บทความ

ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของนักเขียนใต้

by Pookun @November,25 2006 21.05 ( IP : 222...243 ) | Tags : บทความ

ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของนักเขียนใต้

พิเชฐ แสงทอง Pichate2000@yahoo.com

จากหนังสือรวมเรื่องสั้น คลื่นทะเลใต้

หนังสือเล่มนี้รวบรวม 12 เรื่องสั้นของนักเขียนชาวใต้ที่มีเนื้อหาสะท้อนภาพลักษณ์และโลกทัศน์ของชาวภาคใต้ เรื่องสั้นทั้ง 12 เรื่องไม่เพียงแต่จะเป็นเรื่องสั้นที่มีคุณภาพที่สุดเท่านั้น แต่ยังมีฐานะเป็น "หลักไมล์" ของพัฒนาการวรรณกรรมของนักเขียนชาวใต้ และวรรณกรรมไทยโดยรวมอีกด้วย เพราะการยอมรับโดยสถาบันทางวรรณกรรมที่น่าเชื่อถือผ่านการมอบรางวัลต่างๆ นั้นได้สะท้อนถึงการรับรองอย่างเป็นทางการที่อาจปฏิเสธได้ยากเต็มที

เรายอมรับกันว่า วัฒนธรรมวรรณกรรมสมัยใหม่ที่นำมาสู่การแยกประเภทงานเขียนร้อยแก้วเป็น เรื่องสั้น นิยาย และนวนิยายนั้นเป็นวัฒนธรรมวรรณกรรมไทยที่มีการผสมผสานกับวัฒนธรรมวรรณกรรมจากประเทศตะวันตกผ่านระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่เริ่มอย่างเป็นจริงเป็นจริงและทั่วถึงมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ดี อิทธิพลของวัฒนธรรมวรรณกรรมและศิลปะของท้องถิ่นก็ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในฐานะของสิ่งหล่อหลอมกล่อมเกลาคตินิยมของผู้คนในท้องถิ่นให้รักสมัครสมานกับ "การอ่าน" วรรณกรรม นักเขียนทั้ง 8 คนผู้เขียนเรื่องสั้นทั้ง 12 เรื่องในเล่มนี้ก็เช่นกัน พร้อมๆ กับที่ได้รับการศึกษาสมัยที่บ่มเพาะให้รู้จักรักใคร่ชอบพอกับวรรณกรรมสมัยใหม่ พวกเขาก็มีรากเหง้าที่สัมพันธ์อยู่กับวรรณกรรมและศิลปะท้องถิ่นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้เช่นเดียวกัน

บทความนี้จะได้สืบย้อนไปถึงเส้นทางพัฒนาการของนักเขียนภาคใต้ในยุคอดีตเพื่อยืนยันถึงวัฒนธรรมวรรณกรรมท้องถิ่นอันเป็นรากฐานที่มาของนักเขียนภาคใต้ในรวมเรื่องสั้นในเล่มนี้ทั้ง 8 คน จากนั้นจะวิเคราะห์ให้เห็นว่าหลังจากที่พวกเขาเติบโตกลายเป็น "นักเขียนไทย" ที่สังคมวรรณกรรมไทยให้การยอมรับ พวกเขาหันกลับไปมอง "ตัวตน" ของพวกเขาอย่างไร ซึ่ง 12 เรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้ชี้ชวนให้เราเห็นอย่างน่าสนใจ

นักเขียนใต้ก่อนทศวรรษที่ 2520 วัฒนธรรมวรรณกรรมของสังคมใดๆ มักเริ่มต้นที่วัฒนธรรมมุขปาฐะ  สังคมภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดีด้วยเหตุที่สังคมภาคใต้ โดยเฉพาะในบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา อันประกอบด้วยนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา (ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 มีฐานเป็น "มณฑลนครศรีธรรมราช") มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติและสังคมบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างยาวนาน ทำให้วัฒนธรรมวรรณกรรมลายลักษณ์ในสังคมภาคใต้มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัฒนธรรมวรรณกรรมลายลักษณ์ในสังคมแถบนี้ก็ยิ่งพัฒนาอย่างรวดเร็วมากขึ้น พร้อมๆ กับพัฒนาการด้านการสื่อสาร การคมนาคม และเทคโนโลยีการพิมพ์ในกรุงเทพมหานครที่ค่อยๆ ไหลเทเข้าสู่ภาคใต้ตามลำดับ เช่น การเปิดเส้นทางเดินเรือเมลย์ระหว่างกรุงเทพฯ-กลันตัน ในปี พ.ศ.2432 โดยกรมไปรษณีย์ได้จัดหาเรือกลไฟมาเดินรับส่งถุงไปรษณีย์ สินค้า และผู้โดยสารระหว่างกรุงเทพฯ สงขลา กลันตัน และกลันตัน สงขลา กรุงเทพฯ

ต่อมาในปี พ.ศ.2459 ก็ได้มีการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้จากกรุงเทพฯถึงนาประดู่ ปัตตานี และขยายต่อไปกระทั่งเชื่อมต่อกับสหพันธรัฐมลายูที่สุไหงโกลกในปี พ.ศ.2464 ระหว่างนั้นกรมไปรษณีย์ยังได้ตั้งที่ทำการไปรษณีย์ตามสถานีรถไฟต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2449 การคมนาคมสื่อสารดังกล่าวนี้ย่อมส่งผลต่อสังคมภาคใต้ด้านวัฒนธรรมวรรณกรรมในรูป "หนังสือ-พิมพ์" ซึ่งพัฒนาขึ้นมาก่อนในกรุงเทพฯ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ปรากฏการณ์ที่เด่นชัดที่สุดมีอยู่ 2 ประการคือวรรณกรรมหลายต่อหลายเรื่องของสุนทรภู่กลายเป็นวรรณกรรมยอดนิยมของคนภาคใต้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2460 กระทั่งถึงทศวรรษที่ 2510 และหนังสือเล่มเล็กจากโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ หรือที่รู้จักกันดีในนาม "หนังสือวัดเกาะ" ก็มีตลาดใหญ่อยู่ในมณฑลนครศรีธรรมราช ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่เข้ามากระตุ้นพัฒนาการทางด้าน "หนังสือ" และ "วรรณกรรม" ของชุมชนภาคใต้เป็นอย่างมาก เกิดนักเขียนและกวีท้องถิ่นที่ยึดอาชีพเป็นประพันธ์ และเกิดโรงพิมพ์จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 2470 และพิมพ์ผลงานของนักเขียนและกวีท้องถิ่นอย่างแพร่หลาย

