บทความ
กวีและกวีนิพนธ์ ใน 'ตัวตน' ของพนม นันทพฤกษ์
พิเชฐ แสงทอง
คอลัมน์อ่านออกเสียง
เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๕๙๒ วันที่ ๖ - ๑๒ ต.ค. ๒๕๔๖
พนม นันทพฤกษ์ เป็นที่รู้จักในวงวรรณกรรมไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๒ ในฐานะนักเขียนเรื่องสั้นรางวัลช่อการะเกด ทั้งที่จริงแล้ว พนมสร้างงานมาก่อน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ แต่ในอีกนามหนึ่ง อย่างไรก็ดี บทความนี้ต้องการศึกษาเฉพาะกวีนิพนธ์ที่เขียนขึ้นในนาม พนม นันทพฤกษ์ เพราะกวีนิพนธ์ในนามนี้ถูกกล่าวถึงในฐานะ 'ต้นแบบแห่งยุคสมัย' อันแสดงถึงความมี 'ตัวตน' ที่ชัดเจนระดับหนึ่ง จึงมีความจำเป็นต้องกันผลงานในนามอื่นไป ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นต้องโยงใยเจตนารมณ์หรือแนวคิดบางประการ
พนมเติบโตในยุคที่วาทกรรมกวีนิพนธ์เชิงสังคม (นิยม) ศาสตร์เฟื่องฟู เขาเหมือนกับกวีรุ่นเดียวกันคนอื่นๆ ในยุคนั้นที่ตกอยู่ภายใต้วาทกรรมแห่งยุคที่ว่ากวีนิพนธ์คือเครื่องมือในการลบล้างอธรรม (จากชนชั้นปกครองและนายทุน) ในสังคม และเข้าข้างประชาชนผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่เขาต่างไปจากคนรุ่นเดียวกันคนอื่นบ้างในแง่ที่ไม่มอง เนื้อหา กับ รูปแบบ ในกวีนิพนธ์แยกออกจากกัน (อย่างเด็ดขาด) เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า "...ถ้าจะเขียน (บทกวี) ต่อไป ผมมีความรู้สึกหลายเรื่อง เรื่องรูปแบบกับเรื่องเนื้อหา ผมคิดว่ามันน่าจะมีทั้งน้ำทั้งเนื้อ มีทั้งเหตุผล และควรจะมีถึงวิธีการมองปัญหา ในเนื้อหาควรจะพิถีพิถัน ในรูปแบบเรื่องท่วงทำนอง เรื่องจังหวะ เรื่องเสียง ก็ควรพิถีพิถันให้มากขึ้น..." พร้อมๆ กันนั้นเขายังหันกลับไปมองกวีนิพนธ์ในยุคเดียวกันอย่างตรวจสอบและพินิจพิจารณา ดังที่เคยวิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะทางออกให้แก่กวีนิพนธ์เพื่อชีวิตไว้ว่า "ในทัศนะของผม วรรณกรรมก้าวหน้า หรือวรรณกรรมเพื่อชีวิต ประการแรก พื้นฐานของมันจะต้องมีสัจจะในข้อมูลเรื่องราวที่เขาเอามาเขียน คือมีข้อมูลที่ดำรงอยู่จริง ของเหตุการณ์ที่มีอยู่จริง ผมว่าส่วนนี้คือลักษณะของสัจจะ ลักษณะของอัตถนิยม แต่ว่าวรรณกรรมก้าวหน้ามันไม่ควรจะเพียงรายงาน เล่าเรื่องให้ฟังว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นอย่างนี้ๆ มันควรจะมีอีก ส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนโรแมนติก ส่วนของความหวังที่จะมองไปข้างหน้าว่าจากพื้นฐานของเหตุผลอันนี้ มันน่าจะมีความหวังอันรุ่งโรจน์ มันน่าจะมีทัศนะที่ดีงามต่อการแก้ปัญหาที่ดำรงอยู่นี้ วรรณกรรมก้าวหน้าควรจะมีทั้งสองลักษณะนี้ประสานกัน คือมีทั้งลักษณะเรียลลิสติกและลักษณะโรแมนติก'
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดูเหมือนจะเป็นนักวิชาการคนแรก ที่มองเห็นเอกลักษณ์อันแตกต่างไปจากคนรุ่นเดียวกันคนอื่นๆ ของพนม นันทพฤกษ์ ในบทนำรวมบทกวี 'เจ้าชื่อทองกวาว' (๒๕๑๔) หนังสือรวมผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นิธิจึงเขียนถึงพนม นันทพฤกษ์ (ในนามสถาพร ศรีสัจจัง) ไว้ว่า 'เขาไปไกลที่สุด' เพราะผลงานแสดงออกถึงตัวตนของผู้เขียนได้ชัดกว่ากวีคนอื่นๆ "...ตามแนวทางเช่นนี้เท่านั้นที่สถาพรจะค้นตัวของเขาเองพบ เขาต้องเขียนกลอนอย่างที่สถาพรเขียน ไม่ใช่อย่างอังคาร วิโรจน์ (ศรีสุโร) เนาวรัตน์ หรือสุนทรภู่..."
