บทความ
ประกาศผลรอบแรกรางวัลซีไรต์และข้อสังเกตของคณะกรรมการ
รางวัลซีไรต์รอบแรกปี 2553 ซึ่งเป็นปีกวีนิพนธ์ ประกาศเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 มีหนังสือเข้ารอบแรกจำนวน 6 เล่ม คือ
- ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง ของ ศิริวรณ์ แก้วกาญจน์
- เดินตามรอย ของ วันเนาว์ ยูเด็น
- ในความไหวนิ่งงัน ของ นายทิวา
- เมืองในแสงแดด ของ โกสินทร์ ขาวงาม
- ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ของ ซะการีย์ยา อมตยา
- รูปฉายลายชีพ ของ โชคชัย บัณฑิต
คณะกรรมการคัดเลือกได้ให้ข้อสังเกตมีรายละเอียดดังนี้
ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง ของ ศิริวร แก้วกาญจน์
ท่าม กลางความสูญเสียที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสียงจากสื่อมวลชนที่โหมรายงานข่าวรายวัน วันแล้ววันเล่าที่เรารับรู้ข่าวสารจนชาชิน หากแต่ข่าวที่รายงานข้อเท็จจริงไม่เคยสะท้อนเสียงจากความรู้สึกของผู้คน ผิดกับเสียงใน ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง ที่ขับกังวานเสียงแห่งความหวาดกลัว ตื่นตระหนก สะทก และแม้แต่เยาะหยันต่อโชคชะตา
ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง นำผู้อ่านไปสัมผัสชีวิตของผู้คนที่ดำรงอยู่ท่ามกลางควันปืนและไฟสงคราม ความตายที่ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา สถานที่ และเวลา ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนนั้น เป็นสิ่งที่ผู้แต่งกำลังตั้งคำถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ระหว่าง พระเจ้า โชคชะตา และมนุษย์
ผู้ แต่งเล่าถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับผู้คนโดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาค ใต้ด้วยถ้อยคำที่กระชับ ชัดเจน แต่เปี่ยมด้วยพลังกระทบใจ นอกจากการเล่าเรื่องโดยเน้นรายละเอียดของชีวิตคนในพื้นที่จะเป็นกลวิธีสำคัญ ที่ดึงผู้อ่านเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์แห่งความสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้ว การขัดความและการตั้งคำถามยังช่วยให้สารเข้มข้นและแฝงนัยเย้ยหยันอย่างบาด ลึกอีกด้วย
แม้ กวีนิพนธ์เล่มนี้จะชี้ให้เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติ แต่ถึงที่สุดแล้วชีวิตก็ยังมีความหวังอยู่เสมอ มนุษย์อาจเป็นต้นเหตุทำลายธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันให้แตกสลายก็จริงอยู่ แต่มนุษย์ก็สามารถเยียวยาประคับประคองสังคมให้ดีขึ้นได้ พลังสร้างสรรค์ของกวีนิพนธ์อาจขับกล่อมและบรรเทาทุกข์ในทุกหัวใจที่ผ่าวร้อน ให้ผ่อนเย็นลง
เมื่ออ่านกวีนิพนธ์เล่มนี้แล้ว ทำให้เราตระหนักว่าวันนี้สังคมไทยของเรากำลังต้องการเสียง “…ร้องเพลงสักเพลง กล่อมประเทศเราเอง ให้เธอฟัง”