นักเขียนใต้ในวัฒนธรรมวรรณกรรมร้อยกรอง นักเขียนที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 2470-2490 คือนายเสือ ชำนาญภักดี หรือ เสือ ดอนคัน และนายแดง สุวรรณบัณฑิต หรือแดง นักปราชญ์ กวีทั้งสองสร้างผลงานขึ้นมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน โดยนายเสือโด่งดังขึ้นมาก่อนนายแดงเล็กน้อย แต่ทั้งคู่ก็เป็นกวีที่เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านภาคใต้หันมาสนใจอ่านหนังสือและชื่นชมในอาชีพนักประพันธ์มากขึ้นในทศวรรษต่อๆ มา ดังที่ผู้เขียนได้สำรวจพบว่าระหว่างทศวรรษที่ 2480-2500 มีนักประพันธ์ที่สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้อ่าน มีผลงานเขียนตีพิมพ์ออกมาสม่ำเสมอมากถึง 24 คน คือ เสือ ชำนาญภักดี, แดง ประพันธ์บัณฑิต, ทอง นวลศรี (หนองถ้วย), "จิตภิรมย์" (กิ้มที้ นาวิกมูล), ชัย จันรอดภัย, คลิ้ง สุขะปุณณพันธ์, พระรัตนกวี (เกตุ แสงหิรัญ), ส.ย่องหลี ดอนธูป, จ.ศรีอักขรกุล, พุธ เพชรรัตน์. เช้า ชูดำ, วิเวกน้อย ชัยภูมิ, เจียม มณีรัตน์, สะมะแอ วงศ์สอาด, จิ เส็มหมาด, เจื้อน ชูสกุล, หนูแก้ว นครจันทร์, ชาญ ไชยจันทร์, พาสน์ พลชัย, หนูฟอง จันทภาโส, ชอบ หัทยานนท์, พร้อม รักษ์กาญจน์, พร้อม วรรณบวร, สีนวล มากนวล, จู จันทร์แก้ว และอำนวย ประพันธ์บัณฑิต  ขณะเดียวกันก็มีนักปราชญ์ พระสงฆ์ และปัญญาชนชาวบ้านรื้อฟื้นผลงานวรรณกรรมตัวเขียนใน "หนังสือบุด" หรือสมุดข่อยประเภทวรรณกรรมประโลมโลกหรือวรรณกรรมจักรๆ วงศ์ๆ นิทานสุภาษิต วรรณกรรมนิราศ และวรรณกรรมตำนาน ขึ้นมาจัดพิมพ์จำหน่าย ยังผลให้วรรณกรรมภาคใต้ในช่วงก่อนทศวรรษที่ 2520 มีจำนวนมากและหลากหลายประเภทเป็นอย่างมาก โดยผู้ที่มีบทบาทเชื่อประสานระหว่างวรรณกรรมเก่าๆ ในสมุดข่อยดังกล่าว ก็เช่น เทพ บุณยประสาท อดีตครูใหญ่โรงเรียนพัทลุง และสนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ ชาวอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งคนหลังต่อมาได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญเป็นผู้ร่วมก่อตั้งชมรมนักกลอนซึ่งพัฒนาไปเป็นสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย และมีบทบาทในการสร้างสรรค์วงการกวีนิพนธ์สมัยใหม่ในกรุงเทพฯในช่วงทศวรรษที่ 2510

ผลงานวรรณกรรมของนักเขียนในท้องถิ่นเหล่านี้ในยุคเริ่มต้นของเทคโนโลยีการพิมพ์หรือราวทศวรรษที่ 2470 แม้จะยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นที่นิยมของนักอ่านในท้องถิ่นได้เท่ากับหนังสือจากโรงพิมพ์วัดเกาะ แต่เมื่อล่วงเข้าสู่ปลายทศวรรษที่ 2480 เป็นต้นมา นักเขียนท้องถิ่นก็สามารถประกาศตนต่อผู้อ่านของพวกเขาได้อย่างเต็มภาคภูมิ ทั้งนี้อาจพิจารณาได้จากสถิติการพิมพ์จำหน่ายของวรรณกรรมในช่วงทศวรรษที่ 2480-2500 ที่มียอดพิมพ์ค่อนข้างสูง คือพิมพ์จำนวน 1,000-3,000 เล่มเป็นพื้นฐาน วรรณกรรมบางเรื่องพิมพ์มากกว่าหนึ่งครั้ง เช่น กลิ่นกรอบแก้ว ของ เสือ ชำนาญภักดี ที่ตอนที่ 1-2 พิมพ์ซ้ำถึง 3 ครั้ง บางตอนพิมพ์ 2 ครั้ง   ในปี พ.ศ.2500 นิยายหนังตะลุงของแดง สุวรรณบัณฑิต เรื่อง แก้วผรอด พิมพ์ถึง 4 ครั้ง โดยครั้งที่สี่ ยอดพิมพ์สูงถึง 2,000 เล่ม   หรือเรื่องภาษิตพาเสือก ของทอง นวลศรี พิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2496 ยอดสูงถึง 6,000 เล่ม ยอดพิมพ์ที่สูงมากเช่นนี้น่าอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก เพราะตลาดของวรรณกรรมเหล่านี้จำกัดอยู่เฉพาะในภาคใต้เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าในภาคใต้ได้เกิดการขยายตัวของผู้อ่านออกเขียนได้กว้างขวางขึ้นแล้ว  ขณะเดียวกันในช่วงต้นทศวรรษที่ 2510 นักเขียนบางคน เช่น จ.ศรีอักขรกุล ก็ยังได้รับความสนใจจากโรงพิมพ์วัดเกาะ ขอซื้อลิขสิทธิ์นิยายคำกลอนของเขาไปตีพิมพ์จำหน่ายในกรุงเทพฯและปริมณฑลอีกด้วย

