บทความ

กลวิธีของการเล่าเรื่องใน "เจ้าหงิญ"

by 2 @November,19 2006 21.01 ( IP : 222...143 ) | Tags : บทความ

กลวิธีของการเล่าเรื่องใน "เจ้าหงิญ"

รศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

เจ้าหงิญ : วรรณกรรมซีไรต์ ปี ๒๕๔๘

      เจ้าหงิญ เป็นชื่อของหนังสือรวมเรื่องสั้นซึ่งได้รับรางวัล วรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียนหรือ รางวัลซีไรต์ ประจำปี
๒๕๔๘ คณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ได้มีคำประกาศยกย่องไว้ว่า

      คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม แห่งอาเซียน มีมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง เจ้าหงิญ ของ
บินหลา สันกาลาคีรีได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม แห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๘


      รวมเรื่องสั้น เจ้าหงิญ ของ บินหลา สันกาลาคีรี
นำโลกของจินตนาการมาผสานกับโลกของความจริงโดยใช้รูปแบบ นิทานเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ประสบการณ์ทางอารมณ์
การเผชิญปัญหาและอุปสรรค การแสวงหาความหมายและความ สุขของชีวิต แต่ด้วยความเขลา มนุษย์จึงดิ้นรน และหลงอยู่ในมายา ในที่สุด ผู้อ่านจะรับรู้ได้ว่าในโลกของความ เป็นจริงนั้น โลกมีหลากหลายทางเลือกที่จะไปสู่วิถีชีวิตที่ เรียบง่ายและพอดี


      รวมเรื่องสั้นทั้ง ๘ เรื่อง อาจอ่านแยกกันเป็นเรื่องๆ แต่ด้วยก ารเรียงร้อยเข้าด้วยกัน ทำให้เรื่องสั้นแต่ละเรื่องกลายเป็นเรื่องสั้น ในเรื่องยาว เป็นนิทานซ้อนนิทานที่เรื่องต้นและเรื่องท้ายมา บรรจบกันอย่างแนบเนียน ผู้ประพันธ์สร้างตัวละครหลากหลาย
ทั้งคน สัตว์ สิ่งของแบบนิทานเปรียบเทียบที่อุดมด้วยสีสันรวม ทั้งการเล่นคำ โดยเฉพาะชื่อ เจ้าหงิญ ที่สื่อความหลายนัยและ อารมณ์ขันมีลีลาภาษาที่รุ่มรวยด้วยโวหารเร้าจินตนาการและความคิด


      เจ้าหงิญ เล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงอ่อนหวานและอ่อนโยน ให้เรา รู้ว่าในโลกความเป็นจริง ชีวิตมิได้เป็นไปดังหวัง หากดำรงอยู่ได้ อย่างสันติก็ด้วยพลังของความดีงามที่กระตุ้นจิตใต้สำนึกของผู้อ่าน ให้มองโลกในแง่ดี เข้าใจและรักเพื่อนมนุษย์


      รวมเรื่องสั้นเรื่อง เจ้าหงิญ ของ บินหลา สันกาลาคีรี
จึงสมควรได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๘





บินหลา สันกาลาคีรี : ชื่อเป็นนก นามสกุลเป็นภูเขา


      บินหลา สันกาลาคีรี เป็นนามปากกาของ วุฒิชาติ ชุ่มสนิท
เกิดที่จังหวัดชุมพร แต่ไปโตที่สงขลา ปัจจุบันพำนักเป็นการ ถาวรอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจบมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา สอบติดคณะนิเทศศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เรียนไม่จบ ได้ทำงานเกี่ยวกับ งานหนังสือมาโดยตลอดตั้งแต่เรียนชั้นปีหนึ่ง ได้แก่ ทำหนังสือ ไปยาลใหญ่กับศุ บุญเลี้ยง เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์มติชน
ข่าวสด จนเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ และเป็นนักเขียนไปพร้อมกัน
ปัจจุบันยึดอาชีพนักเขียนเพียงอย่างเดียว ผู้เขียนอธิบายที่ มาของนามปากกาไว้ว่า


      "คือตอนที่ผมเรียนนิเทศฯที่จุฬาฯ เราจะเรียกตัวเองว่า นกน้อยในไร่ส้ม ผมก็อยากเป็นนกกับเขาเหมือนกัน
เลยคิดว่าผมน่าจะใช้นามปากกาที่บอกที่มาของผมว่า เป็นนกที่บินมาจากแถวภูเขาสันกาลาคีรีจากแดนใต้
แล้วนกที่มาจากตรงนั้นก็ควรจะเป็นนกบินหลาซึ่งเป็น ชื่อท้องถิ่น ก็เลยใช้ชื่อ

      บินหลา สันกาลาคีรี คนกรุงเทพฯเรียกนกตัวนี้ว่า นกกางเขนดง แต่คนใต้เรียกว่า นกบินหลา"


      วุฒิชาติ ชุ่มสนิท เริ่มเขียนเรื่องสั้นมาตั้งแต่สมัย เรียนมัธยม มีงานเขียนหลากหลายประเภททั้งเรื่องสั้น นวนิยาย วรรณกรรมเยาวชน และสารคดีท่องเที่ยว
วรรณกรรมเยาวชน เช่น ปลาฉลามฟันหลอ
รวมเรื่องสั้น เช่น บินทีละหลา คนรักกับจักรยาน
คิดถึงทุกปี ฉันดื่มดวงอาทิตย์ สารคดีท่องเที่ยว เช่น
หลังอาน, ดื่มทะเลสาบ อาบทะเลทราย, นวนิยาย ได้แก่ ฉันรักดวงจันทร์ เพลงพญาเหยี่ยว (เขียนไม่จบ)
และ ปุชิตา แผ่นดินรัก แผ่นดินเลือด ซึ่งกำลังตีพิมพ์ ในนิตยสารขวัญเรือน