ความโดดเด่นเหนือเพื่อนกวีรุ่นเดียวกันที่ทำให้ผู้อ่านอย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์ สัมผัสได้คือร่องรอยของการตอบโต้กระแสหลักของพนม ถ้าติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ของเขาในหลายที่ เราจะพบว่า แม้พนมเติบโตขึ้นภายใต้วาทกรรมกวีนิพนธ์แบบสังคม (นิยม) ศาสตร์เหมือนกับกวีเพื่อชีวิตรุ่นใหม่แถวหน้าคนอื่นๆ ในช่วงทศวรรษที่ ๒๕๑๐ เป็นต้นมา แต่แนวคิดเกี่ยวกับกวีนิพนธ์ของเขาก็มีลักษณะโต้แย้งกับกระแสหลักอยู่ ในยุคตุลาคม ๒๕๑๖-ตุลาคม ๒๕๑๙ กวีเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ๆ ต่างก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกวีนิพนธ์แบบจิตร ภูมิศักดิ์ แต่พนม-แม้ชื่นชมยกย่องนักรบของคนรุ่นใหม่ผู้นี้ แต่ยังเห็นข้อบกพร่องของจิตรด้วยว่าจริงแล้วมีส่วนด้อยอยู่ โดยเฉพาะการเขียนกลอนแปด "...ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีเสียงยานแล้วก็ยาว มีลักษณะไม่กระชับ แล้วก็ให้อารมณ์ที่อ่อนไปหน่อย"
น่าเชื่อได้ว่าพนมได้นำข้อบกพร่องของกวีนิพนธ์ของจิตร ซึ่งเขามองเห็นมาปรับปรุงเมื่อต้องเขียนกวีนิพนธ์ของตัวเอง กวีนิพนธ์ของพนมจึงให้ความสำคัญต่อศิลปะการนำเสนอ เพราะศิลปะการนำเสนอจะทำให้คนอ่านเกิดความฉุกคิด และจุดประกายทัศนะโต้แย้งด้วย แทนที่จะรู้สึกคล้อยตามอย่างเดียวดังที่กวีนิพนธ์เพื่อชีวิตให้ความสำคัญ
ส่วนด้านท่วงทำนอง ซึ่งพนมเห็นว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่กระชับ จังหวะหย่อนและยานเกินไป ก็ถูกนำมาปรับปรุงในผลงานกลอนแปดของตน ผลงานกลอนแปดของพนมจึงห้วนสั้นและกระชับ นักวิจารณ์วรรณกรรมบางท่านเชื่อมโยงและยืนยันว่า นั่นคือลักษณะของพื้นถิ่นภาคใต้ ที่ส่งให้เขาโดดเด่นและมีอิทธิพลต่อกวีร่วมสมัยรุ่นหลังๆ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ยกย่องให้พนมเป็น 'ต้นแบบแห่งยุคสมัย' ด้วยเหตุผลว่าพนมโดดเด่นในการเขียนกวีนิพนธ์เชิงบอกเล่าเรื่องราว เพราะเขาผสมผสานระหว่างบทกวีกับเรื่องสั้น เป็นแบบฉบับของกวีที่เขียนหมายเลขกำกับบท มีการตัดภาพ ตัดฉาก และโดดเด่นในการใช้คำและสัมผัส การจัดเรียงคำ เน้นความเหลื่อมล้ำของเสียง
จะเห็นได้ว่า ในขณะที่กวีกระแสหลักในยุคเพื่อชีวิต พยายามอย่างยิ่งในการใช้กวีนิพนธ์เป็นเครื่องมือกดดันและกระตุ้นความรู้สึก (ปลุกเร้า) ผู้อ่าน (ประชาชน) พนมกลับแหวกกระแสออกไป ด้วยการทำให้กวีนิพนธ์เป็นเพียงสิ่งที่จุดประกายความคิดและการโต้แย้งถกเถียง การจุดประกายดังกล่าวนี้ แทนที่จะจุดประกายด้วยการหลั่งไหลความรู้สึกของกวีออกไปในกวีนิพนธ์ พนมกลับเขียนกวีนิพนธ์ในเชิงเรื่องเล่า มีฉาก ตัวละคร เสียงเล่า บางครั้งมีปมขัดแย้งเหมือนกับเรื่องแต่ง แทนที่จะใช้ความรู้สึกของตัวกวี (ที่หลั่งไหลลงไปในกวีนิพนธ์) เป็นตัวกระตุ้นหรือจุดประกายความคิดผู้อ่าน พนมกลับปล่อยให้กระแสของเรื่องราวในกวีนิพนธ์เชิงเรื่องสั้นของเขา เป็นตัวกระตุ้นและจุดประกาย จึงกล่าวได้ว่าเป็นการหยิบฉวยเอาความสามารถของเรื่องเล่ามารับใช้กวีนิพนธ์
