บทความ

วรรณกรรมท้องถิ่น

by 2 @November,14 2006 20.43 ( IP : 58...100 ) | Tags : บทความ

วรรณกรรมท้องถิ่น

พิเชฐ แสงทอง

ในประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องวรรณกรรมกับการที่วรรณกรรมเรื่อง "ไกรทอง" หรือแม้กระทั่ง "ขุนช้างขุนแผน" ซึ่งเดิมเป็นนิทานพื้นบ้านภาคกลาง แต่ต่อมาถูกนำไปปรุงแต่งให้งดงามทางวรรณศิลป์

ด้วยการบรรจุลงไปในกรอบฉันทลักษณ์อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมวรรณศิลป์ของชนชั้นสูง กระทั่งถูกยกย่องให้เป็น "วรรณคดี" (โดยเฉพาะเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ถึงกับถูกยกให้เป็นยอดวรรณคดีประเภทกลอนสุภาพ) ขณะที่วรรณกรรม/วรรณคดีของวัฒนธรรมชั้นสูงหลายต่อหลายเรื่องก็ถ่ายทอด/แพร่กระจายไปสู่ชาวบ้าน ถูกเล่า ถูกสวด ถูกขับด้วยภาษาและฉันทลักษณ์หลวมๆ แบบท้องถิ่น จนกลายเป็น(วรรณกรรมท้องถิ่น) ฉบับภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือ (และปรุงแต่งกันไปเป็นฉบับเล็กฉบับน้อยอีกมากตามลักษณะเฉพาะของแต่ละชุมชน) วรรณกรรมเหล่านี้กลับหมดโอกาสขึ้นสู่ทำเนียบวรรณคดี

ปรากฏการณ์วรรณคดีของวัฒนธรรมชนชั้นสูงที่มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมท้องถิ่นได้พอ ๆ กันกับที่วรรณกรรมท้องถิ่นเองก็มีอิทธิพลต่อวรรณคดีของวัฒนธรรมชนชั้นสูง แสดงให้เห็นว่า การแพร่กระจายของวรรณกรรมนั้นสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาด (ผู้เสพ) ให้แก่วรรณกรรมในสองวัฒนธรรมได้แทบจะเท่า ๆ กัน

ถ้าหากเราหยุดการรับรู้ไว้เพียงย่อหน้าข้างต้นได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในเมื่อเราได้รับรู้ด้วยว่า ในตำราเรียนของเราแต่ไหนแต่ไรมา (ตั้งแต่จินดามณีฉบับอยุธยาที่มีบางบทของลิลิตพระลอก็ว่าได้) มีแต่เพียงวรรณกรรมของวัฒนธรรมชนชั้นสูงซึ่งถูกยกย่องให้เป็น "วรรณคดี" แล้วเท่านั้นที่ถูกนำมาเสนอเข้ามาเป็นตัวแทนองค์ความรู้ คุณค่า และบรรทัดฐานของวรรณกรรมไทยโดยรวม

ก่อนจะถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่วรรณกรรมไทยหันหน้าไปหารูปแบบตะวันตกเมื่อรัชกาลที่๕ เป็นต้นมา เราอาจพูดได้ว่า บรรทัดฐานของวรรณกรรมไทยนั้น คือ บรรทัดฐานของวรรณกรรมชนชั้นสูงซึ่งถูกยกย่องให้เป็นวรรณคดีแล้วเท่านั้น บรรทัดฐานเหล่านี้อาจเห็นได้จากเกณฑ์วินิจฉัยหนังสือ "แต่งดี" ของ "วรรณคดีสโมสร" ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า ต้องเป็นเรื่อง (เนื้อหา) ที่ควรอ่าน ไม่ชักจูงผู้อ่านไปในทางไร้แก่นสารและวุ่นวายทางการเมือง อีกทั้งรูปการประพันธ์ ตลอดจนภาษาก็ต้องเป็นภาษาไทยที่ดี ถูกต้องตามโบราณ