เดินตามรอย ของ วันเนาว์ ยูเด็น
วันเนาว์ ยูเด็น ประพันธ์เรื่องเดินตามรอยเพื่อ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่เจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ด้วยเห็นว่าพระองค์ทรงมีพระราชจริยวัตรอันงดงาม และกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่พสกนิกรในโอกาสต่างๆ ล้วนเปี่ยมด้วยคติธรรมซึ่งได้แนวทางมาจากโคลงโลกนิติ ผู้เขียนจึงเลือกโคลงโลกนิติ ๘๐ บทเพื่อให้เหมาะแก่วโรกาสอันเป็นมงคลนี้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร ทรงนิพนธ์โคลงโลกนิติขึ้นเมื่อเกือบ ๑๘๐ ปีมาแล้ว หลายบทมีสำนวนภาษาเก่า เกินกว่าที่คนในปัจจุบันจะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ จึงค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้ วันเนาว์ ผู้เห็นว่าโคลงโลกนิติเป็นวรรณกรรมคำสอนที่ทรงคุณค่า จึงพยายามที่จะสร้างสรรค์วรรณกรรมขึ้นมาใหม่ให้อ่านง่ายขึ้นโดยมีโคลงโลก นิติบทที่เป็น ต้นแบบ จัดวางพิมพ์ไว้ในหน้าซ้าย แล้วแต่งกลอนสุภาพพิมพ์ไว้ในหน้าขวา โดยคุมความหมายโคลง ๑ บาท ให้เท่ากับกลอนสุภาพ ๑ บท ดังนั้น โคลง ๑ บทจึงประพันธ์เป็นกลอนได้ ๔ บท แต่ผู้ประพันธ์มิได้ทำหน้าที่เพียงถ่ายทอดความหมายออกมาในรูปบทกลอนเท่านั้น ยังได้ประพันธ์ต่อท้ายด้วยกลอนบทที่ ๕ ที่แสดงความรู้สึกนึกคิด ทัศนะ อีกทั้งวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนั้นๆ โดยอาศัยทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิและประสบการณ์อันยาวนานในชีวิต มองความเป็นไปในโลกนี้ด้วยความเชื่อมั่น
นอกจากความสามารถในการคุมคำ คุมความได้อย่างครบถ้วนแล้ว วันเนาว์ ยังได้แสดงฝีมือนักกลอนชั้นครู แหลมคมด้วยการเลือกใช้คำที่เข้าใจง่าย ถึงพร้อมด้วยวรรณศิลป์ ไพเราะสละสลวย น่าประทับใจและน่าจดจำ เช่น
เมื่อทำชอบชอบต้องสนองกลับ ไม่เลือนลับความชอบตอบต่อผล
ยื่นความชอบมอบให้แก่ใจคน ความชอบดลสิ่งชอบมาตอบแทน
เดิน ตามรอย จึงเป็นวรรณกรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่งในการเป็นสะพานแห่งยุคสมัยที่เชื่อมต่อ ระหว่างวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าในอดีตกับปัจจุบันซึ่งคนรุ่นใหม่สามารถใช้เป็น หลักคิดได้ และอาจย้อนกลับไปอ่านโคลงโลกนิติเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม ดังที่ผู้เขียนกล่าวว่า
คำเตือนติงสิ่งสอนแต่ก่อนเก่า ช่วยให้เรานั้นมีที่ปรึกษา
เดินตามทางอย่างดีที่มีมา ย่อมดีกว่างวยงงเดินหลงทาง
อาจนับว่า เดินตามรอยเป็นวรรณกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างหมดจด งดงาม
ในความไหวนิ่งงัน ของ นายทิวา