      รวมเรื่องสั้น เจ้าหงิญ เป็นงานเขียนรวมเล่มล่าสุด ผู้เขียนให้สัมภาษณ์ว่า ใช้เวลา ๒ ปี คิดวางโครงสร้างทั้งหมด จำนวนเรื่อง การลำดับเรื่อง และเนื้อหาในแต่ละเรื่อง และใช้เวลาเขียนอีก ๔ ปี นับแต่เรื่องแรกจนถึงเรื่องสุดท้าย ผู้เขียนให้สัมภาษณ์ว่าเลือกถ่ายทอดเรื่องสั้นชุดนี้ในรูปแบบของนิทานเพราะ "สิ่งที่ผมต้องการจะพูดมันไม่ใช่แค่ตัวอักษร มันเป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่
เช่น เรื่องของบรรยากาศ เรื่องของความอบอุ่น ซึ่งไม่จำเป็นต้องบรรยาย
แต่รูปแบบของนิทานมันจะถ่ายทอดบรรยากาศตรงนี้ติดตัวไปด้วยได้เลย"




      นิทานคือเรื่องเล่า

      นิทานคือรูปแบบของเรื่องเล่า (Narration) ชนิดหนึ่งที่ มีมาแต่ดั้งเดิม สืบทอดต่อกันแบบมุขปาฐะ คือ เล่าสู่ กันฟังแบบปากต่อปาก จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จากคนในวัฒนธรรมหนึ่งสู่คนในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง
ครั้นเวลาล่วงไปเนิ่นนานได้มีผู้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้นิทานจำนวนหนึ่งไม่สูญหายไปตามกาลเวลา

      นิทานที่มีมาแต่โบราณในซีกโลกตะวันตก คือ นิทานอีสป
เล่าโดย อีสป (Aesop) ทาสชาวกรีก


      ประมาณศตวรรษที่ ๖ ก่อนคริสตกาล ต่อมา มีผู้คิดรวบ รวมนิทานมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ คือ ยาคอบ

      ลุดวิก คาร์ล กริมม์ และวิลเฮล์ม คาร์ล กริมม์
(Jacob Grimm & Wilhelm Grimm) สองพี่น้องชาว เยอรมันตระกูลกริมม์ ผู้เขียนหนังสือชื่อ Household Tales ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๘๑๒ และต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๓๕
ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน (Hans Christian Andersen)
นักเล่านิทานและนักเขียนชาวเดนมาร์กได้ตีพิมพ์หนังสือ
Hans Christian Andersen's Fairy Tales


      ส่วนในซีกโลกตะวันออก อินเดียมีวรรณคดีที่เป็นรวม นิทานเก่าแก่อยู่ ๒ ชุด คือ พฤหัตกถา ของ คุณาฒยะ
ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือรวมเทพนิยายสันสกฤตที่เก่าแก่ที่สุด น่าจะเขียนขึ้นในราวศตวรรษที่ ๑ ก่อนคริสตศักราช
และกถาสริตสาคร ซึ่งโสมเทวะเรียบเรียงขึ้นจากพฤหัสกถา
ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ นอกจากนี้ยังมีชุดนิทานที่แพร่ หลายเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในอินเดียและประเทศต่างๆ ใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ปัญจะตันตระ นิทานวิกรมาทิตย์
และนิทานเวตาล


      นอกจากอินเดียแล้ว นิทานตะวันออกที่มีชื่อเสียงอีก ชุดหนึ่งคือ อาหรับราตรี
(Thousand and One Nights Arabian Stories
or Arabian Nights' Entertainment)
ซึ่งทำให้ต่อมามีผู้แต่งเรื่อง พันหนึ่งทิวา ขึ้นอีกด้วย ทั้งสองเรื่องแปลเป็นภาษาไทยโดย "เสฐียรโกเศศ"

      ในทางคติชนวิทยา Stith Thompson ( อ้างถึงใน
ประคอง นิมมานเหมินท์, ๒๕๔๓ : ๙) แบ่งนิทาน ออกเป็น ๑๑ ประเภท คือ นิทานมหัศจรรย์ หรือ
เทพนิยาย (fairy tale) นิทานชีวิต (novella) นิทานวีรบุรุษ ( hero tale) นิทานประจำถิ่น (sage) นิทานอธิบายเหตุ ( explanatory tale) ตำนานปรัมปรา (myth)
นิทานสัตว์ (animal tale) นิทานมุขตลก (jest) นิทานศาสนา ( religious tale) นิทานเรื่องผี (ghost tale)
นิทานเข้าแบบ ( formular tale)


      ไทยใช้คำว่านิทานในการเรียกขานเรื่องเล่าประเภทต่างๆ
ทั้งที่เป็นมุขปาฐะ และเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งที่เป็นร้อยแก้ว
และร้อยกรอง แม้ต่อมางานเขียนในสมัยรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีรูป แบบและวิธีการเล่าเรื่องคลี่คลายไปจากเดิมมาก
จนมีลักษณะดังที่เราเรียกกันในสมัยหลังว่า นวนิยาย
เรื่องสั้น บทความ สารคดี บันทึกประสบการณ์ ฯลฯ
แต่ในยุคนั้นก็ยังคงใช้คำว่า นิทาน เรียกชื่องานเหล่านั้นอยู่
ดังเช่น นิทานทองอิน พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งแต่ละเรื่องมีลักษณะเป็นเรื่องสั้น รวมทั้ง ๑๕ เรื่องเป็นนวนิยายจบในตอน (episodic novel)
นิทาน น.ม.ส. ของ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ
มีลักษณะเป็นเรื่องสั้น นิทานโบราณคดี ของ สมเด็จฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีลักษณะเป็นบทความสารคดี เป็นต้น


      เมื่อมีการใช้คำว่า นวนิยายและเรื่องสั้นสำหรับงานเขียน บันเทิงคดีสมัยใหม่ คำว่า นิทาน ก็จำกัดลงไปหมายถึง เรื่องเล่าแบบโบราณที่เน้นเรื่องจินตนาการ อย่างเช่น
มูลนิธิเด็กจัดประกวดนิทานจินตนาการเป็นประจำทุกปี




      กลวิธีของการเล่าเรื่องแบบนิทานใน "เจ้าหงิญ"

