บทความ
รายงานการสัมมนา เรื่อง 25 ปี การวิจารณ์ คำพิพากษา'
รายงานการสัมมนา เรื่อง "25 ปี การวิจารณ์ 'คำพิพากษา' "
โครงการวิจัย "การวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ร่วมสมัยเพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์" ณ ห้อง 407 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ถนนบรมราชชนนี ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
วันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม 2549 เวลา 10.00 16.15 น.
หัวหน้าโครงการกล่าวเปิดการสัมมนา ผศ. ดร. ธีระ นุชเปี่ยม หัวหน้าโครงการ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า โครงการวิจัย "การวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ร่วมสมัย เพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์" มีวัตถุประสงค์คือความเข้าใจการวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ของสังคมร่วมสมัย ความเข้าใจดังกล่าวจะเป็นรากฐานของการพัฒนาความรู้ด้าน "สังคมศาสตร์การวิจารณ์" นอกจากนี้ กิจกรรมต่างๆของโครงการ เช่น การสัมมนาในครั้งนี้ ยังมุ่งสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปิน นักวิจารณ์ ตลอดจนมหาชนผู้สนใจทั่วไป เพื่อกระตุ้นให้เกิดทวิวัจน์ (dialogue) ซึ่งดำเนินไปในกรอบของ "มนุษย์สัมผัสมนุษย์" อันจะเป็นแรงหนุนให้เกิดองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์ได้ด้วย หัวหน้าโครงการขอเรียนเชิญ ผศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ วิทยากรหลักของการสัมมนาครั้งนี้กล่าวนำในประเด็นที่ได้รับมอบหมายไว้
ผศ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ กล่าวนำ "25 ปี คำพิพากษา.มุมมอง 'ร่วมสมัย'"
ผศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ วิทยากรหลักของการสัมมนาครั้งนี้ ได้เสนอประเด็นหลักๆ 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือวัฒนธรรมการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ ประเด็นที่สองคือเรื่อง 25 ปีการวิจารณ์คำพิพากษา ซึ่งเป็นหัวข้อของการสัมมนาในวันนี้ ในประเด็นที่แรก อาจารย์ชูศักดิ์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับชื่องานสัมมนาครั้งนี้ คือ "25 ปี การวิจารณ์ 'คำพิพากษา' " ซึ่งเป็นชื่อหัวข้อการสัมมนาทางวรรณกรรมในวาระพิเศษที่แปลกออกไปจากเดิม โดยทั่วไปแล้วการสัมมนาวาระพิเศษทางวรรณกรรม มักเป็นการครบรอบวันเกิดหรือวันตายของนักเขียนหรือของหนังสือ เช่น "100 ปี ชาตกาลของศรีบูรพา" "40 ปี 'ฟ้าบ่กั้น'" น่าแปลกที่ว่าในโอกาสครบรอบ 25 ปี นวนิยาย คำพิพากษา หัวข้อการสัมมนากลับไม่ใช่ "25 ปี คำพิพากษา" แต่เป็น " 25 ปี การวิจารณ์ 'คำพิพากษา'" ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ในวงวรรณกรรมหรือที่เริ่มมีการให้ความสำคัญ กับตัวบทการวิจารณ์หรือข้อเขียนที่เป็นงานวิจารณ์วรรณกรรม โดยยกระดับการวิจารณ์ให้มีฐานะเทียบเท่าผู้ประพันธ์และตัววรรณกรรม เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ในปัจจุบันงานวิจารณ์วรรณกรรมมิได้เป็นกาฝากของวรรณกรรม หรือไม่ได้เป็นกิจของผู้ที่ล้มเหลวในการเขียน ข้อครหาเช่นนี้หายไปนานแล้วจากวงการศึกษาวรรณกรรมของไทย อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีการนำการวิจารณ์ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ ถึงขั้นที่จะมาศึกษาถึงผลกระทบของการวิจารณ์ในรอบ 25 ปีต่อวรรณกรรมชิ้นหนึ่ง การสัมมนาครั้งนี้น่าจะเป็นมิติที่ก้าวล่วงจากที่ผ่านๆมาได้อย่างน่าสนใจ จากข้อสังเกตนี้นำไปสู่ประเด็นเรื่อง การวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์หรือวิจารณ์แห่งวิจารณ์ หรือ "วิวาทจารณ์" คำเหล่านี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเราจะใช้คำใด แต่ปรากฏการณ์ที่เมื่อมีงานวรรณกรรมขึ้นมาชิ้นหนึ่งหรือสองชิ้น แล้วก็มีผู้ที่สานต่อหรือมาสนทนาวิวาทะ สังสรรค์ โต้แย้งหรือนำเสนอ เราเรียกกันกว้างๆว่า "วิจารณ์ซ้อนวิจารณ์" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งและเป็นวัฒนธรรมที่ควรพิจารณา เพื่อเปิดประเด็นนี้ อาจารย์ชูศักดิ์อ่านข้อความของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากคำนำในหนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ที่เขียนไว้ในวันเข้าพรรษา ปี 2535 ดังนี้
"หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือขายดีที่ประสบความล้มเหลว เมื่อพิมพ์ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2529 นั้น จำหน่ายหมดลงอย่างรวดเร็ว จนต้องพิมพ์เพิ่มอีกในเวลาอันสั้น แต่ความสำเร็จของหนังสือไม่ได้อยู่ที่ตลาดเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะหนังสือทางวิชาการเช่นหนังสือเล่มนี้ ยังควรต้องมีผลกระทบต่องานศึกษาเดียวกันที่ติดตามมาบ้าง ไม่ในทางลบก็ในบางบวก หากทว่าหนังสือเล่มนี้ไม่มีผลกระทบอะไรแก่ใครเลย มีผู้เขียนบทความหรือหนังสือที่เกี่ยวพันไปถึงเรื่องสมัยพระเจ้าตากสินมากหลังจากที่หนังสือเล่มนี้ได้พิมพ์ออกมาแล้ว แต่ไม่มีงานของผู้ใดที่อ้างถึงหนังสือเล่มนี้ไม่ว่าจะเพื่อปฏิเสธ หรือเพื่อยืนยันข้อมูล หรือการตีความของหนังสือเล่มนี้เลย อะไรที่เคยพูดกันมาในรอบร้อยปีที่ผ่านมาอย่างไร ทุกคนก็คงพูดเหมือนเก่าทุกอย่าง ประหนึ่งว่าหนังสือเล่มนี้ไม่เคยปรากฏขึ้น
ในโลกนี้"
เมื่ออ่านความในใจของปราชญ์คนสำคัญของสังคมไทยในปัจจุบันแล้ว นับเป็นเรื่องที่น่าสะท้านใจ หนังสือที่ถือเป็น opus maxnum ด้านประวัติศาสตร์ไทยกลับไม่ได้รับการกล่าวถึงเลย ไม่ว่าจะด้านบวกหรือด้านลบ ไม่มีการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ ไม่มีการสนับสนุนหรือโต้แย้ง คัดค้านหรือสานต่อ ประเด็นที่หนังสือเล่มนี้ได้เสนอไว้ก็คือ เป็นไปได้อย่างไรที่มีหนังสือที่เสนอคำอธิบายใหม่ในวงการประวัติศาสตร์ และมีนัยที่สำคัญยิ่งต่อความเข้าใจของเราต่อสังคมไทย ที่สามารถทำให้ความเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยเปลี่ยนไปจากเดิม แต่ราวกับว่าหนังสือเล่มนี้ไม่เคยปรากฏขึ้นในวงวิชาการไทยเลย ใช่หรือไม่ที่ความเพิกเฉยทางปัญญาคือบรรทัดฐานใหม่ของวงวิชาการไทย และวัฒนธรรมการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ได้ตายไปจากวงวิชาการไทยเสียแล้ว ความในใจของอาจารย์นิธิไม่ใช่การตัดพ้อว่า ไม่มีผู้กล่าวถึงงานของท่านหรือไม่มีใครอ้างงานของท่าน หากพิจารณาในกรอบของวัฒนธรรมการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ ความในใจที่อาจารย์นิธิกล่าวไว้ในคำนำดังกล่าวก็คือ ประเด็นที่ว่าเหตุใดจึงไม่เกิดวัฒนธรรมการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ขึ้นในสังคมไทย เหตุใดเมื่อมีข้อเสนอในวงวิชาการออกมาชุดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในเชิงประวัติศาสตร์ หรืองานวรรณกรรม แล้วไม่มีการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ ในกรณีของอาจารย์นิธิก็คือเป็นการตีความประวัติศาสตร์ในแนวหนึ่ง ซึ่งเป็นการวิจารณ์การตีความประวัติศาสตร์ของสกุลดำรงราชานุภาพไปด้วย แต่กลับไม่มีผู้สานต่อหรือขานรับ หรือแม้แต่จะลุกขึ้นมาคัดค้านข้อเสนอของท่าน ความเฉยเมยเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดในวงวิชาการและวงกิจกรรมทางปัญญาด้วย
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์เผยแพร่หนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ราวปี 2529 นั้น วงวรรณกรรมไทยไม่อับเฉาเท่าวงวิชาการประวัติศาสตร์ ในวงวรรณกรรมไทยมีงานที่เรียกว่าเป็น opus maxnum เช่นกัน คือราวปี 2530 มีบทความชิ้นสำคัญมากชิ้นหนึ่ง คือ "ศัตรูที่ลื่นไหล : แง่มุมหนึ่งของวรรณกรรมไทยร่วมสมัย" ของ ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาในวงวรรณกรรมไทย หลังจากบทความชิ้นนี้ออกตีพิมพ์เผยแพร่ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี มีการนำเสนอประเด็นที่หลากหลาย ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งสนับสนุนหรือนำไปขยายความต่อ หรือว่านำมาประยุกต์เพื่ออธิบายงานวรรณกรรมในชุดอื่นๆ ในแง่นี้ วัฒนธรรมการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ในวงวรรณกรรมไทยยังเข้มแข็งอยู่ อย่างน้อยก็มีการสืบเนื่องกันมา แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ อาจารย์ชูศักดิ์สงสัยว่า วัฒนธรรมวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ในวงวรรณกรรมยังคงความเข้มแข็งอยู่หรือไม่ วงวรรณกรรมวิจารณ์กำลังดำเนินไปสู่จุดที่วงการประวัติศาสตร์ได้เผชิญมาแล้ว เมื่อ 20 ปีที่แล้วใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การจัดการสัมมนาครั้งนี้น่าจะเป็นนิมิตหมายอันดี ที่มีความพยายามฉุดรั้งวงวรรณกรรมวิจารณ์ไม่ให้เดินไปเส้นทางอันตีบตัน
อาจารย์ชูศักดิ์มีข้อเสนอประเด็นเรื่อง วัฒนธรรมการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์อยู่สองประการ ประการแรก การวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์และการวิจารณ์วรรณกรรม เป็นกิจที่น่าจะดำเนินควบคู่ไปด้วยกันได้ โดยไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นก่อนหรือสิ่งใดเกิดขึ้นหลัง กล่าวอีกนัยหนึ่ง หากปราศจากวัฒนธรรมการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ วัฒนธรรมวิจารณ์ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ข้อเสนอนี้อาจฟังดูขัดกัน เพราะโดยปกติแล้วหากการวิจารณ์วรรณกรรมไม่เข้มแข็ง การซ้อนวิจารณ์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ อาจารย์ชูศักดิ์คิดว่า ในอดีตหากกระตุ้นหรือทำให้วรรณกรรมวิจารณ์หรือ วัฒนธรรมการวิจารณ์เข้มแข็งขึ้น ถึงจุดหนึ่งวัฒนธรรมการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ก็จะเกิดขึ้นตามมาเองโดยอัตโนมัติ แต่หากพิจารณาชะตากรรมของ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ไม่เกิดการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ขึ้นเลย ถ้าเราคิดว่าเราจะสร้างวรรณกรรมวิจารณ์ที่ดีขึ้นมาแล้ว เหตุใดไม่มีการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ตามมาอีก ลำพังแค่วรรณกรรมวิจารณ์อย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่ ดังนั้น วรรณกรรมวิจารณ์กับวัฒนธรรมวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินควบคู่กันไป โดยมิอาจจะแยกออกจากกันได้ เพราะว่าวรรณกรรมวิจารณ์เป็นพลังทางปัญญามิใช่เพราะบทวิจารณ์ชิ้นนั้นๆ ให้คำตอบสุดท้าย หรือคำตอบเดียวที่ไม่อาจโต้เถียงได้ นั่นไม่ใช่วัฒนธรรมการวิจารณ์ แต่เป็นเผด็จการทางความคิด บทวิจารณ์ก็เหมือนวรรณกรรม จะเกิดพลังทางปัญญาได้ก็เพราะตัวงานเปิดโอกาสให้ผู้อ่านคิดต่างหรือคิดแย้ง ได้เรียนรู้ที่จะยอมรับความหลากหลายและความเป็นอื่น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีวัฒนธรรมวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ ในแง่นี้ วัฒนธรรมวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์เป็นสิ่งที่เตือนให้เราตระหนักว่า วรรณกรรมไม่มีคำตอบเดียว บทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งก็ไม่ควรเป็นคำตอบสุดท้ายให้กับวรรณกรรมชิ้นใดๆ ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง วัฒนธรรมการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์เป็นสิ่งที่เตือนสติเรา การวิจารณ์คือการมองต่างมุม เราไม่ควรจะยึดข้อวิจารณ์ใดข้อวิจารณ์หนึ่งเป็นคำตอบสุดท้ายเพราะว่า หัวใจของการวิจารณ์หรือการมีวิจารณญาณในการอ่านวรรณกรรมก็คือ การพร้อมที่จะยอมรับความเห็นที่ต่างออกไป หรือการตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าข้อวิจารณ์ต่างๆ เป็นเพียงมุมมองหนึ่งในการพิจารณาวรรณกรรมเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน ตัวงานวรรณกรรมที่มีพลังมหาศาลนั้นส่วนหนึ่ง เป็นเพราะว่าไม่ได้ให้แค่คำตอบเดียวกับผู้อ่าน หรือไม่ควรที่จะมีแค่คำตอบเดียวให้กับประสบการณ์การอ่านวรรณกรรมของผู้อ่าน นอกจากการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์จะหมายถึง