ความเฟื่องฟูของวรรณกรรมภาคใต้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2480-2510 ดังกล่าวนี้ ดำเนินไปบนความเข้มแข็งของมหรสพพื้นบ้านอย่างหนังตะลุง ซึ่งเป็น "ศิลปะของการเล่าเรื่อง" อีกแขนงหนึ่งที่ดำรงอยู่ในวิถีวัฒนธรรมของชาวภาคใต้มาตั้งแต่โบราณกาล ด้วยเหตุนี้ ในช่วงทศวรรษที่ 2490 เราจึงได้เห็นว่านักเขียนอาชีพส่วนหนึ่งหันมาให้ความสนใจในการแต่ง "นิยายหนังตะลุง" ขณะเดียวกัน ด้วยตลาดการอ่านที่กว้างขึ้นนักเขียนเหล่านี้ก็พยายามดัดแปลงเอาศิลปะการเล่าเรื่องในหนังตะลุงมาใช้ในการเขียนด้วย ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือการสอดแทรก "บทเจรจา" หรือที่ในวรรณกรรมสมัยใหม่เรียกว่า "บทสนทนา" (dialogue) และ "บทรำพึงรำพัน" หรือ "บทพูดเดี่ยว" (monologue) ที่เป็นร้อยแก้วเข้ามาในเรื่องที่เป็นร้อยกรอง

การเกิดขึ้นของนิยายหนังตะลุงบนแผงหนังสือของภาคใต้ในห้วงเวลานี้ ดูเหมือนจะตอบคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "วรรณกรรม" กับ "หนังตะลุง" ได้ 2 ประการด้วยกัน ประการแรกก็คือ ความนิยมต่อศิลปะการแสดงหนังตะลุงในหมู่ชาวบ้านภาคใต้ซึ่งขณะนั้นได้รับการศึกษาสมัยใหม่มากขึ้นทำให้นักเขียนต้องปรับเปลี่ยนศิลปะการนำเสนอในนิยายคำกลอนดั้งเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับความนิยม ประการต่อมา ความนิยมต่อนิยายหนังตะลุงเหล่านี้ ทำให้นายหนังตะลุงส่วนหนึ่ง ผละจากนิยายจักรๆ วงศ์ๆ เก่าๆ ที่เคยเล่น (เช่น รามเกียรติ์) หันมาสนใจนิยายหนังตะลุงที่แต่งขึ้นใหม่และนำไปใช้ในการแสดง ผลจากการนี้ก็ได้ส่งย้อนกลับไปให้หนังสือนิยายเรื่องที่ถูกนำไปแสดงหนังตะลุงแพร่กระจายออกไปกว้างขวางมากขึ้นด้วย ลักษณะเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่แตกต่างจากความสัมพันธ์ระหว่าง "นวนิยายร้อยตอนจบ" กับ "ละครหลังข่าว" ในปัจจุบันแต่อย่างใด   

<strong>นักเขียน/กวีรุ่นทศวรรษที่ 2500: สะพานเชื่อมภาคใต้กับภาคกลาง</strong>
ในช่วงทศวรรษที่ 2500-2510 พร้อมๆ กับความนิยมต่อนิยายหนังตะลุง และวรรณกรรมร้อยกรองเบ็ดเตล็ดขนาดยาวของนักเขียน/กวีท้องถิ่นในตลาดวรรณกรรมท้องถิ่น กระแสของร้อยกรองสมัยใหม่ ที่มีลักษณะสั้นๆ สะท้อนความสำนึกคิดของนักเขียน/กวีต่อปัญหาสังคม และเหตุการณ์บ้านเมืองในแบบของกวีนิพนธ์ในยุคปัจจุบันก็เกิดขึ้นในภาคใต้เช่นเดียวกัน กระแสดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในหมู่ของชาวภาคใต้รุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเป็นนักศึกษาวิชาชีพครู หรือไม่ก็ประกอบอาชีพเป็นครูประชาบาล มีบ้างที่เป็นพ่อค้า และพระสงฆ์ กระแสนี้น่าจะได้รับอิทธิพลจากชมรมนักกลอน ชมรมวรรณศิลป์ในมหาวิทยาลัยส่วนกลาง ตลอดจนการแข่งขันกลอนสดตามมหาวิทยาลัยและสถานีโทรทัศน์ในกรุงเทพมหานครด้วย เช่น

จังหวัดนครศรีธรรมราช  ตรึก พฤกษะศรี ประธานคนแรกของชมรมกลอน "นครศรีกวีศิลป์" เอื้อม อุบลพันธุ์ หรือวลี วิลาส (อดีตสมาชิกสภาผู้แทนพรรคกิจสังคม), แหลม ตะลุมพุก, จำรูญ วิชัยรณรงค์, เสาร์วัน จะนู, เทพชัย ไพบูลย์ และเรวัตร พันธ์พิทย์แพทย์ เป็นต้น จังหวัดสงขลา ปกรณ์ (เปลื้อง) เนตรชวลิตร หรือ ป.เนตรชวลิต, วันเนาว์ (บูรณธรรม) ยูเด็น และ คำรบ นนทสุวรรณ

จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดโช บุญชูช่วย, อาจิณ จันทรัมพร เตือนใจ บัวคลี่

