บทความ

รวมเรื่องสั้นลูกโซ่ เมืองสมมติ

by Pookun @August,30 2010 19.13 ( IP : 222...174 ) | Tags : บทความ
photo  , 540x720 pixel , 89,284 bytes.

ชาคริต โภชะเรือง

สำนักพิมพ์ ก๊วนปาร์ตี้

สายส่งเคล็ดไทย


ปีนี้ผมออกรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ ชื่อเล่ม เมืองสมมติ ครับ

เว้นวรรคจากเล่มแรก : กาหลอ เกือบสิบปี ช่วงระหว่างเว้นวรรคไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ทำงานนะครับ ยังเขียนงานสม่ำเสมอ เฉลี่ยปีละ 2-3 เรื่อง ตลอดเวลาที่ผ่านมา พอมีเรื่องสั้นในมืออยู่ราวๆ 24 เรื่อง...ประมาณนั้น สามารถคัดสรรได้ถึง 2 เล่ม

ผ่านการทำงานด้วยตนเอง พบว่าความยากของงานรวมเล่มก็คือ การจัดการเพื่อหาความเป็นเล่มของรวมเรื่องสั้น ว่าไปก็มีหลายชุดวิธีคิดนะครับ

คุณชาติ กอบจิตติ นักเขียนชื่อดังคนหนึ่งใช้วิธีรวมเรื่องตามลำดับเวลาการเขียน อันนี้เพื่อดูในแง่พัฒนาการ ไม่มีการคัดสรร เพราะถือว่าทุกเรื่องที่เขียนใช้ได้ทั้งหมด พอใจทั้งหมด กว่าจะเขียนได้แต่ละเรื่อง หรือกว่าที่ผู้เขียนจะปล่อยผลงานออกมา ต้องบ่มเพาะสร้างสรรค์จนพึงใจ เหมือนการมีลูกนั้นแหละ เกิดมาแล้วก็รักเท่ากันหมด

แต่มีนักเขียนไม่กี่คนที่ทำงานภายใต้หลักการนี้

ส่วนใหญ่มักจะมีการคัดสรร มีการคัดออก เลือกเรื่องที่ดีที่สุด หรือเรื่องที่ไปกันได้ทั้งเล่ม ว่าไปการคัดสรรก็มีหลายรูปแบบ หลายแนวทางอีก

บางคนมีบก.ช่วยรวบรวม คัดสรรให้ อาจดูความคิดร่วม ค้นหาความเป็นเอกลักษณ์ในแง่รูปแบบหรือเนื้อหาสาระ มีความมุ่งหมายรวมอันใดเป็นพิเศษในเล่ม คัดสรรจากเรื่องสั้นหลายสิบ ให้เหลือที่เข้าชุดกันได้ประมาณสิบหรือสิบกว่าเรื่อง(ส่วนใหญ่)

กรณีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักเขียนใหม่ ประสบการณ์ยังน้อย มองงานตัวเองไม่ออก อยากได้บก.มาช่วยพิจารณากลั่นกรอง บางคนคัดสรรด้วยตนเอง กรณีนี้อาจเกิดได้กับนักเขียนใหม่ หากว่ามีความเข้าใจหรือมีความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองสร้างสรรค์จนคิดว่าสามารถดูแลตัวเองได้ หรือไม่ก็อาจจะคัดสรรแล้วส่งให้เพื่อนฝูง หรือที่ปรึกษา ช่วยให้คำแนะนำ เป็นลักษณะบก.หมู่ ก็เป็นทางออกอย่างหนึ่ง

บางคนใช้วิธีคิดวางแนวทางของเล่มล่วงหน้า เรียกว่าคิดไว้ก่อนเสร็จสรรพ แล้วค่อยลงมือเขียน กรณีกนกพงศ์ สงสมพันธ์ เขียน แผ่นดินอื่น หรือวินทร์ เลียววาริณ เขียน สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน อยู่ในข่ายผลงานลักษณะนี้

ในส่วนผมเอง ลองมาแล้วหลายรูปแบบ เล่มแรกส่งให้สำนักพิมพ์ใหญ่ พิจารณา ต่อจากนั้นก็พยายามส่งให้ดู แต่ก็ได้แต่ร้องเพลงรอ รอ ก็เลยคิดใหม่...