      เจ้าหงิญเป็นตัวอย่างหนึ่งของวรรณกรรมร่วมสมัยที่เรียกว่า
วรรณกรรมหลังสมัยใหม่ หรือ วรรณกรรมโพโม หรือ วรรณกรรมโพสต์โมเดิร์น หรือ (post-modernism) ซึ่งมีลักษณะและกลวิธีการนำเสนอต่างไปจากวรรณกรรมแบบเดิม ความแตกต่างอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการข้ามพรมแดน ของประเภทวรรณกรรม หรือเรียกว่าเป็นการทำลายขอบเขต ของประเภทวรรณกรรม เพราะมีการผสมผสานประเภทงาน เขียนหลายอย่างในเรื่องเดียวกัน ไม่แยกประเภทโดยชัดเจน เหมือนการสร้างงานเขียนในสมัยก่อน วรรณกรรมร่วมสมัย ของไทยที่มีลักษณะเช่นนี้ เช่น เรื่องแผ่นดินอื่น ของ
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ รวมเรื่องสั้นซีไรต์ ปี ๒๕๓๙ เป็น งานเขียนในแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือ สัจนิยมมายา
( magical realism) ซึ่งเป็นเรื่องกึ่งสมจริง กึ่งจินตนา การเหนือจริง และ ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ของ วินทร์ เลียววาริณ ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐
เป็นนวนิยายประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ประสม ประสานรูปแบบของนวนิยาย เรื่องสั้นแนวหักมุม (twisted ending) และสารคดีเชิงวิชาการเข้าด้วยกัน
ส่วนเรื่องเจ้าหงิญ รวมเรื่องสั้นซีไรต์ปี ๒๕๔๘ เป็นการประสม ประสานรูปแบบและขนบของนิทานที่เป็นเรื่องจินตนาการกับการ นำเสนอเรื่องสั้นสมัยใหม่ที่เน้นการสะท้อนความเป็นจริง


      เรื่องสั้น ๘ เรื่องที่ประกอบกันเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น เจ้าหงิญ คือ

ชายเดียวดายแห่งภูเขาภาคเหนือ แดฟโฟดิลแดนไกล เจ้าหญิงเสียงเศร้าแห่งดาวดวงที่สี่ เก้าอี้ดนตรี สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ "ลูกหาม" กับสามสหาย "โลก" ของเจ้าหญิงนกบินหลายกับเจ้าชายนกบินหา




      เจ้าหงิญ เป็นงานเขียนประเภทเรื่องสั้น แต่ใช้กลวิธีของ การนำเสนอแบบนิทานปนไปกับการเขียนเรื่องสั้นทุกเรื่อง
จึงทำให้ดูเหมือนว่าเรื่องขาดเอกภาพ เป็นเรื่องสมจริง ปนเรื่องจินตนาการ แต่ผู้แต่งมีความสามารถหลอม รวมงานทั้งสองประเภทเข้าด้วยกันจนประสานกลมกลืน กันเพื่อสื่อความหมายหลักของเรื่อง ทำให้สามารถอ่าน ได้หลายมิติ ทั้งมิติความมหัศจรรย์ของนิทานและมิติ ความจริงตามลักษณะของเรื่องสั้นสะท้อนภาพสังคม
ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป




      โครงสร้างแบบนิทานซ้อนนิทาน (tales within tale or stories within a story)

      เจ้าหงิญใช้โครงสร้างของนิทานซ้อนนิทาน อันประกอบ ด้วยนิทานกรอบ (frame story) และ นิทานซ้อน (emboxed story)
นิทานโบราณที่มีโครงสร้างการแต่งแบบนี้ เช่น The Decameron
ของ Gioveanni Boccaccio ค.ศ. ๑๓๕๓
The Arabian Nights' Entertainment ประมาณคริสตศตวรรษที่ ๙ The Canterbury Tales ของ Jeffrey Chaucer
ประมาณปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๔ และนิทานเวตาล ซึ่งศิวทาส
กวีสันสกฤตแต่งไว้สมัยก่อนพุทธกาล ต่อมาโสมเทวะนำมารวม ไว้ในกถาสริตสาคร นิทานเวตาลซึ่งมีนิทานรวม ๒๕ เรื่อง เรียกว่า
เวตาลปัญจวิงศติ นี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ฉบับแปลที่ รู้จักกันดีเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ Vikram and the Vampire
ของ Sir Richard F. Burton

      ฉบับภาษาไทย ได้แก่ งานพระนิพนธ์แปลของพระราชวรวงศ์เธอ
กรมหมื่นพิทยาลงกรณ หรือ น.ม.ส. พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑
และฉบับแปลของ ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา
พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓


      ในเรื่องสั้นเรื่อง ชายเดียวดายแห่งภูเขาภาคเหนือ
ซึ่งเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรก ขึ้นต้นว่า "กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว.." ซึ่งเป็นประโยคเริ่มต้นตามขนบนิทาน เนื้อความหลังจากประโยคเริ่มต้นนี้ คือเรื่องราวของกระต่ายภูเขาตัวหนึ่งกำลังขุดโพรงใกล้โคนต้นไม้
นกน้อยซึ่งเกาะกิ่งไม้เฝ้ามอง ถามด้วยความประหลาดใจว่า โพรงไม่เล็กเกินไปหรือ กระต่ายตอบว่าไม่เล็กเกินไป สำหรับกระต่ายโสดเช่นเขา


      นกถามอีกว่าอยู่ตัวเดียวไม่มีครอบครัวไม่เหงาหรือ
กระต่ายตอบว่าก็เหงาบ้าง นกอยากรู้ว่าในเมื่อเหงา
เหตุใดจึงยืนยันอยากอยู่เพียงลำพังตัวเดียว กระต่ายตอบด้วย การเล่านิทานให้นกน้อยฟัง นิทานเรื่องนั้นคือเรื่องของผู้ชาย คนหนึ่งซึ่งอยู่เพียงลำพังบนภูเขาในภาคเหนือ ซึ่งมีเรื่องว่า