จังหวัดปัตตานี ประมูล อุทัยพันธุ์ และเสน่ห์ วงษ์กำแหง

จังหวัดยะลา ชำนาญ อำไพ, ชาตรี สำราญ และนพดล ทัศวา

จังหวัดตรัง มะเนาะ ยูเด็น, ประพนธ์ เรืองณรงค์, ประวิทย์ ไชยกุล และศิริวรรณ ชลธาร

จังหวัดพัทลุง เปี่ยม พรหมานพ และสุมิตรา เนตรเชาวลิต

จังหวัดระนอง มโน รัตนพันธ์

นักกลอนเหล่านี้ นอกจากจะเรียนรู้วัฒนธรรมร้อยกรองสมัยใหม่ผ่านระบบการศึกษาแล้ว สื่อหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่หลั่งไหลจากกรุงเทพฯเข้าสู่ภาคใต้  ยังเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้พวกเขาได้รู้จักกับแวดวงวรรณกรรมในวงกว้าง ซึ่งต่อมาพวกเขาก็ใช้สื่อเหล่านี้นี่เองเป็นสะพานเชื่อมระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง โดยการส่งผลงานลงไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารเหล่านั้น ทำให้เนื้อหาและรูปแบบของวรรณกรรมท้องถิ่นได้เป็นที่รับรู้ของผู้อ่านที่กว้างออกไปแทนที่จะจำกัดอยู่เพียงผู้อ่านในภูมิภาค ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนในท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นในหลายจังหวัด เช่น เสียงราษฎร์ ของนครศรีธรรมราช ก็เป็นพื้นที่สำคัญอีกพื้นที่หนึ่งที่ทำให้นักกลอนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นเหล่านี้ยังคงสืบทอดวัฒนธรรมร้อยกรองของท้องถิ่นไว้ได้อย่างมั่นคง ในผลงานของนักเขียนเหล่านี้ วัฒนธรรมวรรณกรรมและศิลปะการแสดงท้องถิ่นอย่างหนังตะลุงยังคงได้รับการสืบทอดสานต่อ เช่น การเรียก "คำนำ" ในหนังสือรวมงานเขียนว่า "ปรายหน้าบท" หรือการประยุกต์กลอนหนังตะลุงและมโนราห์นำเสนอเนื้อหาอันเป็นปัญหาและบรรยากาศสังคมภาคใต้ร่วมสมัย

ความเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่เริ่มมองเห็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างวงการวรรณกรรมในส่วนกลางกับวงการวรรณกรรมในภาคใต้มากกว่าในยุคก่อนๆ อันถือเป็นความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่าง "ยอมรับ" ตัวตนของอีกฝ่ายมากยิ่งขึ้น มากกว่าความสัมพันธ์ในลักษณะของการส่งถ่าย "อิทธิพล" จากส่วนกลางแต่เพียงฝ่ายเดียว

จนกระทั่งทศวรรษที่ 2510 เราก็ได้พบว่านักเขียน/กวีชาวภาคใต้ได้ก้าวขึ้นไปมีบทบาทในฐานะบรรณาธิการคัดสรรร้อยกรอง และเป็นนักหนังสือพิมพ์ในส่วนกลางหลายต่อหลายคน เช่น สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ (หนังสือพิมพ์แสนสุข), ฐะปะนีย์ นาครทรรพ หรือ "ฐิติมา" (หนังสือพิมพ์ชัยพฤกษ์), ประพนธ์ เรืองณรงค์ (นิตสารวิทยาสาร), ภิญโญ ศรีจำลอง, สุวิทย์ สารวัตร, กรองแก้ว เจริญสุข, อุ่นจิต บุญสมบัติ (บุศบา ท่าพระจันทร์) เป็นต้น

"ภาคใต้" ในวรรณกรรมของนักเขียนชาวใต้รุ่นก่อนทศวรรษที่ 2520 ในผลงานของนักเขียนท้องถิ่นรุ่นทศวรรษที่ 2470-2490 ภาพลักษณ์ของภาคใต้ที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมของนักเขียนเหล่านี้ คือดินแดนที่เต็มไปด้วยมรดกทางศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม ตลอดจนตำนานท้องถิ่นอันน่าภาคภูมิใจ ขณะเดียวกัน ประเด็นปัญหาร่วมสมัยของชุมชน ตลอดจนปัญหาของกวีในฐานะปัจเจกชนก็เป็นเนื้อหาสำคัญที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมยุคนี้ สภาพท้องถิ่นอันมีปัญหาที่แตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่นๆ ทำให้รูปแบบของวรรณกรรมถูกประยุกต์ให้มีความแตกต่างไปจากลักษณะของวรรณกรรมรูปแบบเดียวกันในภาคกลาง เช่นวรรณกรรมนิราศซึ่งเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งที่นักเขียนแทบทุกคนให้ความสนใจ ในห้วงเวลาระหว่างทศวรรษที่ 2470-2490 ได้ถูกปรับเปลี่ยนความหมายที่อาจสรุปได้เป็น 4 ลักษณะด้วยกัน คือ

1) นิราศเป็นรูปแบบวรรณกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างความหมายแบบดั้งเดิมที่มุ่งสะท้อนอารมณ์ภายหลังการจากพรากคนรักกับความหมายใหม่ กล่าวคือให้น้ำหนักของการอาลัยหญิงคนรักและอาลัยสถานที่จากในระดับที่ใกล้เคียงกัน  บางเรื่องก็อาลัยหญิงคนรักมากกว่า  แต่บางเรื่องให้ความสำคัญกับประสบการณ์มากกว่าจนทำให้ผู้อ่านรู้สึกได้ว่าหญิงคนรักที่ปรากฏในท้องเรื่องนั้นไม่มีอยู่จริง  กวีเพียงแต่ต้องการรักษาขนบนิราศไว้เท่านั้น  นิราศในลักษณะความหมายนี้ เช่น จินตนาจาริก ของเพียร นะมาตร์,  นิราศไปจังหวัดตรัง ของคลิ้ง สุขขะปุณณะพันธ์,  นิราศกลางทะเลหลวง ของดำขำ ชาวบก, นิราศสงขลา และนิราศเมืองนครศรีธรรมราช ของ จ.ศรีอักขรกุล,  รสชีวิต ของวิเวกน้อย ชัยภูมิ,  นิราศวัดถ้ำ ของ เช้า ชูดำ  และ นิราศปีนัง ของตรึก พฤกษะศรี

