บทความ

แด่ ม.ร.ว.กีรติ เหยื่อของฝรั่งคนสุดท้าย ในวรรณกรรมไทย

by 2 @November,19 2006 23.10 ( IP : 222...143 ) | Tags : บทความ

แด่ ม.ร.ว.กีรติ เหยื่อของฝรั่งคนสุดท้ายในวรรณกรรมไทย นิธิ เอียวศรีวงศ์ สุชาดา จักรพิสุทธิ์ นักวิชาการอาวุโส นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ประกอบด้วยผลงานเขียน ๒ ชิ้น ๑. แด่ ม.ร.ว.กีรติ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ (เคยตีพิมพ์แล้ว) ๒. รักโรแมนติคคืออะไร ? โดย สุชาดา จักรพิสุทธิ์ (ยังไม่เคยตีพิมพ์)

บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 642 เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4)

๑. แด่ ม.ร.ว.กีรติ นิธิ เอียวศรีวงศ์

ความรักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่

ชายหนุ่มคนหนึ่งสบตาสาวเสิร์ฟ ส่งกระแสชื่นชมฝากรักให้เห็น ด้วยความเขินเขาหยิบบุหรี่ขึ้นมาเสียบที่ริมฝีปาก แต่เสียบผิดข้าง สาวเสิร์ฟเดินเข้ามาหาพร้อมทั้งรอยยิ้มอ่อนหวาน ในมือของเธอถือเหยือกน้ำเหมือนจะมารินน้ำในแก้วน้ำเพิ่มให้เขา แต่เธอกลับรินน้ำรดลงไปบนบุหรี่ที่ริมฝีปากของเขาแทน แล้วก็มีเสียงเตือนให้รู้ว่า เพราะความรักความห่วงไยต่างหากที่เธอทำเช่นนั้น เป็นการตอบไมตรีที่เฉอะแฉะที่สุดฉากหนึ่ง

หนังโฆษณาต่อต้านบุหรี่ทำนองนี้ยังมีอีกหลายตอน ทุกตอนล้วนแสดงความรักความห่วงไยให้แก่คนติดบุหรี่ทั้งสิ้น และทุกตอนคนติดบุหรี่ล้วนตกเป็น "เหยื่อ" ของความรัก ที่กลายเป็นอำนาจในการล่วงละเมิดสิทธิ์ส่วนตัวของคนที่เรารัก ด้วยวิธีเด็ดขาดรุนแรงเสมอ เช่น เอาน้ำราด, เอาบุหรี่ไปทิ้ง หรือยึดไฟเสีย

ผมไม่คับข้องใจกับหนังโฆษณาเหล่านี้หรอกครับ แต่เห็นใจคนทำโฆษณาว่า เขาต้องเลือกเอาประเด็นที่ศิลปะการแสดงของไทยอ่อนแอที่สุดมาใช้ นั่นคือการแสดงความรัก

คงจำได้นะครับว่า ถ้าถึงตอนจบเมื่อพระเอกนางเอกแสดงความรักต่อกันได้โดยไม่มีฝ่ายใดแคลงใจฝ่ายใดอีกแล้วนั้น หนังไทย (และละครทีวีด้วย) จะมีสูตรตายตัวที่คนดูคุ้นเคย นั่นก็คือพระเอกนางเอกต้องวิ่งไล่กันในวิวสวยๆ ทำไมการวิ่งไล่กันจึงเป็นสัญลักษณ์ถึงความรักอันลึกซึ้งระหว่างหญิงกับชาย ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน

อาจไม่แฟร์เท่าไรที่ผมใช้คำว่าหนังไทย เพราะผมไม่ใช่แฟนหนังสักประเภทเดียว ฉะนั้น หนังไทยที่ผมได้ดูจึงเป็นหนังเก่าที่เขาเอามาฉายทางทีวี หนังไทยตามโรงอาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้นะครับ เพราะผมตามไม่ทัน

ในชีวิตจริงคนไทยแสดงความรักกันอย่างไร ผมก็ไม่ได้ไปเที่ยวเสาะหาข้อมูลพอจะรู้ได้ แต่การแสดงมักรวบยอดเอาความคิดหรือแบบแผนของพฤติกรรมสังคมมาใช้เป็นสัญลักษณ์สำหรับการแสดง แล้วก็ไม่ง่ายนะครับ ที่จะให้พระเอกนางเอกโผเข้ากอดรัดฟัดเหวี่ยง ร้องซี้ดซ้าดไปพร้อมกันในตอนหนังจบ เพราะมันดูไม่มีศิลปะเลย ซ้ำยังทำให้คนดูไม่เชื่อด้วยว่าพระเอกจะรักนางเอกไปชั่วกัลปาวสาน โดยเฉพาะเมื่อน้ำหนักของเธอแตะเลข 60 ในอนาคต

จะใช้อาการอย่างไรที่จะแสดงความรักของคนสองคน ที่ดูบริสุทธิ์ (จากกามารมณ์), มั่นคง, เต็มไปด้วยความเสียสละอันยิ่งใหญ่ และงดงามสำหรับเป็นแบบอย่างแห่งนักรักทั่วโลก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือความรักโรแมนติคขนานแท้และดั้งเดิม-อันหมายถึง ความรักของปัจเจก ที่ไร้เหตุผลอธิบาย ดูดดื่ม ทุ่มเท และเป็นชีวิตทั้งชีวิตของเขาหรือเธอ ดังบทสวดมนต์ว่า "ฉันเกิดมาเพื่อรักเธอคนเดียว"

การแสดงความรักอย่างนี้แหละครับที่ศิลปะการแสดงของไทยทำไม่เป็น และผมพาลคิดว่าคนไทยโดยทั่วไปก็ทำไม่เป็นด้วย จึงไม่ปรากฏในศิลปะการแสดงและวรรณคดีไทยหรือประเพณีไทย

อันที่จริงข้อนี้ก็ไม่ประหลาดอันใดนักนะครับ เพราะรากเหง้าของความรักแบบนี้มาจากสังคมยุโรป นับตั้งแต่สมัยอัศวินเสี่ยงชีวิตไปรบราฆ่าฟันกับใครต่อใครเพื่อมอบกุหลาบแสนสวยให้แก่หญิงที่รอคอยอยู่บนระเบียงประสาท มาจนถึงรักหวานจ๋อยใน "นว" นิยายรุ่นหลัง. ผมไม่ได้หมายความว่าหญิง-ชายไทยในวัฒนธรรมโบราณนั้นรักกันไม่เป็นนะครับ แต่แสดงความรักต่อกันอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ความรักแบบโรแมนติค เช่น เกือบจะแยกไม่ออกจากกามารมณ์

เณรพลายแก้วได้ปะหน้านางพิมวัยสาวเป็นครั้งแรก ตกดึกก็คร่ำครวญถึงนางพิมว่า "ทำไฉนจึงจะได้นางพิมชม" รักกับได้ชมแยกออกจากกันไม่ได้. เรื่องนี้ทำให้ผมอดคิดถึงละครทีวีและหนังไทยหลายเรื่องไม่ได้ พระเอกรักนางเอก แต่ด้วยความแค้นซังกะบ๊วยอะไรก็ตาม เขาจึงแก้ปัญหาด้วยการปล้ำ ทำจนนางเอกท้องบ้างไม่ท้องบ้าง แล้วผู้แต่งจะจบเรื่องอย่างไร น่าอัศจรรย์มากนะครับ นางเอกก็รักพระเอกแล้วก็แต่งงานอยู่กินกันจนชั่วฟ้าดินสลาย

การปลุกปล้ำข่มขืนเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความรัก นางเอกก็ยอมรับปรัชญาข้อนี้ จึงมีความรู้สึก "รัก" คนที่เคยข่มขืนตนได้ลงคอ ที่น่าอัศจรรย์คือผู้แต่ง (ซึ่งมักเป็นผู้หญิง) คิดได้อย่างไร แต่ที่น่าอัศจรรย์กว่านั้นคือผู้ชมละครทีวีหรือดูหนังก็ชื่นชมเรื่องอย่างนี้จนติด มันแปลว่าอะไรครับ ผมแปลว่าการ "ได้ชม" นั้น จะใช้วิธีไหนก็ได้ นับตั้งแต่มนต์มหาระรวยไปจนถึงกล้ามเนื้อ