      ชายผู้หนึ่งอยู่บนภูเขาเพียงลำพัง วันหนึ่งของปลายฤดูร้อน
มีฝนตก เช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อเขาเปิดหน้าต่าง "ภูเขาทั้งลูก ห่มคลุมด้วยผ้าห่มสีม่วง ครั้นเมื่อลมพัดเบาๆ สีม่วงคล้ายดังผืนน้ำ เต้นระบำเป็นรวงคลื่น" ผ้าห่มสีม่วงที่เห็นคือทะเลดอกต้อยติ่งที่ คลี่ดอกบาน ยิ่งฝนตกปรอยลงอีก ฝักต้อยติ่งต่างเล่นน้ำฝนจนแตกระเบิด ดีดเมล็ดต้อยติ่งออกไปงอกงามทั่วทั้งภูเขา ชายเดียวดาย มีใจประหวัดนึกถึงบ้านที่ภาคใต้ นึกถึงหลานสาว ซึ่งเป็น "เจ้าหญิงองค์น้อย" ของเขา นึกถึงวันครบรอบขวบปี ของเธอที่จะถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เขารอจนฝนหยุด ตกแล้วออกไปเก็บฝักต้อยติ่งจำนวนหนึ่ง ห่อกระดาษ แล้วหุ้มด้วยพลาสติกกันน้ำอีกหลายชั้น แล้วเดินทาง ฝ่าสายฝนจากภาคเหนือเพื่อไปหาหลานสาวยังภาคใต้


      ระหว่างพักกลางทาง เขาเคลิ้มไปว่าได้ยินเสียงฝักต้อย ติ่งร้องไห้คร่ำครวญว่าทุกข์ทรมานที่ถูกจำขังไว้อย่าง แน่นหนา ออกไปเล่นน้ำฝนไม่ได้


      บอกว่าจะเอาเราไปให้หลานสาว โอ ช่างน่ารักเหลือเกิน
เขาฝันที่จะเห็นหลานสาวตัวน้อยๆ เติบโตงดงาม
แต่กลับกีดกั้นเราไว้ไม่ให้เติบโต ช่างน่ารักและ ยุติธรรมจริงๆ


      รุ่งเช้าเมื่อเดินทางต่อ เขาเดินกางแขน แบมือสองข้างออกรับน้ำฝน ปล่อยฝักต้อยติ่งให้เปียกฝนจนชุ่มโชก ผู้เขียนบรรยายว่า


      ชายเดียวดายย่ำฝนไปช้าๆ ฝักต้อยติ่งบนฝ่ามือต่างหมุนตัว เล่นระบำน้ำฝนสนุกสนาน ชายเดียวดายมองพวกมันมีความสุขแล้ว เขาก็อดยิ้มไม่ได้ ไม่นานต่อมาต้อยติ่งฝักแก่ระเบิดตัวนำไปก่อน
แล้วฝักอื่นก็ตามกันไป โดยเฉพาะพวกฝักแฝด มันมีวิธีเล่นไม่เหมือนใคร มันแตกตัวพร้อมกัน และสลับขาโยนเมล็ดข้างในใส่กันด้วยความแม่นยำ อย่างนักระบำที่ฝึกฝนมาดี


      ในนิทาน สิ่งไม่มีชีวิต สัตว์ หรือต้นไม้ สามารถพูดได้ รู้สึก และแสดงอากัปกิริยาเช่นเดียวกับเป็นคน ในวรรณคดีทั่วไป
เราเรียกลักษณะการบรรยายเช่นนี้ด้วยศัพท์ทางวรรณคดีว่า
บุคคลวัต (personification) ฉะนั้น จะอ่านเรื่องสั้นนี้อย่าง ขนบนิทานหรืออย่างเรื่องสั้นที่ใช้ภาพพจน์ตามขนบวรรณ ศิลป์ก็ตื่นตาตื่นใจทั้งสองแบบ

      หลังจากนั้น ชายเดียวดายก็รอให้เมล็ดต้อยติ่งงอกเป็นต้นใหม่
ผลิดอกใหม่ ผลิฝักใหม่ แล้วเขาจึงเก็บฝัก ถือไว้ในมือ แล้วเดินทางต่อไป แล้วก็ทำเช่นเดียวกันนี้ตลอดการเดินทาง


      ด้วยวิธีนี้ เขาจึงเดินทางด้วยความสบายใจและมาถึงบ้านเกิดในภาคใต้
ทันงานวันเกิดของหลานสาวพอดี แต่เจ้าหญิงน้อยคนนั้นไม่ใช่ หลานสาวตัวน้อยคนเดิมแล้ว กลับเป็นลูกสาวของหลานที่ เขาตั้งใจมาหา และชายเดียวดายก็ไม่ใช่ชายฉกรรจ์คนเดิม
เส้นผมดำขลับในวันเดินทาง บัดนี้กลายเป็นปุยขาว เขายื่นของ ขวัญให้หลานตา นั่นคือ ฝักต้อยติ่งที่กำไว้ในมือที่เหี่ยวย่น พวกมันพลิกตัวบิดขี้เกียจและฝันว่าจะได้เต้นระบำกลาง สายฝนแรกที่กำลังจะมา


      นิทานซ้อนหยุดลงตรงนี้ เรื่องกลับไปสู่นิทานหลัก
คือบทสนทนาระหว่างกระต่ายภูเขากับนกน้อย
นกเดาว่านิทานจบด้วยการที่ชายเดียวดายพำนักอยู่ กับครอบครัวอย่างมีความสุขตราบกาลนาน เหมือนนิทานทั่วไป แต่กระต่ายกลับเล่าต่อว่า ชายผู้นั้นเดินกลับไปภูเขาภาคเหนือ
และอยู่ตามลำพังเหมือนเดิม แต่..


      "เพียงแต่ในกาลต่อมา เขาไม่เคยเหงาอีกเลย ด้วยทุกๆ ปี จะมีเด็กหญิงเด็กชายตัวเล็กๆ ผลัดเวียนเปลี่ยนหน้าเดินทางมาหาเขา มิได้ขาด มาช่วยปลูกผัก มาฟังนิทาน มาให้เขาจูงมือน้อยๆ พาไป."


