บทความ

สัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรมไทยกับวาทกรรมแห่งความเป็นอื่น

by 2 @November,14 2006 20.59 ( IP : 58...100 ) | Tags : บทความ

สัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรมไทยกับวาทกรรมแห่งความเป็นอื่น

Magical Realism in Thai Literature and the Discourse of the Other

สุรเดช โชติอุดมพันธ์[1]


บทคัดย่อ

ในวงการวรรณกรรมไทยนั้น รูปแบบการประพันธ์แนวสัจนิยมมหัศจรรย์นับว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นักเขียนในวงการไม่ว่าจะเป็นกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เรวัตร พันธุ์พิพัฒน์ ศิริวร แก้วกาญจน์ ประชาคม ลุนาชัย และอุเทน พรมแดง ต่างสร้างสรรค์งานเขียนที่มีกลิ่นอายของสัจนิยมมหัศจรรย์ ทำให้มีการกล่าวขวัญถึงวรรณกรรมแนวนี้อย่างต่อเนื่อง เป็นที่ทราบกันดีว่าสัจนิยมมหัศจรรย์เป็นรูปแบบการประพันธ์ที่มีต้นกำเนิดจากต่างประเทศและมีชุดแนวคิดและอุดมการณ์รองรับชัดเจน ในแง่หนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าสัจนิยมมหัศจรรย์เป็นวาทกรรมที่มีกรอบและขอบเขต มีพัฒนาการที่ตอบโต้กับวาทกรรมสัจนิยมที่พยายามนำเสนอว่าอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และเรื่องราวที่อยู่นอกระบบเหตุผลเป็น "ความเป็นอื่น" ที่ไม่สมควรให้ความสำคัญ บทความนี้จึงมุ่งศึกษาการนำรูปแบบการประพันธ์สัจนิยมมหัศจรรย์มาใช้ในบริบทวรรณกรรมไทย เพื่อวิเคราะห์ความเหมือนและความแตกต่างในเชิงวาทกรรมแห่งความเป็นอื่น โดยมุ่งศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมไทย 3 เรื่อง คือ โลกที่กระจัดกระจาย ของศิริวร แก้วกาญจน์ "แม่มดแห่งหุบเขา" ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และหมานครของคอยนุช Abstract

Magical realism can be regarded as a trend to be reckoned with in the contemporary Thai literary scene. Various writers, including Kanokpong Songsompane, Rewat Panpipat, Siriworn Kaewkarn, Prachakom Lunachai, and Uthen Promdaeng, have tried their hand at this dynamic genre, popularizing it to the extent that the application of the genre in the local context has been a subject of continuing debate. It has been known that magical realism originates in other parts of the world and has its own well-theorized, complex ideologies, resulting in its discursive implications that have developed in opposition to those of realism. It criticizes how realism downplays the occurrence of supernatural and suprarational events, the act of which forms part of the discursive practice of realism to turn this more arcane side of nature into "the other" that should not be taken seriously. This essay is aimed to analyse the transference of the genre of magical realism from its foreign origins to Thailand, as well as its similarities and differences in terms of the discourse of "the other", by using as examples three literary works: The Scattered World by Siriworn Kaewkarn, "The Witch of the Valley" by Kanokpong Songsompane, and Citizen Dog by Koynuch.

สัจนิยมมหัศจรรย์ หรือ magical realism เป็นรูปแบบการประพันธ์ที่มีประวัติสืบย้อนไปไม่นานมากนักเมื่อเทียบกับรูปแบบการประพันธ์รูปแบบอื่นๆ เช่น จินตนิยม หรือสัจนิยม ถึงแม้ว่าวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์จะเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเสมือนอัตลักษณ์ทางวรรณศิลป์ของทวีปละตินอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะเป็นรูปแบบงานประพันธ์ของนักเขียนที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เช่น คูลิโอ กอร์ตาซาร์ (Julio Cortázar) นักเขียนชาวอาร์เจนตินา กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) นักเขียนชาวโคลัมเบีย อิซาเบล อเยนเด (Isabel Allende) นักเขียนชาวชิลี งานเขียนรูปแบบสัจนิยมมหัศจรรย์นั้นเริ่มปรากฏขึ้นเห็นเด่นชัดใน ยุค "บูม" (El Boom)[2] ประมาณตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 ถึงปี ค.ศ. 1970 ซึ่งนับว่าเป็นยุคทองของนวนิยายละตินอเมริกา และเป็นช่วงที่นักเขียนพยายามนำเสนอนวนิยายแบบทดลองหลายรูปแบบด้วยกัน สัจนิยมมหัศจรรย์เป็นรูปแบบหนึ่งที่นักเขียนละตินอเมริกาในช่วงนั้นได้ทดลองประยุกต์และได้รับผลสำเร็จอย่างสูง งานเขียนที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คือ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (Cien años de soledad) ของการ์เซีย มาร์เกซ ซึ่งได้รับการยกย่องนับถือให้เป็นคัมภีร์ของนวนิยายสัจนิยมมหัศจรรย์และเป็นต้นแบบให้กับนักเขียนรุ่นต่อมา ไม่ว่าจะเป็นอเยนเดหรือเลารา เอสกิเบล (Laura Esquivel) นักเขียนเม็กซิกัน

