บทความ

วรรณกรรมเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 3

by 2 @November,19 2006 11.59 ( IP : 222...143 ) | Tags : บทความ

วรรณกรรมเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 3


พรชัย จันทโสก jantasok@yahoo.com


ประกาศผลและมอบรางวัลไปเรียบร้อยแล้วสำหรับรางวัลหนังสือดีเด่น เซเว่นบุ๊คอวอร์ด (7 Book Awards) ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2549 ณ ห้องคริสตัลบอลรูม โรงแรมตวันนา โดยมี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานในพิธีและบรรยายพิเศษหัวข้อ 'วรรณกรรม...ปฏิรูปสังคม' พร้อมฟังเสวนา 'มีอะไรในวรรณกรรมไทย' จากวิทยากรทรงคุณวุฒิ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, อดุล จันทรศักดิ์, นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ และวัฒน์ วรรลยางกูร ดำเนินรายการโดย นารากร ติยายน ในบรรยากาศสนุกสนานและเป็นกันเอง

ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประกวดในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักเขียนและผู้อยู่ในวงวรรณกรรมอย่างมาก โดยได้ดำเนินการเปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2549 สำหรับปีนี้มีหนังสือเข้าร่วมโครงการทั้งหมด จำนวน 184 เล่ม แบ่งออกเป็น 7 ประเภท คือ วรรณกรรมสำหรับเยาวชน, นวนิยาย, กวีนิพนธ์, รวมเรื่องสั้น, สารคดี, นิยายภาพ (การ์ตูน) และนักเขียนรุ่นเยาว์ แบ่งเป็น 4 หมวด

"การจัดประกวดหนังสือดีเด่น 'เซเว่นบุ๊คอวอร์ด' ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ปี 2546-2548 ที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากเยาวชนและสังคมไทยเป็นอย่างดี และทำให้ได้รับทราบถึงปัญหาของสังคมไทยว่าเยาวชนยังมีนิสัยรักการอ่านที่น้อยมาก ทำให้สังคมไทยขาดวัฒนธรรมในการอ่าน ซ้ำยังขาดปัจจัยสนับสนุน เพื่อเป็นการส่งเสริมการอ่านและสนับสนุนหนังสือดีที่มีคุณภาพ ทางบริษัทจึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเขียนของเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น กิจกรรมค่ายกล้าวรรณกรรม และโครงการโรงเรียนรักการอ่าน เป็นต้น และใช้เครือข่ายร้านหนังสือ Book Smile กว่า 400 สาขา ช่วยสนับสนุนการจัดจำหน่ายตามครรลองของธุรกิจ เพื่อวัฒนธรรมที่ดีในการอ่านและสนับสนุนคนไทยให้รักการอ่านเทียบเท่าต่างประเทศ"

รางวัลของแต่ละประเภท 6 ประเภท (ยกเว้นนักเขียนรุ่นเยาว์) รางวัลชนะเลิศได้รับโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ส่วนรางวัลเฉพาะนักเขียนรุ่นเยาว์ 4 หมวด ได้แก่ นวนิยายขนาดสั้น, รวมเรื่องสั้น, กวีนิพนธ์ และนิยายภาพ (การ์ตูน) หมวดละ 3 รางวัล รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 15,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 เงินรางวัล 10,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร นอกจากนี้หนังสือที่ได้รับรางวัลจะมีสิทธิการวางจำหน่ายในร้านบุ๊คสไมล์ (Book Smile) ตามเงื่อนไขของทางบริษัทเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน

โครงการประกวดหนังสือดีเด่น เซเว่นบุ๊คอวอร์ด (7 Book Awards) ครั้งที่ 3 หนังสือประเภท นวนิยาย คณะกรรมการตัดสินประกอบด้วย รศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, อดุล จันทรศักดิ์, มณฑา ศิริปุณย์, เพ็ญแข คุณาเจริญ และนิรันศักดิ์ บุญจันทร์ ผลการตัดสินรางวัลชนะเลิศเป็นนวนิยายเรื่อง ลับแลลายเมฆ บทประพันธ์โดย ปิยะพร ศักดิ์เกษม จากสำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์