การโต้แย้งหรือสนับสนุนความเห็นในงานวิจารณ์ชิ้นอื่นๆ ที่มีต่อวรรณกรรมชิ้นหนึ่งๆแล้ว การวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์น่าจะกินความรวมไปถึง การมุ่งวิเคราะห์งานวิจารณ์เพื่อเข้าใจกรอบคิด ระเบียบวิธี ตลอดจนระบบคุณค่าที่กำกับงานวิจารณ์เหล่านั้นด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง การวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ควรที่จะถือตัวบทวิจารณ์ทั้งหลาย เป็นเสมือนตัวบทหรือวรรณกรรมชิ้นหนึ่ง และพยายามวิเคราะห์ให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวบทวิจารณ์เหล่านั้น กับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์หรือสภาพทางสังคมที่ตัวบทวิจารณ์เหล่านั้น ถูกเขียนขึ้น นักวิจารณ์อาวุโสในอดีตเคยกล่าวไว้ว่า เราสามารถดูวรรณคดีจากสังคม ดูสังคมจากวรรณคดี เช่นเดียวกับกิจกรรมการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ เราก็สามารถดูงานวิจารณ์จากสังคมและดูสังคมจากงานวิจารณ์ได้ด้วย คำพิพากษา และการวิจารณ์นวนิยายเรื่องนี้ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา ก็น่าจะเป็นกรณีที่ทำให้เราเห็นถึงมิติทางสังคมวัฒนธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ผ่านการวิเคราะห์ตัวงานวิจารณ์วรรณกรรมเล่มนี้
ในประเด็น "25 ปี การวิจารณ์ 'คำพิพากษา'" หนังสือ คำพิพากษา เป็นนวนิยายที่อาจารย์
ชูศักดิ์ใช้สอนอยู่หลายครั้งในชั้นเรียนต่างๆ อาจารย์ชูศักดิ์เล่าว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้วมีอยู่ครั้งหนึ่งจำเป็นต้องใช้หนังสือดังกล่าวในการสอน แต่ไม่ได้นำติดมือมาด้วย จึงไปที่ร้านหนังสือแห่งหนึ่งใกล้มหาวิทยาลัยเพื่อหาซื้อหนังสือดังกล่าว แต่ก็หาไม่พบ จึงบอกพนักงานบอกว่าต้องการหนังสือ คำพิพากษา พนักงานหนังสือบอกว่าคำพิพากษาอยู่ในชั้นประมวลอาญา กับการพิจารณาความแพ่ง แต่เมื่ออาจารย์ชูศักดิ์กล่าวว่าต้องการนวนิยายเรื่อง คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ พนักงานผู้นั้นจึงค้นในคอมพิวเตอร์ แล้วตอบว่าไม่มี เรื่องนี้น่าจะบอกเราถึงปรากฏการณ์การแปลงหนังสือให้เป็นสินค้า แปรปัญญาให้เป็นทุนของยุคสมัยปัจจุบัน
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คำพิพากษา ถือเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยที่มีบทบาทและมีผลกระทบต่อวงการมาก ทั้งในแวดวงวรรณกรรมและในแวดวงวิชาการ และประสบความสำเร็จในแทบจะทุกด้าน ไม่ว่าเราจะมองในกรณีของรางวัล เช่น การได้รับรางวัลซีไรต์ ในกรณีของการตีพิมพ์ที่มียอดการตีพิมพ์อย่างสม่ำเสมอไม่เคยขาดตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ถึงความสำเร็จของหนังสือได้ และการนำไปผลิตซ้ำในรูปแบบหรือสื่อชนิดอื่น เช่นทำบทละครและภาพยนตร์ ส่วนวงวิชาการนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คำพิพากษา เป็นหนึ่งในนวนิยายร่วมสมัยไม่กี่เล่ม ที่นักวิจารณ์สนใจหยิบยกขึ้นมาวิจารณ์อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่หนังสือเล่มนี้เพิ่งได้รับการตีพิมพ์และยังไม่ได้รับรางวัล เพราะหนังสือเล่มนี้มีความใหม่บางอย่าง หรือมีมิติที่น่าสนใจที่จะหยิบยกมาพิจารณา
อาจารย์ชูศักดิ์กล่าวว่าประวัติการวิจารณ์ของอาจารย์ชูศักดิ์เอง ก็อาจจะมองได้จากประวัติการวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ หนังสือเล่มนี้เป็นตัวบอกความคลี่คลายทางความคิดโดยส่วนตัว รวมทั้งสังคมหรือของวงวรรณกรรมวิจารณ์ของไทยด้วย ถ้าเราหันไปศึกษาประวัติการวิจารณ์ หรือพิจารณาการวิจารณ์วรรณกรรม นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกประมาณปี 2524 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทย เพราะเป็นรอยต่อที่สังคมไทย กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบที่เรียกว่าทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย ในช่วงนั้นการปะทะกันระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาซึ่งลงเอยด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แล้วมีรัฐบาลอนุรักษนิยมขึ้นมาบริหารประเทศอยู่ประมาณ 2-3 ปี จะเห็นได้ว่าสังคมไทยพยายามจะหาทางให้กับสังคมว่าจะดำเนินไปแนวทางใด คอมมิวนิสต์เราก็ไม่อยากจะร่วมสมาทานด้วยแล้ว ฝ่ายขวาจัดอย่างของคณะปฏิรูปการปกครองยุคนั้นเราก็รับไม่ได้เหมือนกัน สังคมตอนนั้นเป็นสังคมประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงหนึ่ง ที่น่าตื่นเต้นพอสมควร ในช่วง พ.