เมื่อพิจารณาทางด้านประวัติแล้ว สัจนิยมมหัศจรรย์เป็นกระแสทางศิลปะที่เกิดขึ้นประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงที่ประวัติศาสตร์ยุโรปมีความผกผันอันเนื่องมาจากภาวะสงครามและวิถีชีวิตในมหานครที่ทวีความซับซ้อนมากขึ้น สัจนิยมมหัศจรรย์เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับสภาพสังคมในประเทศเยอรมนีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนตกทุกข์ได้ยากในภาวะข้าวยากหมากแพง รัฐบาลประสบปัญหาที่ต้องฟื้นฟูประเทศและเสียค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมากให้แก่ฝ่ายพันธมิตร จึงได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมองและพินิจสถานการณ์รอบข้างอย่างตรงไปตรงมา  สัจนิยมมหัศจรรย์จึงเกิดขึ้นจากการที่ข้อตระหนักดังกล่าวปะทะกันกับอิทธิพลของแนวคิดที่เน้นจินตนาการและการแสดงออกในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นกระแสอภิสัจนิยม (surrealism) และพัฒนาการของสาขาวิชาจิตวิเคราะห์ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง[3]

สัจนิยมมหัศจรรย์ได้อุบัติขึ้นเป็นครั้งแรกในรูปแบบของการนำเสนอในเชิงทัศนศิลป์ เป็นการนำเสนอความจริงที่แฝงเร้นไปด้วยความลึกลับ เป็นภาพชีวิตของคนในเมืองที่มีลักษณะบางอย่างที่ดูเหนือจริง  ฟรันซ์ โรห์ (Franz Roh) ได้นิยามแนวโน้มการวาดภาพดังกล่าวว่า สัจนิยมมหัศจรรย์ (Magischer Realismus)[4] เมื่อพิจารณาจากจุดกำเนิดทางด้านทัศนศิลป์ สัจนิยมมหัศจรรย์จึงเป็นรูปแบบผสมผสานที่นำเสนอองค์ประกอบที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันไว้ด้วยกันอย่างลงตัว การนำเสนอเรื่องราวต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาและความสำคัญของจิตใจและจินตนาการมีการผสานกันเป็นอย่างดี

สัจนิยมมหัศจรรย์กับวาทกรรมความเป็นอื่น

หลังจากที่หนังสือเกี่ยวกับสัจนิยมมหัศจรรย์ทางทัศนศิลป์ของโรห์ได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1925 แล้ว[5] อีกเพียงแค่สองปีต่อมา หนังสือของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาสเปนและตีพิมพ์ในวารสาร Revista de Occidente[6] ซึ่งเป็นวารสารวิชาการที่มีผู้อ่านจากทวีปละตินอเมริกาเป็นจำนวนมาก จึงเป็นไปได้ว่าอเลโค การ์เปนเตียร์ (Alejo Carpentier) ซึ่งเป็นนักเขียนชาวคิวบา ได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดของโรห์ และนำมาใช้อธิบายลักษณะงานเขียนโดยประกาศว่าสัจนิยมมหัศจรรย์เป็นอัตลักษณ์ทางวรรณศิลป์ของทวีปละตินอเมริกา วรรณกรรมของการ์เปนเตียร์หลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็น อาณาจักรแห่งโลกนี้ (El reino de este mundo) และ ย่างก้าวที่หายไป (Los pasos perdidos) ต่างเป็นงานเขียนที่ทดลองประยุกต์ใช้แนวสัจนิยมมหัศจรรย์อย่างเห็นได้ชัด[7] อย่างไรก็ตาม แทนที่การ์เปนเตียร์จะใช้คำว่า el realismo mágico ซึ่งเป็นการแปลตรงตัวจากชื่อสัจนิยมมหัศจรรย์ของโรห์ การ์เปนเตียร์กลับเลือกที่จะใช้ชื่อว่า lo real maravilloso (ความจริงอันมหัศจรรย์)[8] ในการตั้งชื่อตามแบบดังกล่าว การ์เปนเตียร์อาจต้องการจะแยกแยะความแตกต่างระหว่าง สัจนิยม (el realismo) และ ความจริง (lo real)  ในขณะที่สัจนิยมเป็นรูปแบบการประพันธ์ชนิดหนึ่งที่มีวาทกรรมและลักษณะเฉพาะรองรับ ความจริงเป็นสิ่งที่กว้างและซับซ้อนมากกว่า เนื่องจากเป็นสิ่งที่วาทกรรมสัจนิยมต้องการจะนำเสนอ เหตุที่การ์เปนเตียร์ต้องการที่จะเน้นถึงความจริงมากกว่าสัจนิยมนั้น อาจจะเนื่องมาจากแนวคิดที่ว่าทวีปละตินอเมริกามี "ความจริง" ที่แตกต่างออกไป ไม่เฉพาะเพียงแต่ "รูปแบบการนำเสนอ" เพราะฉะนั้น การใช้ชื่อสัจนิยมมหัศจรรย์ตามโรห์อาจจะทำให้หลงคิดไปว่า "ความจริง" ที่ทั้งทวีปยุโรปและละตินอเมริกาต้องการนำเสนอนั้นเป็นความจริงแบบเดียวกัน ดังที่การ์เปนเตียร์กล่าวไว้ว่า

