บทความ
เขี้ยวหมูป่า : หนึ่งในเรื่องสั้นสุดยอดในดวงใจ
คงมีคำถามยอดฮิตจากเหล่าแฟนคลับที่บรรดานักเขียนจะต้องตอบอยู่ไม่กี่คำถาม และหนึ่งในนั้นก็คือหนังสือในดวงใจ หรือเรื่องสั้นในดวงใจ
ผมเองคงต้องคิดนานเหมือนกัน หากจะต้องหาคำตอบเพราะว่ามีอยู่ไม่น้อยเลย แต่ที่นึกได้ในขณะนี้และพอจะจำเรื่องราวได้ก็คือ เรื่องสั้นที่ชื่อ “เขี้ยวหมูป่า” ของไพบูลย์ สุวรรณกูฏ
ผมเชื่อว่าหลายคนอาจไม่คุ้นชื่อนี้ หรือไม่รู้จักเลยก็ว่าได้
แต่ถ้าเป็นศิษย์เก่าศิลปากร หรือบรรดาคนชอบศิลปะ จิตรกรรม หรือจิตรกรรมไทยแล้วไซร้ ชื่อนี้คงคุ้นหูเป็นอย่างดี
ผมรู้จักไพบูลย์ สุวรรณกูฏ ในฐานะนักเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก นั่นคือ “ส้มป่อยดอกเหลือง”...ตอนหลังก็มีโอกาสได้อ่าน (หากใครมีรวมเรื่องสั้นศิษย์เก่าศิลปากร เล่มที่ชื่อ พรุ่งนี้ก็สายเกินไป หาอ่านได้ในเล่มนี้นะครับ) ยังจำบรรยากาศการบรรยายที่ได้อรรถรส แสง สี เสียง สัมผัส ซึ่งเป็นสไตล์ที่บรรดาคนเรียนศิลปากรหรือเรียนศิลปะมาถนัดเป็นพิเศษ ส้มป่อยดอกเหลืองนี้ก็เช่นกัน ผมอ่านแล้วก็นึกไปถึงภาพวาดตระกูลอิมเพรสชั่นนิสต์ดีๆสักภาพ สัมผัสจากถ้อยคำสร้างภาพในห้วงนึกให้เพริดไปได้ถึงเพียงนั้น
เนื้อเรื่องพาเราย้อนยุคให้เห็นสังคมไทยขณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ขณะที่คณะราษฏร์เข้าอภิวัฒน์ประเทศ แต่ในดินแดนห่างไกลออกไป ผลการอภิวัฒน์ในคราวนั้นไม่ได้ส่งผลต่อชะตากรรมใดๆของชุมชน ชาวบ้านเคยอยู่อย่างไร ก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่เช่นนั้น สิ่งที่อยู่ในใจของผู้คนกลับเป็นฉากภาพพิศดารของสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ลักลอบได้เสียกันขณะออกไปเก็บของป่า แล้วบังเอิญมีคนไปพบเห็นเข้า พฤติกรรมพิสดารของหนุ่มสาวกลางป่า ในเรื่องผู้ที่ได้อ่านจะเห็นชั้นเชิงของผู้เขียน ผ่านความเปรียบเรื่องดุ้นฟืน เห็ด หรือของป่าที่เก็บได้ใต้ต้นส้มป่อยดอกเหลืองทำให้ผู้อ่านเกิดมโนภาพตามไปกับฉาก “อัศจรรย์” ในเรื่องอย่างได้อารมณ์ จนรู้ว่าคนบ้านป่าเมืองเถื่อนมองเรื่องกามารมณ์อย่างมีความบริสุทธิ์ ดิบ ซื่อ ตรงไปตรงมา และหลังจากนั้นวีรกาม-วีรกรรมใต้ต้นส้มป่อยดอกเหลืองจึงได้กระจายจากปากสู่ปาก กลายเป็นเรื่องเล่าลือกันไปจนรู้ไปทั่วคุ้งบ้าน เล่าสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนกระทั่งคนเล่าเข้าสู่วัยชรา ก่อนตายคนเฒ่าเรียกลูกหลานของสามีภรรยาคู่นั้น เหมือนจะขออโหสิกรรม แล้วก็บอกว่า ได้หยุดเล่าเรื่องนี้มานานแล้ว
ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องเล่าเก็บเห็ดเก็บฟืนกลางป่านี้จะสาสามารถสะท้อนความเป็นไปทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านการปกครองได้ดีเรื่องหนึ่ง
ต่อมาก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือ กันยายน นลิน ที่มี ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ กับเพื่อนหนุ่มดูแล จึงได้พบเรื่องสั้นชิ้นเอก “เขี้ยวหมูป่า” ของไพบูลย์ อีกเรื่องเข้าจนได้
ผมชอบเรื่องสั้นนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่อ่าน ทั้งกลวิธีการบรรยายที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ท่วงทำนองในการเขียนที่พรั่งพรูไหลไปกับกระแสสำนึกความรู้สึก สลับกับการบรรยายภาพวิถีคนป่าอย่างคนที่เข้าถึง รู้ลึก ทุกฉากภาพ ทุกพฤติกรรมกลายเป็นประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้อ่าน
เนื้อเรื่องคร่าวๆ พูดถึงขบวนที่ประกอบไปด้วยคณะผู้วิจัยภาคสนาม ที่มีทั้งแพทย์ จิตรกร นักโบราณคดี นักศึกษา และข้าพเจ้าผู้เล่าที่มีโอกาสได้ย้อนกลับไปยังแผ่นดินอีสานถิ่นกำเนิด เพื่อที่จะเก็บซับภูมิปัญญา วิถีการดำรงอยู่ของบรรพชน ข้าพเจ้าผู้เล่าจู่ๆก็เพริดไปด้วยวิญญาณ “พรานจันที” ผู้เป็นปู่เข้าสิง กระทั่งย้อนภาพอดีตกลับไปยังวันที่เข้าป่าล่าสัตว์ แล้วได้หมูป่าและเขี้ยวหมูป่ามากำนัลน้องชาย และมุ่งมั่นตั้งใจจะใช้แทนสินสอดสู่ขอหญิงสาวให้กับพรานจันแดงผู้น้อง ทว่ากลับถูกพรานจันแดงผู้น้องลอบฆ่าจนเป็นตราบาปติดตัวไปตลอดชีวิต
“...มึงฆ่ากู...”
ลั่นปืนใส่หมูป่าใหญ่ หมู่ป่าเหมือนจะวางสำนึกสุดท้าย พร้อมคำถาม... “มึงฆ่ากูทำไม”
“ข้าฆ่า เพื่อชีวิตที่ยังอยู่” พรานจันทีตอบ
แล้วกงกรรมกงเกวียนก็ตามมา พรานจันทีถูกน้องชายทำปืนลั่นใส่
“ยิงกูทำไม จันแดง”
น้ำตาจันแดงย้อยไหล
“ยิง เพื่อชีวิตข้าที่ยังอยู่”
เขี้ยวหมูป่าสัญลักษณ์แห่งการครองรักอีนยาวนาน ที่มี2 อัน หนึ่งนั้นอยู่ในมือของพรานจันแดง อีกอันหนึ่งหล่นหายไปในหลืบพงชัฎ ปู่ทวดจันแดงที่ต่อมาเป็นคนดี ใช้ชีวิตคู่กับย่าทวดสีทาจนกระทั่งมีลูกหลาน
