บทความ

ภาษาถิ่นที่สูญหาย ความตายของวัฒนธรรม

by kai @January,20 2010 14.00 ( IP : 222...123 ) | Tags : บทความ

ภาษาถิ่นที่สูญหาย ความตายของวัฒนธรรม โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 19 มกราคม 2553 20:41 น.

‘ภาษา’ ตามหลักพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายถึง ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความหมายของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่นภาษาราชการ ภาษากฎหมาย

ภาษาต่างๆ มีชีวิตของมัน สามารถเดินทางจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง มีการเปลี่ยนแปลงไปกับกาลเวลาและตายไป เมื่อภาษาใดๆ ที่หยุดการพัฒนาหรือหยุดเปลี่ยนแปลงก็จะถูกจัดให้เป็น ‘ภาษาตาย’ ส่วนภาษาที่ไม่หยุดนิ่งหรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องก็จัดเป็น ‘ภาษาที่ยังมีชีวิต’

จากงานวิจัยของ ศ.ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ประธานกรรมการศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้ที่ติดตามสถานการณ์ภาวะวิกฤตของกลุ่มภาษาต่างๆ พบว่ามีอย่างน้อย 14 กลุ่มชาติพันธุ์ภาษาที่อยู่ในภาวะใกล้สูญสลาย ได้แก่ ชอง, กะซอง, ซัมเร, ชุอุง, มลาบรี, เกนซิว (ซาไก), ญัฮกุร, โซ่ (ทะวืง), ลัวะ (ละเวือะ), ละว้า (ก๋อง), อึมปี, บิซู, อูรักละโวย และ มอเกล็น กลุ่มภาษาเหล่านี้เป็นกลุ่มภาษาขนาดเล็กที่อยู่ในวงล้อมของกลุ่มภาษาอื่นที่ ใหญ่กว่า ทำให้การใช้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ลดลงเรื่อยๆ

ก่อนที่กลุ่มภาษาทั้ง 14 ภาษาหรือภาษาท้องถิ่นอื่นๆจะสูญหายไปจากเมืองไทย ควรมาทำความเข้าใจถึงความสำคัญและที่มาที่ไปของภาษาเหล่านั้น รวมถึงการอนุรักษ์เพื่อให้ภาษายั่งยืนคู่ท้องถิ่นนั้นต่อไป

ภาษาถิ่นแท้จริงสำคัญยิ่ง

“ภาษา เหล่านี้ จริงๆ แล้วมีความสำคัญมาก คือทุกภาษาในโลกมีความสำคัญ เพราะกว่ามันจะสร้างขึ้นมาได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และต้องใช้เวลาเป็นพันปี และตัวภาษาก็ไม่ใช่แค่การเปล่งเสียงออกไปเฉยๆ แต่มันผูกติดกับความคิดของแต่ละกลุ่มคน ภาษาจึงหมายถึงระบบความคิดและระบบภูมิปัญญา เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มคนที่ใช้ภาษานั้นๆ “ฉะนั้น เราก็ไม่ควรที่ปล่อยให้มันสูญหายไป เพราะถ้าเราปล่อยไป มันก็เหมือนกับเราสูญภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มภาษานั้นมีไม่เหมือนกัน” ศ.ดร.สุวิไล เล่าถึงความสำคัญของภาษาถิ่นต่างๆ ที่กำลังจะสูญหายไป

แต่หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า การที่ภาษาถิ่นต่างๆ หายไปเหตุใดจึงทำให้ภูมิปัญญาต่างๆ หายไปด้วย เพราะคนที่เป็นเจ้าของภูมิปัญญาเหล่านั้นก็ยังมีชีวิตอยู่ ที่เปลี่ยนไปก็เพียงภาษาที่ใช้เท่านั้น ในเรื่องนี้ ศ.ดร.สุวิไล อธิบายว่า

