บทความ
กระแสเสียงของความขบถ จากวรรณกรรมไทยร่วมสมัย
กระแสเสียงของความขบถ จากวรรณกรรมไทยร่วมสมัย
คัดลอกจากคอลัมน์ รอบโลกวรรณกรรม โดย อัญชลี วิวัธนชัย
นิตยสาร WRITER MAGAZINE ปีที่๖ ฉบับที่๘ สิงหาคม ๒๕๔๐
เกริ่นนำ
เมื่อปลายเดือนเมษาที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมสัมมนาทางวรรณกรรมที่กรุงวอชิงตันดีซี ซึ่งจัดขึ้นโดย The Washington Time Foundation และ
The International Culture Foundation ภายใต้หัวข้อ The Search for a New World Culture for The 21 Century : Asian Literary Perspectives นับว่าเป็นการสัมมนาทางวรรณกรรมของเอเชียเป็นครั้งแรกที่มีนักเขียน นักวิชาการ และนักวรรณกรรมจากประเทศทางเอเชียเดินทางมาชุมนุม
กันมากถึง ๓๐ ประเทศ กว่า ๒๐๐ ฅน ไม่เว้นแม้แต่นักเขียนจากดินแดนที่ไกลที่สุดที่พึ่งแยกเป็นเอกราชจากจีนและรัสเซียเป็นต้นว่าเตอร์กเมนิสสถาน อาร์เมเนีย และมองโกเลีย โดยมีดิเร็ค วอลคอตต์ นักเขียนรางวัลโนเบลปี ค.ศ.๑๙๙๒ จากทรินิแดด หมู่เกาะแคริบเบียน เป็นผู้กล่าวเปิดสัมมนา
กลุ่มนักเขียนและนักวิชาการของไทยเข้าร่วมกว่า ๑๐ ฅน รวมทั้ง ศ.ซูซาน เคปเนอร์ อาจารย์ชาวอเมริกันผู้สอนวิชาวรรณกรรมไทยจากมหาวิทยาลัยเบอร์คลี รัฐแคลิฟอน์เนีย ซึ่งได้ขึ้นเป็นผู้บรรยายในงานสัมนา
ผู้เขียนในฐานนะตัวแทนกลุ่มได้มีโอกาสนำหัวข้อบรรยายนี้ขึ้นกล่าวเสนอต่อผู้เข้าร่วมสัมมนาในประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับวรรณกรรมไทยในปัจจุบัน ภายใต้ หัวข้อ Asian Literature in Modern World : the Response to Modernity จึงใคร่ถอดคำบรรยายดังกล่าวเป็นภาษาไทยสู่ผู้อ่านและผู้สนใจข่าวคราว
ความเคลื่อนไหวด้านวรรณกรรมจากนอกประเทศ ผู้เขียนหวังว่ารายละเอียดของการบรรยายจะนำประโยชน์ไปสู่ผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย
ในช่วงที่เรียกกันว่า ยุคใหม่ (Modernism Period) ต่อเนื่องมาจะถึงช่วง หลังยุคใหม่ (Post-Modernism Period) อย่างเช่นปัจจุบันนี้ ความรุนหน้าโดยฉับพลันทางเทคโนโลยีได้ผลักดันให้ซีกโลกตะวันออก และตะวันตกได้เคลื่อนเข้ามาผนึกรวมกัน หากมองจากมุมภายนอก หรืออีกนัยหนึ่งโลกได้ถูกย่อ
ส่วนให้มีขนาดเล็กและแคบจนกลายเป็น หมู่บ้านโลก (Global Village) ไปโดยปริยาย หากแต่เมื่อพิเคราะห์โดยถ่องแท้แล้ว ย่อมกล่าวได้ว่าอารยธรรม วัฒนธรรม
และความเชื่อทางจิตวิญญาณที่ยังผิดแผกกันในระหว่างชาติพันธุ์ก็ยังคงแบ่งแยกเราไว้จากกันอยู่นั้นเอง และด้วยเหตุนี้ โลกใหม่ (The New World) ของมวลเรา
ที่กำเนิดขึ้นจากปรากฏการณ์ครั้งนี้ จึงยังปรากฏแต่สภาวะอันสับสนและไร้ทิศทาง การแก้ปัญหาดูเหมือนจะเป็นจุดหมายปลายทางที่ยังก้าวไปไม่ถึง เราทั้งมวล ทั้งชน
ชาติตะวันออกและชนชาติตะวันตก ล้วนแล้วแต่ยังคงหลงทิศทางอย่างสะเปะสะปะ ภายใต้กระแสเชียวกราดแห่งโลกาภิวัตน์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ดี ทุกยุค
สมัยที่ผ่านมา และโดยเฉพาะปัจจุบันที่กำลังเป็นอยู่ เราทุกชาติภาษาต่างก็มีวรรณกรรมประจำชาติคอยทำหน้าที่สะท้อนธรรมชาติมนุษย์ โดยมีนักเขียนแต่ละภาษา รวม