พึ่งตนเอง โตแล้ว เขียนงานมานานแล้ว น่าจะยืนได้ด้วยลำแข้ง จะดีจะเลว เราเองก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานที่จะเป็น บก.ให้ตัวเอง

คิดแบบโมเดลนักเขียนไทยเข้มแข็ง คุณวินทร์ เลียววาริณ กล่าวไว้ เล่มแรกที่ทำเช่นนี้ก็คือ สารคดี จะนะในฤดูกาลแห่งลมนอก (เล่มนี้มีพี่ๆบางคนช่วยตั้งชื่อเล่มและดูแลการผลิตให้)

เล่มต่อมาคือ สารคดี คนค้นคลอง

และล่าสุดก็คือ นวนิยาย ประเทศใต้ มีเพื่อนฝูงช่วยกันอ่านต้นฉบับ แล้วก็มีทีมช่วยจัดหน้า แล้วก็มีหมอนิล-ภูเก็ต ช่วยทำหน้าปก เล่มนี้พิมพ์เอง ตั้งสำนักพิมพ์เอง ประสานสายส่ง เรียนรู้กระบวนการจำหน่ายด้วยตนเอง

เป็นเล่มที่ทำให้เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างสำนักพิมพ์ ดูแลตนเอง พิมพ์เองให้ได้ปีละ 1 เล่มและจนกระทั่งปีนี้ ได้ออกรวมเรื่องสั้น เมืองสมมติ เป็นผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มที่ 2


ณ วันนี้เข้าใจว่ากำลังวางแผง ในเมืองหลวงน่าจะส่งวางตามร้านหนังสือแล้ว หากเป็นต่างจังหวัดอาจจะต้องรออีก 1 เดือนให้หลัง

ทั้งเล่มมีเรื่องสั้น 10 เรื่อง ไม่สั้นไม่ยาว หากมีสมาธิดีๆ ก็สามารถอ่านรวดเดียวจบ เรื่องที่ตีพิมพ์ล่าสุด คือ บทบาทสมมติ ในหนังสือช่อการะเกด 51 เมื่อมกราคม 2553 เรื่องที่เก่าที่สุด คือ แมวบาดเจ็บ ตีพิมพ์เมื่อปี 2540 และไม่ได้ตีพิมพ์ที่ไหน คือ โคกนกคุ่ม

กาหลอ เล่มแรก โดยภาพรวมออกไปทางแสดงภาวะของปัจเจก เผยด้านมืดด้านสว่างของมนุษย์ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การย้อนมองกลับไปสู่อดีต ก็เหมือนการได้พิจารณาตรวจสอบ ทบทวนแง่มุมต่างๆในชีวิต

เมืองสมมติ ต่างออกไป เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมหรือสังคมที่เราสังกัด สะท้อนแง่มุมต่างๆที่สัมพันธ์กับความเป็นเมืองใหญ่ ไม่ได้มุ่งเน้นวิถีปัจเจกอีกต่อไป เล่มแรกมองตัวตน เล่มสองมองสภาพแวดล้อม

เมืองสมมติ เป็นชื่อที่มีความหมายใน 2 ระดับ คือ เมืองที่มีแต่ปัญหาสะสม กระทั่งว่าจำเป็นที่จะต้องวางผังเมืองใหม่ ปฎิรูปทุกอย่างใหม่ และเมืองสมมติในความหมายเชิงอนาคต เมืองใหม่ที่ทุกคนอยากเห็น หรือเมืองในอุดมคติ

หากท่านอ่านตั้งแต่แรก ท่านจะได้เดินทางไปสู่เมืองๆหนึ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆหลากหลายแง่มุม อันเป็นปัญหาของเมืองใต้วิถีแห่งทุน ทั้งวิถีแห่งปัจเจก การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม ละเรื่อยไปถึงรากของเมืองในเชิงประวัติศาสตร์ กระทั่งสุดท้าย ท่านจะได้พบกับเมืองแห่งอนาคต ที่ท่านอยากเห็น

ภายใต้พื้นที่แห่งตัวตนที่แตกต่าง สีเหลือง สีแดง มนุษย์เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร...

ทั้งหมดนี้ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้รูปแบบของเรื่องสั้นลูกโซ่


อะไรคือเรื่องสั้นลูกโซ่

อันนี้ไม่อยากเฉลยคำตอบ อยากให้ท่านได้ค้นหาความหมายของมันด้วยตนเอง

ปกติผมเองก็ไม่อยากจะเขียนถึงผลงาน หรืออธิบายชี้นำอะไรมาก พอใจที่จะให้เกียรติผู้อ่านได้ค้นพบ และหาความหมายของตนเองตามประสบการณ์ที่แตกต่างๆ ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนคนเขียน

การอ่านควรจะเปิดโลกแห่งการสร้างความหมายใหม่ ผ่านข้อเขียน ผ่านทัศนะ ผ่านรูปแบบทางศิลปะที่จะมีส่วนช่วยกระตุก ปลุกเร้า ให้ประสาทการรับรู้ตื่นตัว ค้นหา และพบคำตอบ พบความหมาย ที่เป็นเรื่องเฉพาะและเรื่องประสบการณ์ร่วมของมนุษย์เรา

อยากเชิญชวนให้ได้ลองอ่านกันครับ.