เป็นที่น่าสังเกตว่าการนำระเบียบวิธีของเรื่องเล่ามาใช้ในกวีนิพนธ์ดังกล่าวนี้ เป็นการย้อนอดีตไปสู่การเขียนกวีนิพนธ์เชิงนิยายในยุควรรณคดี เพียงแต่เพราะรสนิยมร่วมสมัยขณะนั้นรูปแบบเรื่องสั้นแพร่หลาย และรูปแบบกวีนิพนธ์ขนาดสั้นตอบสนองการเสพของสังคมได้ดีกว่า พนมจึงเลือกที่จะประสมประสานระหว่างอดีตกับปัจจุบัน (ขณะนั้น) กลายเป็นกวีนิพนธ์เชิงเรื่องสั้น
ท่วงทำนองในกวีนิพนธ์ของพนม นันทพฤกษ์ นั้น แม้จะห้วน สั้น กระชับ ไม่เน้นจำนวนคำ (แบบสุนทรภู่) หากเน้นกระแสความแบบบุคลิกของคนภาคใต้ แต่ควรตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า สิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยลักษณะพื้นถิ่นภาคใต้แต่เพียงปัจจัยเดียว แต่น่าจะมีรากฐานมาจากวรรณคดีไทยด้วย ดังที่หินผา บ้านไพร กล่าวไว้ว่า "...ข้อเด่นของเขาคือ ลักษณะการใช้คำของเขา แสดงถึงการสืบทอดวรรณคดีโบราณได้อย่างคนที่มีความเข้าใจ..." ขณะที่ กานติ ณ ศรัทธา เห็นว่า ลีลาแบบพนมเป็นการเก็บซับเอาลักษณะเด่นของวรรณคดีโบราณ โดยเฉพาะ ขุนช้างขุนแผน เข้ามาด้วย สอดคล้องกับไพลิน รุ้งรัตน์ ที่ศึกษาพบว่า ท่วงทำนองห้วนสั้น ไม่เน้นจังหวะและจำนวนคำ เห็นได้จากวรรณคดีชิ้นเอกเรื่อง 'ขุนช้างขุนแผน' กวีนิพนธ์ของพนมก็มีท่วงทำนองคล้ายๆ กับวรรณคดีเรื่องนี้
เมื่อเปรียบเทียบกับ อังคาร กัลยาณพงศ์ ตัวตนของพนม นันทพฤกษ์ ไม่ว่าจะในฐานะกวีหรือปุถุชน ดูเหมือนจะไม่ได้มีส่วนในการสร้างตัวตนในฐานะกวีของเขาเลย พนมเมื่อเขียนกวีนิพนธ์ในเล่ม 'คลื่นหัวเดิ่ง' (๒๕๒๒) ยึดการเขียนกวีนิพนธ์เป็นงานอดิเรก เขายืนยันว่าอาชีพกวีในสังคมไทยนั้นไม่อาจมีได้ ดังที่ให้สัมภาษณ์ โลกหนังสือ ว่า "ภายใต้สังคมทุนที่ล้าหลังแบบประเทศเรา ผมว่าคนที่เป็นกวีเองนี่ คุณต้องทราบอยู่อย่างหนึ่งว่า เขาไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้โดยการปฏิบัติตัวเป็นกวีจริงๆ โดยอาชีพเขาอาจจะต้องนั่งหมักหมมอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี เขาอาจจะหาเวลาไปดูทะเลได้ปีละครั้ง หรือว่าจะไปเที่ยวบ้านนอกได้ซัก ๕ เดือนหน"
วิธีคิดเช่นนี้เห็นได้ว่า เป็นการโต้แย้งวาทกรรมกวีนิพนธ์กวีศาสตร์ ที่ยกฐานะของกวีเป็นนักปรัชญา/ศิลปิน จะว่าไปแล้วเป็นการโต้แย้งวาทกรรมกวีนิพนธ์แบบอังคาร กัลยาณพงศ์ โดยตรง เพราะไม่ได้ยกย่องกวีให้สูงส่งเป็นตัวกลางนำมนุษย์ไปสู่นิพพาน หรือแม้แต่สูงส่งเกินคนธรรมดา