ไปถึงนักเขียนจากชาติไทยไปด้วยอีกชาติหนึ่ง เป็นผู้ทำหน้าที่เสมือนมือที่คอยชูกระจกเงายกออกส่องสะท้อนถึงเหตุการณ์แห่งยุคสมัยของตน
ภายใต้ภาวะดังกล่าวนี้ แม้ว่าจะมีนักเขียนไทยจำนวนหนึ่งสามารถประคับประคองตัวให้เลื่อนไหลไปตามกระแสนี้ได้ด้วยความประนีประนอมโดยแทบมิได้มีการ ต่อต้านแต่ก็มีกระแสเสียงในวงวรรณกรรมไทยอีกจำนวนไม่น้อยมีส่วนแสดงความรับผิดชอบออกมา ด้วยการเผชิญหน้ากับกระแสโลกาภิวัตน์ดังกล่าวพยายามหาจุด แก้ปัญหาให้ลุล่วง ผ่านวิจารณญาณที่เปี่ยมด้วยความหวังด้านบวก
ทว่าการบรรยายครั้งนี้ ขอมุ่งประเด็นไปเฉพาะกลุ่มนักเขียนไทยอีกกลุ่มหนึ่งผู้แสดงการตอบโต้ด้วยปฏิกิริยาซึ่งผิดแผกไปจากกลุ่มข้างต้น กลุ่มนักเขียนไทยที่กำลัง จะกล่าวนี้ได้ใช้งานวรรณกรรมของตนเป็นเครื่องมือที่สะท้อนให้เห็นอย่างรุนแรงว่าศักดิ์ศรีของมนุษย์กำลังเสื่อมสลายลงไปทุกที ด้วยผลจากกระแสอันรุนแรงของการ พัฒนาการทางเศรษฐกิจ และการปฏิรูปทางส่งคมเมืองที่กำลังครอบงำวิถีดั้งเดิมของชนชาวไทยอยู่ในปัจจุบันนี้
เป็นเวลาหลายทศวรรษ นับจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา ที่วรรณกรรมไทยมุ่งความสำคัญไปที่แนวสัจจสังคมนิยม (Social Realism) อันเป็น
ผลสืบเนื่องมาจาก บรรยากาศทางการเมืองที่มีอิทธิพลครอบคลุมอยู่ในระยะนั้น ได้มีรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ติดตามมาด้วยการลุกขึ้นต่อ
ต้านและโค่นล้มรัฐบาล โดยพลังแห่งนักศึกษาและประชาชน และผลลัพธ์ก็คือปัญญาชนฝ่ายซ้ายผู้นิยมลัทธิมาร์กซิสม์ได้พยายามยกคุณค่าของวรรณกรรมแนวสัจจนิยม
เพื่อมวลชนขึ้นมาชูธงอยู่ในแถวหน้าสุดในบรรดาวรรณกรรมทั้งหมดแต่อย่างไรก็ดีความเคลื่อนไหวของวรรณกรรมเพื่อชีวิตดังกล่าวได้อ่อนกระแสลงหลังจากที่ไทยเริ่ม
เผชิญหน้ากับกระแสคลื่นลูกใหม่ที่ประดังเข้าสู่ ภายใต้รูปแบบของความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
ชั่วข้ามคืน! ไทยกลับกลายเป็นชาติที่สำแดงความรุดหน้าทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วที่สุดของโลกประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศในกลุ่มอาเชียนด้วยกัน ส่งผลให้ไทย
ต้องสูญเสียเอกลักษณ์เฉพาะตัวทางรากเหง้าวัฒนธรรม ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เองที่กระแสแห่งวรรณกรรมยุคใหม่สุดเริ่มมีโอกาสก่อตัวตนและเฟื่องฟูพัฒนาขึ้นมา เป็น
ปฏิกิริยาตอบโต้ปรากฏการณ์ของความเปลี่ยนแปลงอย่างปัจจุบันทันด่วนนี้ อย่างไรก็ตาม นับเป็นความสะดวกใจที่จะขอเรียกชื่อกระแสวรรณกรรมแนวใหม่สุดดังกล่าวนี้
ด้วยคำจำกัดความกว้างๆ ว่า วรรณกรรมไทยร่วมสมัย (Contemporary Thai Literature) แทนที่จะเรียกว่า วรรณกรรมหลังยุคใหม่ (Post-Modern
Literature) ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติเฉพาะที่ยังคลุมเครือและถกเถียงกันอยู่เรื่องความหมาย แม้จะเป็นคำที่แพร่หลายอยู่ในแวดวงวรรณกรรมตะวันตกก็ตาม อย่างไรก็ดี วรรณกรรมร่วมสมัยของไทยดังกล่าวกับวรรณกรรม โพสต์โมเดิร์น ของตะวันตกก็มีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกันอยู่อย่างเด่นชัดหลายลักษณะ ได้แก่ ต่างก็เป็นงานของ