Because of the virginity of the land, our upbringing, our ontology, the Faustian presence of the Indian and the black man, the revelation constituted by its recent discovery, its fecund racial mixing [mestizaje], America is far from using up its wealth of mythologies. After all, what is the entire history of America if not a chronicle of the marvelous real? [9]

[เพราะความบริสุทธิ์ของแผ่นดิน แบบอย่างการเลี้ยงดู ภาวะความเป็นจริงของพวกเราและการปรากฏตัวแบบเฟาสต์ของพวกอินเดียนแดงและพวกผิวดำ การเปิดเผยการค้นพบใหม่ๆ การผสมข้ามสายพันธุ์อันดกดื่น อเมริกาจึงไม่น่าจะใช้ขุมตำนานหมดอย่างง่ายๆ อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ของอเมริกาจะเป็นสิ่งใดถ้าไม่ใช่ปูมบันทึกของความจริงอันมหัศจรรย์]

การมุ่งชี้ให้เห็น "ความจริง" ที่แตกต่างออกไปเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อพัฒนาการของสัจนิยมมหัศจรรย์ เนื่องจากรูปแบบการประพันธ์ตามทัศนคติดังกล่าวต้องการชี้ให้เห็นขีดจำกัดของการมองโลกแบบยุโรปที่มักพิจารณาว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล ในขณะที่ผู้คนในทวีปละตินอเมริกาอาจจะมีทัศนคติในการมองโลกที่แตกต่างออกไป เนื่องจากมีภูมิหลังและสภาพสังคมที่ไม่เหมือนกับผู้คนในยุโรป ไมว่าจะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เทพปกรณัมและตำนานพื้นบ้าน ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดกรอบความคิดของผู้คน ลักษณะดังกล่าวทำให้ชาวละตินอเมริกามีทัศนคติต่อความจริงที่แตกต่างและไม่เห็นด้วยว่าเหตุผลสามารถเป็นเครื่องมือที่ทำให้เข้าใจความจริงได้อย่างสมบูรณ์ หากแต่ความจริงอาจจะประกอบไปด้วยสิ่งที่อยู่เหนือระบบเหตุผล หรือเป็นสิ่งที่ต้องใช้เทพนิยายหรือตำนานพื้นบ้านอธิบายประกอบจึงจะเข้าใจก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดเจนว่าการ์เปนเตียร์ได้นำเอาแนวคิดสัจนิยมมหัศจรรย์มาจากยุโรปซึ่งเป็นทวีปที่มีพัฒนาการทางวรรณศิลป์เป็นเวลาหลายร้อยปี สัจนิยมมหัศจรรย์ในยุโรปไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่เป็นวาทกรรมที่โต้แย้งกับวาทกรรมอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด รูปแบบการประพันธ์รูปแบบหนึ่งที่สัจนิยมมหัศจรรย์วิพากษ์วิจารณ์คือ สัจนิยม (realism) อาจจะกล่าวได้ว่าสัจนิยมไม่ได้เป็นเพียงแค่รูปแบบการประพันธ์ แต่เป็นวาทกรรมที่มีแนวความคิดและอุดมการณ์รองรับ สัจนิยมเป็นรูปแบบการมองความจริงด้วยความเชื่อที่ว่าระบบเหตุผลและตรรกะสามารถอธิบายการคลี่คลายของความจริง สัจนิยมได้รับอิทธิพลจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ที่มีแนวคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถวิเคราะห์ออกมาได้เป็นส่วนย่อยๆ และส่วนต่างๆ นั้นเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ เหตุการณ์ในชีวิตจริงก็เช่นกัน สามารถวิเคราะห์ออกมาได้เป็นเหตุการณ์ย่อยและแต่ละเหตุการณ์ย่อยมีการเชื่อมโยงกันด้วยระบบเหตุและผลอย่างชัดเจน วาทกรรมสัจนิยมเกิดขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นการพยายามล้มล้างมโนคติเกี่ยวกับการนำเสนอความจริงในแบบฟุ้งฝันหรือแบบที่เน้นจินตนาการเป็นหลักในกระแส จินตนิยม (romanticism) วาทกรรมสัจนิยมพยายามครอบงำการมองโลกตามแบบเหตุผลนิยมและพยายามสร้างความเป็นอื่นให้แก่ขั้วตรงข้ามกับเหตุผล ซึ่งก็คือจินตนาการและสิ่งเร้นลับต่างๆ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล[10]

