บทความ

ปีศาจของกาลเวลา : การรื้อฟื้นงานเสนีย์ เสาวพงศ์ในยุคแสวงหา

by 2 @November,19 2006 23.07 ( IP : 222...143 ) | Tags : บทความ

ปีศาจของกาลเวลา : การรื้อฟื้นงานเสนีย์ เสาวพงศ์ในยุคแสวงหา ประจักษ์ ก้องกีรติ : เขียน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุ : บทความนี้ได้มาจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)

เกริ่นนำ
ราวปี 2513 ท่ามกลางบรรยากาศของสังคมไทยยุค "แห่งการพัฒนา", "อเมริกันในไทย" และ "เผด็จการคณาธิปไตย" แม้จะไม่ใช่ปีที่สลักสำคัญจนถูกบันทึกหรือได้รับการจดจำเป็นพิเศษ ในหน้าปฏิทินประวัติศาสตร์ไทย แต่เป็นปีที่มีความหมายพิเศษบางอย่างในทางภูมิปัญญาและการเมืองวัฒนธรรม เมื่อพบว่ามีการปรากฏตัวของหนังสือ 2 เล่มเผยโฉมสู่ท้องตลาดในเวลาไม่ห่างกันนัก รูปเล่มหนังสือได้รับการออกแบบอย่างประณีตสวยงามแสดงถึงความเอาใจใส่ของผู้พิมพ์ จัดทำเป็นปกแข็งและพิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์อย่างดี
- เล่มหนึ่งปกสีเหลืองอ่อนรูปหนุ่มสาวคู่หนึ่งเดินคล้องแขนกันมีฉากหลังเป็นหอไอเฟล
- อีกเล่มหนึ่งปกสีแดงเป็นรูปภูติผีกำลังแหวกว่ายดูน่ากลัว

ทั้งสองเล่มปลาสนาการจากสายตาสาธารณชนหลังจากตีพิมพ์ครั้งแรกแล้วเกินกว่า 1 ทศวรรษ การปรากฏตัวครั้งใหม่นี้ทำให้คนหนุ่มสาวยุคนั้นได้รู้จักวรรณกรรมเนื้อหาแปลกๆ 2 เรื่อง กับชื่อผู้เขียนไม่คุ้นหู 1 นาม
หนังสือสองเล่มนั้นชื่อ "ความรักของวัลยา" และ "ปีศาจ"
ส่วนนามของผู้เขียนคือ "เสนีย์ เสาวพงศ์"

ฉากหลัง : รัฐเผด็จการกับการทำลายความทรงจำ
พลันที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพล.ท.ถนอม กิตติขจร (ยศขณะนั้น) ที่ตนเองมีอำนาจควบคุมอยู่เบื้องหลัง สังคมไทยก็ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็นยุคที่น้ำไหลและไฟสว่าง ทว่าสติปัญญาหยุดนิ่งและอับเฉาลง
เป็นที่ทราบกันดีว่าจอมพลสฤษดิ์ปกครองสังคมด้วยอำนาจเผด็จการรวมศูนย์เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปฏิเสธการดำรงอยู่ของสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทั้งหลาย (แม้แต่เปลือกนอก) ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบเลิกรัฐสภาและพรรคการเมืองทั้งหมด และเรียกการปกครองของตนว่า "ประชาธิปไตยแบบไทย" หรือที่นักวิชาการท่านหนึ่งเรียกว่าระบบ "พ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ"

นอกจากนั้นคณะปฏิวัติยังได้สั่งปิดหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ พร้อมทั้งกวาดล้างจับกุมนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักการเมือง และบุคคลอีกหลายอาชีพที่เคยมีบทบาทแสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองในทศวรรษก่อนหน้า อาทิ อุทธรณ์ พลกุล, ทองใบ ทองเปาด์, ทนง ศรัทธาทิพย์, อิศรา อมันตกุล, สนิท เอกชัย, กรุณา กุศลาศัย, อุดม สีสุวรรณ, เจริญ สืบแสง, เทพ โชตินุชิต, ประวุฒิ ศรีมันตะ, จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ

คนที่รอดพ้นจากการถูกจับกุมบ้างหลบลงใต้ดิน บ้างก็ลี้ภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศ (เช่นกุหลาบ สายประดิษฐ์) บางคนหันไปประกอบอาชีพอื่น (เช่น คำสิงห์ ศรีนอก หรือลาว คำหอม และ สุภา ศิริมานนท์) เปลี่ยนแนวการเขียนจากเดิม หรือไม่ก็ยุติบทบาทการขีดเขียนลงชั่วคราว ในบรรดาคนเหล่านี้มี ศักดิชัย บำรุงพงศ์ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เจ้าของนามปากกา"เสนีย์ เสาวพงศ์" ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติราชการอยู่ที่สถานทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินารวมอยู่ด้วย

พฤติกรรมที่ทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองดังที่คณะปฏิวัติทำ เป็นเผด็จการอย่างมิต้องสงสัย ไม่มีความชอบธรรมที่ใครจะมาแก้ต่างให้ อย่างไรก็ตาม หากมองพ้นออกไปจากประสบการณ์ของไทย เปรียบเทียบเหตุการณ์นี้กับพฤติกรรมของเผด็จการในลาตินอเมริกาหรืออินโดนีเซีย เมื่อขึ้นครองอำนาจที่กวาดล้างสังหารพลเมืองของตนอย่างโหดเหี้ยมแล้ว ต้องนับว่าเสนีย์ เสาวพงศ์ และปัญญาชนไทยท่านอื่นๆ มีชะตากรรมที่ดีกว่า แม้จะทุกข์ทรมานจากการถูกคุมขังในคุก ต้องลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ หรือยุติการเขียนหนังสือ แต่ก็ยังสามารถรอดชีวิตจากอำนาจเผด็จการ