      จากนั้น เรื่องชายเดียวดายแห่งภูเขาภาคเหนือ จบเรื่องด้วยข้อความว่า

      แม้จะก้าวเตาะแตะ แต่เท้าเล็กๆ หลายคู่นั้นก็ไม่มีวันหลง จะยากอะไรในการเดินทางจากภาคใต้ขึ้นมาเสาะหาบ้านของชายผู้ เคยเดียวดายแห่งภูเขาภาคเหนือ.ก็แค่มาตามเส้นทางสายเล็กๆ
ที่มีต้อยติ่งสะพรั่งสองข้างทางเท่านั้นเอง

      อ่านข้อความข้างต้นแล้ว ดูเหมือนกระต่ายป่าซึ่งเป็นผู้เล่า นิทานจะเป็นผู้กล่าวสรุปจบ แต่หากพิจารณาการจัดวางข้อ ความย่อหน้านี้ให้แยกจากข้อความในเครื่องหมายอัญประกาศ ก่อนหน้านี้ ทำให้เห็นว่าข้อความในตอนจบนี้เป็นของผู้เล่าเรื่อง
(narrator) ซึ่งในตอนแรกอาจเข้าใจว่าเป็นผู้เล่าเรื่องซึ่งไม่ใช่ ตัวละครในเรื่อง (external narrator) ซึ่งเล่าเรื่องในฐานะเป็นผู้ประพันธ์
ตามแบบฉบับของนิทานหรือเรื่องเล่าทั่วไป แต่เมื่ออ่านเรื่องสั้น เรื่องสุดท้ายชื่อ "โลก" ของเจ้าหญิงนกบินหลายกับเจ้าชายนกบินหา
ก็จะพบข้อยืนยันว่า ข้อความดังกล่าวเป็นคำพูดของผู้เล่าเรื่องที่ เป็นตัวละครในเรื่อง (internal narrator) หากแต่เป็นตัวละคร ในเรื่องสั้นเรื่องสุดท้ายนั่นเอง


      ตัวละครในเรื่องสั้นเรื่องสุดท้ายคือ นกบินหลาสองผัวเมีย ซึ่งมีฉายาว่า เจ้าหญิงนกบินหลาย กับ เจ้าชายนกบินหา
ซึ่งเฝ้ารอคอยกำเนิดของลูกน้อยในไข่ที่กำลังใกล้จะฟักเป็นตัว แม่นกอยากมีสายใยที่เชื่อมต่อกับลูกน้อยเพื่อถ่ายทอด ความรักความอาทรของเธอไปสู่ลูก เธออิจฉาที่แม่คนมี
"สายสะดือ" เป็นสายใยเชื่อมโยงให้แม่ให้อาหารลูก สัมผัส
และพูดคุยกับลูก แต่พ่อนกกลับให้ข้อคิดว่า


      "สายใยที่เชื่อมต่อไม่สำคัญเท่ากับสารที่เชื่อมต่อ"
ครั้งแรกแม่นกไม่เข้าใจ แต่แล้ว.ในเรื่องสั้นมีข้อความบรรยายว่า


      ขณะนั้นเขากำลังเกาะอยู่บนกิ่งไม้เล็กๆ กิ่งหนึ่ง เมื่อลมเบาๆพัดมา ดอกไม้ดอกหนึ่งก็หมุนคว้างร่วงหล่น นกทั้งคู่ไล่สายตาตามลงไป เห็น กระต่ายป่าตัวหนึ่งคว้าดอกไม้เอาไว้ ทั้งยังเงยขึ้นมองพวกเธออย่างขอบคุณ


      ข้อความนี้ตรงกับในเรื่องสั้นเรื่องแรกที่บรรยายว่า

      กระต่ายป่าตบดินรอบปากโพรงเป็นครั้งสุดท้าย แต่แทนที่จะมุดเข้า ข้างใน มันกลับเอนตัวนอนพิงโคนไม้ มองฟ้าใสแดดอุ่นอย่างเป็นสุข ลมพัดเบาๆ ทำให้ดอกไม้ดอกหนึ่งจากกิ่งที่นกน้อยเกาะอยู่ หมุนคว้างลงมา มันจึงคว้าไว้

      ภาพของกระต่ายป่าที่คว้าดอกไม้เป็นภาพที่งดงามจนแม่นก คิดออกว่าสารที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างเธอกับลูกนกในฟองไข่คือ การเล่านิทานนั่นเอง และจะได้นิทานมาจากไหน ก็มาจาก ความสวยงามของธรรมชาติรอบตัว ดังนั้นเธอจึงบอกว่า
"ต้องให้กระต่ายป่าเป็นดารารับเชิญในเรื่องด้วย"
จากนั้นแม่นกก็ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาด้วย
"น้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความรักความอ่อนโยน" ว่า


      กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในวันที่ฤดูร้อนกำลังจะสิ้นสุดลง ขณะกระต่ายภูเขาตัวหนี่งขุดโพรง ใกล้โคนต้นไม้อย่างขะมักเขม้น นกน้อยซึ่งเฝ้ามอง ถามอย่างแปลกใจ... ........................       เป็นเวลานานหลายนาทีกว่าที่แม่นกจะจบนิทานของเธอลงด้วยประโยคที่ว่า "..ก็แค่มาตามเส้นทางสายเล็กๆ ที่มีดอกต้อยติ่งสะพรั่งสองข้างทางเท่านั้นเอง"


      เป็นอันว่าเรื่องสั้นเรื่องแรกเป็นเรื่องซ้อนของเรื่องสั้นเรื่องสุดท้าย และในที่สุดมีเรื่องซ้อนอยู่ถึง ๓ ชั้น ชั้นแรกเป็นเรื่องหลัก คือ
เรื่องแม่นกและพ่อนกเล่านิทานให้ลูกนกฟังก่อนฟักเป็นตัว
ชั้นที่สอง คือ เรื่องกระต่ายโสดกับนกน้อย เล่าโดยแม่นก ตัวละครในเรื่องหลัก และชั้นที่สามคือเรื่องชายเดียวดายแห่ง ภูเขาภาคเหนือ เล่าโดยกระต่าย ตัวละครในเรื่องซ้อนชั้นที่สอง ปกตินิทานจะเป็นเรื่องที่คนเล่าถึงสัตว์ คราวนี้ผู้แต่งให้สัตว์ เล่าเรื่องคนบ้าง นับเป็นการล้อกับขนบนิทานอย่างสนุกสนาน

      จากนั้นนิทานอีกหลายเรื่องก็ตามมา รุ่งขึ้นพ่อนกคาบดอก ไม้สีเหมือนพระจันทร์กลับรัง และเล่านิทานให้ลูกฟังบ้าง
หลังจากนั้นพ่อนกแม่นกก็ผลัดกันเล่านิทานอีกหลายเรื่อง