เมื่อพิจารณาได้ดังนี้ สัจนิยมมหัศจรรย์จึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์วาทกรรมสัจนิยมโดยตรง เนื่องจากมุ่งนำเสนอขีดจำกัดการนำเสนอความจริงตามแบบสัจนิยมที่หลีกเลี่ยงองค์ประกอบที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุผลโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม วาทกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ไม่ได้ย้อนกลับไปฟื้นฟูวาทกรรมจินตนิยมที่ให้ความสำคัญกับการนำเสนอเรื่องราวในจินตนาการและต่อต้านระบบเหตุผลโดยตรง หากแต่สัจนิยมมหัศจรรย์เป็นการสร้าง วาทกรรมผสมผสาน (hybridized discourse) ที่มีโลกของเหตุผลเป็นพื้นฐาน แต่บนพื้นฐานนั้นกลับมีองค์ประกอบที่เป็นอื่นผสมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูติผีปีศาจ เรื่องราวเร้นลับ อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ องค์ประกอบแห่ง "ความเป็นอื่น" เหล่านี้ไม่ได้มีความพยายามที่จะอธิบายหรือหาเหตุผลมารองรับ เนื่องจากปฏิบัติการดังกล่าวเป็นเสมือนการตกหลุมพรางของสัจนิยมที่ต้องการหาเหตุผลมาอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ในสัจนิยมมหัศจรรย์ สิ่งที่ "เหนือจริง" กลายเป็นสิ่งที่อยู่ "เหนือระบบเหตุผล" และสิ่งที่อยู่ "เหนือระบบเหตุผล" สามารถดำรงอยู่ได้กับสิ่งที่อยู่ "ภายใต้ระบบเหตุผล" ผลกระทบที่สำคัญของการดำรงอยู่ร่วมกันขององค์ประกอบทั้งสองคือ การพยายามขยายขอบเขตของความจริง สัจนิยมมหัศจรรย์จึงเป็นวาทกรรมที่ตอบโต้วาทกรรมสัจนิยม แต่สัจนิยมมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาดวาทกรรมสัจนิยม เนื่องจากสัจนิยมมหัศจรรย์ยอมรับว่าวาทกรรมสัจนิยมมีอิทธิพลต่อโลกทัศน์และการสร้างมโนคติของมนุษย์ในปัจจุบันเป็นอย่างมากจนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สัจนิยมมหัศจรรย์ก็ทำหน้าที่เป็นเสมือนวาทกรรมชายขอบที่คอยกระตุ้นเตือนให้คนตระหนักถึงความเป็นอื่นของวาทกรรมหลักและพยายามที่จะตั้งคำถามโต้แย้งกับขีดจำกัดดังกล่าว

เมื่อโรห์พัฒนาแนวคิดสัจนิยมมหัศจรรย์ขึ้นมาในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั้น วงการทัศนศิลป์ของเยอรมนีเริ่มตระหนักถึงขีดจำกัดของการนำเสนอความจริงของวาทกรรมสัจนิยมและเล็งเห็นถึงความสำคัญของจิตใจและจินตนาการที่มีบทบาทในการรับรู้และสร้างสรรค์ความจริง สัจนิยมมหัศจรรย์จึงมุ่งโจมตีวาทกรรมสัจนิยมซึ่งเป็นสถาบันทางความคิดและปัญญาที่มั่นคงสถาบันหนึ่งในโลกเก่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป อย่างไรก็ตาม เมื่อสัจนิยมมหัศจรรย์พัฒนาขึ้นในทวีปละตินอเมริกานั้น วาทกรรมสัจนิยมเป็นเพียงแค่ทางเลือกหนึ่งของแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปะที่ไม่สามารถตอบสนองการนำเสนอความจริงตามแบบของคนในท้องถิ่นขึ้นมาได้ วาทกรรมสัจนิยมเป็นเสมือนการนำเข้าชุดความคิดจากต่างถิ่น เป็นการครอบงำทางระบบความคิดจากศูนย์กลางคือยุโรป สัจนิยมมหัศจรรย์จึงเป็นเสมือนการตอบโต้ของทวีปละตินอเมริกาในการที่จะสร้างภาวะความเป็นอื่นให้กับวาทกรรมหลักและในขณะเดียวกันก็ได้พยายามสร้างอัตลักษณ์ทางวรรณศิลป์ให้กับตนเองอีกทางหนึ่ง ในการสร้างสรรค์งานเขียนนั้น สัญลักษณ์ของวาทกรรมสัจนิยมคือความก้าวหน้าทางวิทยาการจากยุโรปและอเมริกาเหนือกลายเป็น "ความเป็นอื่น" เนื่องจากวิทยาการความก้าวหน้าดังกล่าวนั้นเป็นการรุกล้ำของอารยธรรมกระแสหลักเข้ามาสู่อารยธรรมพื้นถิ่น ซึ่งมักจะถูกพิจารณาว่าเป็นวัฒนธรรมรองที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้เป็นเหมือนกับอารยธรรมกระแสหลัก กล่าวในอีกแง่หนึ่ง เหตุผลนิยมหรือชุดความคิดของวาทกรรมสัจนิยมซึ่งเป็นสารัตถะของกระแสวิทยาการและความก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางวิทยาศาสตร์ มักจะถูกเชื่อมโยงให้สัมพันธ์กับประเด็นโลกานุวัตร ซึ่งเป็นความพยายามของประเทศมหาอำนาจที่จะกระจายแนวความคิดของตนไปสู่ประเทศที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าและมีแนวความคิดที่แตกต่าง