2) นิราศคือรูปแบบวรรณกรรมที่ใช้บันทึกการเดินทาง  การให้ความหมายลักษณะนี้กวีตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อเป็นบันทึกหรือหมายเหตุการณ์เดินทางโดยไม่มีการแสดงความรู้สึกโหยหาคนรักหรือสถานที่จากเลย เช่น นิราศปานบอด  ของปาน ชีช้าง,  นิราศเกาะใหญ่ ของสีนวล มากนวล , นิราศท่าแค ของสว่าง พงศ์สุชาติ,  สุไหงปาดีคำกลอน ของพระภัทรธรรมธาดา,  นิราศพระบรมธาตุยอดทอง ของพุธ เพชรรัตน์

3) นิราศคือรูปแบบวรรณกรรมที่ใช้บันทึกถึงช่วงสำคัญหรือช่วงวิกฤติของชีวิตกวีและชุมชน  นิราศในความหมายนี้ถือเป็นลักษณะเด่นของนิราศภาคใต้  บางเรื่องกวีไม่ได้ตั้งชื่อเป็นนิราศ  แต่กลุ่มผู้อ่าน (ทั้งอ่านจากหนังสือและอ่านโดยผ่านช่องทางแบบมุขปาฐะ) นิยมเรียกกันติดปากว่า 'นิราศ'  บางเรื่องมีลักษณะเหลื่อมซ้อนกับลักษณะนิราศที่เขียนขึ้นภายใต้ความหมายอื่นๆ ดังข้างต้น แต่โดยแก่นของเรื่องเป็นการบันทึกถึงช่วงชีวิตที่สำคัญของกวีไว้ด้วย  เช่นนิราศรับพัชนิ์ ของพระครูวิจารณ์ศีลคุณ, นิราศอดข้าวอดน้ำ ของแดง นักปราชญ์ (สุวรรณบัณฑิต),  นิราศข้าวแห้งนาล่ม ของทอง หนองถ้วย (นวลศรี),  อัตตประวัติคำโคลง ของพระมหาเปลี่ยน  นิราศนายชิต ของ นายชิต  นิราศพ่อหม้าย ของชัย จันรอดภัย,  นิราศประวัติรับราชการ ของนายสว่าง พงศ์สุชาติ,  เรื่องชีวิตทหารประวัติการณ์ อ.ส. ของห้วน จันรอดภัย

4) นิราศคือรูปแบบของวรรณกรรมเรื่องเล่า ลักษณะคล้ายนิยาย ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งก็ได้  บางเรื่องผู้แต่งไม่ได้ตั้งชื่อว่าเป็นนิราศ แต่ผู้เสพเรียกติดปากว่านิราศ  นิราศลักษณะนี้มี 2 เรื่อง คือนิราศเร่ขาย หรือเที่ยวชมงานรัฐธรรมนูญ ของจิตตภิรมย์  และอัศจรรย์ชาวนาสิบสองเดือน ของ ส.ย่องหลี ดอนธูป  ส่วนอีกลักษณะหนึ่งคือนิราศที่มุ่งจะเล่าตำนานหรือสภาพของชุมชนหรือสถานที่สำคัญๆ โดยไม่มีการเดินทางจริงๆ  เช่น นิราศพระบรมธาตุ ของ ส.ย่องหลี ดอนธูป, นิราศเกาะใหญ่ นิราศนางเรียม และนิราศเกาะยอ ของฉิ้ว ทิพย์วารี

จะเห็นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงของขนบวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ดังกล่าวนี้ ไม่อาจแยกขาดได้จากเนื้อหาที่นักเขียนหรือกวีต้องการสะท้อน การเลือกรูปแบบนิราศมาสร้างสรรค์วรรณกรรมของกวีท้องถิ่นภาคใต้สอดรับกับวัฒนธรรมในภาคใต้ที่ระบบเครือญาติยังแน่นเหนียว มีการเดินทางไปมาหาสู่  เคลื่อนย้ายอพยพ และแลกเปลี่ยนผลผลิตกันอยู่สม่ำเสมอ  ขณะที่มรดกทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจก็กลายเป็นขุมทรัพย์หรือต้นทุนทางวรรณกรรมอันทรงค่าของนักเขียนและกวีในยุคนี้อีกด้วย

ในช่วงทศวรรษที่ 2500-2510 ซึ่งเกิดนักเขียนและกวีท้องถิ่นรุ่นใหม่ๆ ที่เติบโตขึ้นมาจากระบบการศึกษาสมัยใหม่ แม้ว่ารูปแบบวรรณกรรมร้อยกรองจะเปลี่ยนแปลงไปจากนิยายคำกลอน และนิราศคำกลอนขนาดยาวมาเป็นร้อยกรองขนาดสั้นๆ ตามกระแสความนิยมในภาคกลาง แต่เนื้อหาที่กวีรุ่นนี้สะท้อนยังคงเป็นภาคใต้ที่เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม ขณะที่เนื้อหาเกี่ยวกับวิกฤติของสังคมท้องถิ่นก็โดดเด่นขึ้นมาเป็นเนื้อหาหลัก วิกฤติของปัจเจกชนเริ่มลดน้อยถอยลง

