บทความ
ชิ สุวิชาน : บทเพลงนกเขาป่า เตหน่า เรื่องเล่างูใหญ่ และตะขาบ
ชิ สุวิชาน : บทเพลงนกเขาป่า เตหน่า เรื่องเล่างูใหญ่ และตะขาบ
ปว่า มี เลอ เปลอ เหน่ จี แว ปวา เลอ เปลอ เหน่ จี แวโข่ ที บ่อ ชะ นะ ปว่า บู เอาะ เต่อ เล่ โช โหม่ เต่อ ปูผู้เฒ่าเมื่อก่อนได้สั่งเรา ผู้แก่เมื่อก่อนได้สอนเราหัวกะโหลกยังอ่อนหน้าอกยังบาง กินยังไม่ครบรู้ยังไม่หมด....(เพลงสอนลูก อยู่ในชุด เพลงนกเขาป่า)
สำเนียงเตหน่าอันแปลกแปร่งแต่แฝงความไพเราะ มีเสน่ห์อย่างประหลาด กังวานขึ้นท่ามกลางคนแปลกหน้าและแปลกถิ่น นำพากลิ่นอายอันชุ่มชื่นของขุนเขา และเรื่องเล่าอันเป็นคำสอนเก่าแก่ ถ่ายทอดผ่านเสียงร้องที่เปล่งออกจากปากของเด็กหนุ่มร่างสูงโปร่ง เป็นบทเพลงอันเปี่ยมเสน่ห์ เพลงใหม่ของคนปกาเกอะญอ
ชิ...คือเด็กหนุ่มคนนั้น
เขาเรียกตัวเองอย่างถ่อมตัวว่า นกสื่อสาร นกเขาป่าผู้นำเรื่องเล่าจากปกาเกอะญอมาฝากคนเมือง
ชิ เป็นชื่อภาษาปกาเกอะญอ เป็นชื่อเล่น หมายถึงลูกชายคนเล็ก ส่วนชื่อจริง คือ สุวิชาน นามสกุลเมื่อก่อน กัวมู แปลว่า ลายสวรรค์ แต่ใช้ไปใช้มากลับสูญหายไป พ่อของชิเลยตั้งนามสกุลใหม่ ส่งไปให้ทางอำเภอหลายชื่อแต่ก็ไม่ผ่าน ที่ผ่านแล้วใช้อยู่ตอนนี้ คือ พัฒนาไพรวัลย์
จะเห็นว่าหลังๆ นามสกุลปกาเกอะญอ จะมีพงไพร ไพรวัลย์ คีรี ออกมาเต็มเลยชิบอก
ชิ ยังเป็นนักร้องหน้าใหม่ เขาเป็นผลิตผลล่าสุดที่พยายามนำเอาเอกลักษณ์และวิถีชีวิตของคนปกาเกอะญอออกมาเผยแพร่สู่คนเมือง ณ วันนี้ ชิ เป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อได้เปิดตัวเป็นทางการ ในฐานะแขกรับเชิญของ จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ชิไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินหรือนักร้อง เขาบอกว่าตนเป็นแค่คนสื่อสารคนหนึ่ง คนบอกเล่าเรื่องราวคนหนึ่ง
เนื้อร้องที่แต่งขึ้นนั้นผมนำเอาเรื่องเล่าที่ผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่า คำบางคำที่หยิบมาใช้ ไม่ใช่คำที่ผมคิดขึ้นมาใหม่ หากเป็นคำที่อยู่มาตั้งแต่เมื่อก่อน ที่ปราชญ์ชาวบ้านเขาพูดมา เพียงแต่ผมหยิบตรงนั้นมาเล่าต่อ
ภาพเด็กหนุ่มกับเตหน่า(ดนตรีที่เหมือนพิณของปกาเกอะญอ) เป็นภาพที่ติดตรึงในความรู้สึก เด็กหนุ่มกับดนตรีพื้นบ้าน...เป็นภาพที่หาดูได้ยากมากเหลือเกินในยุคสมัยที่วัยรุ่นนิยมกินพิฃฃ่า แมคโดนัล และฟังเพลงฮิป-ฮอบ
ชิเดินทางมาพร้อมเรื่องเล่าอันหลายหลาก จนดูราวกับว่าทุกอย่างรอบๆตัวเขามีเรื่องราวซ่อนอยู่เต็มไปหมด อย่างเตหน่าเครื่องดนตรีพื้นถิ่นที่แกะจากไม้ ไม้ท่อนเดียวนี้ ชิเล่าประวัติว่ามีหญิงสาวที่สวยที่สุดในหมู่บ้าน ได้ถูกชายหนุ่มจากเมืองโย (เข้าใจว่าโยธยา) ลักพาตัวไป ชาวบ้านปกาเกอะญอต่างโหยหา ชายหนุ่มในหมู่บ้านล้วนฝันถึงหญิงสาวคนนั้น จึงแกะไม้ให้เป็นรูปหญิงสาว เป็นเครื่องดนตรี นำไปเล่นที่ไหน เป็นการส่งข่าว เผื่อว่าใครเจอผู้หญิงคนนั้นอยู่ที่ไหน ให้กลับมาหาชาวเผ่าปกาเกอะญอ