Comment #1
จรดล
Posted @August,30 2010 21.47 ip : 118...82

ถ้ามีอยู่ในมือสัก4-5เล่ม เอาไปฝากวางขายที่ร้านธารเมฆมั่งต่ะ ผมจะแวะไปสนับสนุนโดยพลัน บทบาทสมมติถือเป็นพัฒนาการในเชิงองค์รวมความคิดของผู้เขียนที่เห็นได้ชัด ต่างจากรวมเรื่องสั้นแต่ละเรื่องในเล่มที่ผ่านมาซึ่งสะท้อนภาพผ่านตัวละครในเชิงปัจเจก ดังที่ได้เขียนกล่าวเกริ่นไว้ ส่วนเมืองสมมติสะท้อนผ่านสภาพแวดล้อม หรือพูดอีกอย่างเปลี่ยนมุมมอง(ของตัวละครหรือการสำเสนอ--จะควบคู่ไปกับการเปลี่ยนมุมมองหรือในนัยยะของโลกทัศน์)จะเป็นอย่างไร ผมอ่านๆมาบ้างแล้วหลายเรื่อง เช่นโคกนกคุ่ม จันหาราด อะไรพวกนี้หรือเปล่าไม่แน่ใจ ก็จะรออ่านครับ

Comment #2
Posted @September,01 2010 13.10 ip : 222...174

ผมฝากให้ไว้ที่้ร้านธารเมฆแล้ว คุณไปรับได้เลยครับ

Comment #3
Posted @September,04 2010 18.28 ip : 222...174

ตอนนี้สามารถสั่งซื้อหนังสือได้แล้วที่เว็บเคล็ดไทย

Comment #4
จรดล
Posted @September,17 2010 21.54 ip : 113...71

มันต้องมีความผิดพลาดอะไรสักอย่าง เมื่อเราเปิดเวบนี้แล้ว ไม่ขึ้นเรื่องที่อัพเดทล่าสุด (อย่างตอนนี้มีเรื่องเกี่ยวซีไรต์ แต่เปิดมายังเป็นเรื่องสั้นเมืองสมมติอยู่อ่ะ) เวบมาสเตอร์พลีสสส..