นักเขียนใต้ในวัฒนธรรมวรรณกรรมร้อยแก้ว ในกระแสของความนิยมวรรณกรรมร้อยกรองของชาวภาคใต้ดังที่กล่าวมานั้น ในส่วนของวรรณกรรมร้อยแก้วสมัยใหม่ซึ่งพัฒนาอย่างรวดเร็วอยู่ในกรุงเทพมหานครนั้น นักเขียนและกวีชาวใต้ก็มีบทบาทอยู่ไม่น้อยเช่นกัน อย่างไรก็ดี นักเขียนร้อยแก้วเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นกลุ่มคนท้องถิ่นที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ และจากบ้านเกิดเมืองนอนเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ ได้รับการศึกษา และประกอบอาชีพอยู่ในกรุงเทพฯ นักเขียนกลุ่มนี้โดดเด่นขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 2480 เป็นต้นมา เช่น เทพ มหาเปารยะ (เมษายน 2447-ธันวาคม 2485) นักเขียนท่านนี้แม้จะมีเชื้อสายขุนนางกระทรวงมหาดไทย แต่อาศัยที่ท่านเกิดและเติบโตในภาคใต้ทั้งแถบบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา และแถมทะเลอันดามันทำให้เขาสามารถนำเสนอสีสันของท้องถิ่นใต้ได้อย่างน่าประทับใจ ผลงานที่โดดเด่นคือเรื่องสั้น "จำปูน" (2485) ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษตีพิมพ์ใน The asian magazine และได้รวมอยู่ในรวมเรื่องสั้นไทยภาคภาษาอังกฤษที่จัดพิมพ์โดยสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ผลงานที่โดดเด่นอีกเรื่องหนึ่งของเทพ มหาเปารยะ คือสารคดีเรื่อง "ดงจระเข้" ที่เปรียบเสมือนบทบันทึกภาพสังคมริมน้ำในบริเวณลุ่มแม่น้ำปากพนังที่เปี่ยมเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของภาคใต้ ในการเขียนเรื่องนี้ เทพ ไม่ลังเลเลยที่จะใช้ภาษาถิ่นเมื่อต้องการถ่ายทอดคำพูดและความหมายของคนท้องถิ่น ทำให้ "ดงจระเข้" เป็นงานเขียนที่สามารถถ่ายความเป็นภาคใต้ออกมาได้อย่างหมดจดไม่แพ้เรื่อง "จำปูน" ซึ่งสะท้อนปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางด้านวัฒนธรรมระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเข้ามามีบทบาททางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจอยู่ในภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน

"พนมเทียน" หรือฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ นักเขียนชาวจังหวัดปัตตานีก็เป็นนักเขียนชาวใต้อีกคนที่โดดเด่นด้วยการยอมรับจากนักอ่านทั่วประเทศ งานเขียนของเขาบางเรื่องสะท้อนภาพภาคใต้ในบริเวณดินแดนชายขอบ เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะไม่กล่าวถึงประเด็นปัญหาสังคมท้องถิ่นเหมือนกับนักเขียนภาคใต้โดยทั่วไป แต่นวนิยายของ "พนมเทียน" ก็สะท้อนถึงช่องว่างของอำนาจรัฐเหนือดินแดนชายขอบในยุคที่วาทกรรมการพัฒนากำลังแพร่สะพัด ยังผลให้ศูนย์อำนาจอื่นๆ พยายามเข้ามามีบทบาท หรือไม่ก็ใช่เป็นแหล่งปฏิบัติทางสงครามและการเมืองระหว่างประเทศ

นักเขียนร้อยแก้วคนอื่นๆ ที่โดดเด่นในห้วงเวลานี้ก็เช่น "อิงอร" หรือ ศักดิ์เกษม หุตาคม ชาวจังหวัดสงขลา ผู้ได้รับฉายา "นักเขียนปลายปากกาจุ่มน้ำผึ้ง" เจ้าของผลงานที่สะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณของหญิงชาวใต้ไว้ในเรื่อง ดรรชนีนาง, "รพีพร" หรือสุวัฒน์ วรดิลก สะท้อนภาพภาคใต้ตอนบนไว้ในเรื่องสั้น "เงามะพร้าวที่นาชะอัง" เป็นต้น

เช่นเดียวกับแวดวงร้อยกรองซึ่งในทศวรรษที่ 2510 เกิดกวีรุ่นใหม่ๆ ที่เขียนร้อยกรองสั้นๆ ตามกระแสของกวีนิพนธ์สมัยใหม่ แต่สอดใส่เนื้อหาที่เป็นสีสันและปัญหาของสังคมท้องถิ่น ในแวดวงร้อยแก้ว นักเขียนรุ่นใหม่ซึ่งเกิด เติบโต และประกอบอาชีพอยู่ในภาคใต้ก็ได้สร้างผลงานเรื่องสั้นสะท้อนภาพท้องถิ่นออกมาอย่างเป็นจริงเป็นจังเช่นกัน ชุมชนชายขอบที่ปรากฏเป็นเพียง "ฉาก""หนึ่งในงานเขียนของ "พนมเทียน" ได้กลายมาเป็น "เนื้อหา" ในผลงานของนักเขียนรุ่นนี้ เช่น มกุฏ อรฤดี, นัน บางนรา, ประพนธ์ เรืองณรงค์, ทวีวัฒน์ โกไศยกานนท์, สุชาติ และชาตรี สำราญ, สมศักดิ์ สุวพิชญ์ภูมิ, ชำนาญ อำไพ, ชิต จิตเที่ยง และสุจินต์ พรหมยก เป็นต้น  นักเขียนเหล่านี้นำเสนอภาพความทุกข์ร้อนของประชาชนชาวภาคใต้ในฐานะปัจเจกบุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากช่องโหว่ของอำนาจรัฐส่วนกลางบนพื้นที่ชายขอบ

สังคมการเมืองกับความเคลื่อนไหวแวดวงวรรณกรรมท้องถิ่น จุดเปลี่ยนของวงการเรื่องสั้นไทยจุดสำคัญที่ประวัติวรรณกรรมไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะพรรณนาได้ก็คือการขยายตัวและความเปลี่ยนแปลงของวงการและการเขียนเรื่องสั้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 2520 เพราะในห้วงเวลานี้เกิดปรากฏการณ์ใหญ่ๆ ในวงการวรรณกรรมไทยที่ควรบันทึกไว้อย่างน้อย 3 ประการด้วยกัน