นักเขียน คลื่นลูกใหม่ (Avant-Garde Writer) ซึ่งได้สะท้อนถึงจิตสภาวะของตนที่แปลกแยกออกมาจากสังคมที่ตนอยู่ รวมไปถึงการเน้นหนักไปที่ความคิดอันเป็น
ปัจเจกเฉพาะของตนซึ่งแสดงออกในรูปของงานเขียน นักเขียนคลื่นลูกใหม่เหล่านี้ยังมุ่มความสนใจไปที่การคิดค้นทดลองด้านรูปแบบตลอดจนกลวิธีการเขียนที่ไม่ได้
ขึ้นต่อแบบแผน และขนบความสมจริง (Realistic) ซึ่งยังคงคลองการเป็นกระแสหลักของวรรณกรรมไทยอยู่ แต่ทั้งนี้ก็เพื่อจุดประสงค์ที่จะใช้ความผิดแผกแปลกไป
จากมาตรฐานปกตินั้นเอง เป็นสัญญาณเตือนให้โลกตระหนักวิกฤติภัยครั้งนี้ว่าคุณค่าและความปรีชาสามารถของมนุษย์ ได้ถูกความเจริญทางเทคโนโลยีบุกรุกเข้ามาย่ำยี และทำลายเกียรติภูมิในส่วนนี้ของมวลมนุษยชาติลงจนกระทั้งโลกทุกหย่อมหญ้าของทุกวันนี้ได้ละทิ้งทั้งจิตวิญญาณของมนุษย์ไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
นักเขียนคลื่นลูกใหม่ของไทยเหล่านี้ได้พยายามสร้าง สถานที่หลบภัย ให้ตนเองด้วยตนเอง ด้วยวิธีการค้นคิดรูปแบบต่างๆ ในการเขียน รวมทั้งขอบเขตปริมณฑล
ของปรัชญาขึ้นมาใหม่ เพื่อประกาศตัวออกมาจากกรงขังของสังคม และก็เพื่อจะใช้การแสดงออกรูปนี้ เป็นเครื่องต่อต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงใหม่ในทศวรรษก่อนๆ ที่สืบทอดและนิยมกันมากมายภายใต้แนวสัจจนิยมอย่างสมจริง ไม่อาจรองรับสภาพ ความเป็นจริง ในยุคปัจจุบันที่นักเขียนรุ่นใหม่กำลังประสนอยู่โดยตรงได้เสียแล้ว ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงหันมาเล่นทดลองกับรูปแบบและเทฅนนิคแปลกใหม่ ที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในด้านการประเมินคุณค่าของความเป็นงานวรรณกรรม รูปแบบ
การเขียนดังกล่าวมีลักษณะที่ไม่ผิดแผกไปจากการเขียนของโลกตะวันตกนัก ซึ่งได้แก่รูปแบบที่แสดงออกมาในแนวจิตนาการเหนือธรรมชาติ (Fantasy) แนวเหนือจริง (Surrealism) แนวสัจนิยมมายา (Magic Realism) แนวไร้ตรรก (Absurdism) แนวอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) และแนวเรื่องซ้อนเรื่อง (Para-Fiction) เป็นต้น
ในช่วงนี้ เป็นโอกาสที่จะขอแนะนำบุคคล ผู้เป็นตัวแทนของเฉพาะกลุ่มดังกล่าว ซึ่งปรากฏฝีมือโดดเด่นในแนวนี้เป็นพิเศษ ผลงานที่เลือกสรรมาจากตัวแทนดังกล่าว
นี้ มิใช่งานที่ปฏิเสธเอกภาพทางด้านรูปแบบ (Form) เพื่อจุดประสงค์ที่จะแสดงความเป็น ขบถ ต่อกฎเกณฑ์การประพันธ์อย่างสิ้นเชิงเสียทีเดียวดังเช่นที่มักจะเห็น
ปรากฏจนแทบจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแนว โพสต์โมเดิร์น ทางโลกตะวันตก อาทิเช่น ที่ปรากฏในงานประพันธ์ของ แซลมวล เบ็คเค็ตต์ (Samuel -
Beckett) ธอมัส ฟินชอน (Thomas Pynchon) และวลาดิเมียร์ นาโบคอฟ (Vladimir Nabakov) เป็นต้น นอกจากนี้ผลงานของนักเขียนคลื่นลูกใหม่ของไทย
ก็มิได้เน้นหนักที่คุณด้านสุนทรียศิลป์ (Aesthetic Value) จากความสละสลวยของภาษาดังเช่นที่ปรากฏกอยู่ในงานเขียนแนวสมจริงร่วมสมัยเดียวกัน หากแต่มุ่งเน้น