Comment #5
จรดล
Posted @September,17 2010 21.56 ip : 113...71

ผมได้รับแล้ว และอ่าน(เรื่องที่ไม่เคยอ่าน)แล้ว ขอบคุณมากครับผม

Comment #6
จรดล
Posted @September,17 2010 23.02 ip : 113...71

คอมเม้นท์นิดนึงละกัน เรื่องสั้นลูกโซ่ ทำให้ผมกระหวัดนึกไปถึง"เราหลงลืมอะไรบางอย่าง"ของวัชระ สัจจะสารสิน กล่าวคือ(ผู้เขียนมีการ)ชี้นำ และมี(กรรมการซีไรต์รวมถึงคนอ่านคนอื่น)ชี้ตาม โดยสโลกแกนดังกล่าวดูมีความโตใหญ่ในองค์รวม หรือภาพรวม แต่อันที่จริงโดยตัวเนื้อหาของมันเป็นเพียงความดาดๆธรรมดา พูดอีกอย่างคือไม่ได้มีความแปลกแตกต่างจากรวมเรื่องสั้นอื่นๆ อีกหลายๆเล่มในปีนั้น(ในความเห็นของผมเรื่องของจำลอง ฝั่งชลจิตร มีความต่างมากกว่าเยอะ) แน่นอนมันไม่ได้แปลว่าด้อยค่าคุณภาพ แต่องค์รวมของเรื่องราวจริงๆยังไม่ได้สื่อชัดถึงเรื่องราวนั้นต่างหาก เป็นแต่คำชี้ชวนให้ดูโดดเด่นเป็นจำเพาะขึ้นมาตามเทคนิควิธีการโน้มน้าวตรึงความรู้สึกสนใจส่วนเล่มโดยภายนอกเท่านั้น เรื่องสั้นลูกโซ่มีความแตกต่างนิดหน่อย ดูเหมือนจะอยู่ในเรื่องสุดท้ายที่อธิบายความดังกล่าว แต่โดยภาพรวมจริงๆ(แม้เป็นความตั้งใจของผู้เขียนรวมเรื่อง)ตามคำกล่าวอิงอ้างถึงความสืบทอดของศิลปะวรรณกรรมโดยนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธ์ เป็นตัวนำเกริ่น ก็ยังไม่อาจบอกได้ว่านี่คือ"ลูกโซ่"จริงๆ (อันแตกต่างจากเรื่องหรือรวมเรื่องสั้นเล่มอื่นๆ) วกกลับไปที่เรื่องเนื้อหาของเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง โดยภาพรวม ถือได้ว่าเรื่องยังขาดความ"เข้มข้น"สะเทือนใจตามหลักศิลปวรรณกรรม มี แต่ไม่มาก เรื่องที่พอจะเรียกได้ว่าเข้มข้นประมาณหนึ่งคือเรื่องที่ลงในอันเดอร์กราวน์บลูทีน(จำชื่อเรื่องไม่ได้) โดยภาพรวมจริงๆ เรื่องราวอาจกล่าวได้ว่าสะเปะสะปะอยู่ แม้จะมีเรื่องราวของการมองสังคมเป็นตัวตั้ง ซึ่งย่อมมีความหลากหลาย สะเปะสะปะที่ว่านี่อาจพูดได้ว่าไม่ใช่ความหลากหลายที่พึงมี แต่ปะปนไปด้วยเรื่องทางศิลปะ เรื่องสังคม เรื่องความเชื่อ เรื่ององค์กร เรื่องเช่นนี้มิใช่การนำเสนอภาพใดภาพหนึ่งที่เป็นองค์รวมมิได้ แต่มันจะเป็นลูกโซ่ตามความคิดความเชื่อของเรื่องจริงหรือ แปลกและต่างจากเรื่องสั้นต่างๆของเล่มอื่นๆอย่างไรหรือ คิดว่ายังไม่มี อันที่จริงการนำเสนอองค์รวมทางความคิด มีได้ ทำอย่างเป็นระบบหรือไร้ระเบียบ แบบแผน แต่การติ๊ต่างย่อมต่างกัน รวมเรื่องสั้นลูกโซ่ เมื่อพิจารณาดูยังไม่มีความต่างจากรวมเรื่องสั้น"ร่วมสมัย"รวมเรื่องสั้นเขย่าสังคม สะท้อนชีวิต ฯลฯ อื่นๆใดเป็นพิเศษ สโลแกนของคำว่าลูกโซ่จึงยังไม่น่าจะใช่จุดเด่นอันแท้จริงของเล่ม(แต่สามารถทำได้) อันที่จริงเรืองราวในเรื่องสั้น เป็นเรื่องจริง และเป็นสิ่งสมมติก็ย่อมได้ ถ้านี่คือเรื่องจริงที่เรานำเสนอผ่านรวมเรื่องสั้นว่าคือเมืองสมมติ แล้วเมืองสมมติที่หมายใจจะเสนอจะเป็นจริงโดยสมมติเท่านั้นหรือไม่ ถ้าอย่างนั้นมันก็คงไม่จริง ความจริงคือสิ่งสมมติ ฉะนั้นเราก็ต้องกลับมาที่อะไรคือจริงอะไรคือสิ่งสมมติ คำตอบคือศิลปะอยู่เหนือทั้งสองสิ่งเป็นจริงและไม่จริงทั้งสอง(คือความเป็นหนึ่ง) ความเป็นจริงที่ต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมก็คือ เรื่องสั้นลูกโซ่มีความถึงชั้นเป็นศิลปะหรือไม่ ในระดับใด เป็นแกนอย่างเดียวที่จะนำมาพิจารณาทั้งหมด นับโดยภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องแรกจนจบเรื่องสุดท้าย จะมีความถอยห่างออกมาจากการพิจารณาตัวตน ปัจเจก ไปสู่การปฐกฐากลายๆ เสนอแบบแผนความคิดได้หลวมๆ ชี้ทางออกแบบครุ่นคิดคำนึงเป็นส่วนมาก จนถึงการเสนอแนะ รวมเรื่องสั้นลูกโซ่เมื่ออ่านจะมีความร้อยเรียงในส่วนนี้อยู่ เรียกได้ว่ามีความโดดเด่นทางด้านองค์รวมของความคิด จนบางครั้งยากที่จะถ่ายทอดความสะทกสะเทือนใจจริงๆออกมาได้(ขออภัย)เช่นในเรื่องของหมอพรทิพย์..ถ้าเขาเพียงแต่ครุ่นคิด ในตอนท้าย ก็น่าจะถ่ายสะท้อนความสมจริงออกมาได้มากกว่า(อาจตีความผิด) เรื่องสั้นสะท้อนสังคม จึงถ่ายสะท้อนความสะเทือนใจออกมาได้ถึงไม่ค่อยได้โดยตัวมันเอง(เมื่อมุ่งตั้งธงความคิดไว้) ผิดแต่ว่าเราจะต้องจริงกับมันจริงๆ ไม่ใช่เพื่อภาพที่สวยงามหรือความดูดีตามอุดมคติของเรา หรือเสแสร้งแกล้งทำ เราจะต้องถ่ายสะท้อนตรงนั้นออกมาให้ได้จริงๆ ถ้าไม่ก็ไม่ ซึ่งไม่ใช่การละเลย ถ้าเราต้องการจะถ่ายสะท้อน"ความรู้สึก"อันแท้จริงออกมา นั่นคือการไม่ละเลย(อีกอย่าง) ซึ่งก็คือในก้าวต่อไป
ขอเป็นกำลังใจและชื่นชมด้วยใจจริง เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ในรวมเรื่องสั้นลูกโซ่ถือว่าสามารถถ่ายสะท้อนองค์รวมทางความคิดในทางศิลปะหรือการนำเสนอได้ ให้ความคิดที่ดี-งาม เป็นพัฒนาการของผู้เขียนในอีกลำดับขั้นในการออกมายืนมองภาพที่ถ่ายสะท้อนในอีกมุมมองของชีวิต เพียงแต่ยังไม่เห็นความต่างจากเรื่องสั้นทั่วไปมากนัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอันใด ถ้าเราเป็นเช่นนั้นจริงๆ และสิ่งนี้เองจะนำพาเราตามลำดับไปสู่เมืองสมมติอันสวยงามและแท้จริง...