ศ. 2523-2525 คือยุคแรกของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีร่องรอยของการต่อสู้ระหว่างความคิดที่หลากหลาย ความคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยก็เริ่มได้รับการยอมรับในสังคม ความคิดเชิงอนุรักษ์ก็ยังมีอยู่พอสมควร คำพิพากษา เกิดขึ้นมาในช่วงของประวัติศาสตร์ที่นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง อาจารย์ชูศักดิ์เห็นว่ายุคนี้อาจน่าสนใจกว่ายุคก่อน 14 ตุลา 2516 เสียอีก เพราะก่อน 14 ตุลา ปัญญาชนไทยยังมีภาพเชิงอุดมคติเกี่ยวกับสังคมนิยม เกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็ทำให้การมองปฏิกิริยาต่อสังคมทั้งหมดส่วนหนึ่ง มีอิทธิพลของภาพมายาอันนี้อยู่ ขณะที่ช่วง พ.ศ. 2523-2524 หรือช่วงหลังก็คือช่วง "ป่าแตก" แล้ว ปัญญาชนไทยได้ผ่านประสบการณ์โดยตรง กับขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภาพมายาที่มีเกี่ยวกับสังคมนิยมก็เลือนราง ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในยุคนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ถ้าพิจารณาให้แคบเข้ามาที่วรรณกรรมก็จะเห็นว่าในยุคนี้เกิดการถกเถียงในวงวรรณกรรมพอสมควร ทั้งในกลุ่มผู้สร้างงาน ในกลุ่มผู้อ่านและนักวิจารณ์ ผู้สร้างงานถกกันอย่างกว้างขวางว่า วรรณกรรมไทยควรจะดำเนินไปในทิศทางใด ควรจะเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิตต่อไปหรือไม่ ถ้านักเขียนไม่เขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิตแล้ว มีแนวทางใดบ้างที่จะเป็นทางออก วรรณกรรมเพื่อชีวิตเองก็ถูกวิจารณ์ว่ามีลักษณะเป็นสูตรสำเร็จ และไม่สามารถเข้าถึงความจริงที่ต้องการนำเสนอได้ เพราะไปยึดติดกับอุดมการณ์ชุดหนึ่ง
สำหรับวงวรรณกรรมวิจารณ์ก็มีการถกเถียงกันว่า จะใช้การวิจารณ์แบบใดในการศึกษาวรรณกรรม เมื่อเรามองย้อนจากปัจจุบันไปดูปรากฏการณ์สังคมในยุคนั้น คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติเกิดขึ้นมาในบริบทของการปะทะขับเคี่ยวกันระหว่างกระแสความคิดวรรณกรรมเพื่อชีวิต กับวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่เริ่มก่อตัวขึ้นมา วรรณกรรมชิ้นนี้ทำให้เราเห็นแรงยื้อยุดกันอยู่ระหว่างความมุ่งมั่นของนักเขียนยุคนั้น ที่ต้องการจะสานต่อพันธกิจของนักเขียนในแนวเพื่อชีวิตในการรับใช้สังคม และสะท้อนปัญหาสังคมเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว กับความเคลือบแคลงใจของนักเขียนต่องานวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิต ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอโครงเรื่อง (plot) 2 แนวในนวนิยายเรื่องนี้ อันได้แก่ โครงเรื่องที่ว่าด้วยปัจเจกชนเป็นเหยื่อของสังคม เห็นชัดจากการที่ฟักถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าผิดประเวณีกับแม่เลี้ยงโดยปราศจากมูลความจริง เขาจึงถูกสังคมประณาม ถูกต่อต้าน จนกระทั่งต้องกลายเป็นหมาหัวเน่าในสังคม ในท้ายที่สุดก็ติดเหล้าเป็นเหมือนหมาข้างถนน ขณะเดียวกันก็มีอีกโครงเรื่องอีกโครงเรื่องหนึ่งก็คือ โครงเรื่องที่ว่าด้วยความล่มสลายของชนบท อันเกิดจากการพัฒนาของสังคมเมือง ซึ่งเห็นได้ชัดเรื่องนี้ว่าหมู่บ้านแห่งนั้นกำลังถูกความเจริญเข้าไปรุกราน ผ่านถนน ไฟฟ้า ระบบการศึกษาสมัยใหม่ โรงเรียน และครูใหญ่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น วัดก็เริ่มสูญเสียบทบาทที่เป็นศูนย์กลางของสังคมไป เจ้าอาวาสก็จะถูกแทนที่ด้วยครูใหญ่ ลิเกก็จะถูกแทนที่ด้วยภาพยนตร์ เกวียนก็จะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ ตลอดทั้งเรื่องผู้อ่านจะเห็นสิ่งเหล่านี้พร้อมกับชะตากรรมที่ตกต่ำของฟัก ตอนจบของเรื่องนั้นถือได้ว่าเป็นการขมวดนำประเด็นทั้งสองเข้าด้วยกัน ก็คือการนำฟักมาเป็นหนูตะเภาทดลองเตาเผาศพไฟฟ้าที่ครูใหญ่หามาติดตั้งให้ที่วัด ภาพที่ฟักถูกเผาด้วยเตาเผาศพไฟฟ้าก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าวิถีชนบท กำลังจะถูกเผาไหม้ให้ป่นปี้ด้วยไฟของความเจริญ ในแง่หนึ่ง เมื่อย้อนกลับไปดู ก็จะเห็นว่าโครงเรื่องทั้งสองนี้ก็เป็นภาพสะท้อนของการปะทะขับเคี่ยวกัน ระหว่างกระแสวรรณกรรมสองกระแสในยุคนั้น ก็คือวรรณกรรมเพื่อชีวิตกับวรรณกรรมสร้างสรรค์ ประเด็นเรื่องปัจเจกชนเป็นเหยื่อของอคติทางสังคมมาพร้อมกับแนวคิดวรรณกรรมสกุลใหม่ อันได้แก่วรรณกรรมสร้างสรรค์ที่ไม่จำเป็นจะต้องนำเสนอปัญหาสังคม โดยนำไปผูกโยงกับเรื่องชนชั้นเหมือนอย่างที่นักเขียนแนววรรณกรรมเพื่อชีวิตนิยมทำกัน ในขณะเดียวกันโครงเรื่องชนบทที่ถูกกระทำย่ำยีด้วยความเจริญ โดยมีครูใหญ่เป็นตัวแทนอำนาจรัฐนั้น ก็มีน้ำเสียงของวรรณกรรมเพื่อชีวิตอยู่ในโครงเรื่องนี้
อาจารย์ชูศักดิ์เห็นว่า ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เมื่อพิจารณาการวิจารณ์ คำพิพากษา ในช่วงนั้น ก็จะเห็นปรากฏการณ์ที่คล้ายๆกัน เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า หลังจากหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ในช่วง 5-10 ปี ประเด็นของการวิจารณ์โดยทั่วไปจะมุ่งพิจารณาประเด็นเรื่อง ฟักเป็นปัจเจกชนที่เป็นเหยื่อของสังคมเป็นสำคัญ เนื่องจากตัวสารหนักหน่วงพอที่จะทำให้ผู้อ่านสัมผัสถึง อารมณ์ของยุคสมัยนั้นได้ นักวิจารณ์ก็ต้องการพิจารณาประเด็นนี้เป็นสำคัญ อาจจะด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป บทวิจารณ์หลายๆชิ้นก็จะหยิบประเด็นดังกล่าวขึ้นมาอภิปรายหรือว่าพินิจพิจารณาเป็นหลัก งานวิจารณ์ คำพิพากษา ของอาจารย์ชูศักดิ์ช่วงที่เขียนครั้งแรกก็กล่าวถึงประเด็นนี้เพียงแต่นำเสนอในลักษณะที่ว่า จริงอยู่ที่นวนิยายวิพากษ์อคติของการพิพากษาคน แต่ตัววรรณกรรมเองก็ติดกับดักของสิ่งที่ตัวเองวิจารณ์ เพราะว่าตัวนวนิยายก็มีอคติกับตัวละครของตัวเองพอสมควร แต่บทวิจารณ์ชิ้นนั้นก็ยังเน้นประเด็นเรื่องปัจเจกชนเป็นเหยื่อของสังคมอยู่ เป็นสิ่งน่าประหลาดใจว่า ทั้งๆที่นวนิยายเรื่องนี้มี 2 โครงเรื่อง ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ในยุคนั้นอาจารย์ชูศักดิ์ไม่เห็นว่าประเด็นชนบทตกเป็นเหยื่อของความเจริญ เป็นประเด็นที่ควรจะกล่าวถึง ในแง่ของการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ ก็อาจเกิดคำถามขึ้นว่า เหตุใดนักวิจารณ์จึงไม่สนใจประเด็นดังกล่าว อาจารย์ชูศักดิ์ให้ความเห็นโดยพิจารณาจากบทวิจารณ์ของตนเองว่า ในยุคนั้นอาจารย์ชูศักดิ์วิพากษ์การวิจารณ์แบบวรรณกรรมเพื่อชีวิตไปในทางลบ ดังนั้น จึงอาจทำให้มองข้ามประเด็นเรื่องชนบทไป ในแง่นี้ งานวิจารณ์ของของอาจารย์ชูศักดิ์ก้สะท้อนให้เห็นถึงการขับเคี่ยวกันระหว่างการวิจารณ์ 2 แบบ คือกระแสวิจารณ์แนวใหม่กับกระแสการวิจารณ์แนวที่ผูกอยู่กับลัทธิมากซ์ หรือแนวเพื่อชีวิต ในประเด็นนี้การวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์อาจช่วยทำให้เกิดความเข้าใจไม่เพียงตัวงาน แต่ยังช่วยให้เข้าใจเงื่อนไขหรือบริบทที่ทำให้งานวิจารณ์ประเภทหนึ่งเกิดขึ้นได้ ในปี 2523-2525 ถือเป็นจุดเปลี่ยนทั้งการวิจารณ์และวรรณกรรม จากยุควรรณกรรมเพื่อชีวิตไปสู่ยุควรรณกรรมสร้างสรรค์ จากงานวิจารณ์ที่ผูกอยู่กับอุดมการณ์ทางการเมืองของลัทธิมากซ์หรือฝ่ายซ้ายค่อยๆลดบทบาทลง และก็เกิดกระแสหรือแนวทางการวิจารณ์แบบใหม่ขึ้นในสังคม ก็คือการวิจารณ์ที่อาจจะพิจารณาตัวบทหรือปฏิสัมพันธ์ของตัวบทให้มากขึ้น ในประเด็นผู้หญิงกับชาวบ้านซึ่งนับเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่สอดรับกับ กระแสความสนใจภูมิปัญญาชาวบ้านของอาจาร์ชูศักดิ์เอง กระแสความสนใจเรื่อง "คนชายขอบ" ทำให้กลับไปมองสมทรงผู้หญิงบ้าในเรื่องได้อีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งเกิดมาจากความสนใจที่เปลี่ยนไปจากเดิม ส่วนหนึ่งก็เป็นเงื่อนไขปัจจัยทางสังคมที่ทำให้เราอยากจะพิจารณาปรากฏการณ์หลายๆ อย่างที่แต่เดิมไม่มีการกล่าวถึงกันเลย