จะเข้าใจชะตากรรมของปัญญาชนไทยภายใต้อำนาจเผด็จการทหารอย่างไรดี
เมื่อศึกษาพฤติกรรมของรัฐเผด็จการไทยในสมัยจอมพลสฤษดิ์ที่ปฏิบัติต่อปัญญาชน พบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ซึ่งผู้เขียนอยากจะอธิบายว่ารัฐเผด็จการมิได้มุ่งที่การกำจัดชีวิตของพวกเขาเป็นสำคัญ (มิได้หมายความว่าไม่มีปัญญาชนฝ่ายค้านถูกสังหารเลยในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ดังที่เราทราบกันดีในกรณีของครอง จันดาวงศ์, ทองพันธ์ สุทธิมาศ, และรวม วงศ์พันธ์) หากมุ่งจำกัดเสรีภาพมิให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสผลิตงานสู่สาธารณะได้อย่างเปิดเผย ตัดโอกาสและช่องทางไม่ให้ได้สื่อสารทางความคิดกับสังคมเป็นด้านหลัก ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อพัฒนาการทางภูมิปัญญาของสังคมไทยอย่างลึกซึ้งยาวไกล

สารของจอมพลสฤษดิ์ชี้แจงกับประชาชนถึงเรื่องการคุมขังผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์ ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2503 ดูจะสะท้อนความคิดเบื้องหลังพฤติกรรมของคณะปฏิวัติได้พอสมควร จอมพลสฤษดิ์ชี้แจงว่า ตามที่มีการร้องเรียนจากผู้ต้องขังว่าได้ถูกคุมขังนานเกินควร และดูประหนึ่งว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ประวิงขังโดยไม่มีกำหนดแน่นอนนั้น ขอให้ประชาชนเข้าใจว่าบุคคลที่เป็นคอมมิวนิสต์มีความฉลาดหลักแหลม เจ้าถ้อยหมอความ รู้จักหลบเลี่ยงกฎหมาย หากจะปล่อยไว้ก็จะก่อกรรมเป็นภัยกับประเทศชาติและประชาชน

ฉะนั้น จึงจำเป็นที่เราจะต้องหาทางป้องกันภัยอันร้ายแรงของประเทศชาติ และเพราะเหตุนี้ข้าพเจ้า จึงได้ออกคำสั่งให้เอาตัวบุคคลที่เชื่อแน่ชัดว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หรือมีความโน้มเอียงทำงานเพื่อคอมมิวนิสต์มากักขังไว้ตั้งแต่เริ่มงานปฏิวัติ… ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็มิได้ทำอะไรรุนแรงอย่างที่ทำกันมาในการปฏิวัติของประเทศอื่นๆ ข้าพเจ้าไม่ได้ตั้งศาลปฏิวัติเช่นที่เคยทำกันมาหลายแห่ง ข้าพเจ้าไม่ได้ใช้อำนาจทำการกวาดล้างอย่างเหี้ยมโหด[i]

แม้อำนาจของคณะปฏิวัติมิได้ปลิดชีวิตของปัญญาชน แต่ได้ริบผลงานทางปัญญาของพวกเขาให้หายไปจากตลาดหนังสือ พรากพวกเขาออกจากสังคม ทำให้พวกเขาปลาสนาการไปจากพื้นที่สาธารณะที่พวกเขาเคยมีบทบาทอยู่อย่างแข็งขัน ความหวาดกลัวต่ออำนาจมืดยังทำให้นักเขียนจำนวนหนึ่ง จำต้องเซ็นเซอร์ความคิดและอำพรางตัวตนด้วย แม้บางคนจะยังคงผลิตผลงานยึดมั่นตามอุดมการณ์ของตน เช่น บรรดานักโทษการเมืองในคุกลาดยาว แต่ก็ผลิตได้ภายใต้ข้อจำกัด คือ มิอาจเผยแพร่ผลงานของตนต่อสาธารณะ ได้แต่เสพและเผยแพร่อ่านกันเองในวงจำกัด ใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่สาธารณชนจะได้สัมผัสงานเหล่านั้น (เช่น บทเพลงและบทกวีจำนวนมากของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่แต่งขณะอยู่ในคุก)

ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการทำลายปัญญาชนสาธารณะให้หมดไปจากสังคมไทย ด้วยการแยก "ปัญญาชน" ออกจาก "สาธารณะ" โดยอาศัยอำนาจเผด็จการ

วันเวลาผ่านไป ชื่อเสียงเรียงนามของนักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้า พร้อมทั้งผลงานของพวกเขาก็ค่อยๆ เลือนหายไป ไม่เป็นที่รู้จักของคนรุ่นหลัง รัฐเผด็จการทำลายความทรงจำของสังคมลงอย่างแนบเนียน ทำให้คนรุ่นหลังถูกตัดขาดจากอดีต ดังที่ข้อเขียนของ "ทวีปวร" ที่ตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2513 สะท้อนยุคสมัยนั้นไว้ว่า:-

ในดินแดนแห่งนั้น ขาดช่วงแห่งการสืบทอดต่อของกาลเวลา
ไร้อดีตอันมีคุณค่าด้วยสัจจะ ไร้อนาคตอันเรืองโรจน์ของผู้เยาว์
คงมีอยู่แต่ปัจจุบันอันเห่อเหิม…[ii]

บางที คำบรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเผด็จการ-นักเขียน-ความทรงจำของสังคม ที่น่าสนใจที่สุดอาจจะปรากฏในข้อเขียนของเสนีย์ เสาวพงศ์ ที่เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระลงคอลัมน์ "หยดหนึ่งของกาลเวลา" ช่วงปี พ.ศ. 2510-11 นั่นเอง (ขอให้สังเกตชื่อคอลัมน์)