ใน ความไหวนิ่งงัน เป็นกวีนิพนธ์การเมืองที่สะท้อนวิกฤติการณ์ความขัดแย้ง ของผู้คนในสังคมไทย โดย ชี้ให้เห็นว่า วิกฤติของสังคมไทยปัจจุบันมีมูลเหตุมาจากการที่นักการเมือง (โดยเฉพาะบางคน) มุ่งผลประโยชน์ตนมากกว่าผลประโยชน์ชาติ พาให้ผู้คนในสังคมไทยแตกแยกทางความคิดจนเกิดแบ่งฝักแบ่งฝ่าย วิกฤติการณ์เช่นนี้ฉายให้เห็นถึงความไม่เข้าใจแก่นแท้ของประชาธิปไตยของคน ไทย ทั้งยังฉายให้เห็นถึงการขาดจิตสำนึกของนักการเมืองที่ทำ ให้คนไทยตกเป็นเหยื่อของการเมือง เรื่องส่วนตน และทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งความเกลียดชัง เข่นฆ่าทำร้ายกันเองโดยขาดสติ
แม้ นายทิวาจะนำเสนอกวีนิพนธ์หลายบทด้วยน้ำเสียงที่ดุดัน ประชด เสียดสี เพื่อตั้งคำถามและกระตุ้นให้ผู้อ่านได้ร่วมคิดร่วมตระหนักกับบาดแผลที่ร้าว ลึกของสังคมไทย แต่ก็ยังได้ใช้บทกวีบางบทปลุกปลอบและเตือนสติผู้อ่านให้ยึดมั่นในสำนึกรัก ชาติ มองวิกฤติความเปลี่ยนแปลงด้วยสติ เมตตา ปล่อยวางแต่ใช่จะนิ่งดูดาย และเชื่อในกฎแห่งกรรม พร้อมเสนอว่าท้ายที่สุด การมองวิกฤตินี้ด้วยปัญญาจะทำให้เห็นว่าวิกฤติครั้งนี้ จะไม่มีชัยชนะ และไม่มีใครชนะ
ใน ความไหวนิ่งงัน แสดง ให้เห็นชั้นเชิงการประพันธ์กลอน กาพย์ และโคลงของนายทิวา ที่สืบทอดฉันทลักษณ์ตามขนบโดยสร้างสรรค์ลีลา จังหวะ และท่วงทำนองที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีฝีมือโดดเด่นในเรื่องของการเล่นเสียง การเล่นคำซ้ำคำ และการใช้คำที่มีความหมายตรงกันข้าม อันเป็นกลวิธีที่ผู้แต่งสามารถสร้างจินตภาพเชื่อมโยงกับวิกฤติการณ์ทางการ เมืองได้โดยไม่ต้องเล่าถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในลักษณะที่เป็นบันทึกเหตุการณ์ แต่เป็นการใช้ภาษาวรรณศิลป์เพื่อเป็นกระบอกเสียง และเป็นเครื่องมือบันทึกความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของผู้คนผ่านสายตาของ ผู้แต่งที่ได้เฝ้ามองสังคมการเมืองไทยที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ด้วยความนิ่ง งัน
เมืองในแสงแดด ของ โกสินทร์ ขาวงาม
เมืองในแสงแดด สะท้อน ภาพชีวิตประจำวันที่ประทับอยู่ในใจของผู้แต่งผ่านบทร้อยกรองที่ละเมียดละไม ในอารมณ์ คล้ายผู้แต่งกำลังวาดภาพด้วยภาษา แตะแต้มรายละเอียดให้ผู้อ่านสัมผัสรับรู้รูป รส กลิ่น เสียง ที่ผู้แต่งรู้สึก
ภาพ ที่ผู้แต่งวาดไว้สะท้อนถึงพื้นหลังของชีวิตและสังคมที่รองรับ แม้เป็นเพียงภาพของสบู่หอมนกแก้ว ตุ๊กตา รอยสัก แมวกับงู หรือดวงตาปลาช่อน เพียงภาพของคนเล็กๆ เช่น ช่างเขียนป้าย อดีตแชมป์มวย หญิงเลี้ยงวัว ช่างเครื่องเสียง พระชรา หรือพ่อค้าร้านของชำ เพียงภาพของสถานที่ธรรมดา เช่น บ้านในซอย อพาร์ตเมนต์ สวนสาธารณะ โรงหนัง หรือบนรถทัวร์ ล้วนบอกเล่าชีวิตร่วมสมัยของคนสามัญที่เป็นอยู่จริง แม้จะเป็นชีวิตที่ลำบากยากเข็ญ ผู้แต่งก็ยังมองเห็นแง่มุมของความงาม และอารมณ์ละเมียดละไมที่กล่อมเกลาจิตใจให้มีแรงกำลังที่จะดำรงอยู่