เช่นเดียวกับอิเหนาเมื่อได้ใช้ปากพูดกับจินตะหราเป็นครั้งแรกก็ฝากรักว่า "...เพราะหวังชมสมสวาสดิทรามวัย สู้เอาชีวาลัยมาแลกรัก" ฉากรักในละครรำไปจนถึงลิเกก็คือการรุกและการป้องปัด พูดภาษาชาวบ้านคือปากว่ามือถึง

ไม่มีนะครับ อาการแห่งความรักบริสุทธิ์ เทิดทูนบูชา ฯลฯ อย่างที่ควรจะเป็นสำหรับความรักโรแมนติค เพราะความรักแบบไทยไม่ใช่ความรักโรแมนติค ครั้นเรารับเอาความรักโรแมนติคมาจากหนังและนิยายฝรั่งในภายหลัง ผมออกจะสงสัยว่าเรายังไม่รู้วิธีจะรวบยอดมันมาใช้ในการแสดง หรือแม้แต่ในวรรณกรรมได้

ผมควรย้ำไว้ด้วยว่า ความรักแบบโรแมนติคของฝรั่งก็ไม่ใช่อุดมคติดีเลิศที่เราต้องทำให้ได้นะครับ เพียงแต่ว่าเราไปลอกความรู้สึกแบบนั้นจากนิยายและหนังฝรั่งมาใช้ในหนังและนิยายของเราบ้าง แต่แล้วเราก็ใช้มันอย่างไม่แนบเนียนเท่าไร โดยเฉพาะในการแสดงความรักแบบนั้น

ผมเข้าใจว่าในวัฒนธรรมโบราณของไทยนั้น การได้เสียเป็นความรับผิดชอบ (พอสมควร-คือมากกว่าปัจจุบัน) ความคิดอันนี้สะท้อนออกมาในหนังและละครทีวีไทยอยู่เหมือนกันนะครับ ตัวละครที่เป็นฝ่ายคนดี ซึ่งรวมพระเอกด้วยมักรับผิดชอบกับเรื่องนี้เสมอ แม้แต่กับนางอิจฉาที่มอมเหล้าพระเอกแล้วไปนอนแก้ผ้าเป็นเพื่อนตลอดคืน ฉะนั้น ความรักแท้ของพระเอกในวรรณคดีไทยจึงแยกออกจากเรื่องได้เสียไม่ได้ รักแท้แล้วไม่ยอมได้เสียก็แสดงว่าไม่ได้รักจริงล่ะสิครับ

หญิงชายไทยในสมัยก่อนคงต้องใจกันบ้างถึงได้เสียกัน จะต้องใจกันได้ก็ต้องจีบกัน แต่จีบกันโดยไม่มีการได้เสีย จึงต้องทำโดยไม่มีพันธะต่อกันมากจนเกินไป

ในประเพณีแอ่วสาวของภาคเหนือ (หรือเว้าสาวของอีสาน) คำโต้ตอบของหญิงชายมีแบบแผนค่อนข้างตายตัวอยู่แล้ว ต่างฝ่ายต่างรู้กันว่าต้องพูดอะไร และต้องตอบโต้ว่าอะไร ความหมายที่แท้จริงจากใจผู้พูดแฝงอยู่อย่างละเอียดอ่อนในคำโต้ตอบนั้น เช่น ผมได้ยินมาว่า หากสาวในภาคเหนือถูกถามว่าเย็นนี้กินอะไร แล้วเธอตอบว่ากินอะไรที่เผ็ดๆ ก็แปลว่าเธอไม่ยินดีต้อนรับหนุ่มที่ถามนัก แอ่วพอเป็นมารยาทแล้วควรเขยิบหนีไปเรือนอื่นที่ลูกสาวเขาบอกว่ากินแกงฟักหรืออะไรที่เย็นๆ กว่านั้น

นักวิชาการฝรั่งอธิบายว่า ประเพณีโต้ตอบในการแอ่วสาวเหล่านี้ ช่วยกีดกันมิให้การสนทนาของแต่ละฝ่ายกลายเป็นข้อผูกมัดจนเกินไป (จนกว่าฝ่ายชายจะเอ่ยปากขออนุญาตส่งผู้ใหญ่มาขอ-ซึ่งต้องพูดโดยไม่มีภาษาแอ่วกำกับ) ซึ่งผมก็เห็นด้วย

