บทความ
แก็งค์รถซิ่งกับศิลปะบำบัด
แก็งค์รถซิ่งกับศิลปะบำบัด
โดย ชาคริต โภชะเรือง
เด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่ง อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 16 คน มาจากคนละทิศละทาง พวกเขาถูกจับในข้อหาที่พูดแบบชาวบ้านๆก็คือ ขับรถซิ่ง
พุธ21 มกราคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสดีได้ไปทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆในสถานพินิจ ฯ สงขลา พวกเขาเหล่านี้เป็นเยาวชนที่จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมในค่ายบำบัดและเป็นกลุ่มแรก ที่ได้เข้าค่ายตามนโยบายใหม่ของทางการที่ต้องการให้เยาวชนต้องโทษจากคดีรถซิ่ง ซึ่งต้องถูกจับรวมกันมากกว่าครั้งละ 10 คนจะต้องเข้าค่ายรับการบำบัด
ในค่ายแห่งนี้ ผมรับหน้าที่เป็นครูศิลปะ ชักชวนเด็กๆได้ปลดปล่อยตนเองผ่านกิจกรรมวาดรูป หรือที่เรียกขานชั่วโมงนี้ว่า ศิลปะบำบัด เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผมเหมือนกัน เด็กหนุ่มกลุ่มที่กล่าวถึงข้างต้นคือเด็กๆที่ผมจะต้องร่วมกิจกรรมด้วย คิวของผมถูกกำหนดไว้บ่าย แต่กว่าจะออกมาจากออฟฟิศเมืองน่าอยู่ได้ก็เป็นเวลาหลังเที่ยงวันแล้ว ผมจึงสายนิดหน่อย
อุ๊-เจ้าหน้าที่ของสถานพินิจฯรออยู่ เรากุลีกุจอหอบหิ้ววัสดุอุปกรณ์อย่างกระดาษ สีไม้ สีเทียน สีเมจิก มารอเด็กๆอยู่ในห้องแล้ว
เด็กๆชักแถวเดินเข้ามาอย่างเป็นระเบียบ ดูเผินๆหน้าตาแต่ละคนเหมือนๆกันไปหมด สวมเสื้อยืดแขนสั้นและกางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน ผมถูกตัดกล้อนจนสั้น เหมือนกับนักศึกษาวิชาทหาร เด็กๆเหล่านี้แตกต่างจากเยาวชนคนอื่นๆในสถานพินิจที่สวมเสื้อยืดสีขาว กล่าวคือ เป็น พวกสีน้ำเงิน เด็กๆกลุ่มนี้จะอยู่ที่นี่เพียง 5 วัน ดูหน้าแล้ว ยังล่ะอ่อนทั้งนั้น เดาว่าคงไม่มีใครคิดว่าวันหนึ่งชีวิตของตนจะมาลงเอยอยู่ที่นี่ หน้าตาไม่ได้มีวี่แววจะยั่วยวนกวนเมือง หรือเป็นเด็กเหลือขอแต่ประการใด ผมยังอดแปลกใจไม่ได้ว่าแต่ละคนไปทำอิท่าไหนจึงได้ถูกจับมา
ผมแจกกระดาษให้เด็กๆถือไว้คนและแผ่น บอกพวกเขาให้แบ่งเนื้อที่บนกระดาษออกเป็น 3 ส่วน โดยที่ไม่จำเป็นว่าต้องแบ่งให้เท่ากัน รูปแบบการแบ่งเนื้อที่ก็เช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องแบ่งจากบนลงล่าง หรือจากซ้ายไปขวาเสมอไป จะจัดสัดส่วนอย่างไรก็ได้ ตามความพอใจ ผมอธิบายเด็กๆว่า เนื้อที่ 3 ส่วนบนกระดาษ ก็คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของพวกเขาแต่ละคน
