บทความ
รวมเรื่องสั้นลูกโซ่ เมืองสมมติ
ชาคริต โภชะเรือง
สำนักพิมพ์ ก๊วนปาร์ตี้
สายส่งเคล็ดไทย
ปีนี้ผมออกรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ ชื่อเล่ม เมืองสมมติ ครับ
เว้นวรรคจากเล่มแรก : กาหลอ เกือบสิบปี ช่วงระหว่างเว้นวรรคไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ทำงานนะครับ ยังเขียนงานสม่ำเสมอ เฉลี่ยปีละ 2-3 เรื่อง ตลอดเวลาที่ผ่านมา พอมีเรื่องสั้นในมืออยู่ราวๆ 24 เรื่อง...ประมาณนั้น สามารถคัดสรรได้ถึง 2 เล่ม
ผ่านการทำงานด้วยตนเอง พบว่าความยากของงานรวมเล่มก็คือ การจัดการเพื่อหาความเป็นเล่มของรวมเรื่องสั้น ว่าไปก็มีหลายชุดวิธีคิดนะครับ
คุณชาติ กอบจิตติ นักเขียนชื่อดังคนหนึ่งใช้วิธีรวมเรื่องตามลำดับเวลาการเขียน อันนี้เพื่อดูในแง่พัฒนาการ ไม่มีการคัดสรร เพราะถือว่าทุกเรื่องที่เขียนใช้ได้ทั้งหมด พอใจทั้งหมด กว่าจะเขียนได้แต่ละเรื่อง หรือกว่าที่ผู้เขียนจะปล่อยผลงานออกมา ต้องบ่มเพาะสร้างสรรค์จนพึงใจ เหมือนการมีลูกนั้นแหละ เกิดมาแล้วก็รักเท่ากันหมด
แต่มีนักเขียนไม่กี่คนที่ทำงานภายใต้หลักการนี้
ส่วนใหญ่มักจะมีการคัดสรร มีการคัดออก เลือกเรื่องที่ดีที่สุด หรือเรื่องที่ไปกันได้ทั้งเล่ม ว่าไปการคัดสรรก็มีหลายรูปแบบ หลายแนวทางอีก
บางคนมีบก.ช่วยรวบรวม คัดสรรให้ อาจดูความคิดร่วม ค้นหาความเป็นเอกลักษณ์ในแง่รูปแบบหรือเนื้อหาสาระ มีความมุ่งหมายรวมอันใดเป็นพิเศษในเล่ม คัดสรรจากเรื่องสั้นหลายสิบ ให้เหลือที่เข้าชุดกันได้ประมาณสิบหรือสิบกว่าเรื่อง(ส่วนใหญ่)
กรณีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักเขียนใหม่ ประสบการณ์ยังน้อย มองงานตัวเองไม่ออก อยากได้บก.มาช่วยพิจารณากลั่นกรอง บางคนคัดสรรด้วยตนเอง กรณีนี้อาจเกิดได้กับนักเขียนใหม่ หากว่ามีความเข้าใจหรือมีความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองสร้างสรรค์จนคิดว่าสามารถดูแลตัวเองได้ หรือไม่ก็อาจจะคัดสรรแล้วส่งให้เพื่อนฝูง หรือที่ปรึกษา ช่วยให้คำแนะนำ เป็นลักษณะบก.หมู่ ก็เป็นทางออกอย่างหนึ่ง
บางคนใช้วิธีคิดวางแนวทางของเล่มล่วงหน้า เรียกว่าคิดไว้ก่อนเสร็จสรรพ แล้วค่อยลงมือเขียน กรณีกนกพงศ์ สงสมพันธ์ เขียน แผ่นดินอื่น หรือวินทร์ เลียววาริณ เขียน สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน อยู่ในข่ายผลงานลักษณะนี้
ในส่วนผมเอง ลองมาแล้วหลายรูปแบบ เล่มแรกส่งให้สำนักพิมพ์ใหญ่ พิจารณา ต่อจากนั้นก็พยายามส่งให้ดู แต่ก็ได้แต่ร้องเพลงรอ รอ ก็เลยคิดใหม่...
พึ่งตนเอง โตแล้ว เขียนงานมานานแล้ว น่าจะยืนได้ด้วยลำแข้ง จะดีจะเลว เราเองก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานที่จะเป็น บก.ให้ตัวเอง
คิดแบบโมเดลนักเขียนไทยเข้มแข็ง คุณวินทร์ เลียววาริณ กล่าวไว้ เล่มแรกที่ทำเช่นนี้ก็คือ สารคดี จะนะในฤดูกาลแห่งลมนอก (เล่มนี้มีพี่ๆบางคนช่วยตั้งชื่อเล่มและดูแลการผลิตให้)
เล่มต่อมาคือ สารคดี คนค้นคลอง
และล่าสุดก็คือ นวนิยาย ประเทศใต้ มีเพื่อนฝูงช่วยกันอ่านต้นฉบับ แล้วก็มีทีมช่วยจัดหน้า แล้วก็มีหมอนิล-ภูเก็ต ช่วยทำหน้าปก เล่มนี้พิมพ์เอง ตั้งสำนักพิมพ์เอง ประสานสายส่ง เรียนรู้กระบวนการจำหน่ายด้วยตนเอง
เป็นเล่มที่ทำให้เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างสำนักพิมพ์ ดูแลตนเอง พิมพ์เองให้ได้ปีละ 1 เล่มและจนกระทั่งปีนี้ ได้ออกรวมเรื่องสั้น เมืองสมมติ เป็นผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มที่ 2
ณ วันนี้เข้าใจว่ากำลังวางแผง ในเมืองหลวงน่าจะส่งวางตามร้านหนังสือแล้ว หากเป็นต่างจังหวัดอาจจะต้องรออีก 1 เดือนให้หลัง
ทั้งเล่มมีเรื่องสั้น 10 เรื่อง ไม่สั้นไม่ยาว หากมีสมาธิดีๆ ก็สามารถอ่านรวดเดียวจบ เรื่องที่ตีพิมพ์ล่าสุด คือ บทบาทสมมติ ในหนังสือช่อการะเกด 51 เมื่อมกราคม 2553 เรื่องที่เก่าที่สุด คือ แมวบาดเจ็บ ตีพิมพ์เมื่อปี 2540 และไม่ได้ตีพิมพ์ที่ไหน คือ โคกนกคุ่ม
กาหลอ เล่มแรก โดยภาพรวมออกไปทางแสดงภาวะของปัจเจก เผยด้านมืดด้านสว่างของมนุษย์ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การย้อนมองกลับไปสู่อดีต ก็เหมือนการได้พิจารณาตรวจสอบ ทบทวนแง่มุมต่างๆในชีวิต
เมืองสมมติ ต่างออกไป เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมหรือสังคมที่เราสังกัด สะท้อนแง่มุมต่างๆที่สัมพันธ์กับความเป็นเมืองใหญ่ ไม่ได้มุ่งเน้นวิถีปัจเจกอีกต่อไป เล่มแรกมองตัวตน เล่มสองมองสภาพแวดล้อม
เมืองสมมติ เป็นชื่อที่มีความหมายใน 2 ระดับ คือ เมืองที่มีแต่ปัญหาสะสม กระทั่งว่าจำเป็นที่จะต้องวางผังเมืองใหม่ ปฎิรูปทุกอย่างใหม่ และเมืองสมมติในความหมายเชิงอนาคต เมืองใหม่ที่ทุกคนอยากเห็น หรือเมืองในอุดมคติ
หากท่านอ่านตั้งแต่แรก ท่านจะได้เดินทางไปสู่เมืองๆหนึ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆหลากหลายแง่มุม อันเป็นปัญหาของเมืองใต้วิถีแห่งทุน ทั้งวิถีแห่งปัจเจก การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม ละเรื่อยไปถึงรากของเมืองในเชิงประวัติศาสตร์ กระทั่งสุดท้าย ท่านจะได้พบกับเมืองแห่งอนาคต ที่ท่านอยากเห็น
ภายใต้พื้นที่แห่งตัวตนที่แตกต่าง สีเหลือง สีแดง มนุษย์เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร...
ทั้งหมดนี้ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้รูปแบบของเรื่องสั้นลูกโซ่
อะไรคือเรื่องสั้นลูกโซ่
อันนี้ไม่อยากเฉลยคำตอบ อยากให้ท่านได้ค้นหาความหมายของมันด้วยตนเอง
ปกติผมเองก็ไม่อยากจะเขียนถึงผลงาน หรืออธิบายชี้นำอะไรมาก พอใจที่จะให้เกียรติผู้อ่านได้ค้นพบ และหาความหมายของตนเองตามประสบการณ์ที่แตกต่างๆ ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนคนเขียน
การอ่านควรจะเปิดโลกแห่งการสร้างความหมายใหม่ ผ่านข้อเขียน ผ่านทัศนะ ผ่านรูปแบบทางศิลปะที่จะมีส่วนช่วยกระตุก ปลุกเร้า ให้ประสาทการรับรู้ตื่นตัว ค้นหา และพบคำตอบ พบความหมาย ที่เป็นเรื่องเฉพาะและเรื่องประสบการณ์ร่วมของมนุษย์เรา
อยากเชิญชวนให้ได้ลองอ่านกันครับ.