อยู่ที่การแสดงออกในทางนวัตกรรม (Innovation) จากจุดที่ผู้เขียนสามารถประยุกต์กลวิธีการเขียนของจนเองขึ้นมาได้หลากหลายแบบเพื่อฉีกฅนอ่านออกจากความ
จำเจของกลวิธีการประพันธ์ที่ถูกยึดถือเป็นแบบแผนกันมาตั้งแต่ดั้งเดิม นอกจากนี้คุณสมบัติข้อที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์(Originality)
ในตัวผู้เขียนที่สามารถนำออกมาแสดง ผ่านโลกทรรศน์และมุมมอง (Perspectives) ที่ใหม่ไม่ซ้ำแบบ กล่าวโดยย่อก็คือคุณสมบัติที่ผู้เป็นนักเขียนไทยแนวนี้จำต้อง
มีกำกับประจำตัวก็คือต้องเป็นผู้ที่รู้จักคิดถึงสิ่งที่ยังไม่มีใครคิดถึง (To think the unthinkable)
นักเขียนฅนแรกและเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดต่องานแนวนี้ได้แก่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บุคคลสำคัญต่อวงการวรรณกรรมไทย ผู้บุกเบิกแนวทางให้กับนักเขียนคลื่นลูกใหม่ ที่ทุกวันนี้ก็ยังก่อกระแสการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่หลายฝ่ายในวงการวรรณกรรม โดยยังไม่มีข้อยุติ ผลงานหนังสือรวมเรื่องสั้นในชื่อ ความเงียบ ซึ่งปรากฏรูปเล่มขึ้นมา
ในทศวรรษที่ ๖๐ นับได้ว่าเป็นหัวหอกที่เจาะทะลุกำแพงแห่งกระแสหลักของวรรณกรรมในช่วงนั้นขึ้นมาท้าทายวงการวรรณกรรมจนกระทั่งอาจกล่าวได้ว่าสามารถ
ดึงเอานิยามของคำว่า โพสต์โมเดิร์น เข้ามาใช่ต่อเส้นทางใหม่ให้กับประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมไทยได้สำเร็จ แนวเรื่อง (Theme) ที่แสดงเนื้อหาแนวอัตถิภาวะ
นิยม(Existentialism) ซึ่งปรากฏอยู่ในแต่ละเรื่องสั้นของหนังสือเล่มนี้ แสดงออกด้วยภาพฉากและการบรรยายซึ่งให้บรรยากาศแนวเหนือจริง (Surrealism) พร้อมทั้งเน้นถึงการแสวงหาความหมายที่แท้จริงของชีวิต ซึ่งในขณะเดียวกันจำเป็นต้องสัมพันธ์กับโลกหรืออีกนัยหนึ่ง ยังต้องติดขังอยู่ในกับดักของสังคม งานของ
นักเขียนผู้นี้บริบูรณ์ไปด้วยสัญลักษณ์เชิงซ้อนครอบกันอยู่หลายชั้นหลายความหมาย แสดงเจตนาของผู้เขียนที่จะปฏิเสธการตีความหมายหรือความเข้าใจใดๆ จากผู้อ่าน แต่ขณะเดียวกันความกำกวมคลุมเครือจนดำมืดของงานดังกล่าว ก็กลับมีอำนาจเรียกร้อง และพยายามยั่วยุให้ผู้อ่านเพียรพยายามขบคิดและค้นหาความหมายเพื่อทำความ
เข้าใจให้จงได้ ดั้งนั้นการปรากฏตัวของ ความเงียบ จึงนับเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ทางวรรณกรรมไทย ที่ก่อกำเนิดวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ขึ้นมาเป็นครั้งแรก
ตลอดทั้งเป็นการเปิดเสรีภาพให้ผู้วิจารณ์วรรณกรรมรวมทั้งผู้อ่านแต่ละฅนใช้อัตวิสัยเฉพาะตนแยกแยะและถอดแต่ละแง่มุมของโครงสร้างทุกส่วนในตัวบริบทออกมา
วิเคราะห์และตีความ ไปตามพื้นฐานแห่งความเข้าใจที่แตกต่างกันออกไปโดยไม่มีข้อจำกัด นอกจากนั้นแล้ว นักเขียนผู้นี้ยังได้รับการยกย่องในฐานะบรรณาธิการนิตยสาร
ทางวรรณกรรมไทย ผู้ที่สร้างนักเขียนในฐานะ นักทดลอง รุ่นใหม่ขึ้นมาประดับวงการอีกเป็นจำนวนไม่น้อย
ปรากฏการณ์พิเศษของ ความเงียบ นับเป็นการบุกเบิกเส้นทางสายใหม่ให้แก่นักเขียนรุ่นต่อมาให้มีโอกาสก้าวเข้ามาร่วมผจญภัยบนเส้นทางสายนี้ด้วย นักเขียนรุ่น