อาจารย์ชูศักดิ์กล่าวสรุปประเด็นวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ว่า วรรณกรรมเป็นของสูงค่าที่อาจารย์ชูศักดิ์เทิดทูน การวิจารณ์ก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นของรักของหวงก็ว่าได้ เมื่อเรารักและเทิดทูนของบางสิ่งเราก็มีวิธีปฏิบัติต่อสิ่งนั้นได้หลายทาง เราอาจจะถือว่าสิ่งนั้นเป็นแก้วเจียระไนอันสวยสดงดงามที่แตะต้องไม่ได้ก็ได้ อาจารย์ชูศักดิ์เห็นว่าวรรณกรรมและการวิจารณ์เหมือนกฤษณา หรือไม้จันท์หอมที่ว่าต้องทุบบ่อยๆถึงจะส่งกลิ่นหอมกรุ่นกำจาย และแสดงศักยภาพของความงามและความสูงส่งออกมา
การอภิปราย "ความร่วมสมัยในบทวิจารณ์ คำพิพากษา"
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ รองศาสตราจารย์ ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ กล่าวแนะนำวิทยากรว่า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ เป็นหัวหน้าโครงการของโครงการการวิจัย "การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย" ภาคแรกและภาคสอง ส่วนโครงการวิจัย "การวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ร่วมสมัยเพื่อการพัฒนาสังคมศาสตร์การวิจารณ์" ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากภาคที่แล้วนั้น อาจารย์เจตนาทำหน้าที่เป็นนักวิจัย อาจารย์เจตนาได้เขียนบทวิจารณ์เรื่อง คำพิพากษาเอาไว้ 2 บท เป็นภาษาไทยหนึ่งบทและภาษาอังกฤษหนึ่งบท ดังปรากฏในเอกสารประกอบการสัมมนา วิทยากรอีกท่านหนึ่งคือคุณพรพิไล เลิศวิชา ซึ่งเป็นเมธีวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นนักวิจัยที่เชี่ยวชาญการวิจัยเรื่องชนบทผู้ได้ทำงานร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และนักวิชาการอีกหลายคนที่สนใจการศึกษาเศรษฐกิจชนบท นอกจากนี้ คุณพรพิไลยังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ธารปัญญา ซึ่งตีพิมพ์หนังสือที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อที่จะสร้างปัญญาให้กับผู้อ่าน คุณพรพิไลได้วิจารณ์เรื่องคำพิพากษาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ในประเด็นที่สำคัญมากเกี่ยวกับการสร้างสรรค์งานวรรณกรรม ที่สะท้อนภาพของชนบท ทั้งนี้ อาจารย์รื่นฤทัยขอให้อาจารย์เจตนาอภิปรายเป็นท่านแรก
อาจารย์เจตนากล่าวว่าจะไม่อภิปรายซ้ำในประเด็นที่ได้เขียนเอาไว้แล้ว ในบทความ และจะไม่วิจารณ์คำพิพากษาโดยละเอียด แต่จะกล่าวถึงนวนิยายโดยสังเขปในตอนท้าย ประเด็นที่จะกล่าวมี 3 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรก เมื่อกลับไปอ่าน คำพิพากษา อีกครั้งแล้วได้แง่มุมใหม่อย่างไร ประเด็นที่สอง คือหลักการเกี่ยวกับการวิจารณ์กว้างๆ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าสัมมนาที่เป็นนิสิตนักศึกษา ประเด็นที่สาม คือ การนำข้อมูลที่มาจากผู้แต่งเองมาพิจารณาประกอบการตีความวรรณกรรม ในปี พ.ศ. 2520 อาจารย์เจตนาสนใจประเด็นเรื่องเสรีภาพของผู้อ่านมาก และได้เขียนหนังสือ ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งวรรณคดี ในหนังสือเล่มดังกล่าว อาจารย์เจตนาได้กล่าวถึงวรรณกรรม
กับบทบาทของผู้อ่านเอาไว้ดังนี้
"๑.วรรณกรรมนั้นเมื่อผู้แต่งได้ตัดสินใจที่จะเผยแพร่แล้ว ก็หาได้เป็นสมบัติของผู้แต่งอีก
ต่อไปไม่ แต่ได้กลายเป็นสมบัติของผู้อ่านไป
๒.ผู้อ่านที่กอปรด้วยวิจารณญาณและสำนึกในความรับผิดชอบของตน ควรมีเสรีภาพในการตีความวรรณกรรม หรือแสดงความความคิดเห็นเกี่ยวกับวรรณกรรมที่ตนอ่าน" [1]