ประเภท สารคดี (สารคดีท่องเที่ยว) คณะกรรมการตัดสินมี ศ.ดร.กีรติ บุญเจือ, ศ.ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา, สมหมาย ปาริจฉัตต์, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และธีรภาพ โลหิตกุล ผลการตัดสินรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ให้ความรักนำทาง ของ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง จากพิมพ์คำสำนักพิมพ์

ประเภท รวมเรื่องสั้น คณะกรรมการตัดสินมี ศ.ดร.กุสุมา รักษมณี, ศ.ยุพร แสงทักษิณ, นิเวศน์ กันไทยราษฎร์, ฐนธัช กองทอง และวัฒน์ วรรลยางกูร ผลการตัดสินรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ มัทรานี ของ ภูฉาน พันฉาย จากสำนักพิมพ์ใบไม้ผลิ และรางวัลชมเชยรับเงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ ยิ้มอัปสรในรัตติกาล ของ แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า จัดพิมพ์โดยบริษัท นกฮูก พับลิชชิ่ง จำกัด

ประเภท วรรณกรรมสำหรับเยาวชน คณะกรรมการตัดสินมี วิริยะ สิริสิงห, ผศ.อำนาจ เย็นสบาย, รศ.กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์, รศ.สุพรรณี วราทร, ม.ร.ว.สายสิงห์ ศิริบุตร, สำเริง พันธุ์สนิท, พจมาน พงษ์ไพบูลย์, เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป และเกษร บัวทอง ผลการตัดสินปรากฏว่าไม่มีหนังสือเล่มใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่คณะกรรมการมีมติให้เป็น รางวัลพิเศษ จำนวน 2 รางวัล ได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ ตันโย้งในสายลม ของ วันเสาร์ เชิงศรี และ 2589: เราเพียงผู้มาเยือน ของ เชตวัน เตือประโคน

ประเภท กวีนิพนธ์ คณะกรรมการตัดสินประกอบด้วย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นิภา ทองถาวร, ประสาทพร ภูสุศิลป์ธร (คมทวน คันธนู), ยุทธ โตอดิเทพย์ และพินิจ นิลรัตน์ ผลการตัดสินปรากฏว่าไม่มีหนังสือเล่มใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ คณะกรรมการจึงมีมติให้เป็น รางวัลพิเศษ ได้รับโล่และเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ การพังทลายของทางช้างเผือก ประพันธ์โดย มนตรี ศรียงค์ จากหมี่เป็ดสำนักพิมพ์

หนังสือประเภท นิยายภาพ (การ์ตูน) คณะกรรมการตัดสินประกอบด้วย นิวัฒน์ ธาราพรรค์ (ราช เลอสรวง), ประสาท สอ้านวงศ์, ศักดา แซ่เอียว, พนม พรกุล และดินหิน รักพงษ์อโศก ผลการตัดสินปรากฏว่าไม่มีหนังสือเล่มใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่คณะกรรมการมีมติให้เป็นรางวัลชมเชยได้รับโล่และเงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ ยายทองใบใจร้าย วาดภาพและประพันธ์โดย เรืองศักดิ์ ดวงพลา จัดพิมพ์โดยสถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

ประเภท นักเขียนรุ่นเยาว์ คณะกรรมการตัดสินหมวดนวนิยายขนาดสั้น, รวมเรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ ประกอบด้วย วิริยะ สิริสิงห, ผศ.อำนาจ เย็นสบาย, รศ.กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์, รศ.สุพรรณี วราทร, พจมาน พงษ์ไพบูลย์, เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป, ม.ร.ว.สายสิงห์ ศิริบุตร, สำเริง พันธุ์สนิท และเกษร บัวทอง หมวดนิยายภาพ (การ์ตูน) ประกอบด้วย นิวัฒน์ ธาราพรรค์ (ราช เลอสรวง), ประสาท สอ้านวงศ์, ศักดา แซ่เอียว, พนม พรกุล และดินหิน รักพงษ์อโศก