ปล.ว่าไปซะยาว ทั้งหมดคงไม่ว่ากัน เน้อ...ประสาคนอ่านกล้อมแกล้มๆ คนหนึ่งเท่านั้นเอง 8)

Comment #7
Posted @September,17 2010 23.38 ip : 222...183

ขอบคุณที่ให้ความเห็นครับ

Comment #8
จรดล
Posted @September,21 2010 16.42 ip : 118...157

กลับมาอ่าน ข้อเขียนนี้อีกที (ตอนแรกนึกว่าจะเป็นคำนำในรวมเล่ม) อ่านแล้ว ขออนุญาตอ่านเรื่องเต็มๆอีกสักรอบ ขอดูดีๆอีกสักที ถ้ามีเวลาจะลองวิจารณ์รวมเรื่อง สั้นลูกโซ่สักยกมาโพสต์ คิดว่ามีอะไรน่าสนใจอยู่ซึ่งผมน่าจมองข้ามไป แห่ะๆ

Comment #9
Posted @September,21 2010 21.33 ip : 222...183

อ่านหลายรอบก็ได้ครับ ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด

Comment #10
Posted @November,21 2010 15.15 ip : 202...2

มีเวลาอยากจะเขียนเล่าทีมาของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องในชุดนี้ จะทยอยเขียนถึงนะครับ เรื่องที่เก่าที่สุดของเล่มก็ึืคือ แมวบาดเจ็บ เรื่องนี้เกิดขึ้นจากการได้พบเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งที่รู้จักกันตั้งแต่เด็ก มาพบกันอีกครั้ง เธอล้มเจ็บนอนอยู่กับที่ ขยับได้แค่ศรีษะ แขน เธอมีสามี มีลูก แต่สามีก็จากไป ทิ้งไว้แต่ลูก วันหนึ่งเธอเข้ารพ.เพราะแผลติดเชื้อ ผมไปเยี่ยมเธอ ได้่รับรู้ความเจ็บปวด ความปล่อยวางต่อชีวิต ต่อมา ผมไปทำบุญที่วัดแห่งหนึ่ง ไปกับหลาน ขณะเล่นทรายอยู่ผมเกิดนึกเชื่อมโยงไปถึงเธอ แล้วก็ได้เห็นแมวตัวหนึ่งนอนอาบแดดอยู่ เลยนำมาผูกโยงเป็นเรื่องสั้นเรื่องนี้

Comment #11
Posted @November,23 2010 07.29 ip : 223...190

ก่อนรวมเล่ม ผมเคยอยากจะทดลองทำ เรื่องสั้นลูกโซ่...ในรูปแบบเดียวกับ บทกวีลูกโซ่(อ่านในเรื่อง ต่าง) คือมีการเขียนร่วมกัน(ใช้พื้นที่ศิลปะร่วมกัน) คนแรกเขียน ส่งต่อให้คนที่สอง คนที่สองส่งต่อคนที่สาม แล้วส่งกลับมาให้คนที่หนึ่งแก้ไข สรุปความอีกรอบ...อยากรู้เหมือนกันว่าจะลงเอยอย่างไร เป็นไปได้ไหม อยากรู้ปฎิกริยา(การปะทะ/ความขัดแย้งของตัวตน วิธีคิด การเคารพผู้อื่น ฯลฯ) มันก็ไม่ต่างไปจากปรากฏการณ์ที่เกิดในสังคมที่มีความแตกต่างความคิด ตัวตน ความเชื่อ ความรู้ แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

เรื่องสั้นต่าง เกิดขึ้นจากมุมมองเช่นนี้ การส่งทอด เกี่ยวเนื่อง จากหนึ่งไปสู่สอง ไปสู่สาม ฯลฯ เราเลือกที่จะรับ/ปฎิเสธ สิ่งที่เราได้รับรู้ สัมพันธ์ เป็นเช่นนี้ตลอดเวลา...แล้วแต่ว่าใครจะเป็นคนเริ่มต้น หรือพิจารณาจากมุมมองของใครเป็นจุดเริ่ม แต่สิ่งที่ผมสนใจคือ แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร(ใช้พื้นที่ทางสังคมร่วมกัน) โดยไม่แตกแยก ไม่หักล้างกันจนถึงขั้นฆ่าฟัน(สงคราม)ทำร้ายกันและกัน