“จริง อยู่คนไม่ได้ตายไปไหน แต่สิ่งที่ตายไปจากตัวเขามันคือ 'ภาษา' ภาษานั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การที่ภาษาตายไป แต่ภูมิปัญญาจะไม่ตายนั้น เป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะภูมิปัญญามันผูกติดอยู่กับภาษา เช่น ชื่อสมุนไพรต่างๆ มันผูกด้วยความรู้ที่เกี่ยวกับสมุนไพรนั้น วิธีการรักษาต่างๆ มันผูกโยงกัน ถ้าสมุนไพรมันหายไป ชื่อสมุนไพรก็หายไป ความรู้ตรงนั้นก็จะหายไปด้วย เราใช้ภาษาใดในชีวิตของเรา ความคิดของเราก็จะเป็นแบบภาษานั้น

“นอกเหนือจากเรื่องภูมิปัญญาแล้ว อัตลักษณ์ของคน ความเชื่อมั่นในตนเองก็จะหายไปด้วย เพราะภาษามันจะผูกกับความเป็นตัวตน ว่าเราเป็นใคร มีรากเหง้าอย่างไร ถ้าภาษาสูญหายไปก็เท่ากับว่าเราต้องไปอิงอยู่กับอัตลักษณ์ของผู้อื่น ซึ่งบางคนก็ทำได้ สามารถเข้าสังคมได้ทุกรูปแบบ ปรับตัวได้ แต่คนจำนวนมากมักจะทำไม่ได้ เพราะว่ายังมีความเป็นท้องถิ่นอยู่ แต่มีความเป็นท้องถิ่นแบบไม่มีมรดกของบรรพบุรุษช่วยสนับสนุน”

ขณะที่ ศิริศาร เหมือนโพธิ์ทอง อาจารย์ ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้อธิบายเกี่ยวกับความสำคัญของภาษาถิ่นว่า ถ้ามีการโยงเข้ากับความสำคัญในการอนุรักษ์ความเป็นไทย เป็นเรื่องของการบ่งบอกถึงท้องถิ่นของเขาด้วย คือถ้าจะรักษาความเป็นท้องถิ่น ก็ต้องรักษาภาษาพวกนี้เอาไว้

“การเน้นเฉพาะภาษาภาคกลางหรือภาษามาตรฐาน อาจจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบของวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ เช่น การแสดงโนราห์ของภาคใต้หรือการขับซอทางภาคเหนือ ก็ต้องเล่น ต้องขับเป็นภาษาถิ่น ถ้าเป็นรำโนราห์แล้วมาพูดภาษากลาง ก็จะไม่เป็นของแท้ ไม่ได้อารมณ์ อรรถรสก็จะหายไป”

เรื่อง นี้หากมองว่าเป็นการผลักภาระให้คนท้องถิ่นก็ถือว่าใช่ เนื่องจากคนที่พูดภาษากลางสามารถที่จะสื่อสารได้ง่าย แต่สำหรับคนท้องถิ่นแล้ว ถ้าเขาอยากจะพูดภาษากลางบ้างอาจกลายเป็นว่าไม่มีสำนึกรักบ้านเกิด ไม่อนุรักษ์วัฒนธรรมของตัวเอง

“เรื่องนี้ระบบการศึกษาก็มีส่วน แบบเรียนต่างๆ ก็เป็นภาษากลาง แล้วไหนจะเรื่องการแบ่งแยกอีกเพราะภาษาถิ่นบางภาษายังมีสำเนียงที่แปลกหูมาก อย่าง 'ลัวะ' ไม่เหมือนกับพวกภาษาถิ่นใหญ่ อย่างภาษาเหนือ อีสาน ใต้ บางภาษาไม่ได้แปลกหูแค่สำเนียง อาจจะออกเสียงหรือมีความหมายที่แตกต่างกับภาษากลางไปเลยก็ได้ ทำให้สื่อสารกันไม่เข้าใจ” ศิริศารกล่าว