ในนวนิยาย หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ความแปลกประหลาดมหัศจรรย์มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีการปะทะหรือกระทบกันระหว่างความเจริญและประเพณีหรือภูมิปัญญาพื้นถิ่น เนื่องจากความขัดแย้งของโลกทัศน์ที่ทำหน้าที่เป็นกรอบของกระแสทั้งสองนั้นแตกต่างกัน การที่โฆเซ อาร์คาดิโอ บูเอนดิยาพาลูกๆ ของตนไปชมละครสัตว์ของคนยิบซีเพื่อที่จะให้เด็กๆ ได้มีโอกาสชมน้ำแข็งเป็นครั้งแรก[11] นับว่าเป็นตัวอย่างของการปะทะกันระหว่างกระแสความคิดสองแบบอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ การที่เด็กๆ เห็นน้ำแข็งเป็นเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกอาจจะเป็นการพยายามอธิบายสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในสังคมแต่เดิมด้วยชุดความคิดเก่า เด็กอาจจะเคยรู้จักเพชรแต่ไม่รู้จักน้ำแข็ง แต่ด้วยรูปแบบที่คล้ายคลึงกันจึงทำให้เด็กพิจารณาว่าทั้งสองสิ่งเหมือนกัน นอกจากนั้น การที่เด็กๆ พยายามจับต้องน้ำแข็งและคิดว่าเพชรกำลังเดือด สะท้อนให้เห็นมุมมองพื้นถิ่นที่ไม่มีชุดมโนทัศน์ของความเย็นสะท้านรองรับ เมื่อมองในทางกลับกัน เมื่อเกิดสิ่งที่เรียกว่าอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ คนที่มีความเชื่อตามแบบยุโรปและอเมริกาเหนืออาจจะต้องพยายามอธิบายสิ่งต่างๆ ด้วยกลไกทางวิทยาศาสตร์และระบบเหตุผลตามที่ตนเชื่อถือ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถอธิบายได้อย่างสมบูรณ์ก็ตาม

สัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรมไทย

ถึงแม้ว่าสัจนิยมมหัศจรรย์จะเป็นรูปแบบการประพันธ์ที่ค่อนข้างใหม่ในวงการวรรณกรรมไทย แต่ในช่วงเวลาเพียงแค่หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา งานเขียนแนวนี้ได้ปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระแสความนิยมของวรรณกรรมแนวนี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเหตุผลเพียงแค่ความบันเทิงที่ผู้อ่านได้รับจากเนื้อหาที่แปลกใหม่เกินจริง แต่อาจจะมีประเด็นเรื่องวาทกรรมเกี่ยวพันอยู่ด้วย กล่าวคือ นักเขียนไทยบางคนนำรูปแบบสัจนิยมมหัศจรรย์มาใช้ในวรรณกรรมไทยเพื่อสนับสนุนแนวความคิดเรื่องความเป็นอื่น ซึ่งเชื่อมโยงกับความขัดแย้งระหว่างกระแสวัฒนธรรมสองกระแสคือ กระแสพัฒนาการของโลกตะวันตกและกระแสความเชื่อในภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม อาจจะพิจารณาได้ว่าในการยืมรูปแบบสัจนิยมมหัศจรรย์มาใช้เป็นวาทกรรมนำเสนอความจริงนั้น วรรณกรรมไทยมีความคล้ายคลึงกับวรรณกรรมละตินอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ที่ว่าวรรณกรรมของชุมชนทั้งสองแห่งต่างรู้สึกว่าชุดความคิดที่โลกตะวันตกมอบให้นั้นไม่สามารถตอบสนองความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้ สิ่งที่น่าสนใจในกรณีนี้คือการพยายามสร้างความเป็นอื่นให้กับชุดความคิดจากตะวันตกและกระบวนการสรรหาสิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์แท้ของตน ถ้าวาทกรรมสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องอำนาจ วาทกรรมของสัจนิยมมหัศจรรย์เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นถึงความพยายามของประเทศชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือบรรดาประเทศในทวีปละตินอเมริกา ที่เสาะแสวงหาชุดเครื่องมือหรือความคิดมาประกอบกันเป็นวาทกรรมต่อต้าน แม้ว่าแท้จริงแล้วสัจนิยมมหัศจรรย์จะเป็นวาทกรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นในภูมิภาคแต่เดิมก็ตาม

ตัวอย่างที่น่าสนใจตัวอย่างหนึ่งของวรรณกรรมไทยที่ใช้รูปแบบสัจนิยมมหัศจรรย์คือ โลกที่กระจัดกระจาย ของศิริวร แก้วกาญจน์ ซึ่งเป็นนวนิยายขนาดสั้นนำเสนอชีวิตของครอบครัวหนึ่งในภูมิภาคทางใต้ของประเทศไทย ตัวละครเอกของนวนิยายเรื่องนี้คืออับดุลฮามิด ชาวไทยเชื้อสายมุสลิม เรื่องราวของครอบครัวของอับดุลฮามิดนับว่าแปลกประหลาดเกินจริง ถ้าจะมองในสายตาของคนที่อยู่ภายในกรอบของวาทกรรมสัจนิยม กล่าวคือ จันทร์แก้ว ปู่ของอับดุลฮามิด เป็นผู้ที่สามารถสร้างปาฏิหาริย์เดินบนน้ำได้และดูเหมือนจะมีชีวิตที่เป็นอมตะ ข้างฝ่ายย่าอับดุลฮามิดเมื่อตายจากความเป็นมนุษย์ก็ได้แปลงร่างตัวเองเป็นปลา เมื่อตอนที่อะมีนะฮ์ซึ่งเป็นมารดาของอับดุลฮามิดรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์นั้น มีฝูงผีเสื้อหลากสีสันนับแสนตัวบินวนล้อมรอบ นอกจากนั้นเธอยังรู้สึกอยากรับประทานดินเหนียวจากทะเลสาบ อับดุลฮามิดเองเคยเสียชีวิตมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ได้ปู่ทวดในร่างของเสือโคร่งช่วยให้ฟื้นตื่นขึ้นมาใหม่ ความแปลกประหลาดและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นในนวนิยายเรื่องนี้ขัดแย้งกับโลกทัศน์ใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นและเริ่มมีอิทธิพลต่อคนในท้องถิ่น โลกทัศน์ใหม่นี้เป็นผลพวงของกระแสความเจริญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมตะวันตก อาจจะพิจารณาได้ว่าความต้องการที่จะพัฒนาให้เท่าเทียมตะวันตกนี้เองกลายเป็นเหตุผลที่ประเทศหนึ่งต้องยอมรับวาทกรรมหรือกรอบความคิดตามแบบตะวันตก ซึ่งหมายถึงการเชิดชูคุณค่าของเหตุผลและความพยายามที่จะลดทอนความสำคัญของภูมิปัญญาพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจและเวทมนตร์คุณไสยต่างๆ