อดีตก็คือชีวิตในวัยเด็กๆ แต่ละคนอยากเล่าเรื่องของตนเองอย่างไร ชีวิตครอบครัวเป็นอย่างไร มีความอบอุ่น แตกแยก เป็นไปในลักษณะใด
ปัจจุบันคืออะไรที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้พวกเขาถูกจับมายังสถานพินิจ หรือว่าแต่ละคนคิดอย่างไรจึงไปขับรถซิ่ง มีใจรัก ใจชอบ หรือว่าแค่เห็นว่าเป็นเรื่องสนุก และที่สำคัญ มันเชื่อมโยงกับชีวิตในวัยเด็กหรือไม่
สุดท้ายคืออนาคต หลังออกจากสถานพินิจ เมื่อโตขึ้นเด็กๆฝันอยากเป็นอะไร
ผมเน้นกับเด็กๆหน่อยว่า ทั้ง 3 ส่วน อดีต-ปัจจุบันและอนาคต ควรจะมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
ให้โจทย์เด็กๆ แล้ว เป็นหน้าที่ที่ผมต้องกระตุ้นต่อ
อย่างไรก็ดีผมให้สิทธิ์เด็กๆในการแสดงออกอย่างเต็มที่ ใครจะวาดเป็นสัญลักษณ์ หรือเล่าเรื่องอย่างง่ายๆธรรมดาๆก็ได้ แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน ขอให้สามารถ สื่อสาร เล่าเรื่องของตนได้เท่านั้นก็พอ หน้าที่ผมก็คือจุดประกาย กระตุ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้เด็กๆ ซึ่งไม่ค่อยคุ้นกับการวาดรูปให้แต่ละคนให้กล้าแสดงออกเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่
เด็กๆว่าง่ายกว่าที่คิด ดูแววตาของพวกเขาแล้วก็อุ่นใจ กว่าครึ่งห้องเข้าใจโจทย์ที่ผมให้ได้ดี หลายคนเริ่มมีไอเดีย ลงมือวาดแล้ว บางคนหันไปปรึกษาเพื่อนๆ แต่บางคนยังนั่งคิดอะไรไม่ออก
ครู ให้คะแนนหรือเปล่า? เด็กคนหนึ่งถาม
กว่าที่ทุกคนจะวาดแล้วเสร็จ เราใช้เวลาไป 2 ชั่วโมงกับอีกครึ่งชั่วโมง คือกินเวลาไปอีกวันหนึ่ง เนื่องจากตารางเวลาศิลปะบำบัดมีแค่ 2 ชั่วโมง แต่โชคดีที่มีชั่วโมงการพัฒนาบุคลิกภาพเสริมให้อีก 2 ชั่วโมง ผมจึงให้เด็กๆที่วาดไม่เสร็จมาวาดต่อในวันรุ่งขึ้น ก่อนที่จะออกมานำเสนอทีละคน
ชีวิตของเด็กๆเหล่านี้คล้ายคลึงกัน นั่นคือพื้นเพทางครอบครัวส่วนใหญ่ฐานะค่อนข้างยากจน การศึกษาน้อย จบ ม.ต้น แล้วก็ออกหางานทำ ส่วนสาเหตุที่โดนจับก็เพราะตามเพื่อน แล้วก็คึกคะนองอยากรู้อยากลอง ตามประสาวัยรุ่น