ในประเด็นรัฐเผด็จการกับนักเขียน เขาชี้แจงว่า มีเหตุผลหลายประการที่งานประพันธ์ชิ้นหนึ่งๆ จะไม่ปรากฏนามของผู้เขียน อาจจะเพราะความถ่อมตัวของนักเขียน หรือไม่ก็ด้วย "สภาพแวดล้อม อาจจะเป็นความปลอดภัยกว่า หากผู้สร้างไม่ปรากฎตัวตนในยุคสมัยที่มีการผูกขาดทางปัญญา"[iii]
สำหรับความคิดต่อเรื่องเวลา เขากล่าวว่า แม้คนเราจะมีปฏิทินเวลาที่ยอมรับร่วมกัน "แต่เราแต่ละคนก็ยังสงวนความสำคัญของกาลเวลาอันมีความสำคัญเฉพาะตัวไว้ในความทรงจำ วันเวลาที่ขมวดเป็นเงื่อนไว้ในอารมณ์และสร้างปมไว้ในความรู้สึก"[iv] ดังนั้นเขาสรุปว่า "ชีวิตของคนเรามีค่าอยู่ที่ความหลังอย่างหนึ่งและความหวังอีกอย่างหนึ่ง"[v] ความหลังที่ทำไว้ดีย่อมก่อให้เกิดความหวังต่ออนาคตที่กำลังจะมาถึง

แต่เราก็พบว่า, ในความเป็นจริง, สังคมไทยต้องใช้เวลากว่า 1 ทศวรรษหลังการยึดอำนาจของคณะปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ที่ชีวิตและผลงานของนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าจะถูกขุดค้นและรื้อฟื้นกลับขึ้นมาให้คนรุ่นหลังได้สัมผัส เมื่อนั้นเองที่ตัวตนของนักเขียนค่อยๆ เผยออกจากที่กำบังอำพราง อดีตได้เชื่อมต่อกับปัจจุบัน และความหลังได้กลายมาเป็นความหวังอีกครั้งหนึ่ง

กระบวนการรื้อฟื้นงาน เสนีย์ เสาวพงศ์ : การเชื่อมต่อของอดีตกับปัจจุบัน
ในปฏิทินการเมืองและวัฒนธรรมไทย ปลายทศวรรษ 2500 ต่อต้นทศวรรษ 2510 ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นยุคสมัยของการตื่นตัวแสวงหาของคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ประวัติศาสตร์เท่าที่ผ่านมามักจะฉายภาพการแสวงหาของพวกเขา ไปยังทิศทางของการรับความคิดจากภายนอกเป็นสำคัญ ได้แก่ ความคิด "ฮิปปี้" และ "ซ้ายใหม่" จากตะวันตก

แม้จะไม่ผิดจากความเป็นจริง แต่ก็ทำให้แหล่งความคิดอีกแหล่งหนึ่งถูกละเลย มิได้ถูกให้คุณค่าความสำคัญเท่าที่ควร นั่นคือ การแสวงหาที่ย้อนกลับไปขุดค้นความคิดจากอดีตของสังคมไทยเองกลับมาเผยแพร่ใหม่ กล่าวโดยเจาะจงคือ ความคิดก้าวหน้า-สังคมนิยม-มาร์กซิสต์ ที่เฟื่องฟูในทศวรรษ 2490

ผลงานจากยุค 2490 ทำให้นักศึกษาและปัญญาชนรุ่นหลังพบว่า ความคิดต่อต้านท้าทายอำนาจเคยมีในสังคมไทยอยู่แต่เดิม การได้สัมผัสงานเหล่านี้ให้ทั้งรากทางความคิดและแรงบันดาลใจในการต่อสู้ทางการเมืองแก่พวกเขา ในบรรดางานทั้งหมดที่ถูกรื้อฟื้น เป็นไปไม่ได้หากจะไม่กล่าวถึงงานของเสนีย์ เสาวพงศ์ นักเขียน-นักการทูตผู้โด่งดังจากยุคเฟื่องฟูของศิลปะเพื่อชีวิตในทศวรรษ 2490

ดังที่กล่าวข้างต้นว่า"เสนีย์"รอดพ้นจากเงื้อมมือเผด็จการ ระหว่างมีการจับกุมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2501 ขณะนั้นเขาประจำอยู่สถานทูตไทยที่ประเทศอาร์เจนตินา (เขาอยู่ระหว่าง พ.ศ.2498- 2503) และมิได้ผลิตผลงานอะไรออกมาในช่วงนี้ งานของเขาหายไปชั่วคราวเช่นเดียวกับปัญญาชนคนอื่นหลังการยึดอำนาจ เขากลับมาผลิตงานอีกครั้งเมื่อกลับมาประเทศไทย พร้อมพกพาโครงเรื่องนิยายติดหัวสมองกลับมาด้วย

สุดท้ายคลอดออกมาเป็นนิยาย 2 เรื่อง

  • เรื่องหนึ่งคือ "ไฟเย็น" ลงพิมพ์เป็นตอนใน สยามสมัยรายสัปดาห์ ตั้งแต่ปี 2504 (รวมเล่มในปี 25)
  • อีกเล่มคือ "บัวบานในอะมาซอน" ลงเป็นตอนใน ปิยะมิตร ตั้งแต่ปีเดียวกัน (รวมเล่มในปี 2511)