กวีในความหมายของพนมดูเหมือนจะเป็นเพียงคนธรรมดาสามัญคนหนึ่ง ซึ่งใช้กวีนิพนธ์เป็นมุมส่วนตัวสำหรับถ่ายทอดความรู้สึก ความคิด และกล่อมเกลาตนเอง เป็นเพียงมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีพรสวรรค์และเสียสละอย่างแรงกล้าแบบกวีในทัศนะของอังคาร เปรียบไปแล้วกวีก็เป็นเพียงอณูเล็กๆ ในจักรวาล เป็นเพียงกรวดครึ่งก้อน เป็นเพียงนกในพุ่มไม้ เป็นเพียงดอกหญ้าไหวในท้องทุ่ง เป็นเพียงจักจั่นเรไรสร้างเสียงดนตรีแห่งธรรมชาติฯ ที่สร้างสรรค์บทกวีเพื่อเป็นองค์เล็กๆ ของความดีงามและความสมบูรณ์แห่งโลก ความคิดเกี่ยวกับสถานภาพกวีเช่นนี้ ถ่ายทอดออกมาอย่างชัดแจ้งในผลงานชุด 'เป็นกวี' และ 'ใจกวี' ซึ่งรวมอยู่ในบทกวีเล่ม 'ทะเล ป่าภู และเพิงพัก' (๒๕๔๑)
จะว่าไปแล้ว แนวคิดนี้ก็ดูจะเป็นแนวคิดปัจเจกชน ซึ่งมีอิทธิพลอย่างหนักแน่นและกว้างขวางในสังคมไทยตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๓๐ เป็นต้นมา ทั้งยังเป็นแนวคิดที่ร่วมสถาปนาวาทกรรมกวีนิพนธ์แบบกวีศาสตร์อีกด้วย อย่างไรก็ดี เราได้เห็นร่องรอยการตอบโต้กระแสหลักกระแสนี้ของพนมอยู่บ้างในแง่ที่ว่า แม้มองกวีเป็นปัจเจก กวีนิพนธ์เป็นมุมส่วนตัวของปัจเจก แต่พนมก็ไม่เน้นให้กวีเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง กวีนิพนธ์ก็ไม่ใช่สิ่งทิพย์เหมือนกวีนิพนธ์ในวาทกรรมของอังคาร หากเป็นเพียงสิ่งสวยงามประดับโลกไว้เท่านั้น
จึงเห็นได้ว่าการสร้างตัวตนของพนม นันทพฤกษ์ นั้น แตกต่างกับการสร้างตัวตนของอังคาร กัลยาณพงศ์ บางประการ กล่าวคือ ความเป็นอังคารนั้นประสมประสานกันทั้งผลงาน ตัวตน (ในฐานะกวีและปุถุชน) ความเป็นพนมกลับเกิดขึ้นเพียงเพราะผลงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ พนมไม่ได้หยิบฉวยเอาวาทกรรมกวีนิพนธ์แบบใดๆ ในอดีตมาใช้อย่างเป็นจริงเป็นจังเลย กล่าวคือ ขณะที่อังคารนั้น หยิบเอาภาคการกระทำของวาทกรรมกวีนิพนธ์แบบภาษาศาสตร์ในอดีต ที่ยกย่องกวีเป็นนักปราชญ์ เห็นว่ากวีนิพนธ์คือสิ่งทิพย์และมีคุณสมบัติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับ พนมกลับเห็นกวีนิพนธ์เป็นเพียงการร้อยเรียงภาษาธรรมดาๆ กวีเป็นเพียงคนธรรมดาทั่วไป ที่มีความสามารถในการใช้ภาษาสื่อสารความคิดความรู้สึกอย่างมีศิลปะ และขณะที่อังคารตอบโต้วาทกรรมกวีนิพนธ์แบบกวีศาสตร์ ซึ่งเป็นวาทกรรมร่วมสมัย ด้วยการยกระดับสถานภาพกวีขึ้นเหนือคนทั่วไป พนมกลับเห็นกวีเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ซึ่งใช้กวีนิพนธ์เป็นมุมส่วนตัว กล่อมเกลาตัวเอง ผลที่จะเกิดแก่สังคม หรือคนอื่น เป็นเพียงผลพวงซึ่งกวีอาจจะคาดหวังหรือไม่คาดหวังก็ได้ ที่สำคัญก็คือ กวีนิพนธ์เป็นเพียงตัวจุดประกายความคิด หรือกระตุ้นให้เกิดคำถามหรือข้อถกเถียง กวีนิพนธ์ไม่ใช่สิ่งที่จะนำพาผู้คนไปสู่นิพพานอย่างวาทกรรมของอังคาร อีกทั้งกวีก็ไม่จำเป็นต้องเสียสละชีวิตทั้งชีวิตเพื่อเป็นกวีหรือศิลปิน ดังที่วาทกรรมกวีนิพนธ์แบบกวีศาสตร์ร่วมสมัยต้องการ