ครั้นดูการสื่อความหมายทางศิลปะ จากผลงานทั้ง 16 ชิ้น มีเพียง 2-3 คนที่นำเสนอแตกต่างออกไป คือคนหนึ่งเป็นนักมวย ชกมวยเสร็จก็หนีเที่ยว แล้วเพื่อนก็ชวนไปดูเขาแข่งรถซิ่ง ที่ผมชอบมากอีกคนหนึ่งวาดรูปตัวเองเป็นตัวตลกหนังตะลุงกำลังกรีดยาง แล้วก็มีเพื่อนชวนไปแข่งรถซิ่ง อีกคนหนึ่งวาดเป็นต้นไม้ เขาเปรียบตัวเองในอดีตเป็นต้นไม้เล็กๆ โอนเอนไปตามสายลมที่เปรียบเหมือนเพื่อนมาชักชวนไปในทางไม่ดี เขาปวารณาตัวว่าเมื่อโตขึ้นเขาจะเป็นไม้ใหญ่ มีรากหยั่งลึกแข็งแกร่งไม่โอนเอนไปตามสายลมง่ายๆ
ขณะที่เด็กๆคนอื่นๆ บอกเล่าเรื่องราวตัวเองง่ายๆ เป็นภาพครอบครัว ภาพถนนที่แข่งรถซิ่ง ซึ่งทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เพื่อนมาชวนไปดูรถซิ่งแล้วก็ถูกตำรวจจับ ขณะที่เพื่อนที่เป็นหัวโจก เจนสนามกว่าล้วนเอาตัวรอดไปได้หมด เหลือแต่ไก่อ่อนเพิ่งลงสนาม ไม่รู้จะหนีอย่างไร จึงถูกตำรวจรวบตัวมา
ฟังๆดูก็แปลกใจดีเหมือนกัน เพราะนั่นเท่ากับว่า การแก้ปัญหาด้วยมาตรการทางกฎหมายกับเด็กๆที่กระทำความผิดถึงอย่างไรก็ไม่สามารถเข้าถึงตัวเด็กที่เป็นหัวโจกต้นตอของปัญหาได้อยู่ดี
ที่อุ่นใจได้ก็ตรงที่เด็กๆเหล่านี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทำผิด เสียใจที่ทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจ ชวนให้เชื่อว่าออกไปแล้วน่าจะไม่กระทำความผิดซ้ำอีก
ตอนที่นำเสนอมีผู้ปกครองเข้ามานั่งดูด้วย
ผมถามแม่ของเด็กคนหนึ่งว่ารู้สึกอย่างไรที่รู้ว่าลูกโดนจับ เธอทำตาแดงๆ เล่าไปร้องให้ไป เธอบอกว่า ไม่เชื่อว่าลูกของตนจะไปทำอะไรอย่างนั้น เธอเสียใจมาก น้ำเสียงสั่นเครือและความรู้สึกที่หลั่งรินจากใจทำให้เด็กหนุ่มผู้เป็นลูกนั่งก้มหน้า เด็กๆคนอื่นนิ่งอึ้งกันเป็นแถว ผมไม่กล้าถามความรู้สึกของผู้ปกครองคนอื่นต่ออีก คิดว่าแค่ฟังจากคนเดียวก็น่าจะเพียงพอแล้ว
เด็กๆเหล่านี้ว่าไปแล้วพื้นฐานจิตใจล้วนแล้วแต่เป็นเด็กดี มาเสียตรงที่ว่าติดเพื่อน ตามเพื่อนมากไปหน่อย ซึ่งก็เหมือนวัยรุ่นทั่วๆไป หลังได้ฟังข้อแก้ตัวของเด็กๆ ทำให้ผมบอกพวกเขาว่า การที่ทุกคนบอกว่าถูกจับเพราะตามเพื่อนไปดูรถซิ่ง เรามัวแต่โยนความผิดให้คนอื่น ทำไมไม่มีใครโทษตัวเองสักคน
แกงค์รถซิ่งเริ่มอาละวาดไปทั่วทุกหนแห่ง และไม่เว้น หาดใหญ่ สงขลา ทุกค่ำคืนบนถนนใหญ่เต็มไปด้วยกลุ่มเด็กวัยรุ่นประลองความเร็ว ส่งเสียงรบกวนชาวบ้าน ไม่รู้ว่าวันหน้าจะมีค่ายลักษณะนี้อีกสักกี่ครั้ง
ศิลปะบำบัดจะช่วยเยียวยาเด็กๆที่คึกคะนองเกินเหตุได้สักกี่มากน้อยกันหนอ.