ใหม่ผู้ที่ก้าวตามมาและมีชื่ออยู่แนวหน้าสุดของวงการวรรณกรรมไทยอีกผู้หนึ่งได้แก่ ชาติ กอบจิตติ ผู้ซึ่งได้รับรางวัลสร้างสรรค์ยอมเยี่ยมแห่งอาเซียนอันเป็นรางวัล
วรรณกรรมซึ่งทรงเกียรติสูงสุดของไทยในฐานะเดียวกับที่รางวัลพูลิตเซอร์ทรงความสำคัญต่อวรรณกรรมอเมริกา ผลงานนวนิยายเล่มล่าสุด เวลาอันได้รับการกล่าว
ขวัญเป็นอย่างสูงในฐานะของวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลดังกล่าวเป็นครั้งที่สองจากผลงานของนักเขียนฅนเดียวกัน ได้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงทักษะพิเศษของผู้เขียน
ผู้ที่สามารถสอดประสานเทคนิคขบวนการเขียนอันหลายหลาย ซึ่งได้แก่รูปแบบการเขียนบทภาพยนตร์และรูปแบบการเขียนบทละครที่รวมเข้าด้วยกัน เพื่อใช้ดำเนิน
เนื้อเรื่องให้ติดต่อและสืบเนื่องเป็นเรื่องเดียวได้โดยตลอดแนวเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้สะท้อนถึงความมีชีวิตอยู่อันว่างเปล่าของชายหญิงสูงอายุกลุ่มหนึ่งภายในสถาน
ที่พักฅนชรา ผู้ที่วันแล้ววันเล่าได้แต่นั่งและนอนรอคอยความตายให้ผ่านเข้ามา ท่าวกลางวารเวลาอันยืดยาวที่ล่วงเลยไปอย่างไร้ที่สิ้นสุด และโดยแทบไม่มีความเปลี่ยน
แปลงใดๆ เกิดขึ้น นวนิยายเรื่องนี้ได้แสดงลักษณะขัดแย้งแบบตรงข้าม (Paradox) ซึ่งแฝงนัยยะในเชิงปรัชญาได้อย่างน่าสนใจยิ่ง ในแง่ที่ว่าหากถ้าความเป็น
ของชีวิตฅนเรามีความหมายเดียวกับ ความตาย หากจะมองชีวิตออกมาจากสภาวะนิ่งสนิทและปราศจากจุดหมายใดๆ ในตัวของมันแล้ว ในทางกลับกัน ความตาย ก็อาจจะหมายถึง ความเป็นแทนที่ได้เช่นกันถ้ามองจากจุดที่มันสามารถเคลื่อนไหวเข้ามาช่วยปลดชีวิตให้เคลื่อนหลุดเป็นอิสระจากสภาพที่หยุดนิ่งภายใต้ความหมายที่ อุปโลกน์ขึ้นมาของชีวิต ดังที่ปรากฏอยู่ในตัวละครส่วนใหญ่ภายในเรื่องนี้
นอกจากนั้นแล้ว แนวนิยายเรื่องนี้ได้สะท้อนปัญหาร่วมสมัยของสังคมไทยปัจจุบัน อันได้แก่ความล่มสลายลงของคุณค่าตามแบบฉบับดั้งเดิม
แห่งความเป็นสถาบันครอบครัวไทย ภายใต้แรงบีบกดที่เกิดจากระบบของสังคมเมืองแบบตัวใครตัวมัน (Unbanization) ซึ่งนับวันก็ยิ่งขยายและเติบโตขึ้นอย่าง
รวดเร็ว
คลื่นลูกใหม่ที่โดเด่นอีกผู้หนึ่ง ในฐานนะของผู้ที่ได้รับรางวัลสูงสุดของวรรณกรรมไทยรางวัลเดียวกันนี้จากปีที่แล้ว ได้แก่ กนกพงศ์ สงสมพันธ์เจ้าของหนังสือ
วรรณกรรมรวมเรื่องสั้นในชื่อ แผ่นดินอื่น นักเขียนผู้นี้ได้นำวิธีการเขียนในแนวสัจนิยมมายา (Magic Realism) มาปรับปรุงเป็นอุปการณ์ใหม่ เพื่อถ่ายทอดเนื้อ
หาตามแบบฉบับดั้งเดิมของ วรรณกรรมเพื่อชีวิต ที่ได้สะท้อนปัญหาสังคมท้องถิ่น หากการจัดวางองค์ประกอบที่ขัดกันให้เข้าประกบคู่กัน (Juxtaposition) ระหว่างกลวิธีการเขียนในรูปแบบใหม่ ที่สะท้อนออกด้วยแนวจิตนาการพ้นจริง กับเนื้อหาสาระในลักษณะดั้งเดิมภายใต้แนวสัจนิยมที่ตามประเพณีนิยมแล้ว มักจะมุ่งถ่าย
ทอดข้อเท็จจริงทางบันทึกเหตุการณ์เป็นหลักนั้น ได้นำความสำเร็จเป็นอย่างสูงมาสู่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ในฐานะผู้สร้างนวัตกรรมให้แก่วงการวรรณกรรมไทยในอีก
มิติหนึ่ง
