บทความ
เปิดตัวเงือกน้อยเมืองไทย "ปอเปี๊ยะ-แพรกานต์ นิรันดร" นักเขียนวัย 15 ร่ายมนต์สะกดให้ "สุมาลี" แปลผลงาน
เปิดตัวเงือกน้อยเมืองไทย "ปอเปี๊ยะ-แพรกานต์ นิรันดร" นักเขียนวัย 15 ร่ายมนต์สะกดให้ "สุมาลี" แปลผลงาน
จากกระแสวรรณกรรมแฟนตาซี "แฮร์รี่ พอตเตอร์" อันโด่งดัง ทำให้เมืองไทยมีหนังสือแนวแฟนตาซีเข้ามาเยอะมาก ทั้งจากนักเขียนไทยและนักเขียนนอก แต่วันนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนรุ่นใหม่ และแม้ว่างานเขียนของเธอเป็นแนวแฟนตาซีตามกระแสก็จริง แต่เค้าโครงเรื่องนั้นน่าสนใจและสมจริงจนมิอาจเชื่อว่า เด็กอายุ 15 ปี เป็นผู้แต่งเรื่องนี้ ที่สำคัญคือเธอเขียนด้วยต้นฉบับภาษาอังกฤษ ก่อนที่ "นานมี" จะดึงเอานักแปลชั้นเทพอย่าง "สุมาลี" มาแปลเป็นภาษาไทย
เรากำลังพูดถึง "แพรกานต์ นิรันดร" หรือ "น้องปอเปี๊ยะ" นักเขียนหน้าอ่อนที่ฝีมือไม่อ่อน เจ้าของบทประพันธ์ไตรภาค ชุด "จักรภพพันธุ์มหัศจรรย์" โดยเล่มแรกเสนอ ตอน "ผจญภัยในแดนเงือก"
วันนี้ได้มีโอกาสเห็นตัวจริงและได้พูดคุยแบบใกล้ชิดกับนักเขียนมือใหม่คนนี้ ซึ่งตัวจริงเธอก็ไม่ต่างจากเงือกน้อยในนิทานเลย คือนอกจากจะมีใบหน้าที่สดใสแล้ว ผมยาวตรงเรียบดำขลับของเธอยิ่งทำให้ดูเหมือน "เจ้าหญิงเงือกน้อย" ในตำนานไม่มีผิด
"ปอเปี๊ยะ" บอกว่า ความจริงแล้วเริ่มฝึกการเขียนหนังสือเล่าเรื่องเมื่อตอน 8 ขวบ แต่ตอนนั้นยังเล่าเรื่องด้วยภาพอยู่ เขียนไปซักพักก็เริ่มเบื่อแล้วเลยทำไม่เสร็จ อาจเป็นเพราะตอนนั้นยังเล็กอยู่มากจึงไม่มีความมุ่งมั่น แต่กับจุดเริ่มต้นในการเขียนเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นคนชอบเรื่องราวเกี่ยวกับนางเงือกมาก ชอบอ่านหนังสือแนวแฟนตาซี พวกเอลฟ์ นางเงือก แวมไพร์ หรือพวกสัตว์ลึกลับในตำนาน ความจริงแล้วก็ชอบอ่านหนังสือทุกแนวอยู่แล้ว อ่านได้ตั้งแต่หนังสือไซไฟ หนังสือแนวอาชญากรรมสืบสวนสอบสวน หรือแนวอาชญวิทยาศาสตร์ก็ชอบอ่าน แต่ก็เลือกทำเรื่องเกี่ยวกับนางเงือกเพราะชอบมากที่สุด
"ได้แรงบันดาลใจจากเมื่อครั้งครอบครัวไปเที่ยวที่ฮาวาย แล้วก็เกิดปี๊งไอเดียพล็อตเรื่องขึ้นมา จนจินตนาการเกาะมอนเดรไซด์ (เกาะในจินตนาการตามท้องเรื่อง) จากนั้นก็เริ่มเก็บข้อมูลต่างๆ โดยเริ่มเขียนเรื่องนี้ตอนอายุ 12 ปี เขียนไปเขียนมาก็ต่อยอดความคิดไปเรื่อย จนกระทั่งตัดสินใจว่าถ้าอย่างนั้นเขียนเป็นไตรภาคเลยดีกว่า จากนั้นก็เลยวางแผนการเขียนให้ออกมาเป็น 3 เล่มด้วยกัน โดยเล่มแรกก็คือผจญภัยในแดนเงือก ซึ่งตอนนี้กำลังเริ่มเขียนตอนที่ 2 อยู่เขียนไปได้ 1-2 บทแล้ว"