กวีนิพนธ์เล่มนี้เด่นที่การใช้กระบวนจินตภาพปะติดความ (collage) พรรณนาเร้าประสาทสัมผัสของผู้อ่านได้อย่างมีชีวิตชีวา สัมผัสสระและอักษรให้เสียงที่กลมกลืนคล้องจองกันอยู่ในท่วงทำนองหวานเศร้า จะเร่งจังหวะกระชั้นหรือทอดอารมณ์ตามเนื้อความก็อยู่ในอรรถรสเช่นนั้น
เมืองในแสงแดด จึงเปรียบเหมือนแดดอ่อนที่อาบไล้ภาพที่กวีวาดไว้ทั้งหมด ทั้งสิ่งสามัญ สิ่งที่น่ายินดีและน่าเศร้า จนกลายเป็นความงามอันโดดเด่น
ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ของ ซะการีย์ยา อมตยา
ไม่มีหญิงสาวในบทกวี เป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์แบบไร้ฉันทลักษณ์ (free verse) ที่ มีความสั้น-ยาวแตกต่างกันตั้งแต่ ๑๑ บรรทัดจบในครึ่งหน้าจนถึงร้อยกว่าบรรทัดหลายหน้าจบ รวม ๓๖ บท หากนับรวมบทเกริ่นด้วยก็จะเป็น ๓๗ บท บทเกริ่นที่กล่าวถึงนี้ประกอบด้วยข้อความเพียง ๓ บรรทัดที่บอกเจตนารมณ์ของผู้แต่งไว้อย่างคมคาย ดังนี้
ฉันกำลังเดินทางในบทกวี
บทกวีกำลังเดินทางในฉัน
เราต่างมุ่งหน้าสู่ปลายทางเดียวกัน
ไม่มีหญิงสาวในบทกวี สื่อประสบการณ์และทัศนะอันหลากหลายของผู้แต่ง ตั้งแต่การสำรวจตนเอง ทัศนะต่อบทบาท ธรรมชาติ หน้าที่ของกวีและกวีนิพนธ์ ไป จนถึงทัศนะต่อมนุษย์ ชีวิต ปรากฏการณ์และสถานการณ์ร่วมสมัยในสังคมทั้งในระดับบุคคลและก้าวไปถึงระดับ มนุษยชาติโดยเชิญชวนให้ผู้อ่านร่วมคิดไปกับเขา แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ผู้อ่านและผู้แต่งมองเห็นหรือค้นพบอาจไม่ใช่สิ่ง หรือคำตอบเดียวกัน
ซะการีย์ยา ไม่ได้เลือกที่จะนำเสนอประสบการณ์และทัศนะที่น่ารื่นรมย์ ตรงกันข้ามเขาได้นำเสนอเรื่องที่น่าเศร้าโศกไว้เป็นอันมาก แต่ก็มิได้พยายามบีบคั้นความรู้สึกผู้อ่านด้วยการแสดงออกอย่างขมขื่น เกรี้ยวกราด กลับปล่อยให้ความเข้มข้นของ”สาร”ที่ผู้อ่านรับได้ขึ้นอยู่กับเวลาและโอกาสในการอ่าน เช่น เขาใช้ถ้อยคำน้ำเสียงซึ่งโดยผิวเผินดูชวนขันในบท “หากฉันตาย” “กรณีวิวาทกับความเงียบ” และ “สระใอใม้มลายเสีย” แต่เมื่ออ่านซ้ำแล้วฉุกคิดก็จะรู้สึกได้ถึงอารมณ์ขมและการประชดเหน็บแนมที่แฝงอยู่ หรือแม้แต่ในบทที่ชวนให้หม่นหมองมากอย่าง “จนกว่าพลทหารคนสุดท้ายจะกลับมา” เขาก็ “เล่น” กับอารมณ์เศร้าด้วยการนำรูปแบบที่ดูผ่อนคลายของรางรถไฟ อาการเคลื่อนอย่างโขยกเขยกของรถไฟ มาแทรกไว้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นความสามารถเชิงสร้างสรรค์ที่น่ายกย่อง
ความเด่นของไม่มีหญิงสาวในบทกวี อีกประการหนึ่งอยู่ที่การอ้างถึง (allusion) บุคคล ผลงานและสถานที่ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งไม่เพียงแต่จะสะท้อนความเป็นนักอ่านของผู้แต่งเองเท่านั้นแต่ยังเป็นการ จุดประกายความคิด เชิญชวนให้พอใจที่จะเปิดหน้าต่างการอ่านออกไปสู่บรรณพิภพอันกว้างไกลเพื่อ ขยายโลกทัศน์และภูมิรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นอีกด้วย