ผมนึกถึงการเล่นโวหารของหนุ่มสาวสมัยนี้ อย่างที่เคยเห็นในทีวีเสมอ เช่น ผู้ชายบอกผู้หญิงว่า "ขอโทษ ช่วยเขยิบมาตรงนี้หน่อยเถิดครับ" "ทำไมหรือคะ" "หัวใจเราจะได้ตรงกันไงครับ" และโวหารอื่นๆ อีกมากมาย แล้วแต่ใครจะคิดขึ้นใหม่โดยไม่มีประเพณีของภาษาแอ่วมากำกับ. แต่... แล้วมันจริงหรือเล่นล่ะครับ ? คำตอบคือไม่ชัด จริงก็ได้เล่นก็ได้ แต่ที่แน่นอนคือไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ต่างเลยนะครับกับประเพณีการแอ่วสาวหรือเว้าสาว

แสดงว่า จนถึงทุกวันนี้ หลังจากดูหนังฮอลลีวู้ดกันมาคนละนับเป็นร้อยเรื่องแล้ว ความรักแบบโรแมนติคก็ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบความสัมพันธ์ของไทย และเรายังไม่อาจแสดงความรักแบบนี้ได้เป็น ทั้งในศิลปะการแสดงและในชีวิตจริง

ผมคิดเรื่องนี้แล้วก็นึกเถียงตัวเองว่า ทำไมผู้คนจึงซาบซึ้งกับนวนิยายเรื่อง "ข้างหลังภาพ" ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ กันมากอย่างนั้นเล่า ความรักของ ม.ร.ว.กีรตินั้นแหละคือสุดยอดของความรักแบบโรแมนติคเลย ไม่มีบริบท, ไม่มีข้อเรียกร้องตอบแทน, (น่าจะ) ไม่มีความรู้สึกทางกามารมณ์ด้วย ขอแต่ให้ได้รักเท่านั้น หรือเธอเป็นเหยื่อของฝรั่งคนสุดท้ายในวรรณกรรมไทยกันหว่า

ในขณะที่คนอ่านสามารถเข้าใจเธอได้ แต่ทำตามไม่ได้ อย่างที่คนไทยปัจจุบันเข้าใจความรักแบบโรแมนติคได้ แต่ทำตามไม่ได้


๒. รักโรแมนติคคืออะไร ? สุชาดา จักร์พิสุทธิ์

สืบเนื่องจากที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในบทความชื่อ "แด่ ม.ร.ว.กีรติ" ตีพิมพ์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดยกล่าวถึงความรักในบริบทสังคมไทย ที่ออกไปในรูปของรักที่ต้องเชยชมและครอบครอง รักแบบที่ผู้ถูกรักตกเป็นเหยื่อจนบางครั้งกลายเป็นการคุกคามสิทธิ รักแบบที่ละครไทยและ(นว)นิยายไทยแสดงออก โดยปราศจากศิลปะและสุนทรีย์เอาเสียเลย

โดยยก ตัวอย่างพล็อตเรื่องประเภทพระเอกข่มขืนนางเอก แล้วนางเอกยัง(เสือก)รักพระเอกไปได้ลงคอ แถมผู้ดูผู้ชมก็ชื่นชอบเสียด้วย จนอาจารย์นิธิออกจะสงสัยว่า สังคมไทยไม่มีรักโรแมนติค อันอาจเป็นเพราะรักโรแมนติคเป็นอุดมคติแบบฝรั่ง ที่แม้คนไทยจะเข้าใจได้หรือได้รับอิทธิพลผ่านวรรณกรรมและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่เราก็แสดงความรักโรแมนติคไม่เป็นและทำตามไม่ได้

อาจารย์พาดพิงถึงแนวคิดแบบรักโรแมนติคที่ปรากฎในนิยายเรื่อง "ข้างหลังภาพ" ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่นางเอกของเรื่องคือ ม.ร.ว.กีรติ มีใจรักต่อหนุ่มนพพรโดยรู้อยู่เต็มอกว่าไม่มีวันจักสมหวังในความรักนั้นได้ อย่างที่อาจารย์สรุปว่า …ไม่มีบริบท ไม่มีข้อเรียกร้อง และ(เกือบ)ไม่มีกามารมณ์ …เป็นรักของปัจเจกที่ไม่ต้องการคำอธิบาย ทุ่มเท ดูดดื่ม ปราศจากเงื่อนไข