ความขัดแย้งของกระแสวัฒนธรรมทั้งสองกระแสถูกสะท้อนให้เห็นในประเด็นของพื้นที่ กล่าวคือ ในขณะที่โลกเก่าหรือโลกของปู่จันทร์แก้วนั้นถูกจำกัดขอบเขตให้เป็นเพียงแค่เกาะที่พยายามจะรักษาความเป็นเอกเทศไว้ การคุกคามของโลกใหม่นั้นเกิดขึ้นที่หมู่บ้านแถบอันดามัน ซึ่งเริ่มปรากฏสิ่งก่อสร้างและวิถีชีวิตใหม่อันเป็นผลกระทบส่วนหนึ่งจากกระแสความเจริญตามแบบโลกานุวัตร ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระแสวัฒนธรรมทั้งสองไม่ได้ทำให้หมู่บ้านเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี หากแต่ประสบกับปัญหาทางสังคมและจริยธรรม การก่อสร้างโรงแรมและสถานบริการหลากรูปแบบทำให้คนในหมู่บ้านเริ่มกลายเป็นทาสลัทธิวัตถุนิยม หญิงสาวจากหมู่บ้านจำเป็นต้องขายบริการทางเพศเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตรา คนในหมู่บ้านต้องออกไปทำงานตามโรงแรมและโรงงานที่เกิดขึ้นมาใหม่ นอกจากนั้นการปะทะกันของทั้งสองกระแสทำให้ทองอินทร์บิดาของอับดุลฮามิดซึ่งเป็นคนไทยพุทธเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามและเปลี่ยนชื่อตนเองเป็นมูฮัมหมัด เพื่อที่จะสร้างและธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตนไม่ให้สูญสลายไปตามกระแสพัฒนาการของโลกใหม่ เกาะซึ่งอยู่กลางทะเลสาบจึงเป็นเสมือนสถานที่สุดท้ายที่พยายามรักษาไว้ซึ่งค่านิยมและความเชื่อถือตามแบบโลกเก่า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ โลกที่กระจัดกระจาย เสนอให้เห็นอย่างชัดเจนคือ แม้กระทั่งเกาะที่แยกจากแผ่นดินแม่ออกไปอย่างโดดเดี่ยวก็ไม่สามารถต่อต้านกระแสแห่งการพัฒนาได้ ดังจะเห็นได้จากการก่อสร้างทางรถไฟเข้าสู่เกาะซึ่งเป็นชนวนหลักของการเปลี่ยนแปลง การเสียชีวิตลงของปู่จันทร์แก้วซึ่งเกิดขึ้นช่วงเวลาเดียวกันกับการเข้ามาของรถไฟ อาจจะเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการล่มสลายของโลกเก่าและการเข้ามาแทนที่ของโลกใหม่ เนื่องจากรถไฟเป็นตัวแปรที่สำคัญในการนำอารยธรรมจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในเกาะ[12] ผู้คนที่เคยอยู่บนเกาะต่างอพยพร่อนเร่ออกไปหางานทำในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเริ่มเดินทางเข้ามาชมเกาะมากขึ้น ถึงแม้ว่าการปะทะของวัฒนธรรมสองกระแสจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อระบบสังคมและศีลธรรม แต่ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดและไม่มีใครสามารถหยุดยั้งได้ ภาพลักษณ์หนึ่งที่สำคัญของนวนิยายเรื่องนี้คือ สายน้ำที่ไม่มีใครรู้ว่าจุดเริ่มต้นและตอนปลายอยู่ ณ ที่ใด ดังที่ผู้เขียนพรรณนาไว้ว่า

... แม่น้ำสายนี้หรือที่นำปู่มาจากหมู่บ้านคนถือดาบ แม่น้ำสายนี้หรือที่นำย่ามาสู่หมู่บ้านอันดามัน แม่น้ำสายนี้หรือที่ร้อยรัดหัวใจพวกเราไว้ในห้วงแห่งอดีต ... และแม่น้ำสายเดียวกันนี้หรือ ที่พัดพาพวกเรากระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง[13]