รูปฉายลายชีพ ของ โชคชัย บัณทิต
รูปฉายลายชีพ เป็น หนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ ๕๖ บท ระหว่างช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๑ จนถึงต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๓ กวีนิพนธ์แต่ละบทแม้จะแต่งขึ้นต่างกรรมต่างวาระ แต่ได้ผ่านการคัดสรรและจัดลำดับภายในกรอบของโครงเรื่อง “รูปเล่าเรื่อง”
“รูป” ในที่นี้มีทั้งภาพวาด ภาพถ่าย ภาพในจินตนาการ ภาพที่ได้พบเห็น ภาพในความทรงจำ ฯลฯ ซึ่งสะท้อนถึง “เรื่อง” อันได้แก่ชีวิตหลากหลายแง่มุมที่หลายคนอาจจะมองข้ามออกมาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นหญิงบ้า หมอดู คนใบ้หวย เด็กขายของ ขโมยหรือพระ “ชีวิต” เหล่านี้มีทั้งที่เจาะจงเฉพาะชีวิตใครคนใดคนหนึ่งและชีวิตของผู้คนที่มารวม กันในที่นั้นๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ กันในกวีนิพนธ์แต่ละบท กวีนิพนธ์บทแรกคือ “รูปฉายลายชีพ” เป็นเสมือนบทนำ กวีนิพนธ์บทที่ ๒๙ คือ “รูปฉายลายชีพ: แอ็คชั่น” เป็นบทเชื่อมระหว่างบทนำกับบทลงท้ายให้มีความต่อเนื่องกัน โดยมีกวีนิพนธ์บทที่ ๕๖ คือ “รูปฉายลายชีพ: แอนิเมชั่น” เป็นเสมือนบทลงท้ายที่ฉายให้เห็นจุดเริ่มต้นจากวัยเด็กที่ดำเนินมาสู่จุดสุด ท้ายคือวัยชรา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กวีนิพนธ์เล่มนี้มีทั้งเอกภาพด้านโครงเรื่อง และเป็นเอกเทศในแต่ละบทที่นำมาร้อยรวมเข้าด้วยกัน สะท้อนถึงความเป็นมาและเป็นไปของชีวิตผ่านสายตากวี
รูปฉายลายชีพ ใช้คำประพันธ์ประเภทกลอนเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยเป็นกาพย์ยานี ๑๑ จังหวะกลอนและกาพย์รื่นไหล ใช้ภาษาที่เรียบง่าย งดงาม มีความหมายกระทบใจ กวีนิพนธ์หลายบทเขียนให้คิดไปได้ไกลกว่าถ้อยคำที่ปรากฏ โดยเฉพาะการตั้งชื่อกวีนิพนธ์แต่ละบทมีทั้งตรงไปตรงมา เสียดสี และชวนให้คิด เช่น “ภาพในเพลง” “คนขายอนาคต” “นิทรรศกาม”
กลวิธี การนำเสนอเป็นไปในลักษณะเล่าเรื่อง บางครั้งทิ้งคำถามไว้ในบทกวีเพื่อให้ผู้อ่านหาคำตอบด้วยตัวเอง ที่น่าสนใจคือผู้แต่งใช้กวีนิพนธ์ทำหน้าที่เสมือนกล้องบันทึกความสัมพันธ์ ระหว่าง “รูป” และ “ชีวิต” รูปฉายลายชีพ จึงเป็นชื่อที่ครอบคลุมเนื้อเรื่องทั้งหมด เพราะเป็นการฉายรูปให้เห็นว่า “ชีวิต” เป็นอย่างไร “รูป” ก็เป็นอย่างนั้นไม่ต่างกัน เพราะ “รูป” ก็คือชีวิต “ชีวิต” ก็คือ “รูป” นั่นเอง
ข้อสังเกตจากคณะกรรมการคัดเลือกกวีนิพนธ์
รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี ๒๕๕๓
หนังสือ ส่งเข้าประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นรอบของวรรณกรรมสร้างสรรค์ประเภทกวีนิพนธ์มีทั้งหมด ๗๔ เรื่อง คณะกรรมการคัดเลือกได้ตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ พบว่า มีหนังสือไม่เข้าหลักเกณฑ์จำนวน ๓ เรื่อง เป็นนวนิยาย ๑ เรื่อง หนังสือร้อยแก้วทั่วไป ๑ เรื่อง และหนังสือไม่มี เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (ISBN) ๑ เรื่อง จึงมีกวีนิพนธ์ที่พิจารณาคัดเลือกจำนวน ๗๑ เรื่อง