ทั้งสองเรื่องบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศก็จริง แต่ผู้เขียนก็ตั้งใจให้มันเป็นกระจกเงาสะท้อนความเป็นจริงของการเมืองไทยขณะนั้นด้วย ซึ่งเป็นเทคนิควิธีพูดความจริงโดยอ้อมในยุคเผด็จการอย่างหนึ่ง ดังที่ตัวละครชื่อริคาร์โดในเรื่อง"ไฟเย็น" กล่าวตอนหนึ่งว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างในทุกวันนี้ ดูมันจะกลับตาลปัตรกันหมด… คนที่ควรจะเดินและทำงานอย่างอิสระเสรีกลับไปอยู่ในคุก คนที่ควรจะอยู่ในคุกกลับเดินอยู่ภายนอกอย่างเสรี"[vi] แต่สารแฝงของผู้เขียนอาจจะลึกลับซ่อนเร้นเกินไป นิยายทั้ง 2 เรื่องจึงมิได้สร้างความฮือฮาแก่ผู้อ่านนัก

พ.ศ. 2505 เป็นปีที่เขาต้องลาจากเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง (ไปทำงานที่อินเดีย) ก่อนที่จะกลับกรุงเทพฯอีกครั้งใน 3 ปีถัดมา กลับมาคราวนี้เขาถูกชักชวนจากเพื่อนเก่าอย่าง อุทธรณ์ พลกุล เจ้าของนามปากกา "งาแซง" อันโด่งดังใน ไทยรัฐ ให้มาเป็นคอลัมน์นิสต์ประจำ[vii] นี่เป็นที่มาของคอลัมน์ที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่าน ไทยรัฐ อย่างเกรียวกราวชื่อ "หยดหนึ่งของกาลเวลา"
เสนีย์รับผิดชอบคอลัมน์นี้อยู่เป็นเวลา 2 ปี แม้จะไม่ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกว้างขวางเหมือนในอดีต แต่ก็นับเป็นการกลับสู่สังเวียน เปิดโอกาสให้เขาได้สนทนากับ "สาธารณชน" อีกครั้ง[viii] และกลายเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งให้เขาถูกคัดเลือกจากเฮอร์เบิร์ต ฟิลลิปส์ (Herbert Phillips) นักวิจัยอเมริกันที่มาวิจัยเรื่องวัฒนธรรมปัญญาชนสยาม ให้เขาเป็น 1 ใน 8 ปัญญาชนสยามคนสำคัญในยุคนั้น[ix]

เรื่องเริ่มจากว่านิสิตหญิงจุฬาฯ ผู้ช่วยวิจัยของเฮอร์เบิร์ต ฟิลลิปส์ คนหนึ่งได้อ่านเจอคอลัมน์ของเสนีย์ใน นสพ.ไทยรัฐ เกิดความรู้สึกประทับใจอย่างมาก เธอได้นำไปเล่าพร้อมทั้งแนะนำให้ผู้วิจัยอ่านงานเขียนของเสนีย์ เมื่อได้อ่านเขาก็เกิดความรู้สึกชื่นชมเช่นเดียวกัน ท้ายที่สุดนำมาสู่การติดต่อขอสัมภาษณ์และนำเรื่องราวของเสนีย์ไปเขียน

ในบทความของเขา ฟิลลิปส์บรรยายถึงเสนีย์ว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ได้รับความนับถือยกย่องมากที่สุด แต่ก็มิใช่โด่งดังเป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังได้กล่าวถึงหนังสือเรื่อง "ปีศาจ" อย่างชื่นชมว่าไม่เป็นการเกินเลยแต่อย่างใด ถ้าจะถือว่า "ปีศาจ" เป็น "สงครามและสันติภาพ" (War and Peace) ของไทย[x] บทความของฟิลลิปส์ถูกแปลเป็นภาษาไทยเผยแพร่ในปี 2512 ด้วย นับเป็นการแนะนำให้คนได้รู้จักกับเสนีย์และงานของเขามากขึ้น[xi]

ต่อมาปรากฏบทวิจารณ์ "ปีศาจ" ชิ้นหนึ่งโดยวิทยากร เชียงกูล เจ้าของวรรคทอง "ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย" ตีพิมพ์ใน "จัตุรัส" นิตยสารที่เพิ่งก่อตั้งในปี 2513 นำโดยพันศักดิ์ วิญญรัตน์, วรพุทธิ์ ชัยนาม, และ คำสิงห์ ศรีนอก บทวิจารณ์ชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าแม้ชีวิตของผู้ประพันธ์ยังคงค่อนข้างลึกลับสำหรับคนรุ่นหลัง แต่งานของเขาก็เริ่มจุดประกายความหวังบางอย่างให้คนหนุ่มสาวยุคแสวงหา ดังที่วิทยากรเขียนไว้ว่า:-

เราซึ่งเป็นคนรุ่นหลังเองก็กำลังรอกาลเวลาเหมือนกับที่เสนีย์รออยู่ เราไม่เพียงฝันที่จะเห็นสาย สีมา หรือคนแบบเดียวกับเขาเพียงไม่กี่คน ผุดลุกขึ้นมาเพื่อที่จะถูกกระแทกให้ล้มคว่ำลงและถูกลืมเลือนไป แต่เราฝันที่จะเห็นสาย สีมาเป็นพันเป็นหมื่นคน ซึ่งจะลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งที่เขาเห็นว่าไม่ยุติธรรมด้วยความมั่นใจ…[xii]

น่าสนใจว่าบทวิจารณ์ชิ้นนี้ตีพิมพ์ก่อนที่ "ปีศาจ" จะถูกจัดพิมพ์เผยแพร่ขึ้นใหม่ ดังนั้นผู้วิจารณ์จะต้องอาศัยฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2500 โดยสำนักพิมพ์เกวียนทองเพื่ออ่านวิจารณ์ ถ้าเช่นนั้น, คำถามที่น่าสนใจคือ เขาได้อ่านหนังสือ "ต้องห้าม" เล่มนี้จากที่ใด?