ผลการตัดสินหมวด นวนิยายขนาดสั้น ปรากฏว่าไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่เห็นควรให้รางวัลเสริมสร้างกำลังใจโดยได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัล 3,000 บาท ได้แก่ คนที่เรารัก คนที่รักเรา ของ "Satawara" (นายเศรษฐวัชร์ พูนเกษมทรัพย์), หมวด รวมเรื่องสั้น ไม่มีผลงานส่งเข้าประกวด, หมวด กวีนิพนธ์ ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่เห็นควรให้รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 เงินรางวัล 10,000 บาท ได้แก่ ภาษาแห่งความรู้สึก ของ ศุภวัฒน์ หงษา

หมวด นิยายภาพ (การ์ตูน) รางวัลชนะเลิศได้แก่ "THEN" เรื่องและภาพโดย "Zaaaaaa 123" (น.ส.กิตติอาภา ปุรณะพรรค์), รองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ผมกำลังรอ..ของขวัญของผมอยู่ เรื่องและภาพโดย น.ส.พรนิภา ศรีดาวงษ์, รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ จ๊อกกิ้งซิ่งสายฟ้า เรื่องและภาพโดย ณัฐดนัย ศิรินภานนท์, สาริกข์ คณานุรักษ์, ฉัตตริน กตัญญูกุล, ธิติ ภควัตกุล, ฐากร วิริยะชัย และพัทภูมิ คุปติพงศ์กุล จากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

รางวัลเหล่านี้เป็นเสมือนกำลังใจสำหรับนักเขียนทั้งรุ่นใหญ่และเยาวชนให้สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อสร้างบรรยากาศของการอ่านให้คึกคักยิ่งขึ้น 0


กว่าจะเป็น 'ลับแลลายเมฆ'

กรณีผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ


คงไม่จำเป็นต้องบรรยายถึงฝีมือด้านการประพันธ์ของ ปิยะพร ศักดิ์เกษม นักเขียนหญิงชั้นแนวหน้าของเมืองไทยไปให้มากความ เพราะนวนิยายของเธอหลายต่อหลายเรื่องล้วนการันตีถึงระดับคุณภาพได้ดีอยู่แล้ว

ล่าสุดนวนิยายเรื่อง ลับแลลายเมฆ ผลงานที่เธอบอกว่าเป็นเรื่องที่ "เขียนแล้วรู้สึกเหนื่อยและเครียดมาก" เล่มนี้เพิ่งได้รับรางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยายยอดเยี่ยมไปหมาดๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยได้รับรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2546 มาแล้ว

ต่อไปนี้จึงเป็นการพูดคุยถึงเบื้องลึกเบื้องหลังก่อนที่เรื่องราวแสนรันทดและสะเทือนใจสำหรับผู้หญิงจะออกมาเรียกน้ำตาคนอ่าน จนทำให้คณะกรรมการตัดสินเลือกนวนิยายเรื่องนี้ให้ได้รับรางวัล

0 นวนิยายเรื่อง'ลับแลลายเมฆ'เริ่มต้นได้อย่างไร?

เรื่องนี้ต้องพูดถึงเรื่องการข่มขืนก่อน เรื่องการข่มขืนหรือการถูกข่มขืน เชื่อว่าเป็นฝันร้ายของทุกคนที่จะรู้สึกระแวงและรู้สึกกลัวอยู่ตลอดเวลา โดยที่แม้ว่าชีวิตจะไม่ได้เฉียดเข้าไปในสถานการณ์ล่อแหลมอย่างนั้นเลย แต่จะเหมือนเป็นฝันร้ายที่ฝังอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าการข่มขืนไม่ใช่แค่การทำร้ายร่างกาย แต่มันเป็นการทำร้ายจิตใจ ทำร้ายย่ำยีความเป็นมนุษย์ของอีกเพศหนึ่งหรือกดลงต่ำ

เคยอ่านตำราจิตวิทยาฉบับหนึ่ง และได้คุยกับจิตแพทย์ระหว่างที่เขียนเรื่องนี้ด้วย เขาบอกว่าการข่มขืนนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้เกิดจากความต้องการทางเพศเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความต้องการจะแสดงความเหนือกว่า ซึ่งเพศชายโดยเฉพาะอย่างยิ่งชายตะวันออกจะมีความรู้สึกอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา แต่ว่านี่คือหลักการที่ได้รู้มา แต่ประเด็นที่ทำให้อยากเขียนเรื่องนี้ คือต้องการถ่ายทอดถึงอันตรายและความน่ากลัว และผลกระทบที่เกิดจากการถูกข่มขืน

0 เหตุการณ์อะไรที่สร้างความสะเทือนใจจนทำให้ต้องเขียนเรื่องนี้ออกมา?