พอถามถึงความสมจริงสมจังในเรื่องนี้มีมากน้อยแค่ไหน เพราะเหนือจินตนาการย่อมจะต้องอ้างอิงบนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงด้วย นักเขียนตัวน้อยกล่าวอย่างมั่นอกมั่นใจว่า ทำรี เสิร์ชเยอะมาก ตั้งแต่ที่ว่าโครงสร้าง รูปร่าง อนาโตมีของนางเงือกเป็นอย่างไร หมายถึงว่าหากว่ามันมีอยู่จริง ควรจะมีรูปร่างอย่างไร หายใจอย่างไร ซึ่งตรงนี้ก็ค้นคว้าจากหนังสือบ้าง จากเว็บไซต์ต่างๆ บ้างเอามาประกอบกัน ส่วนดินแดนตามท้องเรื่องรวมถึงสภาพความเป็นอยู่ของตัวเอกวัฒนธรรมและการใช้ ชีวิตก็นอกจากค้นคว้าจากหนังสือแล้ว ยังใช้ประสบการณ์จากการเดินทางท่องเที่ยวไปที่ต่างๆ กับคุณแม่มาประกอบกัน
"อย่างผู้คนบนเกาะมอนเดรไซด์ และเกาะอื่นๆ รอบข้างก็จินตนาการว่าถ้ามันอยู่ใกล้กับฮาวายมันน่าจะมีสภาพอากาศคล้ายกัน ผู้คนและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ก็น่าจะคล้ายกันด้วย ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่สักแต่ว่าเราจะเขียน แต่เราต้องมีข้อมูลด้วย เพื่อความสมจริงก็ใช้เวลาทำรีเสิร์ชพอสมควรก่อนเขียนเสร็จเล่มแรกก็ใช้เวลา 1 ปีแล้ว"
แล้วการไปตีพิมพ์ที่สำนักพิมพ์เริ่มได้อย่างไร ปอเปี๊ยะ เล่าว่า พอหลังจากที่เขียนจบ ก็ถามคุณแม่ว่าจะส่งต้นฉบับนี้ไปที่ไหนดี คุณแม่ก็แนะนำว่ามีอยู่ 2 แห่งที่จะตีพิมพ์หนังสือแนววรรณกรรมเยาวชนก็คือที่นานมี และที่อัมรินทร์ฯ แต่ก็ตัดสินใจเลือกนานมีเพราะเห็นว่านานมีตีพิมพ์แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ซึ่งหลังจากส่งต้นฉบับไปก็ใช้เวลานานมากกว่าที่เค้าจะตกลงพิมพ์ของเรา ต้องโทรตื้อ โทรอ้อนวอนอยู่นานหลายครั้งว่าขอให้อ่านต้นฉบับของเราด้วย คือที่ต้องทำเพราะมีคนแนะนำว่าถ้าเราไม่ทำเค้าก็อาจจะคิดว่าเราไม่ได้กระตือ รือร้น เพราะอย่าลืมว่าจะมีคนส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์อ่านผลงานของเค้าเยอะมาก ถ้าเพียงแค่เค้าสนใจและอ่านของเราก็ปลื้มแล้ว แต่นี่ได้ตีพิมพ์ด้วยก็ยิ่งปลื้มใหญ่
"หลังจากนั้นก็ใช้เวลาเกือบครึ่งปี จนกระทั่งคุณแม่โทรมาบอกว่าเค้าจะพิมพ์ให้แล้ว ก็กรี๊ดเลย ดีใจมาก บอกเพื่อนๆ ว่าหนังสือของชั้นจะได้พิมพ์แล้วนะ รู้สึกเฮ้อ...โล่งมาก ทางสำนักพิมพ์เค้าก็บอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่เค้าพิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษของ นักเขียนคนไทยที่อายุแค่ 15 ปี เค้าไม่เคยทำมาก่อน มีแต่แปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ เค้าก็แปลกใจมากที่มีคนส่งต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษแถมยังเป็นเด็กอีกด้วย นอกจากนี้ ทางสำนักพิมพ์ยังแนะนำให้แปลเป็นภาษาไทยขายด้วยเพราะตลาดหนังสือภาษาอังกฤษ ยังเล็กอยู่"