ประการที่ 1 อำนาจเผด็จการต้นเหตุแห่งการเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สิ้นสุดลงด้วยการรัฐประหารและการก้าวขึ้นสู่อำนาจของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์  (วันที่ 20 ตุลาคม 2520) ยังผลให้บรรยากาศทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลงไปบ้าง มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง การนิรโทษกรรมผู้ต้องหา 6 ตุลาคม 2519 และมีการเลือกตั้งทั่วไป นักคิดนักเขียนแนวเพื่อชีวิตที่ไม่อาจสร้างผลงานได้ในช่วง 6 ตุลาคมก็กลับมาสร้างสรรค์ผลงานในแนวเพื่อชีวิตซึ่งเคยเป็นกระแสที่เฟื่องฟูในช่วง 14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519 อีกครั้ง เรื่องสั้นยังเป็นประเภทงานวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมจากนักเขียนและนักอ่านยังผลให้วงการเรื่องสั้นคึกคักเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันนักเขียนที่มีโลกทัศน์แบบเพื่อชีวิตบางส่วนก็เริ่มปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ไปสู่โลกทัศน์แบบมนุษยนิยม สะท้อนปัญหาของมนุษย์และสังคมโดยมุ่งสร้างอารมณ์สะเทือนใจให้แก่ผู้อ่านมากขึ้น เพื่อลบข้อครหาที่ว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตในช่วงก่อนหน้านั้นกำลังจะกลายเป็น "วรรณกรรมน้ำเน่าเพื่อชีวิต" เพราะแนวเรื่องและรูปแบบการเขียนที่ซ้ำซาก นักเขียนเหล่านี้เช่น วัฒน์ วรรลยางกูร,  คมทวน คันธนู,  พนม นันทพฤกษ์,  พิบูลศักดิ์ ละครพล เป็นต้น

ประการที่ 2 เกิดนักเขียนเรื่องสั้นรุ่นใหม่ขึ้นมาในวงการวรรณกรรมไทยหลายคน เช่น "เหลืองฝ้ายคำ", เบญจาภา อมรพงศ์,  คมสัน พงษ์สุธรรม,  อัศศิริ ธรรมโชติ,  สำราญ รอดเพชร,  มาลา คำจันทร์,  ชาติ กอบจิตติ,  จำลอง ฝั่งชลจิตร,  ปรีชาพล บุญช่วย และประมวล มณีโรจน์ เป็นต้น นักเขียนรุ่นใหม่เหล่านี้นี่เองที่เราอาจเรียกได้ว่าเป็น "รุ่นหัวเลี้ยวหัวต่อ" ของต้นทศวรรษที่ 2520 ที่ทำให้กระแสของเรื่องสั้นเปลี่ยนแปลงจากกระแสของเพื่อชีวิตเข้มข้น ไปสู่กระแสเพื่อชีวิตแบบมนุษยธรรมอันเป็นรากเหง้าของ "วรรณกรรมสร้างสรรค์" ในปัจจุบัน

ประการที่ 3 หลังจากกลุ่มนักเขียนเรื่องสั้นรุ่นใหม่ดังกล่าวข้างต้นสร้างผลงานจนได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2520 จนถึงกลางทศวรรษที่ 2520 แล้ว เมื่อนักเขียนกลุ่มนี้ผสานบทบาทเข้ากับนักเขียนแนวเพื่อชีวิตที่ปรับเปลี่ยนแนวการเขียนมาสู่กระแสเพื่อชีวิตแบบมนุษยธรรมด้วยแล้ว ยังผลให้วงการวรรณกรรมไทยคึกคักเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากการเกิดรางวัลทางวรรณกรรมขึ้นในหลายระดับ เช่น รางวัลวรรณกรรมยกย่อง สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (เกิดขึ้นปี พ.ศ.2520) รางวัลช่อการะเกด (เกิดขึ้นปี 2521) รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) (เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2522) และรางวัลการประกวดเรื่องสั้นของนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น เดลิไทม์ สตรีสาร และแมน เป็นต้น

กระแสของความคึกคักเหล่านี้ก่อให้เกิดคลื่นนักเขียนลูกใหม่ๆ กระจายออกไปทั่วประเทศในนามของกลุ่มนักเขียนตามภูมิภาคต่างๆ เช่น กลุ่มกาแล ทางภาคเหนือ  กลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล ทางภาคอีสาน  กลุ่มสานแสงทอง กลุ่มดอกไม้ฯลฯ ซึ่งภายหลังรวมตัวกันเป็นกลุ่มนาคร ทางภาคใต้ ตลอดจนกลุ่มชมรมวรรณศิลป์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เช่น รามคำแหง ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ขอนแก่น สงขลานครินทร์ ปัตตานี ศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน เชียงใหม่ เป็นต้น กระทั่งมีการรวมตัวกันของชมรมวรรณศิลป์ 10 สถาบัน จัดตั้งรางวัลทางวรรณกรรมขึ้นมาในช่วงกลางทศวรรษที่ 2520 โดยได้รับการสนับสนุนอย่างใกล้ชิดจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

ความเคลื่อนเปลี่ยนเหล่านี้ โดยเฉพาะในประการที่ 3 นั้นถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหม่ภายหลังจากที่ "กลุ่มทางวรรณกรรม" ซึ่งเคยเป็นปึกแผ่นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 เช่นกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว, กลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวย และ กลุ่ม 7 สถาบัน ต้องแตกสลายลงชั่วคราวเนื่องจากความกดดันจากสถานการณ์ทางการเมือง สภาพการเมืองที่ "เปิด" มากขึ้นของต้นทศวรรษที่ 2520 ไม่เพียงแต่ทำให้กลุ่มวรรณกรรมในทศวรรษที่ 2500 บางกลุ่มพยายามกลับมารวมตัวกันใหม่เท่านั้น (เช่นกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว ที่สมาชิกบางคนดำริที่จะกลับมารวมตัวกันใหม่เมื่อปี 2526 แต่ก็ไม่สำเร็จ) แต่ยังทำให้กลุ่มวรรณกรรมในท้องถิ่นต่างๆ แทบทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทยเรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์ผลงานทางวรรณกรรมร่วมกันอย่างมีเป้าหมายต่อท้องถิ่น ซึ่งการรวมตัวเหล่านี้ก็ยังผลให้พัฒนาการของเรื่องสั้นในทศวรรษนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นักเขียนรุ่นใหม่สร้างสรรค์เนื้อหาวรรณกรรมแนวสะท้อนปัญหาชนบทที่ให้ความสำคัญกับคุณสมบัติด้านวรรณศิลป์มากขึ้นกว่าเรื่องสั้นสะท้อนปัญหาชนบทแบบเพื่อชีวิต แม้ว่าโดยแกนของเรื่องแล้ว เรื่องสั้นส่วนใหญ่ยังตั้งอยู่บนคู่ขัดแย้งระหว่างผู้ถูกกดขี่กับผู้กดขี่อยู่เช่นเดิมก็ตาม