".วรรณกรรมเรื่องเดียวไปถึงมือผู้อ่านร้อยคน ก็อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสมบัติของคนร้อยคนไป แต่ละคนก็เข้าครอบครองสมบัติทางวรรณศิลป์ชิ้นนี้ด้วยวิธีการของตนเอง ผู้ประพันธ์จะหวงแหนว่าเป็นสิทธิ์ของตนต่อไปอีกไม่ได้ แม้ผู้อ่านบางคนอาจจะตีความไม่ตรงกับที่ผู้แต่งคิดไว้ ก็เป็นกติกาอย่างหนึ่ง อันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในวงวรรณศิลป์ว่า มิใช่หน้าที่ของผู้แต่งที่จะเข้าไปแก้ความเข้าใจผิดเหล่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของผู้อ่านและนักวิจารณ์ที่จะต้องแก้กันเองในวงผู้อ่าน" [2]
อาจารย์เจตนาสารภาพว่า ในตอนที่เขียนหนังสือ ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งวรรณคดี ยังมีทัศนะที่สุดทางเกินไป แต่ในปัจจุบันเห็นว่า ไม่เป็นการเสียหายอะไรที่ผู้อ่านควรจะนำสิ่งที่ผู้แต่งกล่าวถึง ผลงานของตนเองมาประกอบการตีความงานวรรณกรรม ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้แต่งจะมากำกับให้นักวิจารณ์ต้องวิจารณ์ตาม แต่การรับรู้ข้อมูลจากนักเขียนน่าจะเป็นประโยชน์ อาจารย์เจตนาเล่าว่า เมื่อหลายสิบปีมาแล้วอาจารย์เจตนาได้รับทุนจากรัฐบาลไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ขณะที่มีอายุ 17-18 ปี ได้เรียนผลงานของเชกสเปียร์ และได้เขียนเรียงความ (essay) เกี่ยวกับงานเชกสเปียร์ชื่อ King Lear ซึ่งเป็นละครที่เต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดทางกายภาพ ในความเรียงดังกล่าวอาจารย์เจตนาแสดงความเห็นว่า สาเหตุที่ลูกสาวสองคนอกตัญญูต่อบิดานั้นน่าจะเกิดจากการอบรมเลี้ยงดูที่ไม่ดี หมายความว่า King Lear และมเหสีมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้ อาจารย์ผู้ตรวจเรียงความให้คำแนะนำว่า ในวงวรรณคดีศึกษานั้นพยายามจะเลี่ยงการเขียนแบบนี้ อาจารย์ท่านนั้นกล่าวว่าการตีความงานวรรณกรรมเกินเลยไปจากตัวบทนั้น มีนักวิชาการอังกฤษชื่อ L.C. Knight เขียนคัดค้านเชิงล้อเลียนเอาไว้ในบทความชื่อ "How many children had lady Macbeth?" แปลว่า "คุณหญิงแม็คเบธมีลูกกี่คน" อันเป็นสิ่งที่เชกสเปียร์ไม่เคยเขียนเอาไว้ในตัวบท แต่นักวิจารณ์นำไปขยายความกันต่อจนเกินเลย ในบทความ "อ่านสังคมไทยผ่านงานวรรณกรรมของ ชาติ กอบจิตติ : พิจารณาจาก 'จนตรอก' 'คำพิพากษา' และ 'เรื่องธรรมดา'" ของอาจารย์นฤมิตร สอดศุข ก็มีการกล่าวถึงสิ่งที่เกินเลยไปจากตัวบทเช่นกัน เช่น การกล่าวว่าถ้าฟักไม่เลี้ยงนางสมทรง เขาก็อาจจะถูกประณามว่าอกตัญญูต่อบิดาก็ได้ ผู้แต่งไม่ได้เขียนเอาไว้ว่าถ้าฟักไม่เลี้ยงภรรยาของบิดาแล้วผลจะเป็นอย่างไร แต่เขาเขียนเรื่องให้ฟักเลี้ยงภรรยาของบิดา อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นสิทธิ์ที่นักวิจารณ์จะกล่าวถึงได้ แต่ควรเกริ่นก่อนว่าประเด็นดังกล่าวไม่ได้อยู่ในกรอบของตัวบท และเราจะต้องยอมรับความจริงว่านักวิจารณ์อดที่จะคิดถึงประเด็นดังกล่าวไม่ได้
ประเด็นวัตถุประสงค์ของผู้แต่งนั้น ในกรณีที่นักเขียนเสียชีวิตไปแล้วก็ควรยึดตัวบทเป็นสำคัญ เช่น ในกรณีของเชกสเปียร์นั้นไม่พบต้นฉบับลายมือสักเรื่องเดียว ลายมือเชกสเปียร์ที่มีอยู่ก็แค่ลายมือชื่อเท่านั้น ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นของจริงหรือไม่ จดหมายจากเชกสเปียร์นั้นไม่พบต้นฉบับเลย จึงไม่อาจทราบได้ว่าเชกสเปียร์อธิบายงานของตนว่าอย่างไร ดังนั้น ผู้อ่านต้องพิจารณาจากตัวบทเป็นสำคัญ ส่วนกรณีที่นักเขียนยังมีชีวิตอยู่ ผู้อ่านจำเป็นต้องพะวงถึงวัตถุประสงค์ของผู้แต่งหรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเรียกร้องว่าให้มีวาทกรรมที่สอง ซึ่งเป็นคำอธิบายของผู้แต่งเพื่อมาเสริมวาทกรรมที่หนึ่งที่เป็นตัววรรณกรรม ในประเด็นนี้ นักวิจารณ์ชาวอเมริกันชื่อ เรเน เวลเลค (René Wellek) (ซึ่งนักวิชาการรุ่นหลังลืมบทบาทที่สำคัญของท่านไปแล้ว) กล่าวเอาไว้ว่าสิ่งที่ผู้แต่งอ้างว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ในใจนั้นเชื่อไม่ได้ เพราะเป็นไปได้เช่นกันว่าตั้งใจไว้อย่างหนึ่ง แต่เขียนออกมาแล้วอาจจะไม่ตรงกับที่ตั้งใจไว้ก็ได้ อาจารย์เจตนารายงานว่าเคยทดลองเหมือนกับเป็นแล็บ กับนักศึกษาปริญญาโทกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผลการทดลองสอดค