บทความ
คำประกาศนักเขียน นักอ่าน ศิลปิน และคนทำงานสร้างสรรค์อิสระ ครั้งที่ 2
อ่านคำประกาศนักเขียน นักอ่าน ศิลปิน และคนทำงานสร้างสรรค์อิสระ ครั้งที่ 2
หยุดสร้างสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เนื่องจากวันที่ 7 เมษายน เวลา 18.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้แถลงว่าคณะรัฐมนตรีได้ประชุม และมีมติให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง และมีข้อกำหนดต่างๆ มีมติการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและให้นายสุเทพเป็นผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยรัฐบาลมีความมุ่งหวังที่จะใช้เครืองมือตามกรอบของกฎหมาย โดยมีเป้าหมาย 4 ประการคือ
ประการแรก คืนความเป็นปกติสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ต่างๆ ให้กับพี่น้องชาวกรุงเทพฯ
ประการที่สอง ยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบิดเบือนที่สร้างความแตกแยกและทำผิดกฎหมาย
ประการที่สาม ให้สามารถดำเนินคดีกับแกนนำได้ตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ประการสุดท้าย เพื่อระงับการก่อวินาศกรรม
เรา นักเขียน นักอ่าน ศิลปิน และคนทำงานสร้างสรรค์อิสระ ได้เคยออกคำประกาศ "คนต้องเท่ากัน" เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อยืนยันสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลโดยสันติวิธี เราได้ยืนยันว่าคนเสื้อแดงมีสิทธิดังกล่าวตามระบอบประชาธิปไตยและตามหลักสากลที่คนทุกคนต้องเท่าเทียมกัน
เราได้ออกคำประกาศเพื่อคัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงเพื่อปูทางไปสู่การประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล
บัดนี้ นอกจากรัฐบาลจะไม่ยุติการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแล้ว ยังประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อ พร้อมกับตามมาด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินทั้งที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงโดยรวมยังเป็นไปโดยสงบและไม่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินใด ๆ เกิดขึ้น
เราจึงมีความเห็นว่า การประกาศต่ออายุการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินดังกล่าวเพิ่ม จะไม่เป็นการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย 4 ประการดังที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้าง เพราะ
ประการแรก การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะไม่เป็นการคืนความเป็นปกติสุขกลับมาสู่พื้นที่ หากแต่เป็นการทำให้เกิดความไม่ปกติขึ้นมาแทนที่ และทำลายหนทางที่จะคลี่คลายสถานการณ์ต่าง ๆ ไปสู่ความปกติ ซึ่งสามารถกระทำได้ด้วยการเจรจา เช่น การเจรจาระหว่างผู้ประกอบการต่าง ๆ บริเวณสี่แยกราชประสงค์กับแกนนำ ซึ่งในความเป็นจริงก็กำลังดำเนินอยู่แล้ว แต่แทนที่รัฐบาลจะสนับสนุนการเจรจาดังกล่าวรัฐบาลกลับทำลายการเจรจาด้วยการสร้างสถานการณ์ให้ตึงเครียดขึ้นโดยการนำทหารเข้าไปกดดัน ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลและการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึง นอกจากจะไม่เป็นการคืนความปกติสุขแล้ว ยังเป็นการทำลายความปกติสุขที่พอจะมีอยู่บ้างลงไปอีก ซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลง
ประการที่สอง รัฐบาลอ้างว่า ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินดังกล่าวเพื่อยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบิดเบือนที่สร้างความแตกแยก ทั้งที่ สื่อที่มีบทบาทในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนและสร้างความแตกแยกที่สุดคือสื่อของรัฐเอง รัฐบาลไม่จำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อบรรเทาหรือยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนเลย รัฐบาลเพียงแต่จะต้องหยุดแทรกแซงและออกคำสั่งไปยังสื่อต่าง ๆ และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายของสื่อที่รัฐบาลมีอำนาจกำกับโดยตรงเช่น ช่อง 11 รวมถึงขอความร่วมมือจากบุคคลต่าง ๆ เช่น โฆษกรัฐบาล หรือ ส.ว.บางคน ในการยุติการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน เท่านี้ก็จะบรรเทาสถานการณ์การบิดเบือนข้อมูลได้ไม่น้อยแล้ว
ประการที่สาม การดำเนินคดีกับแกนนำตามกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของรัฐบาล เพราะเท่าที่ผ่านมา เมื่อได้รับคำถามเกี่ยวกับการดำเนินคดีต่อบุคคลต่าง ๆ เช่น บุคคลที่ปิดยึดทำเนียบรัฐบาล บุคคลที่ปิดยึดสนามบิน รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีก็มักจะตอบว่าอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผู้มีหน้าที่กำลังดำเนินการอยู่ ดังนั้น ในกรณีเดียวกันนี้ รัฐบาลก็ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้มีหน้าที่ในการดำเนินการดังกล่าว ไม่มีเหตุผลอันใดที่รัฐบาลจะใช้เหตุนี้มาเป็นข้ออ้างในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากเหตุผลเพียงประการเดียวคือ รัฐบาลต้องการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงเท่านั้น
ประการสุดท้าย อ้างว่าเพื่อระงับการก่อวินาศกรรม ทั้งที่ตลอดการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงที่ผ่านมา ไม่มีวี่แววว่าการวินาศกรรมจะลดน้อยลงแต่อย่างใด ไม่มีหลักประกันใด ๆ ที่จะรับประกันว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะสามารถลดการวินาศกรรมลงได้ ตรงกันข้าม การประกาศใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว ยังจะเป็นการเอื้อให้รัฐบาลใช้อำนาจในการควบคุมข้อมูลข่าวสารได้ตามอำเภอใจ สามารถสั่งปิดกั้นข่าวสารใด ๆ ก็ได้ตามอำเภอใจ ทำให้สังคมตรวจสอบเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ยากลำบากขึ้น และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว ยังเอื้อให้ทหารใช้อำนาจและปฏิบัติการได้สะดวกขึ้น ซึ่งข้อเท็จจริงหนึ่งก็คือ การวินาศกรรมที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการวินาศกรรมด้วยอาวุธสงคราม และผู้ที่เข้าถึงอาวุธสงครามได้ง่ายดายกว่าฝ่ายอื่น ๆ ก็คือทหาร ดังนั้น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากจะไม่สามารถควบคุมการก่อวินาศกรรมหรือเหตุร้ายอื่น ๆ ได้แล้ว ยังอาจเป็นการเอื้อให้ผู้ก่อการซึ่งอาจจะแอบแฝงอยู่ในคราบทหารสามารถก่อการได้สะดวกยิ่งขึ้นอีกด้วย ต้องไม่ลืมว่า การลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งกระทำอย่างอุกอาจกลางกรุงเทพฯ นั้น ก็กระทำภายใต้การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ดังนั้น เราจึงขออ่านคำประกาศ "คนต้องเท่ากัน" ซ้ำอีกครั้ง เพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายต่าง ๆ ตระหนักถึงภัยของการใช้อำนาจกฎหมายมากดขี่สิทธิเสรีภาพของผู้คน และอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อใช้ความรุนแรงต่อผู้คนโดยไม่คำนึงสิทธิมนุษยชน และทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ดังที่รัฐบาลที่ได้เคยกระทำไปแล้วเมื่อสงกรานต์ก่อน