      คืนต่อๆมา นิทานหลายเรื่องหลั่งไหลราวส่งผ่านสายลำเลียง มี ทั้งเรื่องของเจ้าชายผู้ออกเดินทางไปช่วยเจ้าหญิงบนดาวดวงหนึ่ง, เรื่องเก้าอี้ ไม้เกเร (นิทานแบบนี้พ่อนกเป็นผู้เล่าตามเคย), เรื่องความลับแห่งสีสันของรุ้ง กินน้ำ, เรื่องลูกปลาผู้มุ่งมั่นเป็นนักเดินทาง ฯลฯ

      นิทานดังกล่าวคือเรื่องสั้นเรื่องต่างๆ ที่รวมเล่มในหนังสือเล่มนี้
ดังที่ตั้งชื่อไว้ว่า แดฟโฟดิลแดนไกล, เจ้าหญิงเสียงเศร้าแห่งดาวดวงที่สี่, เก้าอี้ดนตรี, สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ และ นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่
รวมทั้งนิทานเรื่องสุดท้ายที่พ่อนกเล่าให้ลูกนกฟังก่อนจะฟัก เป็นตัว คือเรื่อง 'ลูกหาม' กับสามสหาย

      ดังนั้น หากพิจารณาจากรูปแบบของนิทานซ้อน สรุปได้ว่า
เรื่อง "โลก" ของเจ้าหญิงนกบินหลายกับเจ้าชายนกบินหา เป็นเรื่องหลัก
ส่วนเรื่องสั้นเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องซ้อน และบางเรื่องมีเรื่องเล่าซ้อน อยู่ภายในอีกชั้นหนึ่ง เรื่องสั้นเรื่องสุดท้ายนี้จึงเป็นการเปิดเรื่อง และปิดเรื่องโดยสมบูรณ์ ทำให้เรื่องสั้นเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องสั้นในเรื่องยาว หรือเป็นเรื่องสั้นจบในตัวเองก็ได้ และยังทำให้เรื่องเจ้าหงิญสามารถ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นและเป็นนวนิยายไปพร้อมกัน นับว่าเจ้าหงิญ ใช้ลักษณะของการเล่าเรื่องแบบวรรณกรรมหลังสมัยใหม่ที่ข้ามพรมแดน ของประเภทวรรณกรรมได้อย่างสร้างสรรค์




      ผู้เล่าเรื่องใน เจ้าหงิญ

      ดังได้กล่าวแล้วว่า ผู้เล่าเรื่องต่างๆ ในเจ้าหงิญ คือ ตัวละครในเรื่องหลัก อันได้แก่ แม่นกบินหลายและพ่อนกบินหา แต่นอกจากผู้เล่าเรื่องจะ เป็นตัวละครในเรื่องแล้ว ยังมีผู้เล่าเรื่องอีกแบบหนึ่ง เป็นผู้เล่าเรื่องซึ่ง ไม่ใช่ตัวละครในเรื่อง ผู้เล่าเรื่องแบบนี้จะปรากฏในเรื่องสั้นซึ่งมีลักษณะ ประหนึ่งเป็นนิทานเรื่องย่อย ผู้เล่าเรื่องแบบนี้อาจมีแต่ "เสียง" หรือใช้คำ แทนตัวว่า "ผม" ผู้เล่าเรื่อง "ผม" อาจปรากฏในตอนจบเรื่องเพื่อทิ้งท้าย
หรืออาจแทรกเข้ามาระหว่างการเล่าเรื่อง เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือ
"พูดคุย" กับผู้ฟัง ดังตัวอย่างต่อไปนี้ซึ่งผู้วิเคราะห์ได้แสดงตัวเน้นไว้เพื่อ ให้เห็นชัดเจน


      ในเรื่องเจ้าหญิงเสียงเศร้าบนดาวดวงที่สี่ ผู้เล่าเรื่องปรากฏ ตัวในตอนจบว่า

      ผมละเสียดายแทนพระองค์จริงๆ เพียงแต่ยกกล้องในมือขึ้น ส่อง พระราชาก็จะพบสัจธรรมข้อหนึ่งว่า จักรยานที่มีคนซ้อนท้าย นั้นมันก็ต้องหนักขึ้นเป็นธรรมดา


      ในเรื่องแดฟโฟดิลแดนไกล ผู้เล่าเรื่องแทรกเข้ามาก่อนจบเรื่องว่า

      และเวลานี้ของพรุ่งนี้ ชายหนุ่มและต้นไม้ของเขาจะออกเดินทาง ไปด้วยกัน ผมไม่ทราบหรอกครับว่าเขาเตรียมมุ่งไปสู่หนไหน หวังไป ไกลพ้นคนตะโกนล้อเลียนมุ่งหาแดฟโฟดิลอันแท้จริง หรือก้าวไปใน ทิศที่เด็กผู้หญิงบางคนได้ประทับรอยเล็กๆ ในความทรงจำ ฯลฯ
แต่อะไรทั้งหลายไม่สำคัญเท่าความจริงว่า.ทุกขวบปีสายฝนที่ โปรยปรายให้ต้นไม้เติบโต เด็กชายก็เป็นเช่นนั้น

      ในเรื่อง 'ลูกหาม' กับสามสหาย มี "เสียง" ของผู้เล่าเรื่อง "พูดคุย" กับผู้ฟัง

      เด็กๆ ทั้งหลาย เธอเคยโดนอย่างนี้ไหม ? ผู้ใหญ่จำนวนหลายพันหลายหมื่นหรืออาจจะถึงแสนคนยืน รายล้อมตัวเธอทุกสายตาจ้องมาเป็นจุดเดียว ปากของพวกเขา อ้าค้าง นัยน์ตาเบิกกว้าง ใบหูสะบัดกางและสั่นระริก เด็กๆ ทั้งหลาย เธอเคยยืนกลางจตุรัสซึ่งร้ายล้อมด้วยอาคาร ร้านรวงอันแสนวิจิตร สูงใหญ่หลายสิบชั้นอย่างนี้ไหม ?.....

