ควรมีวรรณกรรมคลาสสิกระดับโลกแปลเป็นไทย ให้มากขึ้น
ดังเช่น มูราคามิ ที่ใครๆ ก็ชื่นชม นั่นเพราะ เติบโตและเป็นผลิตผลจากการปรุงชีวิตด้วยวรรณกรรมคลาสสิกระดับโลก การมีห้องสมุดและแวดล้อมด้วยหนังสือที่ดี จึงเป็นทางหนึ่ง
หากจะหวังพึ่ง สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ที่มีสำนักพิมพ์เป็นสมาชิกกว่า 500 แห่ง คงยาก เพราะต่างมีเป้าหมายเพื่อขายหนังสือทั้งสิ้น การผลิตหนังสืออย่างมีคุณภาพ จึงถูกแอบซ่อนไว้อย่างน่าเสียดาย
"ผมอาจจะพูดตรงไปตรงมา แต่คนทำงานหนังสือ ถ้าไม่พูดตรงไปตรงมาจะพูดอะไร คนทำหนังสือไม่ใช่คนปกตินะครับ คนทำหนังสืออย่างน้อยที่สุด ต้องเดินก้าวไปข้างหน้าคนอื่นหนึ่งก้าว จะต้องอยู่สูงกว่าคนอื่นหนึ่งชั้นหนึ่งขั้น เพราะคนทำหนังสือจะต้องรับผิดชอบคนอื่น..."
เสวนาประสาเถ้าแก่ครั้งนี้ แม้จะมีเสียงหัวเราะเป็นระยะ แต่เมื่อเสวนาจบแล้ว ดูเหมือนการครุ่นคิดยังไม่จบ สีหน้าแต่ละคนจึงบ่งชัดว่า มีภารกิจอีกมาก รออยู่เบื้องหน้า หากไม่แก้เป็นระบบ และเริ่มตั้งวันนี้แล้ว ประเทศไทยอาจจะต้องใช้เวลานับหมื่นปีแสง ดังที่มกุฏ ว่าไว้ตอนหนึ่งในหนังสือปกขาว
...ประเทศไทย-หากรัฐบาลไม่ใส่ใจเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการอ่าน การเรียนรู้ และสรรพวิชาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดการด้านความรู้ ความคิด ความเข้าใจ ในระบบหนังสือ ตั้งแต่ราก ให้หยั่งลึก ปักโคนมั่นคง ทั่วถึง และไม่คิดเพียงต่อยอดอย่างง่ายๆ หรือหวังผลใกล้ๆ ตื้นๆ เร็วๆ เสียแต่วันนี้ อย่านับด้วยร้อยปีเลย จวบวารสิ้นโลก กระทั่งบังเกิดดาวมนุษยชาติดวงใหม่ เราก็จะยังล้าหลังเรื่องหนังสือสืบไปชั่วนิรันดร์..
งานนี้ไม่ได้แช่ง แต่เป็นการพยากรณ์ตามความเป็นจริง!!.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 ม.ค. 2553--