ภาพรวมของกวีนิพนธ์ที่ส่งเข้าพิจารณาคัดเลือก
๑. รูปแบบคำประพันธ์ มี ๓ รูปแบบ คือ
๑.๑ กวีนิพนธ์ที่แต่งโดยใช้ฉันทลักษณ์ไทย ได้แก่ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย
๑.๒ กวีนิพนธ์แบบไร้ฉันทลักษณ์ (free verse) หรือกลอนเปล่า ๑.๓ กวีนิพนธ์ที่แต่งโดยใช้ร้อยกรองพื้นบ้าน เช่น เพลงกล่อมเด็ก ผญา กลอนหัวเดียว เป็นต้น
กวีนิพนธ์ที่ส่งเข้าพิจารณาคัดเลือกนิยมใช้ฉันทลักษณ์ไทยมากที่สุด นอกจากนี้ พบว่า ยังนิยมใช้ฉันทลักษณ์ไทยและกลอนเปล่าในเล่มเดียวกัน ใช้กลอนเปล่าทั้งเล่ม และใช้ร้อยกรองพื้นบ้าน มากน้อยลงมาตามลำดับ
กวีนิพนธ์ที่แต่งโดยใช้ฉันทลักษณ์ไทยมักใช้กลอนเป็นหลัก ส่วนคำประพันธ์ประเภทกาพย์ โคลง ฉันท์ และร่าย แม้จะพบอยู่ในกวีนิพนธ์หลายเรื่อง แต่ก็มีในสัดส่วนที่ไม่มากนัก
๒. เนื้อหา กวีนิพนธ์ ที่ส่งเข้าพิจารณาคัดเลือกมีเนื้อหาหลากหลาย ครอบคลุมแนวคิดทั้งทางโลกและทางธรรม สะท้อนเหตุการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ความคิดและการใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคล ประเด็นสำคัญที่มักนำเสนอ ได้แก่
๒.๑ การเมือง ผู้ แต่งมักแสดงทัศนะเกี่ยวกับการเมืองที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ อันเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลให้สังคมไทยแบ่งกลุ่มทางการเมืองออกเป็นสองกลุ่ม อย่างชัดเจน รวมทั้งยังได้วิพากษ์วิจารณ์สภาพการเมืองโดยรวมของสังคมไทยจากมุมมองความคิด ความเชื่อของผู้แต่งเอง
๒.๒ สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประเด็นที่ผู้แต่งเขียนถึงมากอย่างมีนัยสำคัญ พบว่า ผู้แต่งทั้งที่เป็นชาวใต้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และที่ไปอาศัยอยู่ในภูมิภาค อื่น ๆ ได้ร่วมกันถ่ายทอดภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ผ่านมุมมองของตน โดยสะท้อนภาพการดำรงชีวิตทั้งที่สุขและทุกข์ ทั้งที่สร้างสรรค์และทำลาย
๒.๓ ศาสนา ผู้แต่งได้สะท้อนความเชื่อความศรัทธาในศาสดาและหลักศาสนาของศาสนิกชนไม่ เฉพาะแต่พุทธศาสนาเท่านั้น น่าสังเกตว่ามีผู้แต่งหลายท่านที่กล่าวถึงศาสนาอื่น ๆ โดยเฉพาะศาสนาอิสลามอีกด้วย ประเด็นที่เกี่ยวกับศาสนานี้มีทั้งที่เขียนถึงความดีงามความสูงส่งของศาสนา และที่ตั้งคำถามต่อศาสนาและหลักคำสอน