นักเขียนตัวน้อยเล่าต่อว่า จากนั้นเค้าก็ให้รายชื่อนักแปลมา ก็เห็นชื่อ อ.สุมาลี บำรุงสุข ก็รู้ว่าอาจารย์เคยแปลแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ก็เลยตัดสินใจขอให้อาจารย์แปลให้ ซึ่งทีแรกอาจารย์ก็ยังไม่ตอบรับเพราะว่ายังอยู่ที่อังกฤษและก็มีงานยุ่งมาก เลยขอต้นฉบับไปอ่าน 2-3 บทก่อน จากนั้นก็ขออ่านทั้งฉบับเลย แล้วก็ตัดสินใจจะแปลให้ในที่สุด ซึ่งก็ดีใจมากที่ได้นักแปลระดับโลกอย่างอาจารย์มาแปลผลงานชิ้นแรกของตัวเอง
สำหรับโปรเจ็คต์หน้า นางเงือกสาวเผยว่า ที่ คิดๆ ไว้หลังเขียนชุดจักรภพพันธุ์มหัศจรรย์จบก็อยากจะเขียนแนวอาชญากรรมสืบสวนสอบ สวน แต่ออกแนวย้อนยุค อยู่ในช่วงเวลาที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อยากจะลองทำแนวนี้ดูบ้าง
แล้วหาเวลาเขียนหนังสือได้อย่างไร ไหนจะต้องเรียน ไหนจะต้องเก็บข้อมูล "หนู ถือว่างานเขียนเป็นงานอดิเรก เราต้องแบ่งเวลาให้เป็น หลังเสร็จจากการบ้านและการทบทวนตำราเรียนแล้ว การเขียนหนังสือก็คือการรีแลกซ์อย่างหนึ่งของหนู จะไม่ทำในเวลาที่เรายังทำงานประจำไม่เสร็จ"
ปอเปี๊ยะ เผยถึงนักเขียนในดวงใจของเธอว่า มี Jonathan Stroud ผู้แต่ง Bartimaeus trilogy, Eoin Colfer ผู้แต่ง Artemis Foul และ Airman และ Rick Riordan คนแต่ง Percy Jackson Series พร้อมกับบอกเคล็ดลับของคนที่อยากเป็นนักเขียนว่า "ต้อง อ่านหนังสือเยอะๆ อ่านหลายๆ ประเภท หลายๆ แนวเพื่อการสั่งสมความรู้ และที่สำคัญคืออย่าท้อแท้ต้องมุ่งมั่น ถ้าเราเขียนๆ ไปแล้วเกิดเบื่อไม่อยากเขียนต่องานก็ไม่สำเร็จ หรือพอเขียนแล้วสำนักพิมพ์ไม่ตีพิมพ์ให้ก็ท้อถอย ยอมแพ้เสียแล้ว อะไรก็ไม่สำเร็จแน่ สิ่งสำคัญอยู่ที่ความมุ่งมั่นต้องไม่ท้อถอยง่ายๆ"
คิดอย่างไรถ้ามีใครเรียกเราว่า "นักเขียน" แล้ว ปอเปี๊ยะ บอกว่า "ถ้า มีคนเรียกอย่างนั้นจริงก็คงเขินๆ เพราะยังไม่ชินกับคำๆ นี้ ถ้าจะให้เรียกเราแบบนั้นเหมือนนักเขียนคนอื่นๆ ก็คิดว่าอย่าเลย เรายังไม่ถึงขั้นนั้น ยังต้องพัฒนาอะไรอีกเยอะ แค่ได้ทำตามความฝันของตัวเองแค่นี้ก็ดีใจแล้วค่ะ"
... นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเยาวชนไทย ที่กำลังพิสูจน์ประโยคที่ว่า "คนไทยอ่านหนังสือแค่ 8 บรรทัด" กำลังทลายลงแล้ว...
เรียบเรียงโดย : ทีมข่าวมติชนออนไลน์รายงาน
วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2553 เวลา 23:59:09 น. มติชนออนไลน์