Comment #12
Posted @November,24 2010 15.59 ip : 202...6

ต่อเนื่องจากเรื่อง"ต่าง" ผมกำลังหมายถึง เรื่องสั้น "ผัง" เื่รื่องนี้เกิดขึ้นขณะมีโอกาสได้ไปร่วมงานทะเลสาบสงขลา กล่าวคือ ไปร่วมทั้งทำ "แผนแม่บท" และทำ "ผังเมือง" ความรู้ที่ได้ขณะร่วมงานกับทีมผังเมือง ทำให้เห็นมุมมองและการจัดความสัมพันธ์ที่เปิดวิธีคิดให้มองภาพเชิงระบบ เลยลองมาจินตนาการ ว่าถ้าจะวางผังเมืองสักแห่ง เราจะทำอย่างไร แล้วใ้ช้เมืองสมมติเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ตอนคิดและเขียน ก็เลยให้คนใกล้่ตัว เพื่อนๆร่วมงาน นำชื่อไปใส่กับเหตุการณ์สมมติ จะได้รู้สึก "จริง" มากขึ้น

Comment #13
Posted @November,25 2010 16.12 ip : 202...9

ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสไปติดตามงานของชุึมชนละแวกจังหวัดตรัง เป็นชุมชนประมงพื่นบ้าน ได้นั่งฟังแกนนำเล่าย้อนการรวมตัวกันของชาวประมงในการต่อสู่กับอวนลาก ในช่วงหนึ่งของการพูดคุย เขาเล่าเรื่อง "ผี" เข้าสิงคน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกในชุมชนระดับล่าง แม้จะเป็นมุสลิม ผมฟังแล้วก็เก็บไว้ในใจ ไม่ได้ทำอะไร จนมาทำงานชุมชนมากเข้า พบปัญหาการคิด การทำงานที่แยกส่วนเป็นแท่งๆ ไม่ว่าหน่วยงานใด ที่สำคัญทำให้ชาวบ้านกลายเป็นคนของแหล่งทุนหรือองค์กรที่ทำงานด้วยไปหมด

เลยจินตนาการ ผูกเป็นเรื่องสั้น "ซอฟาน" ขึ้นมา พอดีปริทรรศทำหนังสือขี้ใต้ ขอเรื่องมา ผมเลยส่งไปตีพิมพ์

Comment #14
Posted @November,28 2010 21.10 ip : 223...190

ช่วงเกิดเหตุการณ์ไฟใต้ ผมจับตาสถานการณ์อยู่เงียบๆ เก็บข้อมูลจากข่าวสารที่มาทั้งจากข่าวในสื่อกระแสหลัก กระแสรอง และจากคนใกล้ชิดที่มีโอกาสได้ลงไปทำงานในพื้นที่มาเล่าสู่กันฟัง หลายคนสะท้อนแง่มุมที่แปลกต่างไปจากข่าวสารที่ได้ิยินได้ฟัง บางมุมก็มาจากนักการเมืองหรือทีมงานทางฝั่งอดีตผู้นำทักษิณที่ถูกส่งไปยังพื้นที่ ได้รับรู้มุมมองที่มีต่อ ศอบต.และพรรคการเมืองประจำถิ่น บางเรื่องก็หนักหนาสาหัสเกินกว่าจะนำมาเปิดเผย จำเป็นต้องหาแง่มุมของความเป็นเรื่องเล่ามานำเสนอ แต่ก็เหมือนกับว่าข้อมูลที่ได้ยังไม่ถึงที่สุด

ต่อมาเกิดเหตุ 106 ศพ เพื่อนคนหนึ่งลงไปเก็บข้อมูลมาเขียน แรงกระตุ้นส่วนหนึ่งก็ได้รับจากเพื่อนคนนี้ แต่ก็ยังหาวิธีการเล่ายังไม่ได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมไปพบหนังสือนิทานของภาคใต้ที่เป็นของ 3 จังหวัด มีเรื่องหนึ่งชื่อ "แมงคาเรือง" ผมอ่านแล้วก็นึกไปถึงเมื่อครั้งนำนิทานพื้นบ้านเรื่อง "ท้าวแสนปม" มาัดัดแปลงเขียนเป็นเรื่องสั้นชื่อ "รัง" จึงนำเค้าโครงของนิทานนี้มาดัดแปลงให้เข้ากับข้อมูลดิบที่ได้ยินได้ฟังมา ขณะเขียนพยายามที่จะวางตัวเป็นกลาง นำเสนอเหตุการณ์ฺผ่านตัวละครในแต่ละมุมมอง ให้ผู้อ่านปะติดปะต่อเรื่องทั้งหมดด้วยตนเอง ไม่ัตัดสิน ไม่ชี้นำ ส่วนหนึ่งก็เชื่อว่า เหตุการณ์ 3 จังหวัดนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองผ่านด้านใด ทุกคนต่างเลือกอธิบายสิ่งที่เกิดไปตามเหตุผล ความเชื่อของตน โดยมีตัวเร่งก็คือข่าวสารทางประวัติศาสตร์ ความคิดความเชื่อของคนอีกรุ่นที่ "เข้าหู"ของคนทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม...นี่คือที่มาของเรื่องสั้น "แมงคาเรือง"