      ในเรื่อง สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ ผู้เล่าเรื่องแทรกเข้ามา เป็นระยะตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง บางครั้งปรากฏเป็นข้อความ ในวงเล็บแทรกระหว่างการเล่าเรื่อง เช่น

      บ้านของเจ้าหญิงมีสองหลัง (เอ้อ.คือในกรณีนี้เราจะ เรียกที่ประทับของเจ้าหญิงว่าบ้านน่ะครับ) หลังหนึ่งอยู่ทาง ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ หลังหนึ่งอยู่ฝั่งตะวันตก หลังหนึ่งมี พระราชา และอีกหลังหนึ่งมีพระราชินี

      ข้อความในวงเล็บอาจเป็นการแสดงความรู้สึก ประชด
เสียดสี เช่น

      บางทีเทพนิยายอาจไม่ได้คิดอะไรเลย เพียงแต่ว่าตัว เทพนิยายมันจบลงเสียก่อนจบทันทีที่เจ้าหญิงจุมพิตเจ้าชาย ให้คืนคลายจากคำสาปเป็นกบ จบทันทีที่เจ้าชายจุมพิต เจ้าหญิงให้ฟื้นตื่นจากคำสาปนิทรา จบในทันทีที่นางแม่มด ถูกฆ่าตาย (ความตายของแม่มดไม่ใช่เรื่องโหดร้ายเกินกว่า ที่เด็กๆ ควรจะได้ฟังหรอกครับ).

      นอกจากใช้ข้อความในวงเล็บ ยังใช้ข้อความแทรกเข้า มาในระหว่างการเล่าเรื่อง ได้แก่

      สำหรับเรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังนี้ เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ เทพนิยาย บทจบของเทพนิยายเรื่องอื่นๆ จึงเป็นเพียงบท เริ่มต้นของเรื่องนี้ ........... ดูเหมือนเมื่อครู่ผมได้หลุดปากไปบางคำ ประมาณว่า
"เจ้าหญิงน้อยที่น่ารักที่สุดคนหนึ่งของโลก" ขออนุญาต แก้ไข เอาเป็น "เจ้าหญิงน้อยที่ควรจะน่ารักที่สุด คนหนึ่งของโลก" น่าจะดีกว่า ............. ผมว่าขณะที่พูดนั้น พระราชินีก็คงเห็นด้วยกับผม ละครับว่า การมีเด็กขี้เอาแต่ใจตัวเองอยู่ร่วมบ้านเป็นความ ทรมานสาหัสจริงๆ ........... พระอาทิตย์เคลื่อนจากม่านเมฆ เหมือนไฟดวงใหญ่ สาดแสงจ้าบอกให้รู้ว่าละครเริ่มแล้ว เจ้าหญิงทรงนอน ระทึกพระทัยตึกตัก การรอคอยเป็นเรื่องตื่นเต้นกว่า ที่เคยคิดการอดทนรอคอยเป็นคนละเรื่องกับการเร่งเร้า เอาแต่ใจตน.ถ้าพูดประโยค นี้ก่อนหน้านี้สักสองเดือน ผมว่าเจ้าหญิงไม่มีวันเข้าใจ (ดีไม่ดีจะเอาตุ๊กตาหมีปาผมด้วย)

      ลักษณะที่มี "เสียง" ผู้เล่าเรื่องสลับเข้ามาเป็นระยะเช่นนี้ ทำให้เหมือนการเล่านิทานที่ผู้เล่าอาจจะเสริมความเห็น
หรือบอกกล่าวแก่ผู้ฟังของตน แต่ในตัวอย่างสุดท้ายนอก จากแทรกความเห็นแล้ว ยังเชื่อมโลกจินตนาการกับโลก แห่งความจริงให้อยู่ในระนาบเดียวกัน การให้เจ้าหญิงใน โลกนิทานทำร้ายผู้เล่าเรื่อง (เอาตุ๊กตาหมีปา) เป็นสิ่งที่ เป็นไปไม่ได้ กลวิธีเช่นนี้เป็นลักษณะของงานเขียนหลัง สมัยใหม่อีกเช่นกันที่เรียกกันว่าเมตาฟิกชัน (metafiction / self-reflexive) คือเรื่องเล่าที่เล่าถึงตัวมันเอง หมายความว่าแทนจะให้ผู้อ่านคล้อยตามว่าเป็นเรื่องจริง
ตัวเรื่องจะพยายามเปิดเผยให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

      เรื่องสั้นนี้จบลงด้วยข้อความซึ่งเป็น "เสียง ของผู้ เล่าเรื่อง ดังนี้

      ทุกวันนี้ผมแก่แล้ว แต่ถึงอย่างไรเรื่องจริงเรื่องนี้ก็เป็น เรื่องที่ผมเล่าให้เด็กๆและพ่อแม่ของพวกเขาฟังบ่อยที่สุด
หลายคนมักถามว่าตอนจบของเรื่องเป็นอย่างไร ในที่สุดพระราชาและพระราชินีทรงปรองดองคืนดีกัน ใช่ไหม ผมไม่ได้ตอบเพราะไม่เห็นว่าจำเป็นต้องตอบ แต่อย่างไร

      แต่มีสิ่งหนึ่งที่เด็กๆ ควรจะรู้ไว้ กลับจากผจญภัย เที่ยวนี้ เจ้าหญิงทรงตอบแทนความมีน้ำใจของพืชผักทั้งหลายด้วยการ เริ่มรับประทานพวกมัน พูดอย่างนี้อย่าคิดว่าเจ้าหญิงใจร้าย
เป็นความประสงค์ของพวกผักและพวกมันก็มีความสุข อย่างยิ่งที่ได้แตกยอดสืบทอดลูกหลานไม่จบสิ้น เจ้าหญิง ก็แข็งแรงและไม่เป็นหวัดอีกเลย ถึงแม้จะต้องว่ายน้ำข้ามไปข้ามมาระหว่าง สองพระราชวังทุกวันก็ตามอ้าวว !! นี่ผมเผลอบอกอะไรไปล่ะนี่ !!