เมื่อสักยี่สิบปีที่แล้วได้ดูทีวีรายการ 'เจาะใจ' สมัยนั้นพิธีกรยังเป็นท่านอดีต ส.ว.ดำรง พุฒตาล เป็นผู้ดำเนินรายการ ท่านเชิญคุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ ท่านเป็นผู้ก่อตั้งบ้านพักฉุกเฉินสำหรับสตรี เป็นบ้านพักที่เปิดขึ้นเพื่อที่จะให้ผู้หญิงที่มีปัญหาแบบนี้ ไม่ว่าจะจากคนในครอบครัวหรือว่าไปพบเจอตามท้องถนนก็ตาม หรือว่ามีปัญหาครอบครัว หรือว่าท้องก่อนแต่ง หรือว่าอะไรทั้งหลายมาอยู่บ้านหลังนี้ มาพักพิงทั้งในสภาพร่างกายและจิตใจ

คุณหญิงได้เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ได้ตั้งบ้านหลังนี้ขึ้นมา และเล่าว่ามีเคสอะไรบ้าง เล่าไปทีละเคสๆ ทั้งเรื่องปัญหาครอบครัว ปัญหาการถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจของผู้หญิงและเด็ก แล้วท่านก็เล่าถึงเคสข่มขืนหลายๆ เรื่อง ฟังแล้วมันกระแทกใจมาก เพราะว่าอย่างที่บอกเราก็เกิดเป็นลูกผู้หญิง ฝันร้ายแบบนี้มันมีทั้งที่เราไม่เคยเจอ รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่ากลัว ย่ำยี ข่มเหงกันอย่างรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ

0 ตอนนั้นรู้สึกว่ามันกระแทกใจมาก?

จนกระทั่งพอรายการจบปุ๊บ...เอ๊ทำไมหน้าเราเปียก คือดูไปร้องไห้ไปตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว และนับแต่นั้นมาเราก็จะส่งเงินเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่มีไปทำบุญกับคุณหญิง จนกระทั่งตอนหลังท่านก็ไปบวชชี และตอนนี้ท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว ตอนที่ส่งเงินไปทำบุญช่วยบ้านฉุกเฉินมาเรื่อยๆ คุณหญิงก็เขียนจดหมายตอบขอบคุณด้วยตัวเองนะ และส่งเอกสารที่เป็นวารสารข่าวของบ้านพักอะไรบ้างก็ส่งกลับมาให้ ในเอกสารนั้นมีเหตุการณ์ มีเคสอะไรบ้าง เราก็เก็บไว้เรื่อยๆ สะสมไว้ร่วมยี่สิบปี เอกสารเยอะมาก บางกรณียังไม่อยากจะเชื่อเลย

เก็บเอกสารเหล่านี้จนกระทั่งพอถึงจุดๆ หนึ่ง เหมือนกับว่าผลไม้มันเข้าไคล มันบ่มได้แล้ว เลยหยิบขึ้นมาเขียน เพื่อที่จะอธิบายว่าเรื่องแบบนี้ บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของความต้องการทางเพศเพียงอย่างเดียว แต่ความจริงถ้าหากว่าไม่ได้เจ็บป่วย ไม่ได้ป่วยเป็นโรคจิต จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของความต้องการกดข่ม การต้องการแสดงความเหนือกว่าที่สะท้อนว่าผู้กระทำไม่ได้มองมนุษย์ทุกเพศอย่างเท่าเทียม และต้องการจะบอกอีกว่ามันไม่ใช่แค่การทำร้ายร่างกาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นมันมีมากมายมหาศาลเหลือเกิน เคสที่เขียนใน 'ลับแลลายเมฆ' เป็นเรื่องจริงทุกเคส เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถจะบอกได้ว่าเป็นที่ไหนอย่างไร เราต้องมาแทรกเป็นตัวละคร ทุกเคสมีตัวตนจริงหมด

0 การที่จะเลือกเอาแต่ละเคสมาเขียนต้องทำอย่างไรบ้าง?