ในบรรดาเรื่องสั้นที่เขียนมา เรื่องนี้ตีพิมพ์ซ้ำมากที่สุด ถ้าจำไม่ผิด ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง(ราหูอมจันทร์ จุดประกาย มติชนสุดสัปดาห์ โฟกัสภาคใต้ หนังสือของสมาคมภาษาและหนังสือ หนังสือแขกในบ้านตนเอง) และได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นของสมาคมภาษาและหนังสือ...เป็นเรื่องที่ไม่คิดไม่ฝันมาก่อน การได้รางวัลทำให้ผมคลายความรู้สึกเป็น "คนนอก" วงการวรรณกรรมไปได้มาก

Comment #15
จรดล
Posted @November,29 2010 00.45 ip : 113...1

แวะมาอ่านครับ เท่าที่จำได้ ชาคริตเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับประปาในหมู่บ้าน กับ เรื่องของเด็กกับครู ไม่เห็นมีรวมในเล่ม อ่านคำอธิบายที่อ้างจากเรื่อง"ต่าง" (หรืออีนัยยะหนึ่งคือต่างๆ)ทำให้ผมติดใจคำว่า"เรื่องสั้นลูกโซ่"อยู่นิดหน่อย กล่าวคือในรวมเรื่องสั้น มี 2 เรื่องที่ไม่ได้ใช้ตัวละคร"ผม"(เท่าที่จำได้-ยังไม่ได้มีโอกาสอ่านซ้ำ-คงไม่ผิดกติกาอันใด)คือ แมงคาเรือง กับ แมวบาดเจ็บ ผมว่า ลูกโซ่ ในนัยยะที่ชาคริตอธิบายมันกว้างกระจายไป น่าจะมีจุดจำกัดใดจำกัดหนึ่งเป็นการจำเพาะด้วย นั่นก็คือ เช่น นำเสนอด้วยมุมมองของตัวละครใดตัวละครหนึ่ง หรือภายใต้กรอบพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่แจ่มชัดด้วย ไม่ทราบผมเข้าใจอย่างนี้ถูกต้องไหม อยากฟังคำอธิบายจากชาคริตครับผม.

Comment #16
Posted @November,29 2010 18.31 ip : 223...190

ขออนุญาตไม่อธิบายครับ เพราะว่าอย่างไรเสียคุณจูก็มีคำตอบในใจแล้ว ให้เป็นเอกสิทธิ์ของคนอ่านดีไหมครับที่จะตีความ...เห็นด้วย เห็นต่างคงไม่ใช่ผิดถูก และไม่ใช่ประเด็นสำคัญ การอ่านควรจะเป็นการเปิดกว้างในการให้ความหมายของเรื่องที่อ่าน ไม่จำเป็นต้องตรงกับคนเขียน เห็นต่างก็ไม่แปลก เห็นด้วยก็เป็นเรือ่งดี...คนเรามีพื้นฐานประสบการณ์ต่างกัน เปิดกรอบไว้น่าจะสนุึกกว่าไหมครับ ผมอธิบายไปก็จะเป็นการจำกัดการตีความของคนอ่านเกินไป ขอเป็นอธิบายที่มาที่ไปนิดๆหน่อยๆพอให้ได้เค้าโครงความคิดของผู้เขียนดีไหมครับ

Comment #17
จรดล
Posted @December,06 2010 00.38 ip : 118...37

อันที่จริงชาคริตได้อธิบายความหมายของเรื่องสั้นลูกโซ่ไว้แล้ว เพียงแต่ผมสงสัย อาจจะเป็นคำตอบอยู่แล้วในใจ หรือการตีความ เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน ดีครับ...