เมื่อพิจารณาในระดับของสัญลักษณ์  สายน้ำอาจจะหมายถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยว สายน้ำอาจจะเปรียบเหมือนวิถีแห่งโลกที่ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองหรือเข้าไปก้าวก่ายในความขัดแย้งของกระแสวัฒนธรรมที่แตกต่าง อาจจะวิเคราะห์ได้ว่า โลกที่กระจัดกระจาย เป็นนวนิยายที่มองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นกฎธรรมชาติ มนุษย์ไม่มีสิทธิไปหยุดยั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ แม้กระทั่งอับดุลฮามิดซึ่งมองเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในช่วงชีวิตและเป็นประจักษ์พยานต่อการก้าวล้ำของกระแสการพัฒนาที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์และจารีตสังคมท้องถิ่น กลับต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้นโดยดุษณี การที่อับดุลฮามิดสิ้นสุดชีวิตความเป็นมนุษย์และกลายร่างเป็นเต่ากลับสู่ท้องทะเลอาจจะเป็นทางออกทางเดียวที่เขามี

เมื่อมองในภาพรวม อาจจะพิจารณาได้ว่า โลกที่กระจัดกระจาย เลือกที่จะใช้รูปแบบสัจนิยมมหัศจรรย์เพื่อนำเสนอการปะทะกันระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ การที่ผู้แต่งเลือกใช้องค์ประกอบที่เกินจริงโดยใช้ตำนานเกี่ยวกับท้องทะเลนั้นเป็นเสมือนการย้อนกลับไปแสวงหาภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนสภาพชีวิตแบบเก่าที่กำลังจะสูญสลายไปท่ามกลางกระแสความเจริญและสภาพสังคมตามแบบโลกานุวัตรที่เน้นค่านิยมทางด้านวัตถุมากกว่าจิตใจ การเลือกใช้รูปแบบสัจนิยมมหัศจรรย์จึงสอดคล้องกับการปะทะกันของกระแสวัฒนธรรมสองขั้วและพยายามโต้ตอบวาทกรรมสัจนิยมที่พยายามสร้างความเป็นอื่นให้กับเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ซึ่งบางครั้งเกี่ยวพันกับภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง การที่ โลกที่กระจัดกระจาย เลือกใช้รูปแบบสัจนิยมมหัศจรรย์สะท้อนแนวคิดที่ว่าวาทกรรมสัจนิยมอาจจะไม่ใช่รูปแบบเพียงแค่รูปแบบเดียวที่สามารถใช้เพื่อนำเสนอความจริงในภาวะสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์ซับซ้อนระหว่างกระแสวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

นอกจากนวนิยาย โลกที่กระจัดกระจาย แล้ว เรื่องสั้น "แม่มดแห่งหุบเขา" ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นับได้ว่าเป็นวรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่งที่ใช้รูปแบบสัจนิยมมหัศจรรย์เพื่อนำเสนอปมปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ความขัดแย้งหลักในเรื่องเป็นการปะทะกันระหว่างกระแสการพัฒนาและความต้องการที่จะรักษาไว้ซึ่งตำนานและภูมิปัญญาท้องถิ่น ถ้าปู่จันทร์แก้วและเกาะใน โลกที่กระจัดกระจาย เป็นสัญลักษณ์แทนอารยธรรมท้องถิ่นที่กำลังจะสูญสลาย ใน "แม่มดแห่งหุบเขา" ตัวแม่เฒ่าหมาและเด็กสาวที่อาศัยในบ้านบนแท่งดินคงเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งเดียวกัน แม่เฒ่าหมาเปรียบเสมือนศูนย์รวมของความเชื่อและไสยศาสตร์ในหมู่บ้านเล็กๆ หมู่บ้านหนึ่งที่ความเจริญกำลังจะเข้าไปถึง คนในหมู่บ้านเชื่อว่าแม่เฒ่าหมาเคยสร้างอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หลายอย่างขึ้นในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยชีวิตผู้ที่ถูกยิงโดยเอานิ้วกดรูกระสุนหรือสามารถอยู่ในกองไฟได้ แม้กระทั่งชื่อของแม่เฒ่าก็เป็นสัญลักษณ์ของโลกเก่า:

ชื่อ "หมา" นั้นให้ความหมายไปในทางที่น่ารัก น่าเอ็นดู เป็นชื่อของคนเก่าแก่ในช่วงศตวรรษที่แล้ว คงไม่เหลือชื่อนี้อยู่ในคนสมัยปัจจุบันอีก[14]

นอกจากนั้น ถ้าเกาะใน โลกที่กระจัดกระจาย เป็นสถานที่ที่ถูกคุกคามโดยกระแสการพัฒนา บ้านบนแท่งดินใน "แม่มดแห่งหุบเขา" ก็เป็นสถานที่ที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เนื่องจากกำลังจะถูกปรับถมที่เพื่อรองรับการก่อสร้าง