คำประกาศนักเขียนอิสระ 'คนต้องเท่ากัน' ยืนยันสิทธิอันชอบธรรมในการชุมนุมโดยสันติของคนเสื้อแดงและจักต้องไมู่ถูกปราบด้วยกองกำลังทหารและอาวุธสงครามไม่ว่ากรณีใด ๆ
เราขอยืนยันสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลของคนเสื้อแดง สิทธิดังกล่าวเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และเป็นไปตามหลักสากลที่คนทุกคนต้องมีความเท่าเทียมกัน
เรามีความเชื่อว่าคนไทยทุกคนต้อง “เท่าเทียมกัน” ไม่ว่าจะเป็นองคมนตรี นักการเมือง ข้าราชการ ประชาชนทั่วไป ฯลฯ และขอกล่าวย้ำว่าคนเสื้อแดงเป็น “คนไทย” และ “ต้อง” มีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองเท่าเทียมกับคนไทยทุกคนไม่มีเว้น คนเสื้อแดงมีสิทธิในการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน คนเสื้อแดงมีสิทธิได้รับการเหลียวแลจากองค์กรสิทธิมนุษยชนเมื่อถูกละเมิดเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน คนเสื้อแดงมีสิทธิที่จะฟ้องร้องความไม่เป็นธรรมกับสังคมผ่านสื่อมวลชนเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน
เราขอประกาศว่า รัฐบาล “ต้อง” ไม่ใช้กำลังกดความคิดเห็นที่แตกต่าง รัฐบาลต้องไม่ใช้กำลังกลั่นแกล้งทำร้ายหรือปราบปรามผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองของตนโดยสันติวิธี แม้ว่ารัฐบาลจะไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นหรือข้อเรียกร้องนั้น รัฐบาลจะต้องปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเช่นเดียวกับคนไทยคนอื่น ๆ
ด้วยหลักการตามคำประกาศที่กล่าวมาข้างต้น เราจึงขอเรียกร้องให้
ปัญญาชนและสื่อมวลชนโปรดปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองโดยสันติของคนเสื้อแดง และพร้อมใจกันยืนยันต่อรัฐบาลว่า คนเสื้อแดงมีสิทธิและความชอบธรรมที่จะชุมนุมกันเพื่อแสดงความเห็นและข้อเรียกร้องทางการเมืองของตนโดยสันติวิธี
เราขอคัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคง อย่างเด็ดขาด และคัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรูปแบบอื่นใด เราขอคัดค้านการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามเข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยไม่ว่ากรณีใด ๆ กองกำลังทหารจะต้องอยู่ในฐานะของผู้ช่วยเจ้าพนักงานเท่านั้น และต้องไม่ใช้อาวุธสงครามอย่างเด็ดขาด
เราขอให้รัฐบาลหยุดการใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคง โดยเด็ดขาด การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง โดยที่ยังไม่มีเหตุอันควร ส่อให้เห็นว่า รัฐบาลต้องการสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวขึ้น ต้องการสร้างภาพอันน่ากลัวของการชุมนุมของคนเสื้อแดง และต้องการสร้างความเป็นปิศาจให้กับคนเสื้อแดง หากแม้นรัฐบาลยังดื้อดึงที่จะคงประกาศ พ.ร.บ. ความมั่นคง เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การใช้ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินที่ให้อำนาจเผด็จการทหารอย่างมหาศาล เราจะถือว่ารัฐบาลและทหารมีเจตนาที่จะใช้กำลังกับผู้ที่ชุมนุมอย่างสันติ และหากแม้นว่ามีเลือดแม้แต่หยดเดียวของประชาชนหยดลงสู่ผืนแผ่นดินไทย เราขอประกาศและขอเรียกร้องให้คนไทยผู้รักความเป็นธรรมทุกคน จงออกมาเคียงข้างคนเสื้อแดงบนท้องถนน เพื่อขับไล่รัฐบาลที่สนับสนุนโดยเผด็จการทหาร!!!