เราก็ต้องหยิบเคสนั้นๆ ขึ้นมา และดูว่าจังหวะของเรื่องตอนไหนเราต้องการจะสอดแทรกเรื่องอะไรบ้าง อย่างเช่นช่วงสุดท้ายจะบอกว่ามันไม่ได้กระทบกระเทือนเฉพาะร่างกายหรือว่าจิตใจของผู้หญิงเท่านั้น แต่มันกระทบกระเทือนถึงบุคคลรอบข้างด้วย เราก็จะหยิบเคสสุดท้ายขึ้นมาซึ่งเป็นเคสที่ผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ในสภาพครอบครัวที่สุขสงบมากๆ เขาเป็นข้าราชการระดับเล็กๆ ธรรมดาๆ นี่เอง และก็เป็นเด็กขยันเรียน เสร็จแล้วก็เกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นมา ปรากฏว่าเด็กจะรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองทำผิด ขณะที่พ่อแม่ก็รับไม่ได้

ครอบครัวที่เคยสงบสุขเคยอบอุ่นเหมือนกับถูกพายุพัดตูมเดียวแตกกระจาย พ่อก็ไปทาง แม่ก็ไปทาง พี่ก็ไปทาง น้องก็ไปทาง ทั้งๆ ที่ความจริงมันไม่ใช่ความผิดของเขาเลย เราก็พยายามจะใส่ความคิดเราลงไปด้วยว่าคนที่ประสบเหตุแบบนี้ อย่าได้คิดว่าเป็นความผิดของตัวเอง อย่าได้คิดว่าคุณค่าของตัวเองสูญเสียไป จริงๆ แล้วเราไม่ใช่เหยื่อ เราเป็นผู้รอดชีวิต เพราะฉะนั้นอย่ามองว่าตัวเองสูญเสีย คนที่จะต้องคิดว่าตัวเองทำผิด คิดว่าตัวเองทำชั่ว คิดว่าตัวเองสูญเสียคือผู้กระทำ ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ พยายามย้ำเรื่องนี้หลายครั้งในเรื่อง

0 กรณีไหนบ้างที่บางครั้งแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้?

แทบทุกเรื่อง มีสารพัดรูปแบบ แม้กระทั่งว่าผู้ชายสามคนข่มขืนผู้หญิง อันนี้เป็นข่าวโด่งดังถ้าบอกว่าที่ไหนก็ต้องรู้ เสร็จแล้วผลสุดท้ายระหว่างการดำเนินคดี หนึ่งในผู้ชายที่ทำการข่มขืนมาเสนอว่าจะแต่งงานด้วย เหยื่อก็บอกว่าที่ฉันต้องการคืออยากให้รู้ว่าแกเป็นคนทำผิด ต้องรับโทษ ไม่ได้ต้องการว่าจะแต่งงาน ตลกมากเลยที่ยังมีคนส่วนหนึ่งคิดว่าความผิดนี้ การล่วงละเมิดผู้อื่นทั้งทางกายและทางใจอย่างนี้ แก้ไขได้ด้วยการแต่งงาน

กรณีที่หยิบมาเขียนเป็นนวนิยายมีไม่ถึงหนึ่งในสิบของเคสที่ได้อ่านได้ตามมาทั้งหมด เป็นเรื่องที่เขียนแล้วเหนื่อยมาก เหนื่อยและเครียดมากทางอารมณ์ แต่ขณะเดียวกันการที่เราเขียนเป็นนิยายก็ต้องคิดด้วยว่าจะสามารถถ่ายทอดสาระแบบนี้ให้คนทั่วๆ ไปรับได้ไหม โดยเฉพาะนักอ่านที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว เราจำเป็นต้องปรุงรสให้น่ารับประทาน