อนึ่งวรรณกรรมเล่มนี้ ได้สร้างความรู้สึกขัดแย้งกันเองให้เกิดขึ้นกับฝ่ายผู้อ่านอย่างน่าสนใจยิ่งขึ้น ระหว่างความสงสัยเคลือบแคลงใจและความต้องการที่จะเชื่อ
ในสิ่งที่อ่านพร้อมกันในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เป็นเพราะตัวละครส่วนใหญ่ในท้องเรื่องได้แสดง พฤติกรรมเหนือธรรมชาติที่ค่อนข้างท้าทายตรรก (Logic) ของผู้อ่าน แต่เมื่อบอกเล่าผ่านศิลปะการบรรยายเรื่อง (Narrative)พร้อมด้วยรายละเอียดปลีกย่อยที่ผู้เขียนใช้ฝีไม้ลายมือระบบถ่ายทอดออกมาด้วยน้ำเสียงอันสมจริงและดูเป็น
ธรรมชาติ ราวกับความประหลาดมหัศจรรย์ภายในเรื่องเป็นเรื่องราวปกติธรรมดาที่สุดแล้ว ในจุดนี้ก็กลับมีอำนาจพอที่จะสะกดให้ผู้อ่านมิอาจดึงดันความคิดของตนเอง
ได้อีกต่อไปไม่ว่ามิใช่เรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ ตลอดเวลาที่อ่านอยู่ในจิตใจของผู้อ่านจะถูกให้ผู้เขียนคอยชัดเอียนเอนไปมาข้ามเส้นขีดคั่นของสองพรมแดนที่คั่น
ระหว่างความเป็นเรื่องจริง (Fact) กับความเป็นเรื่องที่สมมุติขึ้นมาเอง (Fiction) ความรู้สึกแบ่งแยกเป็นสองฝักสองฝ่ายดังกล่าวที่ได้รับจากการอ่านวรรณกรรมเล่มนี้ จึงเสมือนกับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบรรยากาศที่แผ่คลุมอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้นิยามของคำว่า โลกยุคใหม่ (The New World) ที่เราทุกฅนกำลังคลางแคลง
ต่อความเป็นจริงของมันเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนที่เราเองกำลังก้ำกึ่งอยู่ว่า ควรจะเชื่อดีหรือไม่ว่า โลกยุคใหม่ นี้ มีสภาวะอยู่จริง หรือว่าเป็น โลกยุคใหม่ของไทย เป็นเพียงนิยามความหมายที่สร้างขึ้นมาลอยๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือชวนเชื่อถึงความมีอยู่ ที่อาจจะอยู่จริงก็แต่เพียงความว่างเปล่าของมัน
นักเขียนไทยบางฅนอันได้แก่ กร ศิริวัฒโณ ได้ถ่ายทอดสะท้อนภาพยุคสมัยที่ยังกำกวมและดูปราศจากความสมเหตุสมผลของยุคนี้ ด้วยกลวิธีการเขียนที่ผิดแผกไป
จากผู้อื่น แทนที่จะใช้เทคนิคการเขียนแบบสลับซับซ้อน และยากต่อความเข้าใจในแบบฉบับปกติที่ปรากฏอยู่ในงานประเภทเดียวกัน ผู้เขียนกลับหันมาใช้กลวิธีการเขียน
ที่นำเสนอต่อผู้อ่านด้วยภาษาที่เรียบง่ายราวกับเด็กนักเรียนเสียจนเกินกว่าที่ผู้อ่านจะยอมเชื่อว่าเป็นการสำแดงถึงฝีมือในเชิงวรรณศิลป์อันแท้จริงของผู้เขียนหากภาษา
เด็กนักเรียนในลักษณะนี้เอง ที่กลับถูกนำมาเป็นเครื่องมือเจาะลึกเข้าไปถึงคำถามในระดับปรมัตถ์ (Ultimate Question) ที่ยากที่สุดคำถามหนึ่ง นั่งก็คือการตั้งข้อ
สงสัยต่อความมีอยู่ของเหตุผล (Logic) ในแง่ที่ว่า เหตุผล เป็นส่านหนึ่งของสากลธรรมชาติที่มีอยู่ตามปกติหรือไม่ และหากคำตอบเป็นดังนั้น ก็ย่อมจะเป็นข้อยืนยัน
ได้ว่าเหตุผล อาจเป็นเพียงสิ่งที่เรามนุษย์ช่วยกันอุปโลกน์สร้างคำคำนี้กันขึ้นมาเอง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างจะไร้ผลต่อความเพียรพยายามที่จะใช้ตัวมันเจาะ
ทะลุเข้าไปสำรวจและเข้าไปค้นหาก้นบึ้งของปรากฏการณ์อันดำมืดต่างๆ รอบตัวที่เกิดขึ้นเหนือไปจากการรับรู้ ความเข้าใจใดๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องของ
เคราะห์กรรมความทุกข์ทั้งมวล เป็นต้น
บุคคลท้ายสุดที่จะขอแนะนำได้แก่ เดือนวาด พิมวนา นักเขียนหญิงรุ่นใหม่และนักนิยมสิทธิสตรี ผู้ที่ใช้ความสามารถอันเป็นพิเศษของเธอจำลองโลกภายในของ
ฅนในแนวจิตวิทยาฟรอยเดียน (Freudion Realism) ออกมาแสดงได้ดียิ่ง ผลงานของเธอ ซึ่งมีบางเรื่องที่นำกลวิธีของพาราฟิคชั่นมาใช้ด้วยนั้น ขุดรากถอนโคลน
เข้าไปถึงสภาวะจิต-โลกใต้จิตสำนึกอันลึกลับที่มีอยู่ในสัญชาติญาณของแต่ละฅนแฝงตัวสิงอยู่อย่างเงียบเชียบจนแทบไม่มีผู้ใดล่วงรู้เข้าไปค้นพบธรรมชาติที่แท้จริงข้อ
นี้ของตนเอง หากมันก็พร้อมที่จะสำแดงตัวตนออกมาในเมื่อใดก็ตามที่เกิดมีสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งเข้าไปผลักดันให้ตัวตนหลุดลอดผ่านกำแพงแห่งมโนสำนึก
เพื่อให้ เราผู้เป็นเจ้าของจำต้องหันมารู้จักความเป็นตัวเราเองเสียใหม่ว่าในเนื้อแท้โดยธรรมชาติส่วนลึกสุดของเราทุกฅนนั้น ย่อมไม่มีสิ่งอื่นใดอีกเลยนอกเสียจากความ
มีน้ำใจซึ่งพร้อมจะเข่นฆ่าทำร้ายซึ่งกันและกัน สามารถจะสำแดงออกมาจากตัวตนของผู้ใดก็ได้ ภายใต้แรงผลักดันจากสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับฅนผู้นั้นอยู่
และโดยไม่คิดว่าฅนผู้นั้นจะมีอุปนิสัยปกติจากภายนอกที่ถึงพร้อมด้วยความดีงามเพียงใด
ผลงานส่วนใหญ่ของเดือนวาด พิมวนาชี้ให้ผู้อ่านตระหนักถึงสัจธรรมข้อโหดร้ายที่มีอยู่ในดวงวิญญาณของเราทุกฅนเรื่องของเธอจึงนำความสั่นสะเทือนเข้ามา
โยกคลอนเกียรติแห่งความเป็นมนุษย์ของเราแต่ละฅน เพราะได้บีบให้ผู้อ่านต้องการดำรงชีวิตให้รอดเท่าที่จะทำได้ท่ามกลางสังคมทุกวันนี้นี่เอง นี่เป็นตัวบีบบังคับ
อย่างไร้ปรานีให้เราทุกฅนทุกระดับไม่เว้นแม้แต่จิตใจผู้ที่สูงส่งที่สุดต้องเริ่มต้นลอกความเป็นสัตว์โลกผู้ประเสริฐของตนเองออกจนกระทั่งท้ายสุดก็อาจเปลือยล่อนจ้อน
เหลือแต่วิญญาณชั้นในสุดที่แม้แต่ตัวเองก็ยังไม่กล้าเผชิญหน้ากับความอัปลักษณ์ของมัน
ผลงานที่ได้รับการยกย่องข้างตน ย่อมไม่ใช่งานที่ง่ายต่อความเข้าใจนัก ซ้ำงานบางชิ้นก็ใช่การถ่ายทอดเรื่องที่ไม่พึ่งพาเอกภาพจนกระทั้งหลุดพ้นไปถึงระดับที่
ไม่สามารถทำความเข้าใจได้โดยสิ้นเชิง(Unintelligibility) บางชิ้นก็ใช้รูปแบบที่ไม่ปะติดปะต่อกันในลักษณะชิ้นส่วน (Fragmented Form) จนสื่อถึงผู้อ่าน
ได้ด้วยความยากลำบาก และบางชิ้นก็ใช้เฉพาะรูปสัญลักษณ์ รวมไปถึงการสำแดงออกในรูปของนามธรรม (Abstract) อย่างหนักหน่วง อุปสรรคต่อความเข้าใจเหล่านี้ ย่อมก่อให้นักอ่านและนักวิจารณ์หัวเก่าส่วนใหญ่เกิดอคติว่า รูปแบบการประพันธ์ตรงไปตรงมาของแนวสมจริงที่ยังคงครองความเป็นกระแสหลักของวรรณกรรมไทย
สามารถถ่ายทอดความคิดลุ่มลึกผ่านภาษาที่สื่อสารให้ผู้อ่านเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถตรึงคุณค่าของจริยธรรมไว้ในงานได้สูงกว่าและยังเข้าถึงปัญหาของสังคม
มนุษย์ได้อย่างสมจริงสมจังเหนือกว่าแนวเขียนยุคใหม่ที่รุดเข้ามารบกวน ในกรณีที่รุนแรงกว่านั้นงานแนวทดลองที่กล่าวมาก็ถึงกับถูกตราว่าเป็นงานที่ขาดสามัญสำนึกของ