บรรทัดฐานนี้แม้กระทั่ง "วรรณคดีสโมสร" ยุติบทบาทลงไปแล้วในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ แต่เมื่อ "สมาคมวรรณคดี" ซึ่งทรงก่อตั้งโดยกรมพระยาดำรงเดชานุภาพเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๔๗๔ ก็ยังคงถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญในวาระการประชุมเพื่อวินิจฉัย "หนังสือกลอนลิลิต" พระวรเวทย์พิสิฐ กรรมการสมาคมยังได้เสนออีกว่า คำประพันธ์ที่ดีที่สุดมีลักษณะ ๕ ประการ คือ ๑) แต่งถูกต้องตามข้อบังคับของคำประพันธ์ชนิดนั้น ๆ โดยเคร่งครัด ๒) ความดี และเด่น ๓) สัมผัสดี ๔) ความไพเราะ ๕) ไม่แต่งอย่างที่ว่ากลอนพาไป

แค่เพียงลักษณะข้อที่ ๑ เราก็จะเห็นว่าวรรณกรรมท้องถิ่นซึ่งมีธรรมชาติอยู่ที่ความไม่นิยมฉันทลักษณ์ ซับซ้อน ตายตัว หรือเคร่งครัด ก็เสียโอกาสที่จะเป็นงาน "แต่งดี" ไม่อาจก้าวขึ้นทำเนียบเพื่อเป็น "วรรณคดี" เสียแล้ว

ในกรอบนิยามคำว่า "การเมือง" ซึ่งหมายถึงความพยามยามในการช่วงชิง/สถาปนาอำนาจนำโดยการสร้างวาทกรรมครอบงำวาทกรรมอื่น ๆ เราก็จะพบว่าวรรณกรรมไทยในห้วงเวลานั้นถูกกอดกุมความหมาย ตลอดจนบรรทัดฐานในการประเมินค่าโดยวัฒนธรรมของชนชั้นสูง วรรณกรรมท้องถิ่นกลายเป็นสิ่งนอกกระแส เป็นวรรณกรรมชายชอบ ศิลปะของงานเหล่านี้เป็นเพียงวรรณศิลป์นอกกกระแสที่ถูกเมิน

วาทกรรมครอบงำจากยุค "วรรณคดีสโมสร" ส่งผ่านถึง "สมาคมวรรณคดี" จนแม้เมื่อจอมพล

สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงต้นศตวรรษ ๒๕๐๐ มันก็ยังคงอิทธิพลครอบงำอยู่ไม่เสื่อมคลายในเอกสารซึ่งแผนกวัฒนธรรมทางวรรณกรรม กองวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการรียบเรียงขึ้นเพื่อบรรยายออกอากาศทางสถานีวิทยุ (ต่อมารวมพิมพ์เป็นหนังสือชุดวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๐๒) ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีการกำหนดบรรทัดฐานประเมินค่าวรรณกรรมขึ้นมาใหม่ แผนกวัฒนธรรมทางวรรณกรรมเพียงแต่นำหนังสือ.ที่ได้มีการพิจารณายกย่องกันว่าเป็นวรรณคดี คือ หนังสือที่แต่งดีถึงขนาด.(หน้า ๑-๒) มาถ่ายทอดยกย่องต่อ แน่นอนว่าในกระแสธารประวัติศาสตร์ช่วงนี้ วรรณกรรมท้องถิ่นย่อมไม่อาจโงหัวขึ้นมาได้เหมือนเดิม

"ที่ทาง" ของวรรณกรรมท้องถิ่นที่เป็นทางการมีขึ้นหลังจากนั้นมาอีก ๖ ปี คือใน พ.ศ. ๒๕๐๘ เมื่อวิทยาลัยครูได้บรรจุลงไปในหลักสูตรในฐานะของภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนวิชา "คติชนวิทยา และภาษาถิ่น" จนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ วรรณกรรมท้องถิ่นก็แยกออกมาเป็นกระบวนวิชาอย่างเอกเทศ หลังจากนั้นหลักสูตรศิลปศาสตร์ในมหาวิทยาลัยก็เริ่มหันมาให้ความสนใจเพิ่มขึ้น

แต่ทว่าในสังคมและวัฒนธรรมที่ "เมือง" มีอิทธิพลและสามารถสร้างวาทกรรมหลักขึ้นมาครอบงำได้อย่างง่ายดายอย่างสังคมและวัฒนธรรมไทย การมี "ที่ทาง" ของวรรณกรรมท้องถิ่นอย่างเป็นทางการ (บ้าง) เช่นนี้ก็หาได้เอื้อประโยชน์ให้วรรณกรรมท้องถิ่นกลับขึ้นมามีชีวิตชีวาได้เท่าใดนัก การศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมท้องถิ่นในระยะนี้ยังเน้นลักษณะการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม

และที่สำคัญมันถูกโยก (โดยธรรมชาติ และความเหมาะสม) ให้เป็นภาระของปัญญาชนท้องถิ่นและนักวิชาการท้องถิ่น ซึ่งไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะสถาปนาวาทกรรมวรรณกรรมท้องถิ่นให้ขึ้นมาเป็น (แม้เพียง) วาทกรรมทางเลือกได้ ขณะนั้นนักวิชาการวรรณคดีก็ยังคงเอาจริงเอาจังอยู่กับภารกิจในการสืบสาน/สืบทอด/ตอกย้ำวาทกรรมครอบงำในอดีตให้ลงหลักปักฐานแน่นหนายิ่งขึ้น และกว้างขวางขึ้นด้วยเกณฑ์/บรรทัดฐานการประเมินค่าวรรณกรรมในฐานะกระจกส่องสะท้อนยุคสมัย ซึ่งเพิ่งเข้ามาใหม่พร้อมกับชนชั้นกระฎุมพี

หรือแม้กระทั่งในหมู่ผู้ศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นอันได้แก่ปัญญาชนท้องถิ่น นักวิชาการท้องถิ่นเอง ในระยะแรก ๆ กรอบการศึกษาที่ใช้ก็ดูเหมือนจะยกแบบ "กรอบ" ในการศึกษาวรรณคดีมา อย่างเช่นศึกษาด้านวรรณศิลป์ มีความพยายามถอด/วาดแผนผังฉันทลักษณ์ ศึกษากลวิธีสร้างภาพพจน์ สร้างโวหารกวี โดยเฉพาะในเพลงพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ ซึ่งถ้าจะกล่าวไปแล้ว วิธีการเช่นนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ปัญญาชนและนักวิชาการท้องถิ่นเองก็ตกอยู่ภายใต้วาทกรรมครอบงำของวรรณคดีดุจเดียวกันกับที่

นักวรรณคดีส่วนกลางเป็น

และเมื่อข้ามเวลามาถึงปัจจุบันที่ถนนทุกสายไม่ได้มุ่งสู่กทม.อีกแล้ว แต่คำตอบอยู่ที่หมู่บ้านแทน วรรณกรรมท้องถิ่นก็ยังคงถูกกดทับ/กีดกันให้ออกจากวาทกรรม กระแสหลักอันเป็นวาทกรรมวรรณกรรมสัจนิยม ซึ่งเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วพร้อม ๆ กับจำนวนที่อ้วนพีของชนชั้นกลางตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ จนถึงก่อนฟองสบู่แตกเมื่อราว ๑๐ ปีก่อน "ตลาด" ของวรรณกรรมกระแสหลักคือตลาดของชนชั้นกลาง และเมื่อปรากฏว่า ธรรมชาติ (หรือจริต? หรือมายาคติ?) ของชนชั้นนี้ คือ วิสัยทัศน์สู่เบื้องหน้าที่สูงขึ้นไปเท่านั้น ปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและรสนิยมของชนชั้นตนจึงผสมปนเปกันไประหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมชนชั้นสูง เราอาจเห็นรูปธรรมของการปฏิสัมพันธ์นี้ได้ง่าย ๆ จากบางปรากฏการณ์ เช่น "ฉันทลักษณ์" (เช่น โคลง, ฉันท์, กาพย์, กลอนแบบสุนทรภู่) อันเป็นมรดกจากชนชั้นสูงในกวีนิพนธ์ ขณะที่เนื้อหาเปลี่ยนแปลงไปจากแบบวรรณคดีสู่เนื้อหาเชิงปรัชญาความคิดแบบตะวันตก

ในสภาพเช่นนี้วรรณกรรมท้องถิ่นยังคงถูกสตัฟฟ์อยู่ในตำราเรียน ซึ่งยังความสามารถในการสร้างความเบื่อหน่ายให้แก่เยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเข้าสู่ปลายศตวรรษที่ ๒๐ ก็เกิดมีโครงการวิจัย "หนังสือดี ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน" ซึ่งผู้วิจัยยังคาดหวังว่า หนังสือดี ๑๐๐ เล่มนี้ (ไม่มีวรรณกรรมท้องถิ่นอยู่เลย แต่มีวรรณคดี และวรรณกรรมสัจนิยม) จะถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา ภาษา วรรณคดี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาระดับต่าง ๆ .ซึ่งก็หมายความว่ายังมีความพยายามสถาปนาให้วรรณคดีและวรรณกรรมสัจนิยมซึ่งเป็นวาทกรรมครอบงำอยู่แล้ว (ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ) เป็นตัวแทนองค์ความรู้ คุณค่าต่าง ๆ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยไม่เปิดโอกาสให้มีวาทกรรมทางเลือกอื่นเลย

เมื่อถามว่าวรรณกรรมท้องถิ่นผิดตรงไหน วาทกรรมกระแสหลักตอบว่า

".เพราะคงจะยากเกินไปสำหรับผู้อ่านทั่วไปซึ่งไม่ได้มีความรู้ภาษาถิ่นใดถิ่นหนึ่ง ที่ต้องอาศัยการแปล การอธิบายความอยู่มาก แม้เราจะรู้สึกว่าการคัดเลือกเฉพาะหนังสือที่เขียนและผลิตขึ้นในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ ๆ อาจไม่เป็นธรรมและไม่ครอบคลุมอย่างกว้างขวางเพียงพอ." (สารานุกรมแนะนำหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน, หน้า ๒๑)

ผู้เขียนไม่พึงปรารถนาและไม่ได้เรียกร้องให้นักวิชาการนักวรรณกรรมหันมาสร้างสถาปนาวาทกรรมวรรณกรรมท้องถิ่นให้ขึ้นมามีอิทธิพลครอบงำวรรณกรรมอื่น ๆ เพราะเพียงแค่จะทำให้มันมีหน้ามีตาขึ้นมาบ้างก็ยังไม่เห็นหนทางว่าจะทำอย่างไร

ความมุ่งหมายของบทความชิ้นนี้เพียงต้องการชี้ให้เห็นอย่างคร่าว ๆ ว่า ตลอดมา  บนเส้นทางประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย วรรณกรรมท้องถิ่นถูกการเมืองเรื่องวรรณกรรมกดทับ/เบียดบังจนสิ้นรัศมีไปอย่างไรเท่านั้น!.

สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์. ๔๕ : ๒๓ (๗ - ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๒) , หน้า ๖๘ - ๖๙.

Comment #1
มิ้น
Posted @November,25 2006 15.42 ip : 202...192

ขุนช้างขุนแผน

Comment #2
เปปเปอร์
Posted @June,19 2007 14.49 ip : 124...182

ดี

Comment #3
เยี่ยว
Posted @July,20 2007 09.50 ip : 222...17

ดีนะ

Comment #4
คนไม่มีนาม
Posted @July,27 2009 14.47 ip : 118...110

ชอบมากค่ะเพราะเป็นของคนไทยของเราเองนะค่จะไม่ชอบของไทยและจะให้ไปชอบของใครของชาติเราดีทุกอย่างนะ +)  +)  +)  +)  :d  :d  :d :):):) #)  #)  #)  #)  +)  +)  ;)

Comment #5
รักเด็กขี้โม้
Posted @February,06 2010 12.12 ip : 125...29

อยากรู้จักวรรณกรรมพื้นบ้าน  4  ภาคจังเลย ;)  ;)

Comment #6
PK
Posted @March,02 2010 14.11 ip : 202...52

ไอห่าอ่านไม่รู้เรื่อง หรือเราโง่วะ

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