โลกาภิวัตน์ตัวเร่งภาษาหาย

แน่นอนว่าการสูญสลายไปของภาษาหนึ่งย่อมมีสาเหตุ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ที่เป็นตัวเร่งให้ภาษาเล็กสูญ หายไป ศ.ดร.สุวิไล มองว่า โลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เดี๋ยวนี้สื่อเข้าถึงทุกที่ คนฟังวิทยุ ดูทีวีทุกวัน สื่อเหล่านี้ใช้ภาษากลุ่มใหญ่ทั้งนั้น ฉะนั้น ภาษาท้องถิ่นก็หมดความหมายลงไปในชีวิตประจำวัน

ที่ สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ นโยบายที่เกี่ยวกับภาษา นโยบายทางด้านการศึกษาของรัฐที่สนับสนุนเพียงแค่ภาษาราชการเพียงภาษาเดียว ทำให้เยาวชนรุ่นหลังซึ่งเข้าสู่ระบบโรงเรียนไม่เห็นความสำคัญของภาษาท้อง ถิ่นของตัวเอง หรือผู้ใหญ่เองก็กลัวเด็กจะพูดภาษากลางไม่ได้ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เด็กสามารถทำได้ 2 อย่างพร้อมกัน การรู้มากภาษาเป็นเรื่องดี เพราะสมองจะฉับไว

“ภาษาถิ่นใหญ่ๆ อย่างคำเมือง ภาษาอีสาน หรือภาษาปักษ์ใต้ ก็ยังอยู่ แต่อยู่ไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นภาษาไทยถิ่นขนาดใหญ่ เป็นภาษาประจำภาค แต่ว่าในขณะนี้มีสิ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนก็บ่นกันคือ เยาวชนที่พูดภาษาเหนือ กลาง อีสาน ใต้ พูดโดยใช้คำศัพท์ภาษาไทยกลาง โดยใช้เพียงสำเนียงของภาษาถิ่น แต่ศัพท์สำคัญๆ ลืมกันไปหมดแล้ว

“เราต้องช่วยกันรณรงค์ให้เห็นว่าภาษาท้องถิ่นมีความสำคัญ เป็นสิ่งที่สวยงาม เป็นมรดกทางวัฒนธรรม มรดกของมนุษยชาติ ต้องช่วยกันรักษา ช่วยกันดูแล และควรจะมีการนำภาษาท้องถิ่นเข้าสู้ระบบโรงเรียน เช่น ให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียน ผูกพ่วงไปกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็จะช่วยในการพัฒนาสมอง ความคิด”

เก็บตัวอย่าง จดบันทึก-ฟื้นฟูภาษาถิ่น ช่องทางอนุรักษ์ภาษา

เมื่อมีปัญหาก็ต้องหาทางแก้ ไม่เว้นเรื่องภาษาที่ต้องหาหนทางเพื่ออนุรักษ์ภาษาให้คงอยู่คู่ท้องถิ่นนั้นต่อไป

ศิริ ศารได้เสนอทางออกที่คิดว่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดก็คือ การที่ต้องมีคนเข้าไปเก็บตัวอย่าง ทำการบันทึก ทำตัวอักษรไว้ เนื่องจากเราไม่สามารถหยุดวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไปได้ “จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องอนุรักษ์ เพราะภาษาเป็นพื้นฐานของการศึกษาเรื่องอื่นได้อีกมากมาย เป็นตัวแทนของเอกลักษณ์ท้องถิ่น ถ้าเราเข้าถึงตัวภาษาได้ เราก็สามารถเข้าถึงด้านอื่นได้ด้วย เช่น ภาษาอังกฤษนั้นไม่มีคำว่าเกรงใจ แต่ภาษาไทยมี มันจึงเป็นการสะท้อนถึงทัศนคตินิสัยของคนไทยได้ ภาษาสามารถคงลักษณะของกลุ่มชนนั้นๆ ไว้”

ด้าน ทองพิทักษ์ ยุ้มจัตุรัส อดีตผู้ใหญ่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ ผู้สอนภาษา ‘ญัฮกุร’ ให้แก่โรงเรียนในท้องถิ่น เล่าว่าพูดภาษาญัฮกุรได้ตามพ่อแม่ ซึ่งเป็นภาษาที่มาจากมอญโบราณ และยังมีการใช้อยู่มากในอำเภอเทพสถิตย์