กลิ่นอายของสัจนิยมมหัศจรรย์เริ่มตั้งแต่เปิดเรื่อง เมื่อผู้เล่าเรื่องนำเสนอความแตกต่างระหว่างต้นไม้สองชนิดคือ ต้นตะเคียนหินและต้นยางพารา ในขณะที่ต้นยางพารามีผลประโยชน์ทางด้านการค้าและเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้มีช่วงชีวิตที่ยาวนาน ต้นตะเคียนหินนั้นเป็นต้นไม้ที่คงทนถาวรมากกว่าและเกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแนบแน่น กล่าวคือ ชาวบ้านเชื่อว่าในต้นตะเคียนหินนั้นมีนางพรายสิงสถิตอยู่ ภาพนางพรายที่ร้องไห้กระซิกอยู่บนต้นไม้ในขณะที่รถบรรทุกซุงขับผ่านไป นับว่าเป็นภาพสัญลักษณ์ของสัจนิยมมหัศจรรย์อย่างแท้จริงที่นำเสนอความขัดแย้งระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ นอกจากเรื่องของความขัดแย้งดังกล่าวที่เห็นเด่นชัดแล้ว ความขัดแย้งของตัวละครหลักสองตัวคือ มัดและเล็ก นับว่าเป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ในขณะที่เล็กหลงใหลอยู่กับโลกของแม่เฒ่าหมาและเด็กสาวและพยายามที่จะช่วยพวกเขารักษาแหล่งที่พำนักไม่ให้ถูกกระแสความเจริญทำลายไปนั้น มัดซึ่งเป็นคนที่มีอายุมากกว่าและผ่านประสบการณ์ของชีวิตมากกว่า กลับไม่เห็นด้วยที่เล็กจะพยายามเข้าไปยุ่งเกี่ยวในสถานการณ์นั้น กล่าวคือ มัดเห็นว่าเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ที่เล็กจะพยายามจะเข้าไปสกัดกั้นกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ความขัดแย้งระหว่างมัดและเล็กเป็นการจุดชนวนให้คิดต่อไปถึงความแตกต่างของอุดมการณ์สองแบบในหมู่บ้านเล็กๆ ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่เล็กนั้นเชื่อถือในอุดมการณ์ของตัวเองที่จะรักษาภูมิปัญญาเก่าอย่างแน่วแน่ ถึงกับยอมไปช่วยขว้างก้อนหินสกัดรถบรรทุกจนกระทั่งถูกแก้แค้นในเวลาต่อมา มัดกลับพยายามแยกตัวออกห่างจากความขัดแย้งทั้งมวลและใช้ชีวิตอยู่เหนือความขัดแย้งอย่างสันโดษ ในสายตาของผู้เล่าเรื่องแล้ว การที่เล็กเลือกที่จะยึดถือในอุดมการณ์หนึ่งอย่างแน่วแน่นับเป็นการมอบความหมายให้กับชีวิตและทำให้ชีวิตมีคุณค่า ต่างจากมัดที่ไม่ยึดติดกับความเชื่อในภูมิปัญญาท้องถิ่น หากแต่คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล

จะเห็นได้ว่า เรื่องสั้น "แม่มดแห่งหุบเขา" นอกจากจะนำเสนอความขัดแย้งระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับกระแสความเจริญเยี่ยงตะวันตกแล้ว ยังเสนอแนวความคิดและอุดมการณ์ที่แตกต่างกันสองขั้วของคนที่เผชิญกับการปะทะกันของกระแสวัฒนธรรมสองกระแสอีกด้วย ในสายตาของผู้เล่าเรื่องแล้ว มัดเองที่พยายามไม่ยึดติดกับความเชื่อในแบบใดๆ หากแต่เชื่อมั่นในเหตุผลหรือแนวคิดปฏิบัตินิยมก็เป็น "พ่อมด" คนหนึ่งไม่ต่างไปจากแม่เฒ่าหมา ดังที่เขาบรรยายว่า:

มัดบอกว่ากำเนิดของแม่มดก็เหมือนกำเนิดของศาสดา คือ เริ่มจากความเชื่อเพื่อนำไปสู่ศรัทธา และเรื่องราวปาฏิหาริย์ก็เป็นสิ่งเดียวที่จะตอกหมุดความเชื่อให้ฝังแน่นลงสู่ศรัทธาได้ง่ายที่สุด แต่มัดไม่เคยเชื่อเรื่องราวปาฏิหาริย์ใดๆ เขาจึงเสมือนเป็นคนไร้ศาสนา ดำเนินชีวิตไปตามวิถีนึกคิดของตน ชีวิตของมัดไม่ถึงกับปาฏิหาริย์ แต่ก็ถือได้ว่ามหัศจรรย์[15]

ความมหัศจรรย์ของมัดอาจจะอยู่ที่ "ศรัทธา" ในการเลือกที่จะปฏิเสธความเชื่อทั้งมวลและอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างตามระบบเหตุผล สิ่งที่สามารถพิจารณาต่อไปได้คือ ทั้งเหตุผลนิยมและภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างก็เป็นความเชื่อ ดังนั้น จากการนำเสนอเปรียบเทียบตัวละครมัดและเล็ก สัจนิยมมหัศจรรย์สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นรากฐานของความเชื่อทั้งสองแบบว่ามีความมหัศจรรย์เท่าเทียมกัน เมื่อเปรียบเทียบกันกับ โลกที่กระจัดกระจาย จะเห็นได้ว่า "แม่มดแห่งหุบเขา" นอกจากจะนำเสนอความขัดแย้งแ

แสดงความคิดเห็น

« 1601
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