๒.๔ สังคม ผู้ แต่งจำนวนมากได้สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมที่เกิด จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีว่าความก้าวหน้าดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลต่อความ คิด การใช้ชีวิต และพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน ทั้งยังตั้งคำถามถึงทางเลือกระหว่างวิถีชีวิตแบบเก่าที่ผู้คนสัมพันธ์กัน อย่างใกล้ชิดกับวิถีชีวิตแบบใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีจนทำให้ผู้คนห่าง เหินกัน นอกจากนี้ ผู้แต่งยังสะท้อนแนวคิดและการใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลที่พยายามแสดงความเป็น อิสระและเสรีนิยมทางความคิดความเชื่อทางการเมืองและศาสนา รวมถึงการใช้ชีวิตที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ผูกมัดกับกฎเกณฑ์ของสังคม โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่
๒.๕ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่กล่าวถึงพอสมควร ผู้ แต่งกล่าวถึงความเสียหายของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของ มนุษย์ โดยแสดงความวิตกกังวลถึงภัยต่าง ๆ จากธรรมชาติ และเรียกร้องให้มนุษย์ช่วยกันรักษาธรรมชาติ
๓. ผู้แต่ง จากประวัติโดยย่อของผู้แต่งในหนังสือแต่ละเล่ม พบว่า ผู้แต่งมีทั้งผู้ที่ทำงานวรรณกรรมคือเป็นนักเขียนส่วนหนึ่ง และผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นแล้วสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ไปด้วยอีกส่วนหนึ่ง ในกลุ่มหลังนี้ที่พบมาก ได้แก่ ข้าราชการครู ข้าราชการอื่น ๆ และสื่อมวลชน การ ที่ผู้แต่งมาจากหลายสาขาอาชีพนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เนื้อหา ความคิด และมุมมองที่นำเสนอมีความหลากหลาย ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ มีพระสงฆ์ส่งกวีนิพนธ์เข้าพิจารณาในครั้งนี้ด้วย และนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตทางโลกได้อย่างน่าสนใจ
ข้อสังเกต
คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ ประจำปี ๒๕๕๓ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับ กวีนิพนธ์ทั้ง ๗๑ เรื่อง ดังนี้
๑. รูปแบบการประพันธ์ พบ ว่า กวีนิพนธ์ที่แต่งโดยใช้ฉันทลักษณ์ประเภทกลอนและกาพย์มีการใช้สัมผัสซ้ำและ สัมผัสเลือนเป็นจำนวนมาก ในกรณีสัมผัสซ้ำ มีทั้งสัมผัสซ้ำในบทและระหว่างบท และในกรณีของสัมผัสเลือนมักพบการใช้คำที่มีเสียงสระคล้ายกันเป็นคำรับส่ง สัมผัส ส่วนคำประพันธ์ประเภทอื่น ๆ เช่น โคลง พบว่านอกจากจะมีข้อบกพร่องในเรื่องตำแหน่งคำเอก คำโท และคำสร้อยในบาทที่ ๑ และบาทที่ ๓ แล้ว ในโคลงดั้น ยังมีที่แต่งโดยขาดโทคู่ในบาทสุดท้าย นอกจากนี้ การจัดรูปแบบของโคลงกระทู้ หรือแม้แต่โคลงสี่สุภาพ ยังพบว่าผิดไปจากขนบการประพันธ์ ส่วนคำประพันธ์ประเภทฉันท์ พบว่า มีการเลือกคำมาใช้ในตำแหน่งครุและลหุโดยเปลี่ยนแปลงรูปคำไปจนผิดหลัก ไวยากรณ์และไม่สื่อความ