ฉะนั้นถึงได้สร้างเป็นโครงเรื่องเป็นนิยายรักขึ้นมา มีหนุ่มสาวสองคู่คอยเป็นตัวเดินเรื่องเป็นตัวผลักเรื่องไป แต่ถึงขนาดนี้ก็ยังมีคนที่ใจอ่อนหน่อยร้องว่าเรื่องนี้อ่านไม่ไหว อ่านสองสามบทแล้ววาง ต้องพักคืนหนึ่งค่อยมาหยิบอ่านใหม่ หลายคนบอกว่าเรื่องนี้ใช้เวลาอ่านนานที่สุดเพราะว่าต้องอ่านไปพักไป แต่ทุกคนก็บอกว่าพอเขาอ่านจบแล้วเขาได้ทั้งแนวคิดและประโยชน์หลายๆ อย่าง คือเรื่องนี้จะสอดแทรกด้วยว่าถ้าคุณประสบเหตุการณ์อย่างนี้จะต้องทำตัวอย่างไร จะต้องเก็บหลักฐานแบบไหน จะต้องพึ่งพาอาศัยใครได้บ้าง จะให้ข้อมูลไว้ให้เป็นประโยชน์สำหรับคนอ่าน ชะตาชีวิตคนไม่แน่ ถ้าเกิดคนที่ได้อ่านเรื่องนี้ไปและได้ประสบเหตุ จะได้รู้ว่าควรจะต้องทำตัวยังไง

0 ทุกวันนี้ก็ยังมีข่าวผู้หญิงถูกข่มขืนรายวัน?

ผู้หญิงยังเป็นเบี้ยล่างอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นจะฝากไว้ในหนังสือด้วยว่าอยากให้ผู้ใหญ่ช่วยกัน ไม่ว่าจะมีลูกผู้หญิงหรือลูกผู้ชาย คือให้เกียรติทุกเพศในระดับที่เท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันจะพูดย้ำว่าต้องฝังความคิดที่ว่าทุกเพศต้องเท่าเทียม คือให้เกียรติในฐานะมนุษย์ร่วมโลก ไม่ใช่มองว่าเพศหนึ่งต่ำกว่าอีกเพศหนึ่ง เพราะว่าสังคมตะวันออกจะให้ความสำคัญกับลูกผู้ชาย จะใส่ความคิดเหล่านี้ลงในบทบรรยายบ้าง ในคำพูดของตัวละครบ้าง

จิตแพทย์บอกว่าการข่มขืนไม่ได้เป็นความต้องการทางเพศอย่างเดียว แต่เป็นการต้องการจะกดข่มอีกฝ่ายลงไปแฝงอยู่ลึกๆ ด้วย แต่ส่วนมากชาวบ้านทั่วไปจะเข้าใจกันว่าเป็นเพราะ 'หื่น' แต่จริงๆ แล้วเมื่อนักจิตวิทยาได้วิเคราะห์แล้วจะพบว่าความหื่นมันก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าเรื่องหลักเลยคือเรื่องความต้องการแสดงอำนาจเหนือกว่า เพราะว่าความหื่นมันก็สามารถที่จะไประบายในทางอื่นได้ และเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นประเภทไม่รู้เรื่อง เด็กเรียนหรือเด็กต้องไปทำงานเข้าเวรกลางคืน อย่างนี้เป็นส่วนใหญ่

0 แต่นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้เน้นประเด็นสิทธิสตรี?