ผู้ใหญ่ทองพิทักษ์ยอมรับว่า แต่ก่อนไม่ได้สนใจภาษาที่ตัวเองใช้ ไม่คิดว่ามันจะมีคุณค่าอะไร แต่หลังจากที่มหาวิทยาลัยมหิดลลงมาทำการศึกษา จึงทำให้เขารู้ว่าภาษาญัฮกุรมีค่ามากกว่าที่เขาเคยตระหนัก

“ผม ไม่เคยรู้ จนกระทั่งมหิดลเขาบอก เข้ามาทำงานในพื้นที่ แต่ก่อนเฉยๆ ไม่คิดว่าจะมีคุณค่าอะไร แต่พอทำเสร็จ มันมีคุณค่าขึ้นเยอะ ภาษาตัวเองมันไม่ตาย มันมีความภาคภูมิใจตรงนี้แหละ ได้ภาษากลับคืนมา เราสามารถจะอนุรักษ์ภาษานี้ไว้ได้ มีการสืบทอดและฟื้นฟูไปเรื่อยๆ”

การฟื้นฟูภาษาเก่าแก่ไม่สามารถกระทำได้โดยการทำวิจัยแล้วเก็บขึ้น หิ้ง แต่ต้องฟื้นฟูด้วยการนำภาษามาใช้ การสอนให้แก่เด็กๆ รุ่นใหม่ให้รู้จัก อย่างภาษาญัฮกุรและ ‘ภาษาชอง’ ซึ่งเป็นภาษาในตระกูลมอญ-เขมร ของคนชองในแถบจังหวัดจันทบุรี ทั้งสองภาษานี้จึงได้ถูกบรรจุเข้าไปในหลักสูตรท้องถิ่น

อย่างอดีตกำนัน เฉิน ผันผาย คนชองในจังหวัดจันทบุรี เป็นอีกคนหนึ่งที่หันมาฟื้นฟูภาษาชองอีกครั้ง ด้วยการเป็นครูสอนภาษาเหมือนผู้ใหญ่ทองพิทักษ์ แต่ที่น่าทึ่งคือ “ผมคิดค้นตัวอักษรชองขึ้น ตอนนี้ขึ้นทะเบียน จดลิขสิทธิ์แล้ว คือยืมภาษาไทยก่อน แล้วเอามาเทียบกลับเป็นภาษาชอง คิดเองครับ” กำนันเฉินเล่า

ภาษา เก่ากับเด็กรุ่นใหม่ในสภาพที่ภาษาไทยแบบทางการกลายเป็นภาษาหลักของการสื่อ สารไปแล้ว อาจเป็นสิ่งที่ต่อติดได้ไม่ง่าย แต่จากการพยายามฟื้นฟูภาษาเก่าแก่ ปัจจุบัน พื้นที่ที่ผู้ใหญ่ทองพิทักษ์และกำนันเฉินเป็นครูสอนภาษาอยู่ เด็กเล็กๆ สามารถพูดภาษาถิ่นได้ในระดับที่น่าพอใจ แม้ว่าในกลุ่มวัยรุ่นอาจจะยังไม่นิยมพูดนักก็ตาม

..........

แม้ภาษาถิ่นจะมีความหลากหลายทั้งด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้น แต่ทุกภาษาต่างก็มีคุณค่า ความสำคัญ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สามารถสื่อสารสิ่งต่างๆ ให้กลายเป็นศิลปวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นนั้นได้ เมื่อภาษามีความสำคัญเช่นนี้ คงจะเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ภาษาอาจจะต้องสูญหายไปในไม่ช้านาน หากไม่มีการอนุรักษ์ ทะนุบำรุง หวงแหนเพื่อให้ภาษาดำรงคงอยู่ต่อไป

..........

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK

แสดงความคิดเห็น

« 9567
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