ความรับผิดชอบและขาดทั้งสารประโยชน์ที่ถูกผลิตขึ้นมาโดยนักเขียนกลุ่มหนึ่ง ผู้มีเจตนาปลีกตัวแยกตัวออกจากความจริงของโลก
ดังนั้น ด้วยเหตุผลกลใดของนักเขียนใหม่เหล่านี้ยังมุ่งมั่นต่อการสร้างสรรค์งานของตนเองออกมาท่ามกลางมรสุมหนักจากปัญหาดังกล่าว คำตอบทั้งหมดได้แก่
เนื่องจากหนุ่มสาวเหล่านั้นมิได้เชื่อว่าวิธีที่แสดงออกด้วยเอกภาพที่ผสมกลมกลืนในรูปแบบของความสมจริงและยังครองความนิยมไม่ตกในแวดวงวรรณกรรมไทย
ปัจจุบันนั้น จะสามารถนำมาใช่สื่อ ความเป็นจริง ประจำยุคสมัย ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนไปในสังคมที่ตัวของมันเองก็ยังสะเปะสะปะอยู่เช่นนี้ได้ ขบวนการแสดงออก ที่
สร้างความสับสนปนเปและปราศจากทิศทาง เสมือกับการที่เราต้องใช้แต่สีดำ เท่านั้นวาดระบายเพื่อให้ฅนดูสามารถมองเห็นภาพออกมาได้โดยทันทีว่าหน้าตาของ
ตัวความมืดมีลักษณะเป็นเช่นไร ดังนั้นก็ด้วยวิธีการแสดงออกผ่านกระบวนการเขียนที่ท้าทายผู้อ่านสุดขั้วลักษณะเช่นนี้เท่านั้น ที่เราจึงมีโอกาสใช้มันแทนเสียงตะโกน
ร้องเรียกเพื่อให้ผู้ฅนไม่ยินดียินร้ายต่อสังคมเริ่มหันมาสนใจสภาพแห่งวิกฤติการณ์ของโลกปัจจุบันผ่านเสียงตะโกนของเรา และก็ด้วยเหตุนี้ งานเขียนที่ถูกกล่าวหาว่า
ไร้สาระ (Absurd Writing) ตามสายตาและมาตรฐานของผู้ฅนปกติ โดยแท้จริงแล้วก็ย่อมไม่ใช่สิ่งใดนอกจากเป็น กระจกเงา ที่ส่องสะท้อนให้เห็นถึงภาพแห่ง
ความ ไร้สาระ ของทุกวันนี้ ฉายออกมาจากตัวตนของมันอย่างตรงไปตรงมาต่อความเป็นจริงที่สุดนั้นเอง หากว่าเราได้รับข้อกล่าวหาว่ามิได้มีส่วนสร้างสรรค์สิ่งใด
ที่อำนวยคุณประโยชน์แก่สังคมบางทีผู้ที่ยื่นข้อกล่าวหานี้ให้กับเราอาจไม่เคยตระหนักเลยก็ได้ว่าประโยชน์ส่วนที่เราหยิบยื่นให้กับสังคมนั้นย่อมจะเป็นไปด้วยลักษณะกำ
กวม ไม่ตรงไปตรงมาจากลักษณะงานของเราเอง นั่นก็คือ เราต้องตะโกนปลุกสังคมที่บอดใบ้ให้ลืมตาขึ้น แล้วมองตนเองผ่านเข้าไปใน กระจกเงา แห่งงานเขียนของเรา
เพื่อว่าภาพที่สะท้อนออกมาจะกระตุ้นปลุกให้สังคมเริ่มเกิดความขวัญหนีดีฝ่อต่อร่างอันบิดเบี้ยวพิกลพิการของตัวมันเองที่ปรากฏชัดในกระจกบานนั้น และในที่สุด
การกระตุ้นตื่นขึ้นในครั้งนี้ ย่อมจะนำสังคมไปสู่การหาหนทางบำบัดอาการทุพพลภาพของตนอย่างโกลาหน จนกระทั่งจิตวิญญาณของมนุษย์ที่เคยสูญหายไปจากสังคม
สามารถคืนกลับสู่ผู้เป็นเจ้าของได้อีกวาระหนึ่ง
พวกเรามิได้สร้างงานเขียนขึ้นมาเพื่อพยายามใช้ตัวอักษรถมก้นเหวแห่งความว่างเปล่าในสังคมให้เต็มเหมือนดังเช่นเพื่อนร่วมวงวรรณผู้ยึดถือแนวอุดมคตินิยมยัง
มีความใฝ่ฝัน ความใฝ่ฝันอันนั้นยังดำรงอยู่เหนือพลังความสามารถใดๆ ที่พวกเราจะสามารถบรรลุถึง เนื่องจากเป็นพันธกิจที่ไม่อาจมีใครสามารถถมด้วยสองมือเพียง
ลำพังเท่าที่จะทำได้ พวกเราในฐานะเสียงสะท้อนใหม่สุดของวงการวรรณกรรมไทย จึงเพียงแต่สร้างสรรค์งานของเราขึ้นมา เพื่อใช้กระแสเสียงของความขบถตะโกน
เตือนเพื่อนร่วมโลกให้ดังกัมปนาทที่สุดเท่าที่จะกรีดร้องออกไปได้ว่า
ดูนั่น! ท่านทั้งหลาย เห็นหรือไม่ว่าขอบเหวตรงหน้าของท่าน มันกว้าง มันลึก และมันน่าสะพรึงกลัวเพียงใด ได้โปรดเถอะทุกท่าน ช่วยกันลุก ขึ้นมาทำอะไรสักอย่างด้วยเถิด!