เมื่อพิเคราะห์จากหลักฐานแวดล้อม ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าตั้งแต่ช่วงปี 2512-13 วิทยากรได้รู้จักกับคำสิงห์ ศรีนอกและไปขอความรู้จากเขาบ่อยๆ เชื่อได้ว่าวิทยากรได้ต้นฉบับจากคำสิงห์ผู้เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เกวียนทอง และผู้ร่วมก่อตั้งคนหนึ่งของ จตุรัส ที่วิทยากรเขียนบทวิจารณ์ไปลงนั่นเอง[xiii]

นักเขียนเก่าจากทศวรรษ 2490 อย่างคำสิงห์ (และอีกหลายคนซึ่งไม่มีเนื้อที่จะยกตัวอย่างในที่นี้) จึงทำหน้าที่เป็นทั้งแหล่งความทรงจำมีชีวิตที่คนรุ่นหลังสามารถไปตักตวงความรู้ ในขณะเดียวกันก็เป็นคลังหนังสือเก่าสำหรับคนรุ่นหลังด้วย

ช่วงเวลาเดียวกันนี้เขามิได้แต่งนิยายเรื่องใหม่ขึ้นอีก มีแต่เพียงเรื่องสั้น 2-3 ชิ้น บวกกับเรื่องสั้นเก่าที่ถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำในหนังสือรวมเรื่องสั้นต่างๆ อย่างไรก็ตาม หลักหมายสำคัญในการรื้อฟื้นงานของเสนีย์สู่บรรณพิภพอยู่ที่ การจัดพิมพ์นวนิยายที่ดีที่สุดของเขา 2 เรื่องคือ "ความรักของวัลยา" และ "ปีศาจ" โดยสำนักพิมพ์มิตนรา ในปี 2513 และ 2514 ตามลำดับ เจ้าของสำนักพิมพ์นี้คือ นรา พฤฒินันท์ เพื่อนเก่าของเสนีย์ ที่หันมาริเริ่มกิจการสำนักพิมพ์ในปี 2510

โดยนำผลงานของนักเขียนเก่าที่มีชื่อเสียงหลายคนมาตีพิมพ์ อาทิ อิศรา อมันตกุล, รมย์ รติวัน (ทวี เกตะวันดี) เป็นต้น แต่ละเล่มพิมพ์อย่างประณีตสวยงามและคัดสรรเฉพาะงานคุณภาพ แถมยังตั้งราคาขายต่ำกว่าสำนักพิมพ์อื่น แม้จะฝากผลงานไว้จำนวนน้อยเล่ม แต่สามารถกล่าวอย่างไม่เกินเลยได้ว่า "มิตรนรา" เป็นสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือดีที่สุดสำนักพิมพ์หนึ่งสู่สาธารณชนใน พ.ศ.นั้น

มิตรนราจัดพิมพ์ "ความรักของวัลยา" ออกมาในต้นปี 2513 อย่างสวยงาม ตั้งใจให้ผู้อ่านที่ติดตามผลงานของสำนักพิมพ์มาอย่างต่อเนื่อง ซื้อไปเป็นของขวัญกำนัลปีใหม่แก่เพื่อนฝูง[xiv] โดยเขียนคำนำไว้ว่า งานชิ้นนี้เป็นงานที่แสดงถึงพัฒนาการทางความคิดครั้งสำคัญของเสนีย์ และเป็นงานที่ผู้อ่านจะได้สัมผัสกับ "การพรรณนาถึงความทุกข์ยากของผู้อื่น" ในท้ายเล่มยังได้โฆษณาว่า "โปรดติดตามเรื่องต่อไป ดีเยี่ยมจริงๆ ชื่อ "ปีศาจ" โดยเสนีย์ เสาวพงศ์" แต่จนแล้วจนรอดก็มีเหตุอุปสรรคให้หนังสือออกล่าช้าไป

กว่า "ปีศาจ" จะจุติออกมาก็ล่วงถึงปี 2514 สำนักพิมพ์เขียนชี้แจงว่า เล่มนี้ถือเป็นตอนต่อจาก "ความรักของวัลยา" ขอให้อ่านควบคู่กัน! (มีการนำมารวมขายเป็นชุดเดียวกัน) และกล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการจัดพิมพ์ว่า แม้จะเป็นงานที่เขียนขึ้นเกือบ 20 ปีแล้ว "แต่ก็คงจะมีประโยชน์บ้างสำหรับ 'คนหนุ่มสาว' สมัยนี้ จะได้ศึกษาถึงความคิดของคนสมัยเมื่อ 20 ปีก่อนโน้น"[xv]

การตีพิมพ์ครั้งนี้ทางผู้จัดทำยังได้นำบทวิจารณ์ของวิทยากรที่ลงใน "จัตุรัส" มาพิมพ์ประกอบไว้ตอนต้น พร้อมกับบทวิจารณ์ของ "สาหร่าย" (เสถียร จันทิมาธร) ที่ตีพิมพ์ในหนังสือของสมาคมศิษย์เก่ารัตนบุรี จ.สุรินทร์ (14 เมษายน 2514) ตีพิมพ์ปิดท้าย