ไม่ได้พูดถึงสิทธิสตรีในแง่ของขบวนการเลย แต่พูดถึงความเท่าเทียมของทุกคนในสังคม มันอาจจะมีการสอดแทรกอยู่บ้าง แต่ว่าเรื่องที่เขียนต้องการจะสะท้อนถึงผลกระทบของการถูกข่มขืนและการกระทำต่อเด็กและผู้หญิง ซึ่งสภาพทางร่างกายจะอยู่ในลักษณะที่ช่วยตัวเองได้น้อยกว่าเพศชาย ต้องการสะท้อนผลเสีย และวิธีการแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นก็คืออย่างที่สอดแทรกลงไปว่ามีขั้นตอนต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องเก็บหลักฐานแบบไหน ต้องไปพึ่งใคร และระยะยาวคือขั้นตอนที่เขียนสอดแทรกลงไปว่าผู้ใหญ่ทุกคนควรเริ่มต้นจากการเลี้ยงดูลูกหญิงและลูกชายของท่าน ไม่ใช่แค่ลูกหญิงอย่างเดียว ต้องลูกชายด้วย ซึ่งมันอาจจะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ถ้าหากพ่อแม่ช่วยกันวันหน้าต้องดีกว่าวันนี้

0 การเขียนเรื่องนี้ถ้าเทียบกับเรื่องอื่นๆ ถือว่าหนักมาก?

คิดว่าเหนื่อยและหนักไปคนละแบบ ถ้าเป็นเรื่องหวานๆ อย่าง 'กิ่งไผ่-ใบรัก' อาจจะเขียนง่ายหน่อย ข้อมูลที่ใช้ก็มีแค่สถานที่ แค่ประวัติศาสตร์ที่เราจะสอดแทรกเล็กๆ น้อยๆ แต่ขณะที่เขียนเรื่องนี้มันต้องใช้พลัง เพราะว่าเวลาเขียนเราจะเห็นภาพ คนอ่านอ่านแล้วรู้สึกว่ามันน่ากลัวแค่ไหน คนเขียนกลัวยิ่งกว่า เพราะว่ามันเห็นภาพชัด

0 อยากจะเขียนประเด็นหนักๆ อย่างนี้อีกบ้างไหม?

จริงๆ ตอนนี้ก็มีอยู่ นิยายส่วนใหญ่จะเขียนแทรกสาระเรื่องการดำเนินชีวิตเอาไว้ทุกเรื่องเลย แต่ละเรื่องจะมีประเด็นที่ต่างๆ กัน แต่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่หนักหน่อย จริงๆ มีความตั้งใจอยากจะเขียนเรื่องผลกระทบจากการใช้ยาเสพติดด้วยแต่ยังไม่ได้ทำ อย่าง 'วาวพลอย' เรื่องล่าสุดที่พิมพ์กับสำนักพิมพ์อรุณนี้ ก็เขียนเรื่องเกี่ยวกับรักร่วมเพศ ซึ่งพ่อแม่ยอมรับไม่ได้ ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมตอนท้ายเรื่อง ไม่ถึงกับเศร้าหรอก แต่ว่ามันก็แรงนิดหนึ่ง บางทีเราต้องใช้ความตายของตัวละครเพื่อให้คนที่ยังอยู่ได้คิด ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยเราค่อนข้างจะเปิดเรื่องแบบนี้ ค่อนข้างจะยอมรับ แต่ว่าคนรุ่นเก่ารุ่นพ่อแม่ยังยอมรับไม่ได้ เลยหยิบขึ้นมาเขียน หรืออย่างเรื่อง 'สะพานแสงคำ' ที่กำลังจะออกกับพิมพ์คำสำนักพิมพ์ในปลายปีนี้ ก็กล่าวถึงเรื่องการตัดสินผู้คนและเรื่องราวโดยใช้ข้อมูลและมุมมองของตัวฝ่ายเดียว ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องอันตรายและไร้เมตตา เป็นต้น

แต่ไม่ว่าจะมีสาระอย่างไร ก็จำเป็นจะต้องเอานิยายรักเข้ามาสวมเพื่อให้การนำเสนอมันเข้าสู่คนวงกว้าง บางทีรู้สึกเลยว่าเรื่องที่ได้รับรางวัลเป็นเรื่องที่คนไม่กล้าหยิบอ่าน เพราะเขาจะมีความรู้สึกว่าเรื่องที่ได้รับรางวัลมันต้องโศกเศร้า มันต้องหนัก มันต้องตีความ มันต้องปีนกะไดอ่าน

ฉะนั้นเวลาไปพูดที่ไหน จะต้องบอกเสมอว่าเรื่องของ 'ปิยะพร ศักดิ์เกษม' ที่ได้รางวัลก็ยังอ่านสนุกนะ ไม่ต้องกลัว 0


วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง : ให้ความรักนำทาง

"การเล่าความจริงที่ได้ประสบพบเจอหรือว่าเกิดเป็นแรงบันดาลใจ ผมรู้สึกว่างานสารคดีสามารถรับใช้ความจริงตรงนี้ได้ในแนวตรงเลย ไม่ต้องไปใช้จินตนาการในแง่ของการสร้างประเด็นเหมือนเรื่องสั้น แต่จินตนาการเฉพาะในส่วนของการนำเสนอ สำหรับ 'ให้ความรักนำทาง' ชุดนี้ ผมทำระหว่างปี 2540-2545 พูดง่ายๆ ว่าทำในช่วงฝึกหัดอยู่เหมือนกัน ทำในช่วงแสวงหาของตัวเอง ทำโดยที่รู้จักสารคดี แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าสารคดีคืออะไร มันต้องทำยังไง ด้วยความที่เรารู้จักสารคดีแต่ไม่รู้หลักการ ไม่รู้โครงสร้างว่ามันคือยังไง

แต่อาศัยอ่านงานที่มีอยู่อย่างงานของ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ทั้ง 'เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง' และ

'มหาวิทยาลัยชีวิต' ที่ออกแนวบันทึกการเดินทางของชีวิต คิดว่าเราอยากจะทำงานออกมาแนวนั้น ด้วยการทำกิจกรรมตอนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ต้องเดินทาง ต้องไปสัมผัสชีวิตชนบท ทำให้ผมรู้สึกหลงใหลในวิถีชนบท ธรรมชาติ หรืออะไรแบบนั้น ก็เอาสิ่งนั้นมาเล่าให้มีทั้งมิติความรัก มิตรภาพ และการเดินทางของเรา"


มนตรี ศรียงค์ : การพังทลายของทางช้างเผือก

"จากชื่อเรื่อง 'การพังทลายของทางช้างเผือก' เพราะทางช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง เป็นความดีงาม เป็นความใฝ่ฝัน เป็นความรัก และเป็นอะไรบางอย่างที่เป็นด้านบวก สิ่งที่เป็นด้านบวกอย่างนี้หลายต่อหลายเรื่องเป็นนามธรรม และนามธรรมหลายๆ เรื่องเป็นสิ่งใฝ่ฝันสูงสุดของมนุษยชาติ การพังทลายของทางช้างเผือกนี้ กำลังบ่งบอกถึงภาวะที่กำลังจมอยู่กับความทุกข์ เป็นเรื่องของความเศร้า ความตาย ความทุกข์ และจินตนาการหลายต่อหลายครั้ง มันถูกความจริงทางวิทยาศาสตร์ทำให้เลือนหายไปและหลงลืมไป

คำนำของหนังสือเล่มนี้ ผมเขียนให้เด็กน้อยคนหนึ่งร้องไห้สะอึกสะอื้นเดินมาและบอกว่าเขาเกลียด 'กาลิเลโอ' เขาเกลียดสิ่งที่กาลิเลโอค้นพบ การมองท้องฟ้าเห็นทางช้างเผือกสวยงาม ในทางช้างเผือกมีดาวล้านๆ ดวง ในดาวล้านดวงมีเจ้าชายขี่ม้าปีกขาวบินฉวัดเฉวียนมา แต่กาลิเลโอบอกว่า ไม่มี! มันทำลายจินตนาการของเด็ก ทำลายความใฝ่ฝัน ทำลายด้านบวก ทำลายสิ่งสวยงาม ทำลายสิ่งที่อ่อนหวานอ่อนนุ่มอ่อนโยนของมนุษยชาติไปอย่างสิ้นเชิง

หลายครั้งหลายคราวที่ความมีอยู่จริง มันถูกองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์หรือองค์ความรู้แบบแท่งเหลี่ยมกลบจนดูจะไม่มีเหลืออยู่เลย"

ข้อมูลจาก จุดประกายวรรณกรรม 19 พย.2549

แสดงความคิดเห็น

« 5095
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