บทความของอาจารย์จุดประกายมุมมองที่แตกต่าง จนอยากแลกเปลี่ยนจากจุดยืนของคนที่ใช้หัวใจมากกว่าสมองเป็นสำคัญว่า หากรักโรแมนติคมีคุณสมบัติอย่างที่ว่ามา สังคมไทยก็ไม่มีรักแบบนี้แน่นอน และสังคมไหนๆก็คงไม่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ของสังคมสมัยใหม่อย่างในปัจจุบัน

เพราะรักโรแมนติคในแบบที่ว่า คืออุดมคติและคุณค่าเชิงปรัชญา ที่มีอยู่แต่ในวรรณกรรมคลาสสิคของฝรั่งเท่านั้น มันไม่มีแม้ในหนังฮอลลีวู้ดเสียด้วยซ้ำ สังคมฝรั่งที่อยู่ในบริบทและบรรยากาศแห่งความเหงาเศร้า ครุ่นคิด บ้านเมืองทึมทึบอยู่ในความหนาวเหน็บเกือบตลอดทั้งปี ผู้คนใช้เวลาส่วนใหญ่ภายใต้หลังคาบ้านอย่างโดดเดี่ยว มีหนังสือและบทสนทนาเป็นเพื่อน วิถีแบบนี้แหละที่เป็นที่มาของวรรณกรรมรักโรแมนติค บทกวีล้ำเลิศ และศิลปะการละครจากจินตนาการสูงส่ง สังคมแบบนี้แหละที่ให้คุณค่าแก่การค้นหาแนวคิดเชิงอุดมคติ นับแต่"ชีวิตคืออะไร" "จักรวาลคืออะไร" "รัฐคืออะไร " และ"ความรักคืออะไร" รักโรแมนติกจึงคือ "อุดมคติ" ที่เกิดจากบริบทและบรรยากาศเช่นนั้น

แต่ในโลกตะวันออกที่แดดจ้าฟ้าใส และผู้คนมีชีวิตโลดแล่นด้วยกิจกรรมอันหลากหลายในที่แจ้งตลอดทั้งปี พบปะผู้คนท่ามกลางชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่ผันเปลี่ยน ความรักจึงเป็น"การแสดงออก" หรือการกระทำเท่านั้นแหละ หาใช่สิ่งที่อยู่ภายใน "ความคิด"หรือดำรงอยู่ด้วยการครุ่นคิดเทิดทูนหรอก เพราะหากรักโรแมนติคเป็นดังที่ว่ามา มันต่างอะไรกับ Platonic love ที่มีรากฐานจากอภิปรัชญาเล่า

รักโรแมนติคในสังคมวัฒนธรรมฝรั่ง อย่างที่ปรากฏในวรรณกรรมคลาสิค ที่อัศวินออกรบไปทั่วทิศ เพื่อบูชาความรักที่มีต่อเจ้าหญิงในดวงใจนั้น มันก็เป็นความรักแบบ"ผู้ชาย" ที่สัมพันธ์อยู่กับการต่อสู้เพื่อโลกภายนอก การพิชิตศัตรูและการขจัดความอยุติธรรม อันเป็นอุดมคติแบบผู้ชายนั่นเอง หาใช่อุดมคติเดียวกันกับผู้หญิงไม่

อัศวินสติเฟื่องอย่าง ดอนฆีโฮเต้ แห่งลามานช่า ที่เทิดบูชาแม่หญิงดัลซีเนีย และปลุกปลอบตัวเองให้ห้าวหาญในการสู้รบทุกครั้ง โดยจินตนาการว่าแม่หญิงดัลซีเนียส่งมอบผ้าเช็ดหน้าพร้อมจุมพิตให้กำลังใจมาตามสายลมนั้น ก็เป็นแต่เพียงจินตนาการแบบผู้ชาย ที่คิดเอาว่าผู้หญิงมักยกย่องบูชาผู้ชายที่กล้าหาญและมีใจภักดิ์ต่อเธอสุดหัวใจ ความรักแบบผู้ชายจึงเป็นความรักของชายที่สามารถเก็บรักไว้ในอกหรือ"สละรักเพื่อพิชิตโลก" ในขณะที่ความรักแบบผู้หญิง กลับต้องการที่จะครองรักและ"สละโลกเพื่อพิชิตรัก"