การจัดพิมพ์หนังสือทั้ง 2 เล่ม ทำให้งาน "ต้องห้าม" ที่หายสาบสูญไปกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสกับความคิดของนิยายแนว "เพื่อชีวิต" ในอดีต (ดังความตั้งใจของผู้จัดพิมพ์) อดีตเริ่มขยับเข้ามาเชื่อมต่อกับปัจจุบันทีละเล็กละน้อย ดังปรากฏว่างานทั้งสองชิ้น ได้รับความสนใจจากนักศึกษาปัญญาชนรุ่นใหม่ มีการคัดลอกบางบทบางตอนไปพิมพ์ซ้ำในหนังสือ "เล่มละบาท" ที่พวกเขาจัดทำ เช่น ทองกวาวฉบับชาวนา (2515) ของชุมนุมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ตัดทอนตอนสาย สีมาตัวละครเอกในเรื่อง "ปีศาจ" กล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงวิพากษ์วิจารณ์สังคมเจ้าขุนมูลนายไปตีพิมพ์ คำคมในนิยายทั้งสองเรื่องก็ถูกคัดไปอ้างในหนังสือนักศึกษาหลายเล่ม เช่น หนังสือ ชีวิตในมหาวิทยาลัย ของกลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครแห่งประเทศไทย (ซึ่งพัฒนากลายเป็น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา) ที่จัดทำเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างคุ้มค่าโดยคำนึงถึงสังคมส่วนรวม ก็ได้นำข้อความตอนหนึ่งจาก"ความรักของวัลยา" ที่ชี้ให้เห็นพลังของมนุษย์ในการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีงามกว่าที่เป็นอยู่ ไปตีพิมพ์[xvi]

นอกจากนั้น นิยายทั้ง 2 เรื่องยังถูกหยิบไปวิจารณ์ลงในสิ่งพิมพ์หลายฉบับ เช่น บทวิจารณ์ชื่อ "ใครคือปีศาจ" โดยเยียบ ราณี ลงใน นสพ. สยามรัฐ (16 กรกฎาคม 2514) ที่เสนอความเห็นว่าการดำเนินรอยตามอุดมคติของสาย สีมา และรัชนีใน พ.ศ. 2514 นั้นเป็นการเดินทางที่ยาวนานและลำบากขมขื่นยิ่งกว่าเก่า เพราะปัญหาสังคมหนักหน่วงขึ้นทุกวัน แต่ก็มีความหวังว่า "ตราบใดที่ยังเดิน ก็คงจะถึงที่ที่ต้องการได้ - ใช่ไหม?"

หรือบทวิจารณ์เรื่อง "สาย สีมา - เขาก้าวไปพร้อมกับการกระทำ" เขียนโดยพิรุณ ฉัตรวณิชกุล ลงในนิตยสาร วรรณกรรมเพื่อชีวิต (5 กันยายน 2515) พิรุณเขียนชื่นชมการกระทำของตัวละครในเรื่อง "ปีศาจ" ไม่ว่าจะเป็นสาย สีมา, รัชนี นิคม, และกิ่งเทียน ที่ละทิ้งความสะดวกสบายส่วนตัว นำวิชาการความรู้ไปช่วยเหลือผู้ที่เสียเปรียบ และพัฒนาดินแดนที่ทุรกันดาร ว่าเป็นการกระทำที่น่ายกย่องและยึดถือเป็นแบบอย่าง เพราะ บุคลิกของสาย [สีมา] ไม่เพียงแต่เป็นนักอุดมคติทีมีจินตนาการเลื่อนลอยเท่านั้น แต่การมองปัญหาชีวิตของเขาเป็นเหตุเป็นผล… ที่สำคัญที่สุด การพร้อมที่จะกระทำตามสิ่งที่เห็น และคิดอย่างสุขุมรอบคอบ อย่างไม่หวั่นไหว เขาเป็น 'บุคคลที่ก้าวไปพร้อมกับการกระทำอย่างคนกล้า'

กล่าวได้ว่าผลงานของเสนีย์ที่ถูกขุดค้นกลับมาใหม่ เป็นเสียงจากอดีตที่ข้ามผ่านกาลเวลามาปลุกสำนึกของคนหนุ่มสาวในยุคแสวงหา ตัวละครในนิยายของเขาออกมาโลดแล่นให้เห็นในชีวิตจริงของคนหนุ่มสาวยุคก่อน 14 ตุลาฯ พวกเขาลุกขึ้นมาก้าวเดินตามเส้นทางของวัลยา, สาย สีมา, และรัชนี, ที่เสนีย์บรรจงเสกสรรค์ขึ้นเมื่อเกือบ 2 ทศวรรษก่อน

พวกเขาก้าวไปพร้อมกับกระแสคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่พวกเขาเองมีส่วนสร้างมันขึ้น เมื่อเดือนตุลาคม 2516 ซึ่งนำพาสังคมไทยก้าวเข้าสู่บทตอนใหม่ในประวัติศาสตร์

ปีศาจของกาลเวลา
หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ "ปีศาจ" กับ "ความรักของวัลยา" กลายเป็นวรรณกรรมยอดนิยมของคนหนุ่มสาว ผู้ตื่นตัวและเร่าร้อนอยากเปลี่ยนแปลงสังคม จากวรรณกรรมที่เกือบหาผู้จัดพิมพ์ไม่ได้ในทศวรรษ 2490 กลับกลายเป็นงานที่ขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก กระทั่งฉบับพิมพ์ของมิตรนรา ที่แม้บางเล่มจะอยู่ในสภาพเก่าๆ ขาดๆ ก็ยังมีผู้ขอซื้อจนเกลี้ยงโรงพิมพ์

"ความรักของวัลยา" พิมพ์ซ้ำถึง 4 ครั้งภายในเวลา 3 ปี (2517-2519) ในกรณีของ "ปีศาจ" หลังจากตรวจสอบจากต้นฉบับเท่าที่ค้นพบจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนขอเสนอข้อมูลใหม่ ซึ่งต่างจากที่เคยรับรู้กันมาแต่เดิม กล่าวคือ ระหว่าง 14 ตุลาฯ- 6 ตุลาฯ "ปีศาจ" ถูกตีพิมพ์อย่างน้อย 4 ครั้ง มิใช่ 3 ครั้งตามที่อ้างอิงกันแพร่หลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมมีผลทำให้ลำดับการพิมพ์ที่ระบุในฉบับพิมพ์ครั้งหลังๆ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