แล้ววันหนึ่งข้าพเจ้าก็เป็นผู้นำเขี้ยวหมูป่าที่หล่นหายไปกลับคืนมาสู่บ้าน ปู่ทวดจันแดงได้เห็นเขี้ยวหมูป่า จึงหวนรำลึกถึงตราบาปนั้นอีกครั้งอย่างหมองหม่นทรมาน สำนึกบาปในคราวหนุ่ม เพราะพรานจันทีหาสัตว์เก่งกว่า พรานจันแดงกลัวว่าย่าสีทาจะปันใจให้ จึงตัดสินใจฆ่าพี่ชาย นำเขี้ยวหมูป่ามากำนัลสาวคนรัก ความผิดบาปในอดีตทำให้ปู่จันแดงเป็นลมตายจาก
ข้าพเจ้าเป็นผู้เดียวที่มองเห็นภาพความลับแห่งอดีตที่ถูกกาลเวลาปิดบัง ข้าพเจ้าในวันที่หวนกลับคืนรังด้วยสำนึกของความเป็นพรานจันที ข้าพเจ้าจึงเป็นตัวแทนของความยุติธรรมที่ตามมาทวงคืน ต่อมาสำนึกอิสระไม่อยากให้กระแสแห่งอาชญากรรม สำนึกแห่งความเจ็บปวดตามติด จึงตัดสินใจทิ้งเขี้ยวหมูป่าทั้งคู่
ความแปรเปลี่ยนยอกย้อนของความรู้สึก กระแสแห่งความเร้นลับในชีวิต ความรัก อาชญากรรม สำนึกบาป อาถรรพย์แห่งการฆ่าเพื่อความอยู่รอด สิ่งเหล่านี้คลุกเคล้าอยู่ในเรื่องสั้น ผสมผสานกลิ่นของป่า กลิ่นสัตว์ กลิ่นมนุษย์
พรายเหลืองของแดด ร่มเงาผาสูงคลุมบริเวณ ลมเหนือปะทะกิ่งระริก ริ้วอากาศเย็นคลานกระถดเข้าใต้สำนึก สำนึกยะเยือกนั้นเชื้อเชิญปนท้าทาย สงบสุภาพปนน่ากลัว แนวราบเริ่มชันเอียงคดหักเป็นมุม ทุกระยะทุกก้าวทุกสำนึกสัมผัสผิวดินดังกึงกึง...
ตัวอย่างการบรรยาย การใช้คำสุดท้ายของประโยคมาเป็นคำแรกของประโยคใหม่ เหมือนกับสื่อถึงความเชื่อมโยงต่อเนื่องเป็นกระแสเดียวกันของเรื่องราว ทำให้เรื่องที่มีมิติเวลาอดีต-ปัจจุบัน ฉากภาพทั้งเบื้องหน้า ทั้งในห้วงความรู้สึก ที่แปรเปลี่ยนกลับไปกลับมา หลอมรวมอยู่ได้อย่างมีเอกภาพ
หัวใจดิบดิบ ของไอ้เขี้ยวโง้งถูกแหวะยังกระดิกเต้นตุบ ตุบ อยู่ เงื้อมีดป่าแล่ควักเหมือนคลั่งเหมือนโกรธเหมือนถูกบีบกดขยี้ ก่อไฟลนหัวใจดิบเนื้อนอกสิ้นคาว พรานจันทียกใส่ปาก กัดกร้วม ทั้งร้อนคาปาก เลือดสดข้างใน ลามเลอะเปรอะตามปากและซี่ฟัน เหมือนยักษ์มารฉีกกินหัวใจ เลือดคล้ำเปื้อนลามปากลามเลือดเปรอะทั้งตัว
ตัวอย่างคำบรรยายที่ได้ทั้งภาพ สี เสียง กลิ่น รส ปลุกอาตยะทั้ง 5 ให้ตื่นโพลง พร้อมรับประสบการณ์แปลกใหม่ ผ่านภาษาไทยง่ายๆสมัยพ่อขุน แต่ได้พลัง แถมพกด้วยลีลาของกวีคุมจังหวะซ้ำ จังหวะเสียงให้อ่านได้ทั้งเรื่อง อ่านได้ทั้งรสคำ รสความ
คนอะไรไม่รู้เขียนเรื่องสั้นไม่กี่เรื่อง แต่ละเรื่องล้วนเข้าไปอยู่ในใจคนอ่านได้อย่างไม่รู้ลืม