ตกลงรักโรแมนติคคืออะไร คือความรักที่สูงส่งปราศจากกามารมณ์เช่นนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้นเรื่องราวความรักอย่างโรมิโอ-จูเลียต ก็มิใช่รักโรแมนติค เพราะแม้ทั้งคู่จะปักใจรักกันจนยอมสละชีวิต แต่ก็เป็นรักที่เต็มไปด้วยความปรารถนาจะเป็นเจ้าของครองรักกัน

แล้วรักของ The Phantom of the Opera เล่า เมื่อชายคนหนึ่งพ่ายแพ้ต่อชะตา ชีวิตอันอัปลักษณ์ และจำนนต่อความเจ็บปวดจากการรักข้างเดียว ความรักของเขาก็พลันเปลี่ยนสู่คุณภาพใหม่ นั่นคือเป็นรักที่มีเหตุผลและความจริงรองรับ เขาไม่มีทางเลือก นอกจากยอมที่จะเป็นฝ่ายรักและเทิดบูชาความรักนั้นไว้โดยไม่อาจครอบครอง

พนันกันได้ว่า ผู้หญิงที่ดูหนังเรื่องนี้ร้อยทั้งร้อย หลั่งน้ำตาให้แก่ชะตากรรมของรักอาภัพชนิดนี้ เพราะมันให้ความรู้สึกกินใจ จนอยากจะปวารณาตัวเป็นนางหงส์ผู้สงสารหัวใจกาเสียนี่กระไร ด้วยมันเป็นรักแบบที่ผู้หญิงใฝ่ฝัน อยากให้ผู้ชายสักคน (แม้ไม่ใช่คนรักของเธอ) มาเสน่หาหลงใหลใฝ่เพ้อและยอมเจ็บปวดทุ่มเท เพราะความรักที่มีต่อเธอโดยการแสดงให้ประจักษ์เยี่ยงนี้แหละ และนี่อาจเป็นเหตุผลเดียวกับที่ผู้หญิงชอบพล็อตเรื่องของหนังรักอย่าง Bridge of Medison county , The Great Gasby , Horse Whisperer

เป็นไปได้ว่ารักโรแมนติค มีมุมมองและทัศนคติที่เกี่ยวกับเพศสภาพ (gender) อยู่ด้วย หรือสุดแต่ว่าใครยืนอยู่ตรงจุดไหน เป็น"ฝ่ายรัก" หรือ"ฝ่ายถูกรัก" เป็นฝ่ายสมหวังหรือผิดหวัง ยิ่งกว่านั้น มันอาจจะมีจุดเปราะบางแตกต่างกันไปในส่วนของ subjective หรือตัวผู้กระทำในความรักนั้น ที่หากมีวุฒิภาวะเพียงพอ ได้รับการศึกษา(ในความหมายถึงจิตใจที่ขัดเกลาแล้ว) ประกอบด้วยศีลธรรมและวิธีคิดเชิงเหตุผล ก็เป็นไปได้ว่าจะสามารถยกระดับความรักนั้นไปในทิศทางของคุณค่าสูงส่งได้ แต่ …น่าจะน้อยคนยิ่งนัก

หรือจริงๆแล้ว รักโรแมนติคคือรักที่ไม่สมปรารถนา ต่างหาก คือรักที่ทรมานหัวใจด้วยไม่อาจครอบครองโดยเหตุอันใดก็ตามที แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสน่ห์เย้ายวน เพราะความไม่สมหวังอันร้าวรานใจนั้นเอง ที่ดึงดูดเราไว้ในห้วงแห่งความวาบหวิวซาบซึ้ง ความคิดถึงและจินตนาการต่อคนที่เรารัก

รักอันไม่สมหวังนี้เอง ที่ทำให้คนเราต้องสร้างคำอธิบายมาห่อหุ้มความรักนั้นให้สูงส่งขึ้นมา บูชาว่าเป็นรักบริสุทธิ์ที่ควรค่า และยกมันขึ้นเป็นรักโรแมนติค ที่ขอเพียงได้รักและเห็นคนที่เรารักมีความสุข อย่างที่นางเอกโง่ๆในนิยายเรื่อง"ข้างหลังภาพ" พร่ำเพ้อไว้ว่า

"ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็ภูมิใจที่ฉันมีคนที่ฉันรัก"

อย่างนั้นไงเล่า

แสดงความคิดเห็น

« 0958
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