Comment #18
pookun
Posted @December,06 2010 13.02 ip : 223...190

ในเล่มนี้มีเรื่องสั้นเรื่องเดียวที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ที่ไหน คือ "โคกนกคุ่ม" จริงๆแล้วเรื่องนี้เขียนทิ้งไว้นานแล้ว เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่หลายรอบ ตอนที่เขียนก็ไม่ได้นึกอะไรมากไปกว่าภาพประทับใจที่ได้เข้าไปทำงานร่วมกับวัดคลองแห และมีส่วนร่วมในความสำเร็จของวัดแห่งนี้ในบางกิจกรรม ทำให้ได้รู้ลึกไปถึง "ราก" ของคนชานเมืองแห่งนี้ ว่าที่จริงก็ร้อยพ่อพันแม่ มาจากต่างถิ่นต่างที่ตั้งแต่แรก เพียงแต่มี "ศรัทธา" ทางศาสนาเป็นจุดเชื่อมโยง เป็นอำนาจที่มองไม่เห็นเชิงโครงสร้าง...ทางประวัติศาสตร์ ตำนานพระธาตุนี้ดูเหมือนจะว่ามีน้ำหนักมาก ทุกอย่างถูกดึงดูดไปรวมศูนย์อยู่ที่นั่น การพลิกฟื้นประวัติศาสตร์โดยคนในยุคปัจจุบันก็เป็นการหยิบยกเอาบางมุม บางสิ่งมาปัดฝุ่นเพื่อเชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน...เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มักจะบอกว่า สินค้าทางวัฒนธรรมของโลกตะวันออกยังมีอีกมากที่จะนำมาเพิ่มมูลค่าและคุณค่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือต้นทุนมหาศาลของบ้านเมืองเรา

Comment #19
Posted @December,08 2010 19.35 ip : 223...36

เรื่องใหม่ล่าสุดจริงๆที่เขียนในเล่มนี้ คือ "บทบาทสมมติ" เขียนเสร็จเพราะตกลงรับเทียบเชิญของพี่สุึชาติ ทีแรกตั้งใจว่าจะทำเป็นนิยาย เก็บพล็อตเอาไว้ ผมเริ่มเขียนจากการจินตนาการถึงเมืองสมมติ ซึ่งมีเค้าโครงมาจากเมืองหาดใหญ่นี่แหละ เพียงแต่ย้อนอดีตไปไกลกว่านั้น แล้วผูกโยงไปยังปัจจุบันที่กำลังมีปัญหารุมเร้า ผมนำเหตุการณ์เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับโรงงานเซฟสกินที่สะเดามาเป็นสถานการณ์ในเรื่อง ดัดแปลงข้อมูลจากพื้นที่ ซึ่งผมพอได้รับรู้อยู่บ้าง(วันที่ชุมชนปิดโรงงาน ผมกับทีม สว.ลงไปเยี่ยมโรงงานด้วยซ้ำ) แล้วก็เห็นการคลี่คลาย ความสัมพันธ์ระหว่างกันเริ่มกลับมาสู่สภาพเดิม เรื่องนี้ตั้งใจเล่นกับมุมมอง คนเรามักติดกับดักวิธีคิดหรือความเป็นตัวของตัวเอง ทั้งที่ทุกอย่างอยู่ในห้วงพลวัตร เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การติดยึดอะไรสักอย่าง นำมาสู่ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันได้ง่าย ประโยคจบได้มาจาก อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ครับ เขียนไปๆ ถูกเร่งด้วยเงื่อนเวลาส่งให้ช่อ เรื่องยาวก็เลยกลายเป็นเรื่องสั้นอย่างที่เห็น

Comment #20
Posted @December,13 2010 20.53 ip : 223...247

ช่วงชีวิตที่ผ่านมา มีเหตุให้ได้ใกล้ชิดกับความตายของคนรอบข้างหลายครั้ง มีครั้งหนึ่ง ญาติห่างๆ ที่ปัตตานีเข้ารพ.กะทันหัน ผมกับแม่ตามไปดู ก็พบเธออยู่ในอาการร่อแร่ ใช้เครื่องช่วยหายใจประทังชีิวิต ณ วินาทีนั้นไม่มีใครบอกได้ว่าชีวิตระหว่างเป็นตาย จะเกิดอะไรขึ้น ผมรู้สึกเหมือนคนไร้ค่า ทำอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูก จะตัดสินใจอย่างไร จะช่วยคนที่อยู่ตรงหน้ากันอย่างไร ยิ่งนึกไปว่าเราอยู่ในโรงพยาบาล ก็ยังไม่มีใครช่วยอะไรเราได้ แรงผลักของความรับผิดชอบหนักอึ้งกดทับอยู่บนบ่าของเรา แต่เราจะตัดสินใจได้อย่างไร ใช้เหตุผลอะไรมาตัดสินใจแต่ละครั้ง ผมรับรู้่ได้ถึงช่องว่างของชีวิตกับสิ่งที่เรียกได้ว่าระบบของการรักษาพยาบาล ของผู้ที่รับผิดชอบชีวิตของผู้อื่น...หรือแท้จริงแล้วชีวิตของเราก็ขึ้นอยู่กับตัวเรา หาใช่อยู่ในมือของคนอื่นโดยเฉพาะคนที่เราไม่รู้จัก...ผมกำลังพูดถึงเรื่องสั้น "โรงพยาบาล" ครับ

แสดงความคิดเห็น

« 7198
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