ประกาศในนามของนักเขียน นักอ่าน ศิลปิน คนทำงานสร้างสรรค์อิสระผู้เชื่อในความเท่าเทียมกันของมนุษย์
ประกาศครั้งแรก วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2533
ประกาศครั้งที่ 2 วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553
- กรรณิกา ราชปรารภ
- กานต์ ณ กานท์
- คำ ผกา
- จู พเนจร
- ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
- ชัชวาลย์ โคตรสงคราม
- ชัชชล อัจนากิตติ
- ชมพร ไชยล้อม
- เดือนวาด พิมวนา
- เด็ดเดี่ยว เหล่าสินชัย
- ทองธัช เทพารักษ์
- ทินกร หุตางกูร
- ธวัชชัย พัฒนาภรณ์
- ธีรภัทร เจริญสุข
- นิติพงศ์ สำราญคง
- บัวกันต์ วิลามาศ
- บุหลันแรม
- ประกาย ปรัชญา
- ปลายมนัส ลิ้มสุวรรณ
- เพียงคำ ประดับความ
- ภัควดี วีระภาสพงษ์
- ภู กระดาษ
- มหรรณพ โฉมเฉลา
- มาโนช พรหมสิงห์
- มาซุน แซงแซว
- มุกหอม วงษ์เทศ
- มูฮัมหมัด ฮาริส กาเหย็ม
- รชา พรมภวังค์
- รวิวาร โฉมเฉลา
- รางรางฯ
- รุ่งโรจน์ วรรณศูทร
- เริงชัย พุทธาโร
- เรืองรอง รุ่งรัศมี
- ลัดดา สงกระสินธ์
- วรพจน์ พันธุ์พงศ์
- วาด รวี
- วัฒนชัย แจ้งไพร
- วัฒน์ วรรลยางกูร
- วิทยากร บุญเรือง
- วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
- หรินทร์ สุขวัจน์
- อรรคพล สาตุ้ม
- อนันต์ เกษตรสินสมบัติ
- อโลชา เวียงพงศ์
- ไอดา อรุณวงศ์
- ฮาเมอร์ ซาลวาลา
- Sigrid แดนไกล
- Homo erectus
"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
ขอความร่วมมือในการต่อต้านการปิดกั้นข่าวสาร
เรียนผู้ร่วมลงนามและผู้อ่านชุมชนกวีทุกท่าน
ขณะนี้ รัฐบาลได้ใช้อำนาจ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดกั้นข่าวสารที่ไม่สนับสนุน หรือเห็นต่างจากรัฐบาล รัฐบาลได้ปิดสถานีโทรทัศพีเพิลชาแนล และปิดเว็บไซต์จำนวนมาก ทั้งเว็บไซต์ของคนเสื้อแดง และเว็บไซต์ที่ไม่ใช่คนเสื้อแดง แต่มีท่าทีวิพากษ์รัฐบาล
การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนกระแสหลักทั้งหมดในขณะนี้ก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปิดกั้นของรัฐบาลเช่นเดียวกัน สื่อมวลชนภายในประเทศขณะนี้ ไม่สามารถนำเสนอข่าวได้อย่างเป็นอิสระ ยิ่งไปกว่านั้น โฆษกรัฐบาลและโฆษกกองทัพบกยังได้ออกมาข่ม่ขู่ที่จะปิดหนังสือพิมพ์ หากมีการนำเสนอข่าวสารที่รัฐบาลเห็นว่าสร้างความแตกแยก ทั้งที่สื่อซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลโดยตรง นำเสนอข่าวสารที่สร้างความแตกแยกมาโดยตลอด และก็ยังกำลังนำเสนออยู่ สื่ออย่างเช่น เอเอสทีวี และสื่อในเครือผู้จัดการ นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน แสดงความเหยียดหยาม กดขี่ ดูหมิ่นคนร่วมประเทศที่เห็นต่างมาโดยตลอด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการสร้างความแตกแยก และปัจจุบันขณะก็ยังประพฤติตนเช่นเดิม เมื่อเป็นดังนี้แล้ว นิยามของคำว่า "สร้างความแตกแยก" ของรัฐบาล หาได้มีความหมายอื่นใดไม่นอกจากการ "ไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล"
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ โอกาสที่รัฐบาลจะใช้กำลังสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงมีความเป็นไปได้ ผมจึงใคร่ขอความร่วมมือจากผู้ร่วมลงนาม และผู้อ่านทุกท่านที่ไม่ต้องการเห็นการนองเลือดและประชาชนต้องล้มตาย ช่วยกันเผยแพร่คำประกาศนี้อีกครั้งในทุกช่องทางที่ท่านจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ไว้บนเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ด การส่งทางอีเมล หรือแฟกซ์ หรือหนทางใดก็ตามที่ท่านสามารถจะทำได้ เพื่อส่งข้อเรียกร้องออกไปยังประชาชน ปัญญาชน สื่อมวลชน และรัฐบาล
ร่วมกันเรียกร้องรัฐบาลให้ยุติการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเรียกร้องทั้งสองฝ่ายให้กลับสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง
ด้วยความนับถือ
วาด รวี
8 เมษายน 2553
ข้อมูลจาก http://www.thaipoetsociety.com