      ข้อความตอนนี้สำคัญมากเพราะแสดงกลวิธีการเล่าเรื่องได้ น่าสนใจ เป็นข้อความที่แยกโลกนิทานซึ่งมีเจ้าหญิงเจ้าชาย กับโลกสมจริงของคนธรรมดาออกจากกัน เป็นข้อความที่ แสดงมิติของเวลาที่แตกต่างกัน (ทุกวันนี้ผมแก่แล้ว) และ เป็นข้อความที่ทำให้ "ผม" ซึ่งในตอนแรกดูประหนึ่งว่าเป็น "เสียง" ของผู้เล่าเรื่องที่ไม่ใช่ตัวละครในเรื่อง (นิทาน)
กลายเป็นผู้เล่าเรื่องซึ่งเป็นตัวละครในเรื่อง (สั้น) นอกจากนี้ผู้แต่งยังล้อเล่นกับขนบนิทานหลายอย่าง เช่น
ใช้นิทานเรื่องนี้สอนเด็กเรื่องการกินผักตามแบบฉบับที่ผู้เล่า มักสอนเด็กหลังเล่านิทาน การใช้ตัวละคร "ผม" กล่าวว่าเขา เล่า "เรื่องจริง" เรื่องนี้บ่อยที่สุด ก็เป็นการตอกย้ำว่าเขาใช้ นิทานเป็นเพียงรูปแบบที่ห่อหุ้มความจริงเอาไว้ นิทานทั่ว ไปมักจบด้วยความสุข แต่ "ผม" เล่าตอนจบของนิทานไว้ ในเรื่องสั้นซึ่งตีความได้ว่าพระราชาและพระราชินีไม่คืนดีกัน เจ้าหญิงพระธิดาต้องยอมรับความจริงอันเจ็บปวดนี้
เหมือนที่ยอมรับว่าจับรุ้งมาเล่นไม่ได้ และยอมรับแม้รุ้งใน นิทานจะมีแปดสี (สีที่แปดของรุ้งกินน้ำคือสีชมพูอันระเรื่อ จากพวงแก้มของเจ้าหญิงน้อยนั่นเอง) แต่ก็ไม่ทำให้พระบิดา พระมารดาคืนดีกันได้ เจ้าหญิงในเรื่องอาจเป็นตัวแทนของเด็ก ในสังคมจริงอีกมากมายที่พ่อแม่หย่าร้างกัน ทั้งๆ ที่ยังรักกัน และรักลูกมาก จึงไม่ต้องหวังให้มีปาฏิหาริย์ที่ครอบครัวจะ กลับมารวมกันดังเดิม แต่ทำอย่างไรจะให้ครอบครัวที่แตกแยก ไม่ขาดความรักความอบอุ่นที่จะมีให้กัน ผู้แต่งเชื่อในการเติบโต และความสามารถในการรับรู้ความจริงของเด็ก อันจะทำให้เขา และเธอปรับตัวอยู่ในโลกจริงได้ ดังที่กล่าวไว้ในตอนที่พวกผู้ใหญ่ ต่างโกลาหลหาวิธีการจับรุ้งมาถวายเจ้าหญิงว่า "เจ้าหญิงกลับเติบ โตและเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างมากขึ้น..เจ้าหญิงรู้แล้วว่ารุ้งไม่ใช่ ลูกหมา ต่อให้ร้องจนคอแตกตาย พ่อแม่ก็ไม่สามารถสรรหามาให้ เธอได้ มีแต่จะพลอยกลุ้มตายตามไปด้วย"


      เรื่องเก้าอี้ดนตรี เป็นเรื่องสั้นที่ใช้ผู้เล่าเรื

Comment #1
ปุ๊กกี้
Posted @November,27 2006 19.14 ip : 203...164

อยากให้มีประเถทที่ 3ของรุงกิยน้ำจ๊า..................................

Comment #2
หมิว
Posted @December,08 2006 09.44 ip : 222...10

สวัสดี

Comment #3
นิทานมหํศจรรย์
Posted @December,08 2006 09.45 ip : 222...10

นิทานมหัศจรรย์

Comment #4
...
Posted @February,13 2007 08.38 ip : 202...164

Comment #5
นุ
Posted @June,12 2007 14.14 ip : 203...1

อยากอ่านนิทานทองอินมาก

Comment #6
อยากรู้
Posted @July,01 2007 19.31 ip : 222...201

อยากรู้เรื่องราวนิทานทองอินทั้ง 15 ตอน

Comment #7
Posted @July,02 2007 22.49 ip : 222...58

นิทานทองอิน เล่ม1- 2


ผู้แต่ง : พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 6
ประเภทหนังสือ : หนังสือห้องสมุด / อ่านเพิ่มเติม
ระดับ ประถมศึกษา
ชั้น ป.1-6
จำนวนหน้า : หน้า
ขนาด : cm.

รหัสสินค้า 1421006
ราคา : 70 บาท

นอกจากนี้ยังมีในหนังสือ รหัสคดี

Comment #8
ผู้ขอความช่วยเหลือ
Posted @June,12 2008 09.51 ip : 202...246

ใครมีเรื่องย่อทั้ง8เรื่องของเจ้าหญิงบ้างครับ ผมต้องทำรายงานส่งช่วยเหลือผมที่

Comment #9
Phoenix
Posted @September,28 2008 21.01 ip : 58...96

ก็ดีคับ

Comment #10
yuiz
Posted @January,31 2010 01.38 ip : 124...178

ขอบคุณนะคะ

เรียนวิชาวรรณกรรม แล้วเลือกวิเคราะห์เรื่องนี้

เจอเว็บไซต์นี้แล้วได้ข้อมูลช่วยมากมายค่า ^o^

Comment #11
albert istile
Posted @July,15 2010 20.12 ip : 124...48

นิทานสุดอัศจรรย์

Comment #12
จินดานุช
Posted @September,18 2010 22.26 ip : 122...229

ชอบเรื่องเจ้าหงิญมากค่ะ  นี้ถ้าอาจารย์ไม่บังคับให้อ่านเพื่อทำรายงานคงไม่มีโอกาสอ่านเรื่องดีๆๆอย่างนี้ ขอบคุณมากนะค่ะสำหรับเรื่องดีๆ  ขอให้ผู้เขียนมีความสูขมากมากๆๆค่ะ

Comment #13
เจเคเค
Posted @December,10 2010 19.41 ip : 115...97

เจ้าหงิญ ให้ข้อคิดหลายอย่าง ที่ทำให้เราต้องหันกลับมามองตัวเองใหม่

Comment #14
PRA.
Posted @February,24 2011 01.35 ip : 125...182

ขอบคุณค่ะ

Comment #15
ก๊วยเจ๋ง
Posted @May,29 2011 14.34 ip : 14...54

ขอบคุณครับ สำหรับสิ่งดีๆมีประโยชน์

Comment #16
tee
Posted @July,03 2011 21.24 ip : 49...76

โอ๊ะโอว

แสดงความคิดเห็น

« 5095
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