ที่ผมชอบมากก็คือ เรื่องเล่าเรื่องงูใหญ่ ชิบอกว่าเป็นเรื่องเล่ากึ่งๆคำทำนายของปกาเกอะญอ เรื่องมีอยู่ว่ามีเจ้าเมืองคนหนึ่งไปทำไร่ เจ้าเมืองคนนี้มีลูกสาว 7 คน จึงให้ไปเฝ้าไร่ ใกล้ๆกันนั้นก็มีไร่ของเด็กกำพร้า วันหนึ่งเด็กกำพร้าได้ยินเสียงโวยวาย จึงออกมาดู เห็นงูยักษ์ตัวหนึ่ง ตัวใหญ่มากกำลังกินลูกสาวเจ้าเมือง จึงชักดาบออกมาจะฟันคอ งูใหญ่ที่ฉลาดยกตัวลูกสาวเจ้าเมืองขึ้นบัง สุดท้ายลูกสาวเจ้าเมืองถูกดาบฟันตายจนหมด งูยักษ์ตัวนั้นหนีไปได้ ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าไม่ช้างูใหญ่ตัวนั้นจะกลับมาอีก และจะมากลืนลูกสาวลูกชายของเจ้าเมือง
งูตัวนั้นใหญ่มาก ภายในท้องงูจะเป็นหน้าผา มีถ้ำ มีกบเข้าๆออกๆ และในถ้ำนั้น กบจะร้องเสียงดังอยู่ในท้องงู
เมื่อย้อนมาดูชีวิตของปกาเกอะญอ ก็มีงูใหญ่เข้ามาจริงๆ ชิพูดยิ้มๆ งูใหญ่ก็คือถนนหนทางที่เข้ามาในหมู่บ้าน คดเคี้ยวลดเลี้ยวเหมือนงู ลูกสาวลูกชายปกาเกอะญอต่างหายเข้าไปในเมือง เมื่อมาดูสภาพในเมือง ก็พบว่ามีหน้าผาจริงๆ มีกบ-ยี่ห้อซีวิค เบนซ์ อยู่เต็มไปหมด เหมือนกบจริงๆ ซึ่งปกาเกอะญอบอกว่าถ้าเข้าไปในท้องงู แล้วได้ยินเสียงกบร้อง ขวัญจะหนีไปอยู่กับกบ ขวัญไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หูอื้อไปหมด เสียงผู้ใหญ่พูดก็ไม่ได้ยิน เสียงเตหน่าดังก็ไม่ได้ยิน แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ทุกวันนี้เสียงจากในเมือง เสียงกบดังกลบทุกอย่างหมด
ชิเล่าว่าได้รับเชิญมาร่วมงานของสถาบันทักษิณคดี คิดกันว่าจะมาอย่างไร ไปรถทัวร์ หรือรถไฟดี ความที่กลัวงูใหญ่เลยตัดสินใจมารถไฟ แต่พอขึ้นรถไฟปุ๊บความที่ไม่เคยขึ้นรถไฟ เห็นรถไฟขบวนยาว เลยคิดไปว่าเราหนีงูใหญ่แต่มาเจอตะขาบ พอมาถึงสงขลา ได้เห็นทะเล คลื่น แล้วก็นางเงือก
เคยอ่านพระอภัยมณี พอรู้ว่านางเงือกชอบฟังเสียงปี่ ผมไม่รอช้า ผมมีเตหน่านี่นา จึงเข้าไปบรรเลงเตหน่าให้นางเงือกฟัง...ทางภาคเหนือผู้หญิงผู้ชายจับมือกันนี่ผิดผีแล้ว แต่ผมมาจับนมนางเงือกนี่ผิดผีหรือเปล่า? ชิถามด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ
นั่นเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ชิมาทะเล
ผมพบชิครั้งแรกที่ทักษิณคดีเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง ทางสถาบันจัดงานพบกวีที่หัวเมืองใต้ ชิกับพะตี(ลุง)ทองดี เป็นแขกรับเชิญเดินทางมาพร้อมคำ พอวา เพื่อนกวีชาวใต้ที่ไปหลงใหลมนต์เสน่ห์ของเมืองเหนือจนกู่ไม่กลับ