เมื่อครั้งที่สำนักพิมพ์หยาดฝน จัดพิมพ์"ปีศาจ"ในปี 2521 ผู้จัดทำระบุว่าเป็นการตีพิมพ์ครั้งที่ 5 โดยให้ข้อมูลว่าฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 พิมพ์โดยสำนักพิมพ์เกวียนทอง ครั้งที่ 2- สำนักพิมพ์มิตรนรา ครั้งที่ 3- แนวร่วมนักเรียนภาคเหนือ และ ครั้งที่ 4- ชมรมหนังสือบัวแดง โดยไม่ระบุปีที่จัดพิมพ์ของแต่ละครั้ง ต่อมาในวิทยานิพนธ์ของปรีชา ปัญญาวชิโรภาส เรื่อง "พัฒนาการงานเขียนนวนิยายของเสนีย์ เสาวพงศ์" (ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2527) เสนอข้อมูลใหม่

ซึ่งพบว่าข้อมูลเกี่ยวกับการพิมพ์ 3 ครั้งแรกนั้นตรงกับข้อมูลของสำนักพิมพ์หยาดฝน แต่ปรีชาเพิ่มฉบับพิมพ์ของกลุ่มแนวร่วมจุฬาฯ (พ.ศ. 2517) เข้ามาเป็นครั้งที่ 4 ก่อนฉบับพิมพ์ของชมรมหนังสือบัวแดงในปี พ.ศ. 2518 ฉะนั้นระหว่างปี 2516-19 จึงมีการพิมพ์ ปีศาจ ทั้งสิ้น 3 ครั้ง มิใช่ 2 ครั้ง ด้วยเหตุนี้ปรีชาจึงนับฉบับของสำนักพิมพ์หยาดฝนเป็นครั้งที่ 6 (แทนที่จะเป็นครั้งที่ 5)

ข้อมูลของปรีชาได้รับการเชื่อถือและอ้างอิงแพร่หลายพอสมควร ดังที่พบว่านิตยสาร ถนนหนังสือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 8 (กุมภาพันธ์ 252… ฉบับเสนีย์ เสาวพงศ์) ก็ใช้ข้อมูลของปรีชาประกอบการนำเสนอประวัติและผลงานของเสนีย์ ต่อมาเมื่อสำนักพิมพ์อ่านไทยปรับปรุงแก้ไขและชำระต้นฉบับ "ปีศาจไ ตีพิมพ์ออกมาในปี 2531 ซึ่งต้องถือว่าเป็นฉบับพิมพ์ที่ได้มาตรฐานและสมบูรณ์ที่สุด (โดยฝีมือบรรณาธิการของสุวิทย์ ว่องวีระ) อย่างไรก็ตามสำนักพิมพ์อ่านไทยให้ข้อมูลทางบรรณานุกรมไว้ว่าระหว่างปี 2516-19 มีการตีพิมพ์ ปีศาจ ทั้งสิ้น 3 ครั้ง โดยระบุว่าพิมพ์ในปี 2517 สองฉบับ และปี 2518 อีกหนึ่งฉบับ ซึ่งน่าเชื่อว่าอิงตามข้อมูลในวิทยานิพนธ์ของปรีชา

แต่จากต้นฉบับที่ผู้เขียนรวบรวมมาได้ พบว่าในช่วงปี 2516-2519 มี "ปีศาจ" อีกหนึ่งฉบับพิมพ์ที่ถูกละเลยมิได้นำมารวมไว้ในประวัติการพิมพ์ที่ผ่านมา คือ ฉบับพิมพ์ของ "สภานักศึกษาวิทยาลัยครูธนบุรี" หน้าปกเป็นรูปหุ่นไล่กามีสายสะพายผูกโบว์ พร้อมกับมีดปักอยู่บนงอบของหุ่นไล่กา พื้นหลังเป็นสีเขียวขี้ม้า ขนาด 16 หน้ายกเหมือนฉบับพิมพ์ของแนวร่วมนักเรียนภาคเหนือ และชมรมหนังสือบัวแดง แม้จะไม่ระบุปีพิมพ์เอาไว้ แต่มีเบาะแสให้เราทราบว่าหนังสือนี้พิมพ์เมื่อไร เบาะแสดังกล่าวอยู่ที่หน้าสุดท้ายของหนังสือที่ปรากฏข้อความเด่นหราอยู่ข้อความหนึ่งว่า "ประเทศต้องการเอกราช ประชาชาติต้องการสิทธิประชาธิปไตย 20 มีนา ฐานทัพต้องออกไป!"

ข้อความดังกล่าวคือ คำขวัญประจำขบวนการนิสิตนักศึกษาสมัยหลัง 14 ตุลาฯ วันที่ 20 มีนาคือ กำหนดเส้นตายซึ่งนายกฯ คึกฤทธิ์ ปราโมชให้สัญญากับประชาชนเมื่อขึ้นมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2518 ว่ารัฐบาลมีนโยบายให้ฐานทัพสหรัฐฯ ถอนออกไปจากประเทศไทยภายใน 1 ปี เส้นตายจึงตรงกับวันที่ 20 มีนาคม 2519

ฉะนั้น แม้เราจะบอกปีพิมพ์แน่นอนไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ระบุได้ว่า ปีศาจ ฉบับ "สภานักศึกษาวิทยาลัยครูธนบุรี" ต้องตีพิมพ์ในเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างมีนาคม 2518-มีนาคม 2519