กลุ่มวรรณกรรมในภาคใต้ในห้วงเวลานี้มีอยู่หลายกลุ่ม แต่ความโดดเด่นยังมีไม่มากนัก จนกระทั่งกลุ่มอันหลากหลายเหล่านี้ได้รวมตัวกันขึ้นมาในนามกลุ่มนาคร เมื่อปี พ.ศ.2526

กลุ่มนาคร: กำเนิด และพัฒนาการ "นาคร" เป็นกลุ่มนักเขียนชาวภาคใต้ที่เกิดขึ้นภายใต้การรวมตัวของกลุ่มวรรณกรรมกลุ่มย่อยๆ ในภาคใต้เมื่อปี พ.ศ.2525 เช่น กลุ่มประภาคาร (สงขลา) กลุ่มสานแสงทอง (พัทลุง) กลุ่มประกายพรึก (พัทลุง) ชมรมดอกไม้ (นครศรีธรรมราช) กลุ่มคลื่นทะเลใต้ (สุราษฎร์ธานี)

การที่ประกอบขึ้นด้วยกลุ่มย่อยๆ เหล่านี้ทำให้กลุ่มนาครเป็นการรวมกลุ่มที่ค่อนข้างผิดแผกแตกต่างไปจากการรวมกลุ่มทางวรรณกรรมทั่วๆ ไป กล่าวคือ มีสมาชิกเป็นจำนวนมาก (ราว 50 คน) และไม่มีการ "จัดตั้ง" องค์กรให้เป็นองค์กรที่เป็นทางการ ไม่มีประธานกลุ่มตัวหลัก แต่จะมีเฉพาะประธาน (ในนาม) ของกลุ่มย่อยๆ จึงไม่มีใครขึ้นต่อใคร ระบบการจัดการความสัมพันธ์เป็นไปตามระบบอาวุโส ทั้งด้านอายุและการสร้างสรรค์ผลงาน (เขียนงานมาก่อน มาก-น้อย) การเป็นสมาชิกกลุ่มของคนใหม่ๆ จึงไม่มีการสมัคร แต่อยู่ที่ความถี่ของความสัมพันธ์หรือการพบปะกัน<br />

อย่างไรก็ดี เอกลักษณ์นี้นี่เองที่ทำให้กลุ่มนาครมีปัญหาตั้งแต่เริ่มแรก โดยเฉพาะปัญหา

Comment #1
อยากได้ความรุ
Posted @June,06 2008 17.32 ip : 58...247

สงสารอะค่ะเลยโพสให้ เห็นเงียบเหลือเกิน อิอิ

Comment #2
อยากจีบคนนั้นอะ
Posted @June,06 2008 17.32 ip : 58...247

สวัสดีครับ คนที่โพสข้างบนอ่ะ จีบได้มั้ยอ่ะ ขอเบอร์หน่อยจิคร้าบ ชื่อรายหรอ ผมแม็ก นะ

Comment #3
อยากได้ความรุ
Posted @June,06 2008 17.33 ip : 58...247

ง่ะ ขอกันง่ายๆงี้เลยหยอคะ อิอิ เอา E-mail มาก่อนจิ ^^

Comment #4
อยากจีบคนนั้นอะ
Posted @June,06 2008 17.35 ip : 58...247

อิอิ คิดว่าผมไม่ให้หยอ chirapongchai@hotmail.com แอดมาด้วยละกัน รักนะจุ๊บ จุ๊บ :p

Comment #5
อยากได้ความรุ
Posted @June,06 2008 17.36 ip : 58...247

จ้าๆ แอดจ้า รับด้วยละกัน อิอิ ไปคุยใน m จ้า รักเหมือนน้า จ๊วบๆ

Comment #6
อยากจีบคนนั้นอะ
Posted @June,06 2008 17.37 ip : 58...247

(จีบสำเร็จโว้ย) อิอิ ไม่ต้องกลัวนะครับ ผมจิงจัง จิงจัย ชายแท้ 100% ว่างๆนัดเจอเลยก็ได้นะครับ ^^

Comment #7
ปฏิวัติ ประพันธ์บัณฑ
Posted @May,03 2009 19.01 ip : 125...179

แดงประพันธ์บัณฑิต ทวดผมครับ

Comment #8
นานา
Posted @February,04 2010 20.30 ip : 122...120

นักเขียนภาคใต้ไม่ค่อยมีนะ ทั้งที่เรื่องราวที่เกี่ยวกับวรรณกรรมท้องถิ่นของใต้ หรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับท้องถิ่นใต้น่าสนใจมากมาย

Comment #9
เด็กปาก'นัง
Posted @November,05 2010 18.51 ip : 119...66

ขอบคุณมากๆๆ :d

Comment #10นักกลอน เมืองตัง เพิ่มเติม
บุญครอง คันธฐากูร
Posted @August,13 2011 08.34 ip : 125...23

เสียชีวิต สนธิกาญจน์  กาญจนาาสน์ สุวิทย์  สารวัตร เสถียร  วีรวรรณ ช. สัจจวจี

มีชีวิต บุญครอง  คันธฐากูร    (นิราศหาดเจ้าไหม  นักกลอนอาวุโสและเป้นที่ปรึกษาสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย  กลุ่มนักกลอนร่วมสมัย บอกสักวา ประจำปี หอสมึดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร) อาจารย์สมมมาศ  พุฒนวล อาจารย์อบล  เพชรหนู ฯลฯ

แสดงความคิดเห็น

« 0958
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