หลังจากได้ร่วมงานกับพะตีทองดีมานาน ในที่สุดก็ได้เวลาที่นกเขาป่าตัวนี้ออกบินเดี่ยวเสียที เพลงนกเขาป่าเป็นเทปชุดแรกของชิ ภายใต้การดำเนินการของชุมชนคนรักป่า เชียงใหม่ มีเพลงทั้งหมด 11 เพลง บางเพลงในอัลบั้มนี้ชิร้องเป็นภาษาปกาเกอะญอรอบหนึ่ง ภาษาไทยรอบหนึ่ง บางเพลงร้องภาษาไทยแล้วอ่านบทกวีเป็นภาษาปกาเกอะญอ บางเพลงเป็นปกาเกอะญอล้วน แต่ชิก็แปลเป็นภาษาไทยเขียนไว้บนปกเทป ซึ่งภาษาของชิ ไม่ธรรมดาเลย
ผืนแผ่นดินแคบลงมวลมนุษย์เพิ่มขึ้น สีดำทมึนรวมตัวสีขาวสลาย ฝนไม่ตกตามฤดูกาล แล้งไม่เหมือนแต่ก่อน ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น นกเขาขันบนกิ่งไม้ เงินเต็มกระบุงข้าวไม่เต็มกระบุง เพราะคนกินข้าวไม่เห็นต้นข้าว เพราะคนกินน้ำไม่เห็นต้นน้ำ ลูกฉันจะกินอย่างไร เหลนฉันจะอยู่อย่างไร เมื่อลูกสาวถักทอไม่เป็นลูกชายจักสานไม่เป็น ลูกหลานสมัยนี้เห็นงูไม่กลัวเห็นตะขาบไม่เกรง กลับหลงระเริงแต่เกล็ดมังกรทอง คนฉลาดจะกินได้ แต่ของฟรีนั้นมักราคาแพง จะตัดกิ่งไม้อย่าตัดหมดต้น เก็บเอาไว้ให้นกพญาไฟมาพักหนึ่งกิ่ง...เพลง ธา(poem)
บทเพลงของชิ เสียงร้องของชิ ในความเห็นของผมแล้วคือตัวแทนของธรรมชาติ อันเรียบง่าย ซื่อตรง บริสุทธิ์ แต่ลึกล้ำเปี่ยมเสน่ห์ เวลาที่เขาเอื้อนเนื้อเสียงเปล่งออกจากปอด ทุกอย่างดูเป็นธรรมชาติ เป็นเสียงร้องที่กลั่นออกจากก้นบึ้งของหัวใจ
ตอนที่นั่งเขียนบทความชิ้นนี้ ผมเปิดซีดีอัลบั้มของชิไปด้วย ปล่อยใจไปกับดนตรีพื้นบ้านที่ยังคงความบริสุทธิ์ จริงใจ สัมผัสเสียงกังวานก้องสะท้อนไปมาของขุนเขาที่อบอวลไปด้วยเสียงนกป่า ไก่ขัน จักจั่น เสียงลำธาร ขุนเขา และคำสอนของผู้เฒ่า ต่างเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน ทะเล ป่าเขา ไม่เป็นของใคร เป็นของธรรมชาติ เราเป็นเพียงผู้อยู่อาศัย ผู้ใช้ - บางทีเขาสมควรจะใช้เราด้วยซ้ำ แต่ทุกวันนี้เราได้แต่ใช้เขา...ปกาเกอะญอมองว่า ทำเท่าที่เราจะกิน แต่ทุกวันนี้เราทำมากกว่าที่เราจะกิน ทำให้โลกร้องให้ ชิบอกเล่าคำจากใจไว้ในปกอัลบั้มของตนว่า ผมบันทึกเรื่องราวชีวิต ผ่านกาลเวลา การบอกเล่า และประสบการณ์จริง เหมือนนกซอกอร้องเรียกตัวเองอยู่ที่ขุนห้วย หวังแต่เพียงการผ่านมาได้ยิน รับฟัง รับรู้อะไรเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนั้น ถิ่นกำเนิด ถิ่นอยู่กินและจะเป็นที่ตาย วันนี้นกเขาป่าตัวหนึ่งกำลังบินข้ามพรมแดนป่า เพื่อบอกเล่าความเป็นไปในที่แห่งนั้น...
เหม่ เหม่ แคอี เตอ ดิ เลอ ญา บ่า เก่อเจ่อ เก่อโล เส่โด่ ด่าปวาเก่อลอ หม่า กุย ปวา ฉ่า โพ ก่อโพ เกอะ โอะ แผ แล หมื่อ เก่อ เฉ่ ซอ เต่อพอมาวันนี้ไม่เหมือนดังแต่ก่อน สัตว์ป่า ป่าดงลำห้วยขุนเขาอับเฉาเงียบเหงาวังเวง ดังคนที่พลัดพรากจากรัก
ขอบคุณเสียงไก่ขันจากเล้าของแม่และเสียงจักจั่นยามเย็นจากป่าสนมูเจ่ดี
ชาคริต โภชะเรือง