๒. การใช้ถ้อยคำ พบว่า มีการใช้ถ้อยคำที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับบริบทอยู่เป็นจำนวนมาก มีการสร้างสรรค์ถ้อยคำใหม่ ๆ และการประสมคำที่ไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ทำ ให้เป็นคำที่เข้าใจเฉพาะผู้แต่ง ไม่สื่อความหมายแก่คนทั่วไป รวมทั้งการนำคำภาษาต่างประเทศที่เขียนด้วยอักษรโรมันมาใช้ บางกรณีก็เกินความจำเป็น บางกรณีก็สื่อความหมายคลาดเคลื่อนไปจากภาษาเดิม
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษโดยออกเสียงตามความเข้าใจของ ผู้แต่ง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการรับส่งสัมผัสอันเกิดจากการออกเสียงที่ไม่ถูกต้องอีกด้วย
๓. การบรรณาธิกรณ์ พบว่า กวีนิพนธ์หลายเล่มมีเนื้อหาโดยรวมน่าสนใจ แต่ขาดการบรรณาธิกรณ์ที่ดี ทำให้การจัดเรียงเนื้อหาไม่มีแนวคิดที่เป็นเอกภาพ รวมทั้งการพิสูจน์อักษรยังผิดพลาดเป็นจำนวนมาก และพบคำที่สะกดผิดในกวีนิพนธ์เกือบทุกเล่ม เป็นการลดทอนคุณค่าของหนังสือลงไปอย่างน่าเสียดาย
นอก จากนี้ยังพบว่า กวีนิพนธ์ที่ใช้ฉันทลักษณ์และไร้ฉันทลักษณ์ในเล่มเดียวกัน เมื่อนำมาอยู่ร่วมกันทำให้ไม่มีเอกภาพ เพราะรูปแบบฉันทลักษณ์ทั้งสองแบบมีข้อเด่นคนละด้าน จึงทำให้หนังสือมีข้อด้อยกว่าเล่มที่ใช้คำประพันธ์รูปแบบเดียวกันทั้งเล่ม ส่วนกวีนิพนธ์ที่ผู้แต่งพยายามใช้ฉันทลักษณ์หลายรูปแบบในเล่มเดียวกัน กลับสะท้อนให้เห็นระดับฝีมือการประพันธ์ฉันทลักษณ์แต่ละชนิดว่าไม่เสมอกัน ทำให้คุณภาพของงานโดยรวมลดลง
อนึ่ง การเขียนคำนำหรือคำนิยมของบรรณาธิการหรือผู้อื่นนั้น ข้อมูลที่นำมากล่าวถึงและการใช้คำควรคำนึงถึงความถูกต้องทางวิชาการและความ เหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหาสาระในกวีนิพนธ์และระดับฝีมือของผู้แต่งด้วย
ข้อเสนอแนะ
๑. การจัดพิมพ์หนังสือกวีนิพนธ์ควรมีการบรรณาธิกรณ์ เพื่อให้หนังสือมีเนื้อหาที่เป็นเอกภาพ มีแนวคิดชัดเจน มีการตรวจแก้ไขคำผิดและปรับปรุงสำนวนให้ถูกต้อง
๒. การใช้คำภาษาต่างประเทศในกวีนิพนธ์ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม หากนำมาใช้เพื่อเป็นคำรับส่งสัมผัสควรตรวจสอบเรื่องการออกเสียงให้ถูกต้อง ว่าสามารถรับส่งสัมผัสได้หรือไม่
๓. การใช้ฉันทลักษณ์ หากต้องการยึดฉันทลักษณ์ตามขนบ ควรระมัดระวังเรื่องสัมผัสเนื่องจากเป็นหลักสำคัญที่ทำให้บทกวีมีฉันทลักษณ์ ที่ถูกต้องและไพเราะงดงาม อีกทั้งยังเป็นการพิสูจน์ความรู้รอบทางภาษาของผู้แต่งได้อย่างแท้จริง ควรเลี่ยงสัมผัสซ้ำและสัมผัสเลือน ทั้งยังควรคำนึงถึงการวางรูปแบบฉันทลักษณ์ประเภทต่าง ๆ ให้ถูกต้องด้วย
อย่างไรก็ดี ผู้แต่งมีสิทธิ์สร้างสรรค์ฉันทลักษณ์ขึ้นใหม่ และในการนำเสนอควรแสดงให้เห็นถึงการสร้างสรรค์นั้นอย่างชัดเจน สามารถสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจฉันทลักษณ์ของตนได้
๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓
Posted by โกศล