นั่นหมายความว่าจาก 14 ตุลาฯ ถึง 6 ตุลาฯ "ปีศาจ" ถูกตีพิมพ์ซ้ำ 4 ครั้งด้วยกัน (มิใช่ 3 ครั้ง) ได้แก่ ฉบับพิมพ์แนวร่วมนักเรียนภาคเหนือ (2517) แนวร่วมจุฬาฯ (ปี 2518 มิใช่ 2517 ตามที่ปรีชาระบุ) ชมรมหนังสือบัวแดง (251 และสภานักศึกษาวิทยาลัยครูธนบุรี (2518 หรือ 2519)

ที่สืบสาวแจกแจงรายละเอียดมายืดยาวนี้ก็เพื่อบันทึกประวัติการตีพิมพ์ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง ทั้งเพื่อแสดงให้เห็นด้วยว่านิยายของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ได้รับความนิยมชมชอบจากคนหนุ่มสาวมากมายเพียงไร มันกลายเป็นสมบัติของสังคมไปอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

น่าแปลกที่นิยายบางเล่มก็สำแดงพลังของมัน มิใช่ในทันทีที่มันคลอดออกมาครั้งแรก หากต้องรออีกนานพอสมควร นิยายของเสนีย์นับว่าอยู่ในข่ายนี้ กาลเวลานั่นเอง ที่อาจจะเป็นคำไขปริศนาทั้งหมด ดังที่สาย สีมากล่าวไว้ในตอนจบของปีศาจ ว่า:-

ความคิดผิดแผกแตกต่างกันในสมัยและเวลา ทำให้คนเรามีความคิดผิดแผกแตกต่างกันด้วย… ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้… เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป

ในแง่นี้งานประพันธ์ของเสนีย์ เสาวพงศ์มิใช่อะไรอื่น หากคือ "ปีศาจของกาลเวลา" นั่นเอง


++++++++++++++++++++++++++++++

หมายเหตุ : เนื่องจากผู้นำเสนอข้อความนี้บนกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่ได้ให้รายชื่อเอกสารอ้างอิงมาด้วย หาก อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผ่านมาพบ ทางกองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน ขอรบกวนช่วยส่งเอกสารอ้างอิงมาให้ด้วย ทั้งนี้เพื่อความสมบูรณ์ของบทความ midnightuniv@yahoo.com

หมายเหตุเพิ่มเติม : บทความชิ้นนี้ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ แจ้งว่า - เขียนเพื่อตีพิมพ์ในหนังสือ "ไฟยังเย็นในหัวใจ" (มติชน, 2545) ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์เพื่อเป็นเกียรติในวาระครบรอบ 84 ปี เสนีย์ เสาวพงศ์ ส่วนเชิงอรรถที่ได้รับการส่งมาด้วยมีดังนี้

เชิงอรรถ (1) "สารท่านนายกฯ," สยามนิกร (25 มิถุนายน 2503).

(2) ทวีปวร (ทวีป วรดิลก), "ในภพหนึ่ง," ฉลองบัณฑิตปี 2511 (พระนคร: วัชรินทร์การพิมพ์, 2513).

(3) เสนีย์ เสาวพงศ์, "บทบาทที่เหมือนเงาในกระจก," ไทยรัฐ (22 กุมภาพันธ์ 2510), อ้างใน เสนีย์ เสาวพงศ์, หยดหนึ่งของกาลเวลา (เชียงใหม่: ศูนย์หนังสือเชียงใหม่, 2521), น.164.

(4) เสนีย์ เสาวพงศ์, "ส่งปีเก่ารับปีใหม่," ไทยรัฐ (3 มกราคม 2511), อ้างใน หยดหนึ่งของกาลเวลา, น.136.

(5) เสนีย์ เสาวพงศ์, "เมื่อความหลังต่อกับความหวัง," ไทยรัฐ (27 ธันวาคม 2510), อ้างใน หยดหนึ่งของกาลเวลา, น.70.

(6) เสนีย์ เสาวพงศ์, ไฟเย็น, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: ชมรมโดมทักษิณ ธรรมศาสตร์, 2518), น.298-99.

(7) หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ เป็นแหล่งชุมนุมของอดีตนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายก้าวหน้าหลายคน อาทิ อุทธรณ์ พลกุล สมบูรณ์ วรพงษ์ ทองเติม เสมรสุต เป็นต้น อีกค่ายหนึ่งคือ เดลินิวส์ ที่มีหัวเรือ อย่างสนิท เอกชัย อิศรา อมันตกุล พร้อมด้วย เชลง กัทลีรดะพันธ์ ทวี เกตะวันดี และอารีย์ อิ่มสมบัติ.

(8) ในช่วงนี้ นักเขียนเก่าหลายคนเริ่มกลับมามีผลงานตีพิมพ์กระจัดกระจายอยู่ในสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น ลาว คำหอม ที่เขียนเรื่องสั้นลง สังคมศาสตร์ปริทัศน์ หรือสุภา ศิริมานนท์ ในวารสาร วันนักข่าว ของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย.

(9) อีก 7 คนที่เหลือได้แก่ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช วศิษดิ์ เดชกุญชร พระยาอนุมานราชธน รงษ์ วงศ์สวรรค์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พุทธทาสภิกขุ.

(10) Herbert P. Phillips, "The Culture of Siamese Intellectuals," in Change and Persistence in Thai Society, edited by G.William Skinner and Thomas Kirsch (Ithaca and London: Cornell University Press, 1975), p.347-348. ฟิลลิปส์ให้นิยามเสนีย์ว่าเป็น "The Indecisive Artist".

(11) ดู เฮอร์เบิร์ต ฟิลลิปส์, "วัฒนธรรมของปัญญาชนสยาม," แปลโดยนิ

แสดงความคิดเห็น

« 5095
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